ผลสอบ ‘โครงการประชารัฐสวัสดิการ’ สตง. พบ 3 จุดอ่อนทำไม่บรรลุผล

ทีมข่าว TCIJ | 15 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4722 ครั้ง

สตง. เผยผลตรวจสอบการดำเนินงาน 'โครงการประชารัฐสวัสดิการ' พบ 3 ประเด็นสำคัญ 1.การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่รัดกุมเหมาะสมได้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน 2.การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 3.สวัสดิการที่ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง | ที่มาภาพประกอบ: ryt9.com

เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ส่วนบทสรุปผู้บริหารของรายงาน การตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระบุว่ารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วยการดำเนินโครงการประชารัฐสวัสดิการมีวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยในปี 2560 กำหนดให้มีการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยนำไปออกแบบนโยบาย และจัดสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐให้เหมาะสมต่อไป ต่อมาในปี 2561 ได้กำหนดให้มีโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ทั้งนี้ มีจำนวนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีคุณสมบัติผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้วจำนวนทั้งสิ้น 14,607,495 คน โดยรัฐได้มีการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าวตามมาตรการลดค่าครองชีพด้วยการจัดสรรวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม วงเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถประจำทางของ ขสมก./รถไฟฟ้า/รถ บขส./รถไฟ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 2561 การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยคนพิการ บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา และนอกจากการช่วยเหลือด้วยการจ่ายวงเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าวแล้ว รัฐยังมีนโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2561 สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 11,469,185 คน ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่ปี 2560 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกรายบุคคลสำหรับออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ตรงตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของโครงการต่อไป งบประมาณที่ใช้สำหรับการดำเนินงานตามโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 143,490.56 ล้านบาท หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ส านักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังจากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการประชารัฐสวัสดิการ มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้

ลงทะเบียนยังไม่รัดกุมเหมาะสม ได้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน

สตง.ระบุว่าการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่รัดกุมเหมาะสม ได้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่รัดกุมเหมาะสม ได้ฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นปัจจุบัน

1.1 หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐยังมีจุดอ่อนหรือช่องว่างที่ทำให้ข้อมูลของผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดช่องว่างที่คนมีฐานะพอจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ได้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงสามารถเข้ารับสิทธิตามโครงการได้ ในขณะที่พบว่ายังมีกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงบางส่วนยังตกหล่นไม่ได้รับสิทธิการลงทะเบียนหรือไม่ได้เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามโครงการ

1.2 ฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน โดยพบว่าฐานข้อมูลในระบบการจัดสวัสดิการสังคมของรัฐ (ระบบ E-Social Welfare) มีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือการบันทึกข้อมูลอาจผิดพลาด ส่งผลต่อฐานข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารนโยบายได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินทางการเงินหรือการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะส่วนบุคคลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่จัดเก็บตามโครงการโดยไม่มีการเชื่อมโยงเพื่อสอบทานกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือคนยากจนหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และข้อมูลที่จัดเก็บตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นปัจจุบันเนื่องจากเป็นข้อมูลที่จัดเก็บของปี 2559

1.3 กระบวนการรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยยังมีจุดอ่อนสำคัญบางประการ ทำให้คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐยังไม่เหมาะสม

1.3.1 ข้อมูลการรับลงทะเบียนที่บันทึกเข้าสู่ระบบโดยไม่มีการสอบทาน ตรวจสอบ รับรองความถูกต้อง เนื่องจากหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่มีการสอบทานข้อมูลผู้ลงทะเบียนก่อนการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการ โดยตามโครงการไม่ได้กำหนดให้มีขั้นตอนการตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลในแบบฟอร์มการลงทะเบียน และไม่มีข้อกำหนดให้ต้องแสดงหลักฐานยืนยันข้อมูลที่แจ้งตามแบบฟอร์มและไม่มีการตรวจสอบรับรองความถูกต้องของผู้นำชุมชน นอกจากนี้ กรณีประชาชนกรอกข้อมูลการลงทะเบียนด้วยตนเองอาจให้ข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

1.3.2 การปฏิบัติงานตามโครงการเป็นไปอย่างเร่งรีบในแต่ละขั้นตอน โดยหน่วยรับลงทะเบียนมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเพียง 31 วัน ซึ่งระยะเวลาการดำเนินงานตามโครงการที่กระชั้นชิด ทำให้การประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกรอกข้อมูล การเตรียมข้อมูลหลักฐาน ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ อาจเกิดความไม่ทั่วถึงและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นผู้ยากจน ประกอบกับการสื่อสารกับผู้นำชุมชนอาจไม่ทั่วถึงด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา

1.3.3 หน่วยงานที่ร่วมบูรณาการเพื่อตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่ครอบคลุมข้อมูลทางทรัพย์สินบางรายการที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ เช่น การถือครองและการทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิอื่นที่ไม่ใช่โฉนดที่ดิน การถือครองทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ เช่น ทองคำ ธุรกรรมการเงินอื่นที่ไม่ผ่านระบบธนาคาร เป็นต้น

1.3.4 ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ยังไม่สามารถดำเนินการอุทธรณ์ตามสิทธิได้ในกรณีที่ไม่มีชื่อเป็นผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ด้วยมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริง

มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

สตง.ระบุว่าการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ | ที่มาภาพ: กรมการจัดหางาน

ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

2.1 การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นไปตามแผนและแนวทางที่กำหนด

2.1.1 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยสามารถอบรมพัฒนาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เพียงร้อยละ 38.76 ของจำนวนเป้าหมายตามมาตรการ คือจำนวนเป้าหมาย 8,543,081 คน แต่สามารถอบรมตามมาตรการพัฒนาฯ ได้เพียง 3,310,564 คน

2.1.2 การดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และต้องขยายเวลาการดำเนินการรวมถึงขยายเวลาของการจ่ายเงินให้กับผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการด้วย การดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาฯ กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561 สิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2561 แต่ปรากฏกว่าการพัฒนาผู้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการพัฒนาฯ ในระยะที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้ โดยมีผู้ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา/อยู่ระหว่างรอการพัฒนาอีกจำนวน 798,633 คน คิดเป็นร้อยละ 19.26 ของผู้แจ้งความประสงค์เข้ารับการคัดเลือกเมนูในการอบรมพัฒนาทั้งหมด ซึ่งต้องมีการขยายระยะเวลาดำเนินการมาตรการพัฒนาฯ ต่อไปในระยะที่ 2 ถึงสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2562

หากคำนวณมูลค่าเงินที่รัฐจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองไว้แล้วแต่ปรากฏว่าไม่เข้ารับการอบรมตามมาตรการได้ โดยตามโครงการมีการจ่ายเงินเพิ่มเติม ในช่วงที่จะทำการอบรมพัฒนาตามมาตรการคือเริ่มต้นตั้งแต่เดือนถัดไปหลังจากเดือนที่แสดงความประสงค์ จนถึงเดือน ธ.ค. 2561 และขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินการและการจ่ายเงินออกไปอีกจนถึงเดือน มิ.ย. 2562 เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการอบรมพัฒนาให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงการจัดสวัสดิการให้กับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของการอบรมพัฒนาในระยะที่ 2 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนินการเรียกคืนเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงที่กำหนดได้ รวมมูลค่าความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณทั้งสิ้น ประมาณ 3,233.76 ล้านบาท

2.1.3 การติดตามและรายงานผลการดำเนินงานมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การดำเนินงานมาตรการพัฒนาฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ AO มีหน้าที่ติดตามความคืบหน้าและผลการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ เดือน ก.ค. ก.ย. และ ธ.ค. 2561 จากการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมมาตรการพัฒนาฯ จำนวน 336 คน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่ายังไม่เคยได้รับการติดตามสอบถามผลการพัฒนาการเข้าร่วมมาตรการพัฒนาฯ คิดเป็นร้อยละ 62.50 ของผู้เข้าร่วมมาตรการที่สุ่มตัวอย่าง

2.2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังไม่บรรลุผลสำเร็จ จากการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้เข้ารับการอบรมพัฒนาอาชีพตามมาตรการพัฒนาฯ จำนวน 336 คน พบว่ามีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้นำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 64.88 และมีผู้ที่นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 35.12 ของผู้เข้าร่วมมาตรการที่สุมตัวอย่าง

สวัสดิการที่ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

สตง.ระบุสวัสดิการที่ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง | ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์

ข้อตรวจพบที่ 3 สวัสดิการที่ช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

3.1 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ประโยชน์สวัสดิการที่กำหนดบางรายการได้น้อยมาก จากการตรวจสอบข้อมูลผลการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ ปี 2560 - 2562 (ณ เดือน มิ.ย. 2562) พบว่ามีการเบิกจ่ายเงินผ่านบัตรทั้งสิ้นประมาณ 90,087.57 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.54 ของวงเงินที่รัฐจัดสรรเพื่อช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้หากพิจารณาค่าใช้จ่ายตามรายการที่ให้ความช่วยเหลือ พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีการเบิกจ่ายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 79.65 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่โอนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รองลงมาเป็นรายการตามมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คิดเป็นร้อยละ 7.98 รายการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 4.46 และมาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คิดเป็นร้อยละ 3.61 ตามลำดับ หากวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในรายการที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ แยกตามประเภทสวัสดิการกับยอดวงเงินงบประมาณที่กำหนดแต่ละรายการ พบว่ารายการที่มีการเบิกจ่ายจริงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวงเงินที่กำหนด คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา คิดเป็นร้อยละ 1.73 ของวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับผลการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 441 คน ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่ารายการสวัสดิการที่มีการใช้ประโยชน์น้อยที่สุด คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา คิดเป็นร้อยละ 2.49 ลำดับถัดไปเป็นค่าใช้จ่ายวงเงินค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม วงเงินค่าโดยสารรถไฟ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า คิดเป็น ร้อยละ 3.17 4.08 4.31 และ 7.48 ของจำนวนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สุ่มตรวจสอบ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญคือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของคนในพื้นที่ที่ห่างไกล ตามลำดับ

3.2 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายไม่รับทราบข้อมูล หรือไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการใช้สิทธิสวัสดิการที่ช่วยเหลือบางรายการผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สุ่มตัวอย่าง จำนวน 441 คน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทราบถึงข้อมูลข่าวสารสวัสดิการที่รัฐช่วยเหลือตามโครงการ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แนวทางการใช้สิทธิสวัสดิการรายการต่าง ๆ ที่กำหนด พบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางคนยังไม่ทราบหลักเกณฑ์แนวทาง หรือยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากพื้นที่ภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้ เช่น ชาวเขา หรือคนชนบทบางพื้นที่ ผู้มีฐานะยากจนที่ไม่มีโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือบางคนไม่มีความรู้ด้านหนังสือ มีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย เป็นต้น

3.3 การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการด้วยราคาที่ไม่แตกต่างจากราคาท้องตลาด และอาจไม่สามารถควบคุมรายการที่จำเป็นต่อการครองชีพได้อย่างแท้จริงจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและสังเกตการณ์สินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐที่จำหน่ายตามโครงการ จำนวน 121 ร้านค้า ใน 8 จังหวัด พบว่าราคาสินค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จัดไว้เพื่อจำหน่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่มีความแตกต่างจากสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปแต่อย่างใด และพบว่าร้านธงฟ้าฯ ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้นำสินค้าตามรายการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดมาจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 83.47 และมีเพียงร้อยละ 16.53 ที่นำสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดมาจำหน่าย

ยังไม่บรรลุผลสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ด้วยการสร้างฐานอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน

ในรายงานฉบับนี้ของ สตง. ยังได้ระบุถึงผลกระทบไว้ว่าจากสภาพปัญหาตามประเด็นข้อตรวจพบดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบสำคัญ สรุปดังนี้

1.การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางส่วนที่ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่า คิดเป็นงบประมาณไม่น้อยกว่า 2,021.74 ล้านบาท (เฉพาะในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์) ประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีฐานะยากจนที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการแห่งรัฐตามโครงการ เกิดความคลาดเคลื่อนบิดเบือนกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง หรือมีความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันของข้อมูล และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยเพื่อออกแบบนโยบายและจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ ทำให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงได้

2.การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ แต่กลุ่มเป้าหมายไม่ได้เข้ารับการอบรมพัฒนา และการอบรมพัฒนาที่ไม่แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2561 ทำให้มีผู้รอการพัฒนาเป็นจำนวนมาก ต้องขยายระยะเวลามาตรการออกไปเป็นระยะที่ 2 (ม.ค. - มิ.ย. 2562) อีกทั้งยังมีผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาตามมาตรการระยะที่ 2 เป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า ไม่น้อยกว่า 3,233.76 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐยังไม่สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกรายบุคคลสำหรับการวางแผนช่วยเหลือพัฒนาผู้มีรายได้น้อยให้ตรงกับสภาพความต้องการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จึงยังไม่บรรลุผลสำเร็จในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ด้วยการสร้างฐานอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน

3.การให้สวัสดิการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบางรายการยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐตามโครงการ เช่น ระบบประปา ไฟฟ้า ระบบคมนาคมด้วยรถไฟ รถโดยสาร บขส. เป็นต้น นอกจากนี้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐมีราคาที่ไม่แตกต่างจากท้องตลาด ทำให้ไม่สามารถช่วยลดค่าครองชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ตามเจตนารมณ์ของการจัดสวัสดิการแห่งรัฐได้

เสนอแนะทบทวนโครงการ เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไข

ในรายงานฉบับนี้ของ สตง. ยังได้ระบุถึงข้อเสนอแนะไว้ว่าเพื่อให้การดำเนินโครงการประชารัฐสวัสดิการสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และเพื่อให้การวางแผนบริหารงบประมาณแผ่นดินเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณาสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการต่อไปนี้

1.ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเป็นปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง

2.ให้มีการพิจารณาเพิ่มเติมหน่วยงานที่ทำหน้าที่ร่วมบูรณาการตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียน เพื่อให้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบฐานะความเป็นอยู่ตามข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือดูแลคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส ควรให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสอบทาน คัดกรองข้อมูลประชาชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ

3.กรณีหากต้องมีการจัดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐหรือเพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ให้พิจารณากำหนดกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรอง รับรองข้อมูล โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านปกครองในพื้นที่ ผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการหมู่บ้าน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องต่อไป

4.จัดทำคู่มือ แนวทาง ขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการตลอดจนหลักเกณฑ์คุณสมบัติของประชาชนผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการให้ชัดเจน โดยเฉพาะเกณฑ์ชี้วัดผู้ยากจนหรือผู้มีรายได้น้อย และการซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่

5.ให้กำหนดกรอบปฏิทินการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอน โดยคำนึงถึงระยะเวลาและกระบวนการในการปฏิบัติที่หน่วยงานปฏิบัติในระดับพื้นที่ต้องดำเนินการ ตลอดจนกำหนดแผนช่วงเวลาที่อาจต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างเป็นระยะต่อเนื่อง

6.ให้หาแนวทางที่เหมาะสมกับประชาชน กรณีหากต้องจัดให้มีการลงทะเบียนและการเปิดโอกาสให้อุทธรณ์สิทธิ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวได้

7.ให้มีการปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน และแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยทบทวนกำหนดกรอบเวลาการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่เกิดความเร่งรีบ กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถถือปฏิบัติตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8.วางแผนงานด้านการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกรายบุคคล หรือจัดทำฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริง และมีความเป็นปัจจุบัน โดยต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนาแต่ละกลุ่มให้ชัดเจน ตรงตามสภาพหรือศักยภาพแต่ละบุคคล และคำนึงถึงศักยภาพของหน่วยงานด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์

9.ให้มีการประชาสัมพันธ์สื่อสารทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวทาง วิธีการดำเนินงาน ตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดและมุ่งเน้นเป้าหมายความสำเร็จในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

10.ให้มีการติดตามประเมินผล ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามมาตรการพัฒนาฯ เพื่อนำมากำหนดแผน แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไป

11.ให้มีการทบทวนประเมินผลการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ผ่านมาเพื่อทราบว่าสิทธิประโยชน์สวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านมาว่าแต่ละรายการมีความเหมาะสมสอดคล้องตามความจำเป็น ความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย หรือประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่จัดสรรหรือไม่เพียงใด เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
8 เดือนรัฐจ่าย 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' กว่า 3 หมื่นล้าน บริษัทใหญ่ตบเท้าป้อนสินค้า
คนไทยรู้ยัง: 1 ปีรัฐใช้เงินให้ผู้ถือ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' รวม 42,440 ล้านบาท
คาด 5 ปี 'พ.ร.บ.ประชารัฐสวัสดิการ' ใช้เงิน 2.92 แสนล้านบาท
รายละเอียดสินค้าที่เข้าโครงการ 'ร้านธงฟ้าประชารัฐ' ณ เดือน ส.ค. 2561
คนพิการเข้าถึง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ เพียง 3.7 แสนคน เหตุไม่สะดวกไปลงทะเบียน–กลัวเสียสิทธิอื่น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: