คนพิการเข้าถึง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ เพียง 3.7 แสนคน เหตุไม่สะดวกไปลงทะเบียน–กลัวเสียสิทธิอื่น

ทีมข่าว TCIJ: 10 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 11027 ครั้ง

ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2550-2560 ‘คนพิการ’ เพิ่มจาก 1.9 ล้านคน เป็น 3.7 ล้านคน ส่วนข้อมูลของ พม. มี 1.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ลงทะเบียน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ เพียง 376,193 คน พบสาเหตุ ‘ไม่สามารถเดินทางมาเองได้-ผู้ดูแลไม่มีเวลาไปลงทะเบียน-กังวลว่าถ้าได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจะถูกตัดสิทธิอื่น-เห็นว่าได้รับเบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือนอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมาขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก’ ที่มาภาพประกอบ: thaihealth.or.th

ปี 2550-2560 ผลสำรวจพบคนพิการเพิ่มจาก 1.9 ล้านคน เป็น 3.7 ล้านคน

เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย แถลงผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บรวบรวมข้อมูลเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2560 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 109,000 ครัวเรือน ผลการสำรวจความพิการครั้งนี้ พบว่าประเทศไทยมีประชากรพิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยเมื่อพิจารณาตามลักษณะความพิการ พบว่าเป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 4.1 หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 4.2 สำหรับประชากรที่มีทั้งสองลักษณะ คือมีความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 2.8 (1.9 ล้านคน) [1]

ก่อนหน้านี้ในการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่าไทยมีประชากรที่พิการจำนวน 1.9 ล้านคน หรือร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ลักษณะนี้คือเป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 2.8 (1.8 ล้านคน) ประชากรที่มีความลำบากในการดูแลตนเองหรือทำกิจวัตรส่วนตัว มีร้อยละ 0.6 (0.4 ล้านคน) หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกายจิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 2.0 (1.3 ล้านคน) [2]

และในการสำรวจเมื่อปี 2555 พบว่าไทยมีประชากรที่พิการจำนวน 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นผู้ที่มีลักษณะพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ลักษณะนี้ คือ เป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 2.1 (1.4 ล้านคน) ประชากรที่มีความลำบากในการดูแลตนเองหรือทำกิจวัตรส่วนตัวมีร้อยละ 0.5 (0.3 ล้านคน) หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 1.6 (1.1 ล้านคน) [3]

คนพิการกับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

การสำรวจข้อมูลคนพิการของหน่วยงานภาครัฐจนถึงปี 2561 นั้น หลายหน่วยงานยังมีตัวเลขไม่ตรงกัน และพบว่าคนพิการยังเข้าไม่ถึงนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นจำนวนมาก

จาก รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้ากับการพัฒนากระแสหลัก (Disability Inclusive Development: DID) ของ คณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม 9 ครั้ง ระหว่างวันที่ 3 พ.ค. 2560-28 พ.ย. 2561 ได้ระบุถึงประเด็นการเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ว่า จากการติดตามการจดทะเบียนประชาชนเพื่อขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น พบว่ามีคนพิการ (ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนคนพิการ) ไปลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวมเพียง 376,193 คน เท่านั้น ซึ่งจากข้อมูล ณ ปี 2561 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่ามีคนพิการที่จดทะเบียนคนพิการแล้วประมาณ 1.8 ล้านคน ส่วนข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2560 พบว่ามีคนพิการทั้งที่ได้จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนประมาณ 3.7 ล้านคน

จากตัวเลขที่ได้ยกมานั้น จึงทำให้เกิดข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าคนพิการที่เหลือไม่ใช่คนจนหรือไม่ อะไรเป็นอุปสรรคและสาเหตุให้คนพิการเหล่านี้ไม่ได้ไปลงทะเบียนขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ในรายงานฯ มีการระบุคำชี้แจงจากตัวแทนของกระทรวงการคลังไว้ว่า เรื่องการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น นอกจากการกำหนดนิยาม 'คนจน' ตรงกับของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่หมายความว่า “คนจนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน” แล้วนั้น กระทรวงการคลังยังใช้เกณฑ์ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีมาคำนวณ ดังนั้นข้อมูลของกระทรวงการคลังจึงมีทั้งคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนและต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงไม่ใช้คำว่า "ลงทะเบียนคนจน" แต่ใช้คำว่า "ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย" สำหรับประเด็นทียังมีคนไม่ไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยไม่ใช่คนจนใช่หรือไม่นั้น เป็นปัญหาเชิงของพื้นที่ เพราะว่าในขณะที่มีการประกาศให้ประชาชนที่คิดว่าตนเองเป็นผู้มีรายได้น้อยไปลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 15 พ.ค. 2560 โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับกระทรวงการคลัง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด 50 เขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับลงทะเบียน จะเห็นได้ว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 14.1 ล้านคน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวกระทรวงการคลังจะทำการพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างตรงกับนิยามของ "ผู้มีรายได้น้อย"

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธ์ลงทะเบียนในปี 2560 ประกอบด้วย 1.มีสัญชาติไทย 2.มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป (โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พ.ค. 2542) 3.ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นที่เกิดในปี 2559 ไม่เกิน 100,000 บาท 4.ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธกส. พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท และ 5. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ กรณีที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน) ใช้สำหรับอยู่อาศัยอย่างเดียว บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีไม่เกิน 1 ไร่ การพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 4 ประการ ต้องพิจารณาร่วมกับเกณฑ์การมีรายได้เสริมซึ่งจะต้องไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน

เมื่อกระทรวงการคลังได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนในปี 2560 แล้วจะทำการตรวจสอบข้อมูลโดยกรมการปกครอง กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ รวม 26 หน่วยงาน ผลปรากฏว่ามีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 2.7 ล้านคน และผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 11.47 ล้านคน ผู้ที่ผ่านจะได้รับ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ เพื่อนำไปบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะจัดทำฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย (Data Mining) โดยแบ่งกลุ่มตามอายุ สภาพร่างกาย ที่อยู่ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน และหนี้ ในระดับภูมิภาค/จังหวัด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการชี้เป้าทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน และระดับบุคคลมีความสอดคล้องกัน

คนพิการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพียง 376,193 คน

โครงสร้างภาพรวมของผู้มีรายได้น้อยและภารกิจที่ต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จำนวน 11.44 ล้านคน ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วจากฐานข้อมูลของ 26 หน่วยงาน แบ่งออกเป็น 1.วัยแรงงานและไม่พิการ จำนวน 7.64 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน จำนวน 2.55 ล้านคน และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน จำนวน 5.09 ล้านคน และ 2.ผู้สูงอายุกับคนพิการ จำนวน 3.99 ล้านคน

ในส่วนโครงสร้างของคนพิการผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในมิติต่างๆ รวมทั้งสิ้น 376,193 คน แบ่งออกเป็น คนพิการ (มีบัตรคนพิการ) 337,065 คน คนพิการ (ไม่มีบัตรคนพิการ) 38,115 คน คนพิการ (ไม่ระบุว่ามีบัตรหรือไม่มีบัตร) 1,013 คน

คนพิการไม่สะดวกไปลงทะเบียน–กลัวเสียสิทธิอื่น

สาเหตุตัวเลขคนพิการที่มาลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สอดคล้องกับจำนวนคนพิการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีประมาณ 1.8 ล้านคน (ส่วนตัวเลขล่าสุดจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติมีถึง 3.7 ล้านคน) อาจจะเป็นไปได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ไม่ได้มาลงทะเบียน เพราะแรกเริ่มในปี 2559 กระทรวงการคลังได้กำหนดให้ผู้ต้องการลงทะเบียน จะต้องมาลงทะเบียนด้วยตนเองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อคนพิการที่ไม่สามารถเดินทางมาเองได้ ต่อมาในปี 2560 กระทรวงการคลังจึงได้อนุญาตให้ผู้รับมอบอำนาจ (ซึ่งอาจจะเป็นผู้ดูแลหรือผู้อนุบาล) มาลงทะเบียนแทนได้ ส่งผลให้มีจำนวนผู้มาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวอาจจะยังไม่ทั่วถึงเพราะว่าอาจจะมีคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล หรือหากมีผู้ดูแลแต่ผู้ดูแลไม่มีเวลาว่างมาลงทะเบียนแทนได้

ต่อกรณีนี้กระทรวงการคลังจึงได้ทำบันทึกเป็นข้อสังเกตไว้ว่าในปีต่อไปถ้ามีการลงทะเบียน กระทรวงการคลังอาจจะต้องมีหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เคยหารือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าอาจจะให้ พม. เป็นหน่วยงานรับลงทะเบียนอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อที่จะเอาตัวเลขคนพิการของ พม. (จำนวน 1.8 ล้านคน) ไปเทียบเคียงกับจำนวนตัวเลขคนลงทะเบียนขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ในรายงานฯ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าคนพิการที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจจะมีความกังวลต่างๆ เช่น คนพิการอาจมีความกังวลว่าถ้าได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจะถูกตัดสิทธิด้านอื่น หรือเห็นว่าตนเองได้รับเบี้ยคนพิการซึ่งเป็นสวัสดิการจากรัฐจำนวน 800 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก นอกจากนี้ในจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอาจจะมีคนพิการที่ไม่ระบุว่าตนเองเป็นคนพิการอยู่รวมอยู่แล้วด้วย

อนึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่บัตรตลอดชีพ แต่เป็นบัตรปีต่อปี ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในบัตร กระทรวงการคลังจะตั้งงบประมาณไว้หนึ่งปีงบประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับปีงบประมาณใหม่ว่าจะดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่อหรือไม่ ถ้าดำเนินการต่อจะต้องตั้งงบประมาณใหม่เพื่อขอวงเงินมาอยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชาชนใช้จ่ายต่อ ส่วนประเด็นเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถให้คนอื่นใช้แทนกันได้หรือไม่นั้น โดยหลักการแล้วกระทรวงการคลังได้ออกข้อบังคับชัดเจน 3 กรณี คือ 1.คนพิการที่ไม่สามารถเดินทางได้ 2.คนชราที่ไม่สามารถเดินทางได้ 3.ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทั้ง 3 กรณีถ้าบุคคลอื่นจะไปใช้บริการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทนจะต้องได้รับมอบอำนาจจากบุคคลทั้ง 3 กรณีดังกล่าวที่เป็นเจ้าของบัตรเสียก่อน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วย

 

อ้างอิง
[1] สำนักงานสถิติฯ เผยผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 3 มิ.ย. 2562)
[2] สำรวจความพิการ พ.ศ. 2550 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 3 มิ.ย. 2562)
[3] สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2555 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 3 มิ.ย. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ร้อยละของประชากรพิการที่มีลักษณะความบกพร่อง จำแนกตามลักษณะความบกพร่อง ปี 2560
ไทยมีคนพิการ 3.7 ล้าน ไม่ได้จดทะเบียนเกินครึ่ง-เด็กวัยเรียนขาดโอกาสศึกษา (TCIJ, 7 เม.ย. 2562)
สถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ปี 2552-2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: