คาด ‘ขยะพลาสติกในทะเล’ อาจเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2040

ทีมข่าว TCIJ | 29 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 10145 ครั้ง

งานวิจัยโดย The Pew Charitable Trusts และ SYSTEMIQ คาดการณ์ว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงไปในมหาสมุทรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ.2583) หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม - นอกจากนี้ยังมีการศึกษาชิ้นใหม่ระบุ 'สหรัฐฯ' คือหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อปัญหามลภาวะขยะพลาสติกทางทะเลในระดับที่สูงกว่าที่มีการประเมินก่อนหน้านี้ เพราะรีไซเคิลขยะได้น้อย มีการลดการส่งออกขยะ - ไทยเห็นชอบ 'พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972' แล้ว หวังเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน | ที่มาภาพประกอบ: Unsplash/Brian Yurasits

จากรายงานวิจัยโดย The Pew Charitable Trusts และ SYSTEMIQ ได้คาดการณ์ว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงไปในมหาสมุทรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในปี 2040 (พ.ศ.2583) หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม

งานวิจัยนี้เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2020 ได้ชี้ว่าปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงไปในท้องทะเลอาจมีมากถึง 29 ล้านตันในปี 2040 หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งคิดเป็นราว 2.6 เท่าจากระดับในปัจจุบัน โดยถ้าสมมติว่าขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทรถูกพัดขึ้นชายฝั่งที่ใดที่หนึ่งในโลก จะมีกองขยะหนัก 50 กิโลกรัมกองทับถมกันทุก ๆ พื้นที่ 1 ตารางเมตรตามชายฝั่งทั่วโลกในปี 2040 เนื่องจากพลาสติกจะยังคงอยู่ในมหาสมุทรเป็นเวลาหลายร้อยปี และอาจไม่มีการย่อยสลายทางชีวภาพ ปริมาณพลาสติกสะสมในมหาสมุทรภายในปี 2040 อาจสูงถึง 600 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักวาฬสีน้ำเงินมากกว่า 3 ล้านตัว

Pew และ SYSTEMIQ ระบุว่าตัวเลขจากการคาดการณ์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนี้ มีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรที่มากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของการใช้พลาสติกต่อหัวอันเกิดจากต้นทุนการผลิตพลาสติกที่มีราคาถูก

ขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นปัญหาร้ายแรงระดับโลก ขยะที่เพิ่มเติมมาในระยะนี้คือหน้ากากอนามัยใช้แล้วและถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีสาเหตุมาจากการระบาดของ COVID-19 ที่ยังดำเนินอยู่

แต่ทั้งนี้งานวิจัยของ Pew และ SYSTEMIQ ระบุว่าอย่างไรก็ตาม มาตรการที่เด็ดขาดอาจลดจำนวนขยะในมหาสมุทรลงได้กว่าร้อยละ 50 จากระดับในปัจจุบัน ในปี 2040 ทางองค์การชี้ว่าการลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกขนานใหญ่และการออกแบบแก้ไขให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นนั้น คือตัวอย่างของมาตรการที่มีประสิทธิผล [1]

'สหรัฐฯ' ก่อมลภาวะขยะพลาสติกทางทะลสูงกว่าที่เคยประเมินไว้

ทีมนักวิทยาศาสตร์ ประเมินว่าสหรัฐฯ ผลิตขยะพลาสติกมากถึง 42 ล้านตันในปี 2016 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลก โดยมีการประมาณการณ์ว่า ราว 2.2 ล้านตันตกลงไปอยู่ในทะเลและมหาสมุทร | ที่มาภาพประกอบ: Susan White/USFWS (CC BY 2.0)

ช่วงต้นเดือน พ.ย. 2020 สำนักข่าว VOA รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ Ocean Conservancy ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่ามลภาวะพลาสติก คือหนึ่งในภัยคุกคามหลัก ๆ ของสภาพมหาสมุทรโลกในอนาคต และพลาสติกยังคงเป็นวัสดุที่มีความสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ทั่วห่วงโซ่อาหารทางทะเล ตั้งแต่ระดับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก เช่น แพลงก์ตอนพืช ไปจนถึงในปลา และสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้ชีวิตในทะเล รวมทั้งนกทะเลและเต่า ด้วย

บทวิเคราะห์ในงานวิจัยล่าสุดที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ Ocean Conservancy ได้ทำการศึกษายังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ผลิตขยะพลาสติกออกมาถึง 42 ล้านตันในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลก โดยมีการประมาณการณ์ว่า ราว 2.2 ล้านตันตกลงไปอยู่ในทะเลและมหาสมุทร

การศึกษาก่อนหน้านี้โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ Ocean Conservancy ยังจัดสหรัฐฯ เป็นประเทศอันดับที่ 20 ของผู้ผลิตขยะพลาสติกทางทะเลทั่วโลก โดยระบุว่าการทิ้งขยะไม่เป็นที่คือสาเหตุเดียวของมลภาวะประเภทนี้

แต่ในงานศึกษาชิ้นล่าสุด ทีมงานได้นับรวมการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกกฎหมาย (illegal dumping) และขยะของเสียที่ถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อรีไซเคิล ให้เป็นอีก 2 สาเหตุของมลภาวะขยะพลาสติกทางทะเล ก่อนจะปรับอันดับของสหรัฐฯ ให้ขึ้นมาอยู่ที่ลำดับที่ 3

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวระบุว่า สหรัฐฯ ทำการรีไซเคิลขยะพลาสติกในปี 2019 เพียงร้อยละ 9 เท่านั้น และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นการรีไซเคิลภายในประเทศ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งถูกส่งไปต่างประเทศ โดยนักวิจัยประเมินว่า มีขยะพลาสติกจากสหรัฐฯ จำนวนมากถึง 1 ล้านตันที่ไหลเข้าไปในระบบนิเวศน์ทางทะเลเพราะการส่งออกในปี 2019 นั้นเพียงปีเดียว

ด้านกลุ่มธุรกิจพลาสติกที่ชื่อว่า American Chemistry Council (ACC) ยอมรับในแถลงการณ์ของตนว่าขยะพลาสติกที่ปรากฎอยู่ในธรรมชาติ คือสิ่งที่รับไม่ได้ และผู้ผลิตพลาสติกในสหรัฐฯ กำลังพยายามเร่งหาวิธีรับมือเรื่องนี้อยู่

ACC ยังระบุว่าอุตสาหกรรมพลาสติกในสหรัฐฯ ร่วมกันตั้งเป้าที่จะบรรลุการ นำวัสดุหีบห่อพลาสติกมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล หรือเก็บวัสดุดังกล่าวกลับคืนมาให้ได้หมดภายในปี 2040 พร้อมยืนยันว่า นับตั้งแต่ปี 2016 มา การส่งออกขยะพลาสติกของสหรัฐฯ ได้ลดลงไปแล้วเกือบร้อยละ 70

แต่การศึกษาชิ้นล่าสุดของ Ocean Conservancy นี้ได้แย้งว่าการลดลงของการส่งออกขยะพลาสติกนั้นมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการระงับการนำเข้าของจีน ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ก่อนที่การส่งออกขยะเหล่านั้นไปประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และไทย จะพุ่งสูงแทน ตามข้อมูลของรายงานข่าวเชิงสืบสวนของหนังสือพิมพ์ The Financial Times

ทีมนักวิจัยของ Ocean Conservancy ระบุว่าการยกเครื่องกระบวนการผลิต บริโภคและรีไซเคิลพลาสติกคือสิ่งที่ต้องลงมือทำโดยด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤตพลาสติกในโลก และแม้ว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาระดับโลก นักวิจัยเชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ [2]

ไทยเห็นชอบ 'พิธีสารฯ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลฯ ค.ศ. 1972' แล้ว

เมื่อช่วงปลายเดือน 24 ก.ค. 2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติ 599 เสียง เห็นชอบ 'พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972' กำหนดมาตรฐานป้องกันควบคุมการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลให้มีประสิทธิภาพการบังคับใช้ด้าน รมว.คมนาคม ระบุ การเข้าร่วมภาคีพิธีสารของไทยจะเป็นการเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบพิธีสาร ค.ศ.1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ.1972 (พิธีสารลอนดอน 1996) ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 599 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 10 เสียงจากผู้เข้าร่วมประชุม 609 คน

ในครั้งนั้นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงสาระสำคัญว่าพิธีสารฉบับนี้ได้กำหนดการห้ามทิ้งเทหรือเผาของเสียและวัสดุอื่นลงในทะเลเว้นแต่ได้รับอนุญาต หรือ เข้าข้อยกเว้นตามพิธีสารโดยกำหนดหน้าที่และให้อำนาจรัฐในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยกำหนดระบบการอนุญาตและระบบการประเมินการทิ้งเทวัสดุลงทะเลเพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2549 ปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งสิ้น 53 ประเทศ อาทิ จีน เยอรมัน อังกฤษ เกาหลีใต้ กำหนดให้มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขตเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน ทั้งนี้พิธีสารดังกล่าวจะไม่ถูกบังคับใช้เมื่อมีกรณีจำเป็นต่อการป้องกันความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์หรือของเรือ กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยห้ามทิ้งเทของเสีย หรือ เผาของเสียหรือวัสดุอื่นทุกชนิด เว้นแต่ที่ของเสียหรือวัสดุอื่นจำนวน 8 ประเภท ที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถทิ้งเทได้ ประกอบด้วย วัสดุที่ขุดลอก กากตะกอนน้ำเสียของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเรือ หรือ แท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล วัสดุทางธรณีวิทยาหรือ ‘อนินทรีย์สาร’ ที่มีความเฉื่อย วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติวัตถุขนาดใหญ่ และกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตตามที่รัฐภาคีกำหนด

หวังสร้างวินัยให้คนในชาติปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

รัฐสภาไทยได้เห็นชอบ 'พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972' แล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา หวังสร้างวินัยให้คนในชาติในการปกป้องรักษาทางทะเล | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

นายศักดิ์สยาม ยังระบุว่าสำหรับประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฉบับนี้ในระดับระหว่างประเทศ จะช่วยปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลตามกระแสสังคมปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางทะเลเห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่ประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารระดับภายในประเทศ ถือเป็นการยกระดับกฎหมายของประเทศ ที่มีจะมีกฎหมายเฉพาะซึ่งกำหนดมาตรฐานการป้องกันควบคุมการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลที่มีเอกภาพ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพการบังคับใช้ มีการควบคุมป้องกันตั้งแต่ต้นทางปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และน่านน้ำชายฝั่ง จากการที่เรือต่างชาติลักลอบนำของเสียหรือวัสดุทิ้งเทในพื้นที่ทางทะเลของไทย อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารจะเป็นการเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติในการปกป้องรักษาทางทะเล ซึ่งเป็นมรดกสำคัญของประเทศ

ขณะที่ผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารด้านหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเตรียมการเรื่องงบประมาณรองรับพันธกรณีตามที่พิธีสารกำหนดและผู้ประกอบธุรกิจอาจมีขั้นตอนและต้นทุนการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดมากขึ้น อย่างไรก็ตามพิธีสารฉบับนี้จะสนับสนุนให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางทะเลอย่างยั่งยืน และมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางส่วนในการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยของประเทศ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางทะเลของประเทศอีกด้วย [3]

 

ที่มาข้อมูล
[1] Breaking the Plastic Wave: Top Findings for Preventing Plastic Pollution (The Pew Charitable Trusts, 23 July 2020)
[2] US Among Top Contributors to Ocean Plastic Pollution (VOA, 3 November 2020)
[3] จับตา: เปิดรายละเอียด พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาป้องกันมลภาวะทางทะเล (TCIJ, 28 ก.ค. 2563)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: