จับตา: เปิดรายละเอียด พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาป้องกันมลภาวะทางทะเล

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3213 ครั้ง


เปิดรายละเอียด 'พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972' ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไทย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติ 599 เสียง เห็นชอบ 'พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972' กำหนดมาตรฐานป้องกันควบคุมการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลให้มีประสิทธิภาพการบังคับใช้ด้าน รมว.คมนาคม ระบุ การเข้าร่วมภาคีพิธีสารของไทยจะเป็นการเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบพิธีสาร ค.ศ.1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ.1972 (พิธีสารลอนดอน 1996) ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 599 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 10 เสียงจากผู้เข้าร่วมประชุม 609 คน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงสาระสำคัญ ว่าพิธีสารฉบับนี้ได้กำหนดการห้ามทิ้งเทหรือเผาของเสียและวัสดุอื่นลงในทะเลเว้นแต่ได้รับอนุญาต หรือ เข้าข้อยกเว้นตามพิธีสารโดยกำหนดหน้าที่และให้อำนาจรัฐในการควบคุมและกำกับดูแลกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยกำหนดระบบการอนุญาตและระบบการประเมินการทิ้งเทวัสดุลงทะเลเพื่อดูแลกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2549 ปัจจุบันมีรัฐภาคีทั้งสิ้น 53 ประเทศ อาทิ จีน เยอรมัน อังกฤษ เกาหลีใต้ กำหนดให้มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขตเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน ทั้งนี้พิธีสารดังกล่าวจะไม่ถูกบังคับใช้เมื่อมีกรณีจำเป็นต่อการป้องกันความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์หรือของเรือ กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยห้ามทิ้งเทของเสีย หรือ เผาของเสียหรือวัสดุอื่นทุกชนิด เว้นแต่ที่ของเสียหรือวัสดุอื่นจำนวน 8 ประเภท ที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถทิ้งเทได้ ประกอบด้วย วัสดุที่ขุดลอก กากตะกอนน้ำเสียของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเรือ หรือ แท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล วัสดุทางธรณีวิทยาหรืออนินทรีย์สารที่มีความเฉื่อย วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติวัตถุขนาดใหญ่ และกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตตามที่รัฐภาคีกำหนด

สำหรับประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารฉบับนี้ในระดับระหว่างประเทศ จะช่วยปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลตามกระแสสังคมปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางทะเลเห็นได้จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่ประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารระดับภายในประเทศ ถือเป็นการยกระดับกฎหมายของประเทศ ที่มีจะมีกฎหมายเฉพาะซึ่งกำหนดมาตรฐานการป้องกันควบคุมการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลที่มีเอกภาพ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพการบังคับใช้ มีการควบคุมป้องกันตั้งแต่ต้นทางปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และน่านน้ำชายฝั่ง จากการที่เรือต่างชาติลักลอบนำของเสียหรือวัสดุทิ้งเทในพื้นที่ทางทะเลของไทย อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารจะเป็นการเริ่มต้นมุ่งสร้างวินัยให้คนในชาติในการปกป้องรักษาทางทะเล ซึ่งเป็นมรดกสำคัญของประเทศ

ขณะที่ผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารด้านหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเตรียมการเรื่องงบประมาณรองรับพันธกรณีตามที่พิธีสารกำหนดและผู้ประกอบธุรกิจอาจมีขั้นตอนและต้นทุนการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดมากขึ้น อย่างไรก็ตามพิธีสารฉบับนี้จะสนับสนุนให้เกิดการปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางทะเลอย่างยั่งยืน และมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางส่วนในการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยของประเทศ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางทะเลของประเทศอีกด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: