‘Street food กรุงเทพฯ’ ถึงเวลา(รัฐ)ประหารหรือส่งเสริม?

รายงานพิเศษ ผลงาน TCIJ School รุ่นที่ 6: 7 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 20582 ครั้ง

ธุรกิจ ‘สตรีทฟู้ด’ ไทยสร้างยอดขายกว่า 271,355 ล้านบาท ต่างชาติมอง ‘กรุงเทพฯ’ เป็นเมืองหลวงของ ‘สตรีทฟู้ด’  ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ระบุยุค คสช. เศรษฐกิจแย่ คนกรุงเทพฯ รายได้น้อยลงแต่ราคาอาหารสตรีทฟู้ดกลับพุ่งสูงขึ้น 'พรรคอนาคตใหม่' ชี้ต้องพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคและความปลอดภัยไปพร้อมกัน ให้พื้นที่กับผู้ค้าสตรีทฟู้ดแล้วคนเดินทางเท้ายังต้องเดินทางสะดวกด้วย จัดโซนนิ่งสตรีทฟู้ดให้เป็นระเบียบ ท้ายสุดต้องมีกระบวนการหาข้อสรุปร่วมกันของทุกฝ่าย

การประกอบอาชีพ ‘ขายอาหารริมทาง’ หรือ ‘สตรีทฟู้ด’ (Street food) ในประเทศไทยพบว่ามีพัฒนาการมาจากช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีกลุ่มผู้ริเริ่มเป็นผู้หญิงในฐานันดรไพร่ที่ทำอาชีพค้าขายหารายได้ร่วมกับการทำนา ในช่วงแรกจะเป็นการค้าขายในตลาดน้ำ ซึ่งมีทั้งที่ขายแบบอยู่กับที่และที่พายเรือเร่ขายไปตามบ้านเรือนริมคลอง ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ มีการสร้างถนนมากขึ้น เส้นทางคมนาคมหลักจึงเริ่มเปลี่ยนมาอยู่บนบก ทำให้เกิดการขยับการค้าขายมาอยู่บนบกมากขึ้น ลักษณะการค้าขายบนบกนี้ก็มีทั้งขายอยู่กับที่บริเวณนอกกำแพงพระนคร และที่ไม่อยู่กับที่หรือที่เรียกว่า ‘หาบเร่แผงลอย’ ซึ่งได้กลายเป็นอาชีพอิสระอีกอาชีพหนึ่ง

การค้าหาบเร่แผงลอยขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากปี 2523 เนื่องจากสามารถตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออาหารราคาถูก และพร้อมให้บริการตามซอกซอยแก่ชุมชนของแรงงานจำนวนมากที่ผันตัวจากภาคเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม การค้าขายอาหารข้างทางทั้งเคลื่อนที่และอยู่กับที่ จึงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทยมาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม การค้าขายข้างทางก็เริ่มขยายจากแค่ผู้ค้าที่มีทุนน้อย มาเป็นโมเดลทางธุรกิจขนาดเล็กที่หลายคนมีฐานะการเงินดี ก็ลงมาสู่สนามอาชีพนี้ด้วย [1][2]

มุมมองคนนอกต่อสตรีทฟู้ดกรุงเทพฯ

จากการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ดูเหมือนว่าสตรีทฟู้ดในประเทศไทยจะได้รับความนิยมและมีภาพลักษณ์ในด้านบวกมากกว่าด้านลบ ตัวอย่างในปี 2018 สำนักข่าว CNN ยกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่มีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก แม้แต่เว็บไซต์สื่อออนไลน์ชื่อดังอย่าง The guardian ก็ยังลงข่าวคราวความเคลื่อนไหวของสตรีทฟู้ดในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายงานเรื่องนโยบายทวงคืนทางเท้าของคณะรัฐปรัหาร (คสช.)  ที่มีแนวโน้มจะสั่งห้ามขายสตรีทฟู้ดในหลายพื้นที่ โดยเดอะการ์เดียนได้แสดงความเห็นไว้ว่า หากมีการยกเลิกสตรีทฟู้ด ก็จะทำประชาชนจำนวนมากที่พึ่งพิงสตรีทฟู้ดอยู่ เช่น พนักงานออฟฟิศได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังแสดงความเห็นว่าการปฏิรูปอาจต้องการทำให้เหมือนแนวทางการจัดการสตรีทฟู้ดในสิงคโปร์ แต่กระนั้นก็อาจทำลายเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทยไปด้วย

ขณะที่สื่อที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้รับสารทั่วโลกอย่าง ‘เน็ตฟลิกซ์’ (Netflix) ก็มีรายการ สารคดีที่พาไปดูสตรีทฟู้ด ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น นอกจากจะนำเสนอรสชาติที่หลากหลายและเป็นเลิศของอาหารไทยแล้ว รายการดังกล่าวก็ทำเนื้อหาโดยเน้นไปที่สตรีทฟู้ดร้านดังเป็นส่วนใหญ่ เช่น ร้านเจ๊ไฝ จน ผู้ชมชาวไทยบางส่วน วิจารณ์ว่าภาพลักษณ์ของสตรีทฟู้ดในสายตาชาวต่างชาติอาจผิดเพี้ยนไปจากความจริงของสตรีทฟู้ดอื่นๆ ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 เน็ตฟลิกซ์ได้เผยพร่สารคดีเรื่องใหม่ ‘Street Food’ ที่นำเสนอเรื่องราวร้านอาหารริมทางมีชื่อเสียงโดดเด่นจากทั่วโลก โดยซีซั่นเเรกจะพาไปตะลอน 9 ประเทศในทวีปเอเซีย อย่าง ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ สิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจและยินดีเป็นอย่างมากจากคนไทยในสารคดีเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นตอนเปิดเรื่องแรก ในชื่อตอนที่ 1 Bangkok, Thailand และร้านอาหารสตรีทฟู้ดที่ได้รับคัดเลือกเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เหนือกว่ารสชาติในอาหาร นั่นคือเส้นทางของผู้เสกสรรวัตถุดิบต่างๆให้กลายเป็นสวรรค์ของนักชิมริมทาง ได้เเก่ ร้านเจ๊ไฝ ประตูผี ผู้ได้รับดาวมิชลิน 1 ดวง, ร้านบะหมี่หมูแดงเจ้าดัง สุขุมวิท 38 และร้านข้าวแกงเจ็กปุ้ย

สารคดีตอนแรกที่พูดถึงเรื่องราวของเจ๊ไฝกับร้านมิชลิน 1 ดาว ถูกให้พื้นที่ออกอากาศเป็นอันดับ 1 อาจจะเนื่องด้วยจากความพิเศษของอาหารที่เธอได้ยกระดับเมนูสตรีทฟู้ด จนได้เครื่องหมายการันตรีความอร่อยจากดาวมิชลิน และความน่าสนใจในเส้นทางชีวิตของเจ๊ไฝที่ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าที่จะมีวันนี้ได้

เจ๊ไฝในอดีตทำอาชีพเป็นช่างเย็บผ้าได้เดือนละ 350 บาท และโชคชะตาก็พลิกผันเมื่อบ้านที่เธออยู่อาศัยกับครอบครัวถูกไฟไหม้หมดทั้งหลังเหลือเพียงชุดนอนของเธอชุดเดียวเท่านั้น อาชีพช่างเย็บผ้าของเธอจึงมอดไหม้ไปกับไฟเพราะจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ทั้งหลายกลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด ต่อมาจึงได้ไปเป็นลูกมือของแม่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ในตลาดตรงข้ามบ้านที่ถูกไฟไหม้ ความยากลำบากยังถาโถมมาไม่หยุดหย่อน ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ของแม่เธอ ที่มีเจ๊ไฝและน้องสาวเป็นลูกมือนั้นเป็นร้านเล็กๆ ในตรอกและตั้งโต๊ะไม่กี่ตัวอยู่บนทางเท้า เปิดในเวลากลางคืน เอาแน่นอนกับการเปิดปิดร้านไม่ได้เพราะหากวันไหนฝนตกหรือถูกเจ้าที่ไล่ คืนนั้นก็จะแย่ไม่มีรายได้ ถึงกระนั้นการเป็นลูกมือในครัวครั้งนั้นก็ทำให้เธอมองเห็นลู่ทางที่จะพลิกฟื้นตัวเองและครอบครัวได้อีกครั้ง เธอเริ่มฝึกฝนและเอาจริงเอาจังกับการทำอาหาร แม้จะถูกใครดูถูกว่าเธอทำไม่ได้ก็ตาม ในช่วงหนึ่งของสารคดีตอนนี้เธอได้กล่าวว่า “ก็เพราะฉันกล้าเสี่ยง” ด้วยความไม่ย่อท้อ เธอคิดว่าสิ่งที่จะทำรายได้ให้เธอคืออาหารทะเล จึงได้เริ่มสั่งอาหารทะเลสดที่มีคุณภาพ ซึ่งก็ตามมาด้วยราคาที่สูงเช่นกัน แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่าเธอนั้นกล้าเสี่ยง เมื่อเธอได้ลองนำอาหารทะเลอย่าง กุ้งแชบ๊วย ปลาหมึก มาปรุงอาหารพบว่าลูกค้าชื่นชอบและติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เธอจึงสามารถซื้อบ้านหลังนี้และเปิดร้านเป็นของตัวเองได้

 

นอกจากนี้สื่อต่างชาติหลายสำนักอย่าง เช่น ‘นิตยสาร Forbes’ ‘หนังสือพิมพ์ Telegraph’ หรือแม้แต่ ‘Time Out’ แบรนด์ไลฟ์สไตล์และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลก ต่างจัดอันดับยกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารริมทางที่ดีที่สุด เนื่องจากรสชาติอร่อย หลากหลายและละกระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้หาซื้อง่าย มีขายตลอดเวลา รองรับทุกมื้ออาหาร เช่น โจ๊ก น้ำเต้าหู สำหรับมื้อเช้า, ไข่เจียวข้าวหอมมะลิ เย็นตาโฟ สำหรับมื้อกลางวัน หรือผัดไทย หมูสะเต๊ะ สำหรับมื้อ เย็น และที่สำคัญราคาไม่แพง โดยถนนเยาวราช ถูกจัดให้เป็นสถานที่ที่มีอาหารริมทางมากที่สุด ส่วนถนนข้าวสาร สีลม และ ตลาดโชคชัยสี่อยู่ในอันดับรองลงมา อีกทั้งเมนูยอดนิยมจากการสำรวจของสภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress)  จัดอันดับให้หอยทอดเป็น 1 ใน 3 อาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุด

Legal Nomads บล็อกท่องเที่ยวชื่อดัง เขียนโดย Jodi Ettenberg หญิงสาวชาวแคนาดาที่ท่องเที่ยวมาหลายประเทศทั่วโลก เขียนบทความหนึ่งชื่อว่า กินสตรีทฟู้ดอย่างไรไม่ให้ป่วย (How to eat street food without getting sick) ในบทความเธอเล่าว่าป่วยและได้รับพิษจากการกินอาหารในต่างแดนหลายครั้ง เธอจึงลิสต์สิ่งที่ต้องทำเมื่อจะกินอาหารในต่างประเทศเอาไว้ ภายในบทความกล่าวถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่รวมไปถึงประเทศไทย วิธีที่เธอแนะนำ แสดงให้เห็นว่าคุณภาพและความสะอาดของอาหารเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ จากประสบการณ์ของเธอ เธอเล่าว่าจะเลือกกินสตรีทฟู้ดที่มีผู้หญิงและเด็กมาต่อแถวเท่านั้น เพราะมั่นใจได้ว่าจะสะอาดจริงๆ เธอจะกินสตรีทฟู้ดเฉพาะร้านที่เห็นครัวหรือกระบวนการปรุงเท่านั้น เพราะไม่อาจรู้ว่าอาหารที่กินใส่อะไรลงไปบ้าง เธอยังระบุว่าสาก มีด หรืออุปกรณ์ครัวที่ใช้ในสตรีทฟู้ดอาจปนเปื้อนด้วยแบคทีเรีย แม้กระทั่งเวลากินน้ำปั่น น้ำดื่มธรรมดาก็อาจปนเปื้อนสารพิษได้

 

ผลการสำรวจตลาดอาหารโลกของ Euromonitor International ปี 2560 พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดไทยสร้างยอดขายประมาณ  271,355 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารริมทาง รูปแบบแฟรนไชส์มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 13 หรือมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี และข้อมูลจากเว็บไซต์ Virtual Tourist ปี 2555 จัดอันดับประเทศไทยเป็นเมืองหลวงอันดับ 1 ด้านความหลากหลายของสถานที่และการมีตัวเลือกมากมาย อาหารริมทางของกรุงเทพฯ จึงไม่เพียงแต่เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ช่วยทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีสีสันและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น [3] [4] [5]

 

สถิติการค้นหาคำว่า “Street food Bangkok” เมื่อเทียบกับคำว่า Street food ในประเทศอื่นในรอบ 1 ปี (มิ.ย.2557-มิ.ย.2562) ผ่าน Google search engine

จากสถิติการค้นหาคำว่า ‘Street food Bangkok’ ในรอบ 5 ปี (มิ.ย.2557-มิ.ย.2562) ผ่าน Google search engine พบว่ามีอันดับการค้นหาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีชื่อเสียงเรื่อง Street แม้จะค้นเฉพาะ สตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ มีข้อน่าสังเกตว่า สตรีทฟู้ดในสิงคโปร์ ที่แม้จะไม่มีสตรีทฟู้ดริมทางเดินเพราะถูก จัดระเบียบให้อยู่เป็นที่เป็นทางในลักษณะของศูนย์อาหาร แต่มีสถิติการค้นหาที่ค่อนข้างใกล้กับ Street food ในกรุงเทพฯ จึงเป็นที่น่าคิดต่อว่า คำว่า ‘Street food’ ในความหมายของคนทั่วไปคืออะไร

ทั้งนี้คำว่า ‘Street food’ ใน Wikipedia ให้หมายความว่า “ready-to-eat food or drink sold by a hawker, or vendor, in a street or other public place, such as at a market or fair. It is often sold from a portable food booth, food cart, or food truck and meant for immediate consumption.” ซึ่งหมายถึงอาหารเครื่องดื่มที่พร้อมรับประทานขายในลักษณะของหาบเร่แผงลอยบนถนนหรือพื้นที่สาธารณะ เช่น ในตลาดหรืองานขายสินค้า ส่วนมากขายในรูปแบบของรถเข็น รถบรรทุกอาหารขนาดเล็ก (food truck) [6]

 

สตรีทฟู้ดกรุงเทพฯ ‘ใครขาย-ใครซื้อ ?’

งานวิจัยระบุว่าผู้ค้าสตรีทฟู้ดใน กทม. ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง

ในงานวิจัยเรื่อง 'การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น' โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร ได้สำรวจคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ค้าข้างทางและการประกอบอาชีพ โดยการสัมภาษณ์ผ็ค้าในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในสี่เขต ผู้ให้ข้อมูลคือผู้ค้า 100 คน พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่สูงและมีอายุมากกว่า 40 ปี สัดส่วนของผู้ค้าหญิงสูงมากกว่าร้อยละ 75 สำหรับการลงทุนเฉลี่ยของผู้ค้าอยู่ที่วันละ 2,237.48 บาท ส่วนรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,208.40 บาท โดยงานวิจัยนี้ตั้งข้อสังเกตว่าสัดส่วนที่สูงของผู้ค้าหญิงเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่อาชีพมากขึ้น

ในด้านผู้ซื้อ จากการสำรวจข้อมูลพบว่าผู้ซื้อมีทุกกลุ่มอายุ และส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ผู้ซื้อที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 9,000 บาท มีถึงร้อยละ 35 ผู้ซื้อเกือบร้อยละ 40 ซื้อสินค้าข้างทางทุกวัน ผู้ซื้อร้อยละ 50 มีมูลค่าการซื้อแต่ละครั้งมากกว่า 100 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อสินค้าข้างทาง เป็นเหตุผลด้านความสะดวกและราคา ผู้ซื้อมีความเห็นว่าการซื้อสินค้าข้างทางแตกต่างจากการซื้อสินค้าจากร้านค้า เพราะสะดวกกว่า ราคาสินค้าถูกกว่า ผู้ซื้อและผู้ขายมีปฏิสัมพันธ์กัน [7]

นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการในต่างประเทศระบุถึงสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่นในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Gisele Yasmeen ปี 1996 เรื่อง Bangkok’s foodscape: public eating, gender relations and urban change มองว่า การที่กรุงเทพฯ ได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น อุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทานจึงกลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นอาหารข้างทางจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้อาศัยกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในเมืองที่ต้องการอาหารที่สามารถซื้อได้ง่าย ราคาประหยัด สะดวก ใกล้บ้านและสะอาด ซึ่งในวิทยานิพนธ์ของ Gisele Yasmeen ให้ความเห็นว่าการซื้ออาหารนอกบ้านนั้นจะช่วยสร้างงานและโอกาสให้กับร้านอาหารข้างทางด้วย และยังลดภาระงานบ้านอย่างการทำอาหาร ซึ่งทำให้คนที่ทำงานนอกบ้าน สะดวก สบายมากขึ้น นอกจากนั้นร้านอาหารข้างทางยังเป็นส่วนสำคัญของทิวทัศน์เมืองกรุงเทพที่เต็มไปด้วยสีสันตอนกลางคืน เพราะว่าเต็มไปด้วยผู้คนที่มานั่งกินอาหารข้างทางและซื้อกลับบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ถนนปลอดภัยมากขึ้นเพราะมีสายตาจับจ้องทั่วท้องถนน ประหนึ่งเป็นการสอดส่องโดยพลเมืองอย่างไม่เป็นทางการ และพื้นที่การกินอาหารอาจกลาย เป็นพื้นที่ชุมชนชั่วคราวให้ผู้คนได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อีกด้วย [8]

ปัญหา อุปสรรค และภาพลักษณ์ด้านลบของสตรีทฟู้ดกรุงเทพฯ

สำหรับประเทศไทย ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการค้าข้างทางไม่ได้แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ความพยายามในการจำกัดการค้าประเภทนี้ เกิดขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพฯ แต่ก็มีลักษณะผ่อนปรนมาโดยตลอดเช่นกัน พัฒนาการที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการประกาศใช้ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร ผ่อนผัน ให้จำหน่ายสินค้าใน ‘ที่หรือทางสาธารณะ’ ได้ จากกฎหมายฉบับนี้กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดจุดผ่อนผันทางการค้าได้ซึ่ง ณ พ.ค. 2559 มี 499 จุด และมีผู้ค้า 16,800 ราย [9]

นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้ ‘สถานที่จำหน่ายอาหาร’ หมายถึง อาคารสถานที่ หรือบริเวณใดๆ ที่ไม่ใช่ทางสาธารณะ ที่ใช้ประกอบ ปรุง และจำหน่ายอาหาร จะมีที่รับประทานหรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น อาหารริมทาง ซึ่งมีการตั้ง ปรุง ประกอบ หรือจำหน่ายอาหาร ตามที่สาธารณะในชุมชนต่างๆ หรือการเร่ขายจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยการจำหน่ายอาหารในที่สาธารณะจะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น (มาตรา 56)

ปัจจุบัน การประกอบกิจการ ‘ร้านอาหารริมบาทวิถี’ จัดเป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบกิจการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 9 การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีการรักษาความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน

ในด้านหนึ่งยังมีมุมมองที่ตั้งคำถามต่อสตรีทฟู้ดกรุงเทพ โดยเฉพาะในมิติด้านสุขอนามัย พบว่ายังมีข้อจำกัดที่ยังคงเป็นปัญหาหลักและยังไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนด ได้แก่ 1.ข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งและอุปกรณ์ที่จำกัด ซึ่งทำให้ไม่สามารถปกปิดอาหารให้พ้นจากการปนเปื้อนสิ่งสกปรก มลพิษ หรือพาหะนำโรคได้  และ 2.ด้านพฤติกรรมของผู้ค้าที่ไม่สามารถปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสองข้อจำกัดนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น

ข้อมูลจากสถานการณ์สุขาภิบาลอาหารของแผงลอยจำหน่ายอาหารปี 2554-2557 พบว่าการปฏิบัติของแผงลอยอาหารที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด และเกิดซ้ำๆ กันทุกปี ประกอบด้วย การแต่งกายไม่ถูกต้อง (ร้อยละ 29.30) การรวบรวมมูลฝอยและเศษอาหารไปกำจัดไม่ถูกต้อง (ร้อยละ 22.99) การไม่ปกปิดอาหารปรุงสุกให้พ้นจากสัตว์ แมลงนำโรค (ร้อยละ 21.52) ภาชนะเก็บน้ำแข็งสำหรับบริโภคไม่มีฝาปิดที่เหมาะสม (ร้อยละ 18.46) และ การเก็บช้อน ส้อม ตะเกียบ ที่ไม่ถูกต้อง (ร้อยละ 13.09) [10]

นอกจากนี้ จากรายงานพิเศษ 'ตีแผ่ด้านมืด...สตรีทฟู้ดเมืองกรุง' ของโพสต์ทูเดย์เมื่อปี 2560 ที่ได้สัมภาษณ์ 'สง่า ดามาพงศ์' นักโภชนาการผู้ดูแลสุขอนามัยของสตรีทฟู้ดมานานหลายสิบปี ระบุไว้ว่า

“ปัญหาน่าเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องสุขอนามัย และสาเหตุสำคัญที่สุดก็คือคน เจ้าของร้าน ผู้สัมผัสอาหาร ผู้ปรุงอาหารเองก็ไม่มีทักษะ เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง คุณต้องล้างผักบุ้งให้สะอาด 2-3 น้ำก่อน เพราะผักบุ้งมีสารปนเปื้อนเยอะ บางร้านเอาปลากระป๋องหมดอายุมาผัด บางร้านเอาเด็กลูกจ้างมาเสิร์ฟโดยที่ไม่เคยเทรนคนเหล่านี้เลยว่าเวลาจับแก้วน้ำ ควรจับตรงไหน ไม่ใช่จับปากแก้ว หรือล้วงแก้วลงไปตักน้ำในกระติก บางร้านล้างจานไม่ดี น้ำแค่กะละมังเดียวใช้ล้างจานเป็นร้อยๆ ใบ ผู้บริโภคเองก็มักง่าย กินอะไรก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัว ที่มันอร่อย โดยไม่เลือกร้าน เช่น นั่งยองๆ กินข้างถนน ใช้มือเปิบส้มตำเพราะเชื่อว่าซกมกนิดๆ ถึงจะอร่อย ไม่สนว่าร้านนี้จะใช้ผ้าขี้ริ้วกับผ้าเช็ดเขียงอันเดียวกัน ยอมให้อาตี๋ร้านข้าวมันไก่ใช้มือเปล่าหยิบชิ้นไก่โปะลงบนข้าวแล้วใช้มือเดียวกันนั้นหยิบแบงค์ทอนลูกค้า”

"ความน่ากลัวของร้านอาหารริมทาง เอาง่ายๆ แค่ร้านก๋วยเตี๋ยว หลายร้านมีแค่น้ำถังเดียว ไม่มีก๊อกต่อสาย พอเรากินเสร็จ เขาก็มาเอาชาม ตะเกียบ ช้อนไปจุ่มๆ ในถัง แล้วไปใส่ก๋วยเตี๋ยวให้คนอื่นกินต่อ อีกอย่างสตรีทฟู้ดเต็มไปด้วยสารปนเปื้อน สารก่อมะเร็ง เชื้อโรค พยาธิ ร้านไหนควันเยอะๆ ผมจะไม่กินเลย ผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหากกินอาหารริมทางที่ไม่สะอาด อันดับแรกเลยภายใน 4 นาทีคือ ท้องเสีย ต่อมาโรคระบบทางเดินอาหารติดเชื้อ เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง โรคมะเร็งจากโลหะหนักปนเปื้อนในผักที่ล้างไม่ดี ปลาที่ฉีดฟอร์เมอลีน กินบ่อยๆ ก็สะสมในร่างกายเรื่อยๆ พยาธิในร้านลาบก้อยอีสาน ไหนจะโรคอ้วน เพราะอาหารสตรีทฟู้ดส่วนใหญ่เป็นพวกผัดกับทอด มันระยับเลย เช่น ลูกชิ้นทอด ไก่ทอดหมูทอด ผัดคะน้า ผัดซีอิ้ว ผัดไทย ผัดกระเพรา รวมทั้งอาหารที่มีรสเค็มจัดจากการใส่ผงชูรส ใส่เครื่องปรุงที่มีโซเดียมมาก นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง" สง่า ระบุกับโพสต์ทูเดย์ [11]

'สตรีทฟู้ดยุค คสช.' ควบคุมผู้ค้ามากขึ้น-เศรษฐกิจแย่ลงแต่ราคาอาหารแพงขึ้น

นโยบายของ คสช. ที่กำหนดให้มีการจัดระเบียบทางเท้า โดยมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ค้าออกจากทางเท้าและยกเลิกจุดผ่อนผัน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาได้ยกเลิกจุดผ่อนผันทั่วกรุงเทพมหานครไปแล้ว 451 จุด มีการประมาณการว่าทำให้ผู้ค้ากว่าสองแสนคนและผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยอีกกว่าล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างมาก [12]

นอกจากนี้ ในมุมมองของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ School รุ่นที่ 6 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2562 ระบุว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหารายได้ลดลงแต่ค่าครองชีพโดยเฉพาะค่าอาหารกลับพุ่งสูงขึ้น โดย ดร.โสภณ ได้ศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาอาหารในย่านสีลม ระหว่างปี 2555-2562 พบว่าในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2555-2557 ราคาอาหารในย่านสีลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ต่อปี รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ส่วนในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างปี 2557-2562 ราคาอาหารในย่านสีลมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ต่อปี รวม 5 ปี ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 46.4

อนึ่ง ข้อมูลที่ ดร.โสภณ ได้รวบรวมไว้พบว่ารายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในกรุงเทพฯ ในปี 2556 ที่ 49,191 บาท เทียบกับรายได้ในปี 2561 ที่ 45,779 บาทนั้น ลดลงประมาณร้อยละ 7 และยิ่งเมื่อนำตัวเลขเงินเฟ้อของกรุงเทพฯ มาปรับค่าเงิน ก็จะพบว่ารายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2561 ลดลงเป็นเงิน 33,060 บาท ในขณะที่รายได้ปี 2556 เป็นเงิน 36,549 บาท ตามราคาคงที่ปี 2545 ซึ่งเท่ากับรายได้สุทธิลดลงถึงร้อยละ 10 [13]

ดร.โสภณ มองว่าถ้าหากเศรษฐกิจยังแย่ลงอีก คนก็จะเลือกกินสตรีทฟู้ดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องงานวิจัยโดยนักวิชาการของไทยและต่างประเทศ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์กร WEIGO) ที่พบว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญของสตรีทฟู้ดคือ พนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่มีรายได้น้อย โดยร้อยละ 60 ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนจะมีการซื้อของจากร้านสตรีทฟู้ดทุกวัน ซึ่งหากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป คนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นและจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงเดือนละ 357 บาท หรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเขาได้รับในหนึ่งวัน [14] ทั้งนี้ในประเด็นราคาอาหารสตรีทฟู้ดที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ดร.โสภณ มองว่าเกิดมาจากราคาค่าเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้นนั่นเอง

ทีม TCIJ School รุ่นที่ 6 ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ค้าในย่านเยาวราช ข้าวสาร และสะพานควาย โดยผู้ค้าในย่านข้าวสารระบุว่าปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาค่าเช่าที่ในการค้าขายในราคาที่ค่อนข้างสูงขึ้น ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้ขายหมูปิ้งบนทางเท้ารายหนึ่งในย่านสะพานควายได้อธิบายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตั้งร้านให้ฟังว่า จะต้องจ่ายเงินจำนวน 500 บาทต่อเดือน ให้แก่สำนักงานเขตเป็นค่าทำความสะอาดพื้นที่ในจุดขาย และจะต้องเสียเงินค่าบัตรผู้ค้าขาย ปีละ 100 บาท เท่ากับว่าใน 1 ปี จะต้องเสียเงินให้แก่สำนักงานเขตเป็นจำนวน 6,100 บาท ซึ่งมีการออกใบเสร็จเป็นหลักฐาน นอกจากรายจ่ายเบื้องต้นเกี่ยวกับค่าเช่าที่แล้ว เขาจะต้องเสียค่าตรวจสุขภาพตามระเบียบกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจหาว่าเป็นโรคติดต่อ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 400-500 บาท หากตรวจพบว่าเป็นโรคติดต่อจะต้องได้รับการรักษาให้หายขาดก่อน จึงจะสามารถกลับมาค้าขายได้ ส่วนผู้ค้าในย่านเยาวราชรายหนึ่ง ระบุว่าเธอต้องจ่ายให้กับเทศกิจเดือนละ 1,000 บาท แยกเป็นสำหรับกลางวันและสำหรับกลางคืน ซึ่งเป็นราคาที่ขึ้นมาจาก 3 ปีที่แล้วอีก 400 บาท

ทั้งนี้ ข้อมูลโดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เมื่อปี 2558 พบว่า แผงลอยบนฟุตปาทบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ มีอัตราค่าเช่าแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าติดถนนหรืออยู่ในซอย อาทิ ตลาดสำเพ็ง ราคาค่าเช่าแผงเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000-10,000 บาทต่อเดือน โดยจ่ายตรงให้กับเจ้าของอาคารนั้นๆ ยกเว้นพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการจัดระเบียบ ซึ่งมีการกำหนด เวลาขายของชัดเจน จะห้ามเจ้าของอาคารเรียกเก็บค่าเช่าฟุตปาท แต่ให้ผู้ค้าขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตแทน ซึ่งจะคิดค่าขึ้นทะเบียนเป็นรายปีประมาณ 1,000 บาท [15]

ควรพัฒนาอย่างไร? มุมมองพรรคอนาคตใหม่

ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่

สำหรับมุมมองของพรรคการเมืองต่อเรื่องนี้ พบว่าในการเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมา ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ได้ชูนโยบายพัฒนาสตรีทฟู้ดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว อีกทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็มีนโยบายหลายด้านเพื่อส่งเสริมและจัดระเบียบอาหารริมทางในให้มีคุณภาพในระดับโลก ขณะที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ มีแนวทางที่จะแก้ไขการบริหารจัดการทางเท้า ให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งคนเดินเท้าและผู้ค้าขาย โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่คำนึงถึงคนรายได้น้อยที่พึ่งพาอาหารริมทางเป็นหลัก

ทีมงาน TCIJ School 6 ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ เผยว่า   สตรีทฟู้ดจะถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะมาถึงในปีนี้อีกด้วย ทั้งนี้สถานการณ์หลังจากที่รัฐบาล คสช. ได้ดำเนินนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้กับประชาชน’ มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อจัดระเบียบทางเท้า ซึ่งไม่ได้มีคำสั่งและนโยบายที่ชัดเจน แต่เป็นการออกคำสั่งห้ามขาย หรือสั่งให้มีการย้ายที่ขายกะทันหัน โดยไม่มีนโยบายดูแลผู้ค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่หลายเขตของกรุงเทพฯ

ศิริกัญญา ระบุว่า ปัญหาคือทางผู้ขายยอมรับและพร้อมทำตามนโยบาย แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังดำเนินนโยบายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การดำเนินงานในหลายเรื่อง เช่น การเก็บค่าเช่าที่ การย้ายพื้นที่แผงลอย และการห้ามขาย เป็นการออกคำสั่งแบบ top down โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสตรีทฟู้ด ซึ่งมีกลุ่มเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เข้ามาปรึกษาหารือกับทางพรรคอนาคตใหม่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา คือการจัดระเบียบทางเดินและสุขอนามัย อันมีสาเหตุมาจากการทิ้งของเสีย เศษอาหาร และคราบน้ำมันจากร้านค้าลงท่อระบายน้ำ หรือปัญหาความปลอดภัยของผู้ขายและผู้ใช้ทางเท้า

ไม่เพียงแต่นโยบายคืนทางเท้าของ คสช. ที่ส่งผลกระทบเท่านั้น แต่การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้พื้นที่บางแห่งที่แต่เดิมเป็นแหล่งสตรีทฟู้ด ถูกยึดครองเพื่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า และคอนโดมิเนียม จากปัญหานี้ ผู้ค้ามองว่าทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นต้องใช้งานร่วมกัน ไม่ใช่ทางคอนโดที่สามารถตัดสินใจฝ่ายเดียว ก่อนที่จะย้ายพื้นที่ควรต้องทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของอาคารและผู้ค้าขาย

นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังระบุว่าสตรีทฟู้ดในแต่ละพื้นที่ได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้จากการเก็บค่าเช่าที่ต่างกัน หรือผู้ประกอบการบางรายได้รับการยกเว้นค่าเช่า พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เยาวราช ได้รับการอำนวย สะดวกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การทำความสะอาด นอกจากนี้การจดทะเบียนและระบุตัวตนของผู้ขายส่งผลถึงเรื่องการเก็บค่าเช่าที่ การจ่ายภาษี การจัดระเบียบร้านและความปลอดภัยของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

อีกประเด็นสำคัญคือสตรีทฟู้ด เป็นโอกาสสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนบางเขตที่มีผู้อพยพและมีรายได้น้อย ควรพิจารณาให้สตรีทฟู้ด ยังคงอยู่ในชุมชนนั้น เพราะเป็นแหล่งขายอาหารราคาถูกและยังเป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตของทุกชนชั้น ไม่ว่าจะรายได้สูงหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการดำเนินนโยบายใดๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณนั้นทั้งสิ้น

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของพรรคอนาคตใหม่ ศิริกัญญาระบุว่ายังอยู่ในช่วงปรึกษาหารือกันเพื่อผลักดันให้มีการจัดระเบียบสตรีทฟู้ด เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยขั้นแรกเริ่มจากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่ยังต้องการมีสตรีทฟู้ดอยู่หรือไม่ โดยทำข้อตกลงร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุมชน ผู้ขาย ผู้ใช้ทางเท้า ขั้นต่อไปจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนผู้ประกอบการเพื่อระบุตัวตนของผู้ขาย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องกับการเก็บค่าเช่าที่ การจ่ายภาษี การจัดระเบียบร้านและความปลอดภัยของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

ในกรณีที่ต้องย้ายผู้ขายเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ อาจจะเริ่มย้ายเข้าไปตามตรอกซอกซอย ถ้าในซอยยังไม่มีที่รองรับอีก ก็ต้องย้ายไปอยู่ตามบริเวณที่จัดไว้ให้ ซึ่งในความเป็นจริงกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ว่างหลายแห่ง อาทิ บริเวณใต้ทางด่วน อย่างไรก็ตามต้องพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคและความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน นอกจากการให้พื้นที่กับผู้ค้าสตรีทฟู้ดแล้ว คนเดินทางเท้ายังต้องเดินทางสะดวกด้วย ทางพรรคได้ชูนโยบายจัดพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นตลาดสตรีทฟู้ด รวมทั้งเรื่องการจัดโซนนิ่งสตรีทฟู้ดให้เป็นระเบียบ โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มี 'ฮอว์เกอร์' (Hawker Centres) หรือฟู้ดคอร์ดอาหารราคาไม่แพงที่อยู่ใจกลางเมืองและเดินทางสะดวก

ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าอย่างไรก็ตามพรรคอนาคตใหม่ได้ตระหนักถึงปัญหาของสตรีทฟู้ดและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ด้วยกระบวนการหาข้อสรุปร่วมกันของทุกฝ่าย โดยผลักดันให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการทำงานในสภาเพื่อชูนโยบายด้านสตรีทฟู้ด และการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปตามบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลกลางและการเมืองท้องถิ่น

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย : สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น [รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ม.ค. 2560]
[2] รายงานการศึกษาส่วนบุคคล เรื่อง การพัฒนาอาหารริมบาทวิถีเพื่อยกระดับ คุณภาพชีวิต สังคมเมือง และสนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กรณีศึกษาจังหวัดภูเก็ต (นางอัมพร จันทวิบูลย์, สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ, 2560)
[3] ได้เวลาประเทศไทยโชว์ของ กับภารกิจส่ง ‘สตรีทฟู้ดไทย’ สร้างชื่อในเวที ‘สตรีทฟู้ดโลก’ (Praornpit Katchwattana, Salika.co, 20 พ.ย. 2561)
[4] THE WORLD'S TOP 10 CITIES FOR STREET FOOD (Forbes.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 6 ก.ค. 2562)
[5] ธุรกิจอาหารริมทาง (Street Food) ในประเทศไทย (สถาบันอาหาร, เม.ย. 2562)
[6] Street food (Wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 7 ก.ค. 2562)
[7] โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย : สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น [รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ม.ค. 2560]
[8] Yasmeen, Gisèle. "Bangkoks Foodscape: Public Eating, Gender Relations and Urban Change," (PhD diss., University of British Columbia, 1996).
[9] โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย : สถานการณ์และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น [รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ม.ค. 2560]
[10] เพิ่งอ้าง
[11] ตีแผ่ด้านมืด..."สตรีทฟู้ดเมืองกรุง" (อินทรชัย พาณิชกุล, โพสต์ทูเดย์, 7 ม.ค. 2560)
[12] ผู้ค้าแผงลอยอารยะขัดขืน ขายของบนทางเท้า ร้อง กทม.วางมาตรการเยียวยาตามคำสั่งมหาดไทย (ประชาไท, 20 ธ.ค. 2561)
[13] ด่วน! 5 ปี คสช. ประชาชนจนลง 10% (ดร.โสภณ พรโชคชัย, area.co.th, 13 พ.ค. 2562)
[14] หาบเร่แผงลอย: วิถีชีวิตที่รัฐมองข้าม (ชาคร เลิศนิทัศน์ และสมชัย จิตสุชน, tdri.or.th, 23 เม.ย. 2561)
[15] แผงค้าย่านขาย ทำเลทอง (ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์, 22 ก.พ. 2558)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
มองภาพรวม ‘สตรีทฟู้ดกรุงเทพ’ ผ่าน ‘สะพานควาย-เยาวราช-ข้าวสาร’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: