มองภาพรวม ‘สตรีทฟู้ดกรุงเทพ’ ผ่าน ‘สะพานควาย-เยาวราช-ข้าวสาร’

TCIJ School รุ่นที่ 6: 7 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8779 ครั้ง


สตรีทฟู้ด (Street food) ย่านสะพานควาย

เมื่อพูดถึงสะพานควาย เราคงนึกถึงย่านชุมชนเก่าที่เคยรุ่งเรืองในอดีตและมีกลิ่นอายของความน่าหลงใหลมาจนปัจจุบัน ประกอบกับการเป็นพื้นที่ที่กำลังเฟื่องฟูไปด้วยคอนโดมิเนียมหรู จากทำเลรถไฟฟ้า และทั้งสวนจตุจักร หมอชิต และอารีย์ที่กลายเป็นย่านธุรกิจ ส่งผลให้สะพานควายมีจุดเด่นหลายประการ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งรองรับผู้คนเข้ามาอาศัยจำนวนมาก และมีร้านค้ามากมายให้จับจ่ายอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้ทำให้สะพานควาย เป็นชุมชนที่มีการเคลื่อนตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างคึกคัก

ในแง่ของการบริโภค ย่านสะพานควายมีร้านอาหารข้างทางให้เลือกซื้อจำนวนมาก จุดแข็งของร้านอาหารข้างทางเหล่านี้คือความหลากหลายของร้านค้าที่เรียงรายตลอดทางเดินเท้า เปิดขายทุกวันตั้งแต่ตอนเย็นหลังเลิกงานยาวไปจนถึงเวลาตีหนึ่งของอีกวัน เมนูอาหารก็มีมากมายให้เลือกสรร และที่สำคัญคือราคามาตรฐานเป็นมิตรต่อผู้บริโภค

อาหารยอดนิยมอย่างข้าวขาหมูเจ้าดังย่านสะพานควายเปิดบริการโต้รุ่งของทุกวัน

ตั้งแต่ หัวมุมสี่แยกสะพานควายไปจนเกือบสุดถนนประดิพัทธ์ เราจะเห็นร้านอาหารรถเข็น พร้อมโต๊ะเก้าอี้เรียงขนาบไปตามฟุตปาธ เมนูอาหารพื้นๆ คือ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวขาหมู เกาเหลา เป็นต้น ทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเย็นจะเกิดความคึกคักตามทางเท้า ผู้ค้าอาหารริมทางในสะพานควายส่วนมากมาจากต่างจังหวัด บางร้านอยู่นานกว่า 10 ปี บางร้านมองเห็นทำเลที่สะดวกก็เพิ่งมาตั้งขาย บางรายขายสืบทอดตามพ่อแม่ที่ก่อตั้งร้าน

ร้านลาบและอาหารย่างที่เป็นร้านประจำของชาวสะพานควายหลายต่อหลายคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเม็ดเงินค่าเช่าที่รวมถึงค่าจัดตั้งร้าน ซึ่งบางร้านที่ทีม TCIJ School 6  เข้าไปสอบถาม พบว่าผู้ค้าเกิดความหวาดระแวง เพราะกลัวการจ่ายค่าปรับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางเท้า โดยลักษณะการจ่ายค่าปรับในกรณีร้านก๋วยเตี๋ยว จะนับตามจำนวนชามที่ขายไป

ต้นทุนการขายอาหารริมทางเท้าถือว่าไม่ได้สูงมาก ผู้ค้าส่วนใหญ่ก็มีสูตรอาหารของตนเอง ผู้ค้าบางรายเปลี่ยนจากงานประจำมาทำอาหารริมทางขายเลี้ยงชีพ กำไรก็พออยู่ไหว แต่เมื่อสอบถามถึงข้อเปรียบเทียบจาก 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน การขายเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เกือบทุกร้านกล่าวว่า ในอดีตเคยขายได้กำไรดีกว่านี้มาก มีลูกค้าประจำไม่ขาด แต่ปัจจุบันแม้จะไม่ได้ขาดทุนมากนัก แต่ก็มีลูกค้าในสัดส่วนน้อยลง หากพื้นที่ตรงไหนกำลังก่อสร้างคอนโดมิเนียม ก็ทำให้ไม่สามารถตั้งร้านขายต่อไปได้อีก ผู้ค้าอาจจะต้องไปหาทำเลใหม่ในที่อื่นๆ

อาหารทานเล่น มีให้พบเห็นทั่วไปในย่านสะพานควายเช่นกัน

เนื่องจากพื้นที่ทางเท้าบริเวณสะพายควายเป็นจุดผ่อนผันทีขายอาหารข้างทางได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของเทศกิจที่อนุญาตให้แค่เวลาตีหนึ่งเท่านั้น โต๊ะนั่งทานจะกางได้ไม่เกินสองตัว (สามารถกางโต๊ะเพิ่มเวลามีลูกค้ามามาก) รวมไปถึงต้องเสียภาษีให้กรมสรรพากรด้วย

แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวรายหนึ่งย่านถนนประดิพัทธ์ เล่าว่าที่เลือกมาประกอบอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวบนทางเท้า เพราะเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาใคร

“ลำพังหาเช้ากินค่ำก็พอเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวได้ แต่จุดที่เป็นข้อเสียคือการคาดเดาผู้ซื้อไม่ได้ เพราะแต่ละวันมีไม่แน่นอน บางวันมาก บางวันน้อย แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าประจำจะเป็นคนทำงานที่มาหาอาหารรับประทานก่อนกลับที่พัก” เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวบอก

ทีม TCIJ School มีข้อสังเกตว่า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพขายอาหารข้างทางไม่ได้มีภูมิลำเนาเป็นคนกรุงเทพฯ หรืออาศัยบริเวณย่านสะพานควายมาแต่กำเนิด หากแต่พวกเขามีรากเหง้าจากชนบทที่ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวหรือถาวรเข้ามาเมืองกรุง ด้วยความหวังในการหาอาชีพหารายได้ คำถามก็คือ ถ้าหากมีคำสั่งเวนคืนพื้นที่เพื่อการรองรับตึกสูงระฟ้าและคอนโดมิเนียมมากมาย แล้วพวกเขาจะยังชีพอยู่หรือทำมาหากินอย่างไรต่อไป?

 

เมนูยอดฮิตอย่าง ‘ส้มตำ’ มีให้เลือกซื้อหลายร้านในย่านสะพานควาย

สตรีทฟู้ดย่านเยาวราช

ภาพที่คุ้นชินของย่านเยาวราชคือความคึกคักทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน

สตรีทฟู้ดย่านเยาวราชมีเอกลักษณ์ด้านอาหารโดดเด่น โดยเฉพาะความหลากหลายของอาหารจีน ถนนสายนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ไชน่าทาวน์’ ของเมืองไทย เนื่องจากตลอดสายของถนนเป็นแหล่งทำมาหากิน และเป็นที่อยู่อาศัยของคนเชื้อสายจีนที่กล่าวได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ในอดีต ถนนเยาวราช เป็นถนนสายแรกที่มีตึกสูงที่สุดในประเทศไทย บนสองฟากของถนน มีภัตตาคารจีนชั้นดี มีโรงหนังเฉลิมบุรี ที่ทันสมัยในยุคนั้น มีอาหารสดและอาหารแห้งเพื่อการประกอบอาหารจีนมากมาย ถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 200 ปี

ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนกันมาลิ้มลองรสชาติอาหารของเยาวราช

ร้านขนมจุ๋ยก้วยชื่อดังของเยาวราช

ปัจจุบัน พื้นที่ราว 1.5 ตารางกิโลเมตรของย่านนี้ ยังคงมีเสน่ห์ความเป็นจีนปรากฎให้เห็นในทุกซอกทุกมุม สีสันอันจัดจ้าน ของวัฒนธรรมจีนมีให้สัมผัสได้ทั้งในวิถีชีวิต สถาปัตยกรรม ผู้มาเยือน ไปจนถึงอาหารจีนเลิศรส อาหารของที่นี่จึงไม่ใช่มีแค่คุณค่าเชิงโภชนาการ แต่มีคุณค่าทางสังคมกำกับอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ‘ขนมจุ๋ยก้วย’ หรือขนมถ้วยโบราณของคนจีนแคะ ซึ่งปัจจุบันหารับประทานยาก วัตถุดิบใช้แป้งข้าวเจ้าสดเนื้อเนียนขาวนึ่งในถ้วยตะไล แป้งเหนียวนุ่มราดด้วยเครื่องผัดร้อนๆ หอมกรุ่นทำจากหัวไชโป๊วสับ กับกระเทียมสับหอมแดงสับคลุกซีอิ้วรสชาติเค็มนิดหวานหน่อย และใส่พริกน้ำส้มเปรี้ยว กลายเป็นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของขนมจุ๋ยก้วย พิกัดร้านตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราชฝั่งซ้ายมือ ปากซอยถนนมังกร หน้าห้างทองเล่งหงษ์

ขณะเดียวกัน สิ่งที่แสดงความเป็นพหุวัฒนธรรมก็มีให้เห็นในสตรีทฟู้ด ย่านเยาวราช ที่บางซอยลึกไปอีกหน่อยมีอาหารอีสานขายเป็นร้านรถเข็นเคลื่อนย้ายได้ เช่น ส้มตำ แมลงทอด ที่รับมาจากภาคอีสานและคนขายไม่ใช่คนเชื้อสายจีน แต่เป็นคนในพื้นถิ่นจังหวัดอื่นๆ  

ร้านค้าในย่านนี้ร่วมกันติดป้ายประชาสัมพันธ์ ‘สตรีทฟู้ด’ บนถนนเยาวราช

ทีม TCIJ School 6 ได้สอบถามคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังต่อแถวร้านขนมปังชื่อดัง พบว่าพวกเขายอมต่อแถวซื้อด้วยเหตุผลว่าเคยกินแล้วติดใจ รู้จักจากการแชร์ต่อบนโลกออนไลน์ ส่วนในการพัฒนาสตรีทฟู้ดเยาวราชนั้น พวกเขาอยากให้ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยจากการจรจรและการข้ามถนน

ร้านขนมปังที่เป็นที่รู้จักจากโซเชียลมีเดีย นำพาผู้คนมากหน้าหลายตามาลิ้มลองถึงถิ่นเยาวราช

ผู้ซื้อรายหนึ่งกล่าวว่า เยาวราชเปลี่ยนไปกว่าเมื่อก่อนมาก ทั้งสินค้าที่ขาย ผู้ขายรายใหม่ หรือแม้กระทั่งผู้คนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามา ทำให้สินค้าของเยาวราชมีความหลากหลายมากกว่าเมื่อก่อน ผู้บริโภคจึงมีตัวเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และรสชาติอาหารแต่ละร้านก็มีความแตกต่างกันออกไป ในขณะที่ร้านดั้งเดิมเริ่มส่งต่อถ่ายโอนกิจการให้ลูกหลานดำเนิน การต่อ บางร้านก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบร้าน มีการพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ บางร้านรสชาติอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปกว่าเมื่อก่อน แต่ผู้ซื้อคนดังกล่าวมองว่า เยาวราชยังเป็นแหล่งอาหารอร่อยสำหรับเขา เพราะอาหารอร่อยและวัตถุดิบที่นำมาทำค่อนข้างดี แม้จะมีราคาแพงขึ้น แต่ก็ยินดีจะจ่าย

ในมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่มาเป็นครอบครัว เล่าให้ฟังว่าเขามากินที่ร้านนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว เพราะมากับเพื่อนคนไทยครั้งแรกแล้วติดใจ ก่อนหน้านี้ก็ไปหลายร้านในเยาวราชมาแล้วพบว่า อาหารถูกปาก มีความเป็นไทย ราคาสมเหตุสมผล และเท่าที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาเรื่องอาหารไม่สะอาด ก่อนหน้านี้เคยได้ยินเรื่องที่รัฐบาลจะจัดระเบียบร้าน อาหารข้างทางในกรุงเทพ โดยการจัดโซนร้านอาหารอยู่บ้าง แต่พวกเขาไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่มีเหตุผลที่จะต้องเดินไปหาที่กินตามสถานที่ที่รัฐจัดให้

ร้านแมลงทอดที่วัตถุดิบส่วนใหญ่ส่งตรงมาจากภาคอีสาน

ขณะที่ผู้ประกอบการย่านเยาวราช ให้ความเห็นเรื่องทำเลที่ตั้งของสตรีทฟู้ดในเยาวราชไว้อย่างน่าสนใจ คุณป้าร้านรถเข็นขายแมลงทอดเล่าว่า เธอเป็นคนโคราช ขายแมลงมาได้ 4 ปีแล้วและไม่เคยไปขายที่อื่นเลย โดยปกติแล้วจะมีลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เปิดขายตั้งแต่เวลาบ่าย 3 โมงถึง 4 ทุ่ม จ่ายค่าที่กับเทศกิจเดือนละ 500 บาท แต่ 2-3 ปี มานี้ขายได้น้อยลง

ทั้ง Netflix และโซเชียลมีเดีย นำพาชาวต่างชาติแวะเวียนมาเยาวราชอย่างไม่ขาดสาย

คุณเคน เจ้าของร้านขายเกี้ยวทอดเล่าว่า ขายเกี๊ยวทอดมาแล้ว 7 ปี ขายตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 1-2 ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ที่ทุกร้านห้ามขาย ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อเป็นคนไทย มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 4,000 บาท หักค่าลงทุนไปจะเหลือกำไรอยู่ประมาณครึ่งๆ แต่ 1-2 ปีมานี้ขายได้น้อยลง ทุกวันนี้ขายเหลือครึ่งหนึ่ง เมื่อก่อนขาย 6 ชิ้น ราคา 55 บาท ปัจจุบันต้องตั้งราคา 5 ชิ้น 40 บาท

ในเรื่องการจัดการพื้นที่ของเทศกิจ คุณเคนเล่าว่า จะมีการนัดประชุม 2-3 เดือน/ครั้ง โดยมีกำหนดให้ผู้ขายสวมหมวกและผ้ากันเปื้อนระหว่างประกอบอาหารและห้ามวางสิ่งของเกินพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งร้านของตนเปิดอยู่บริเวณพื้นที่หน้าร้านทองของครอบครัว จึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ แต่ต้องจ่ายเงินค่าปรับให้กับเทศกิจเดือนละ 200 เมื่อทีม TCIJ School 6 ถามถึงข้อเสนอแนะ คุณเคนบอกว่าไม่รู้จะบอกอะไรกับรัฐบาล เพราะบอกไปก็ไม่มีประโยชน์

ขณะที่คุณหุ้ย ร้านขายน้ำปั่นและน้ำสมุนไพร เล่าว่าขายน้ำปั่นและสมุนไพรอยู่ที่เยาวราชมาตั้งแต่รุ่นอากง 70 กว่าปี บ้านของเธออยู่ตรงวงเวียน 22 ใกล้กับเยาวราช ขายตั้งแต่ 11 โมงครึ่งถึง 5 ทุ่มครึ่ง มีลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ รายได้ของเธอต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท แต่มีค่าเช่าที่หน้าร้านทอง 6,000 ต่อเดือน แต่ละที่คิดค่าเช่าไม่เหมือนกันเพราะแล้วแต่เจ้าของอาคารจะเรียกเก็บ ส่วนค่าปรับกับเทศกิจต้องจ่ายเดือนละ 1,000 แยกเป็นสำหรับกลางวันและสำหรับกลางคืน ซึ่งเป็นค่าปรับที่ขึ้นราคามาจากสามปีที่แล้ว 400 บาท

การดูแลความสะอาดและสุขอนามัย เป็นเรื่องที่เยาวราชถูกตั้งคำถามอยู่เป็นประจำ

เรื่องความสะอาดจะมีเจ้าหน้าที่อนามัยมาลงพื้นที่ตรวจอยู่บ่อยครั้ง และห้ามล้างถ้วยชามริมถนน แต่ก็ยังมีร้านที่ทำอยู่ เพราะทางเทศกิจห้ามไม่ให้ล้างถ้วยชามข้างถนน แต่ก็ไม่ได้มีการจัดหาสถานที่สำหรับล้างถ้วยชามรับรองให้ ในเรื่องของการจัดพื้นที่ คุณหุ้ยมองว่าจัดพื้นที่เยาวราชแบบนี้ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องย้ายไปไหน เพราะเยาวราชไม่เคยหลับใหล

ด้านเจ้าของร้านเต้าหู้ทอด เล่าว่าเปิดขายในซอยเล็กนี้มา 12 ปี แต่ก่อนเคยขายอยู่บนถนน พอเทศกิจเริ่มจับก็เปลี่ยนมาบนฟุตปาธแทน เมื่อก่อนมีรายได้อยู่ที่หนึ่งพัน แต่เดี๋ยวนี้วันหนึ่งอาจได้ไม่ถึงห้าร้อย แต่ร้านของเธออยู่เข้ามาในซอยจึงจะปิดเร็วกว่าปกติเพราะว่าไม่ได้มีคนเดินมาก

เมื่อสอบถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เธอมองว่า เยาวราชเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งรถไฟฟ้าที่เข้ามาทำให้คนขายอาหารข้างทางต้องปรับตัว ถ้ามีการจัดระเบียบให้ไปขายที่อื่นแทน ก็ไม่อยากไป เธอให้ความเห็นว่าตอนที่คลองถมถูกบังคับย้ายไปสายใต้ใหม่ซึ่งค่อนข้างไกล คนขายของก็ต้องออกรถคนละคัน กลับมาบ้านไม่มีที่จอดรถ ต้องไปเช่าที่จอดเดือนละห้าพันซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้มีที่ให้เช่าแล้ว กลายเป็นปัญหาลูกโซ่

สตรีทฟู้ดย่านถนนข้าวสาร

ถนนข้าวสารที่เงียบเหงาในช่วงเวลากลางวัน พร้อมจะกลายเป็นถนนแห่งความครึกครื้นในช่วงกลางคืน

ถนนข้าวสารแตกต่างสตีทฟู้ดที่อื่นๆ คือจำนวนของร้านอาหารริมทางลดลงไปมาก และเวลาเปิดร้านช้ากว่าทั้งฝั่งสะพานควายและเยาวราช แม้ถนนข้าวสารมีชื่อเด่นดังสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ถนนข้าวสารนั้นก็มักมีการจัดระเบียบอยู่เสมอ ทำให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไม่อาจตั้งขายได้จำนวนมาก สำหรับผู้ค้าที่ขายอาหารทางเท้าที่เหลืออยู่ก็ต้องเช่าที่ในราคาค่อนข้างสูง ผู้ค้าบางรายถึงกับบอกว่า ไม่ต้องการให้จัดระเบียบใดๆ ขอแค่ได้ขายก็เพียงพอแล้ว

ผู้ค้าชาวไทยบางรายเผยว่าต้องแข่งขันกับผู้ค้าที่เป็นต่างด้าวด้วย และเมนูที่ขายจะเป็นเมนูที่เน้นให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกซื้อ เช่น เคบับ บาร์บีคิว เป็นต้น จุดแข็งของการจัดการร้านอาหารข้างทางในย่านนี้คือ ความพยายามที่จะจัดระเบียบผู้ค้าให้ขาย ณ จุดที่อนุญาตให้ตั้งร้านเท่านั้น ซึ่งสามารถยับยั้งไม่ให้หาบเร่แผงลอยขาจรเข้ามาค้าขายได้

เมื่อถามถึงอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน พบว่าคือปัญหาค่าเช่าที่ เนื่องจากต้องเช่าที่ในราคาที่ค่อนข้างสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะทางเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าย่านข้าวสารบอกว่ายังพอมีกำไรให้เก็บเกี่ยวอยู่บ้าง เนื่องจากขายสินค้าราคานักท่องเที่ยวต่างชาติ

อาหารริมทางนานาชนิดจากผู้ประกอบการหลากหลายเชื้อชาติ

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความต้องการด้านนโยบายหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่วนใหญ่บอกเพียงว่า อยากให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ และขอเพียงให้พวกเขาได้ขายของในพื้นที่เช่นปัจจุบันก็พอ ไม่ได้หวังพึ่งภาครัฐแต่อย่างใด

จากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต่อการบริโภคบริเวณย่านข้าวสาร นักท่องเที่ยงหลายคนต่างให้เสียงตอบรับไปในทางที่ดี พวกเขาประทับใจในอาหารข้างทางย่านข้าวสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาไม่แพงจนเกินไป โดย Janine นักท่องเที่ยวจากเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “แม้ว่าเธอจะเป็นกลุ่มคนที่จัดอยู่ในชนชั้นกลางของประเทศออสเตรเลีย แต่เธอก็เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยทุกๆ ปี นับสิบกว่าครั้งแล้ว สิ่งที่ประทับใจในอาหารข้างทางของไทยคือราคาที่ไม่แพง เช่น ผัดไทยราคาแค่ 50 บาท จึงสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย ต่างจากที่เมลเบิร์นเนื่องจากราคาอาหารข้างทางที่นั่นมีราคาสูงกว่านี้”

เสน่ห์ของอาหารข้างทางย่านข้าวสาร คืออาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ด้านวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่ไม่ซ้ำใคร ดังที่นักท่องเที่ยวชาวโปแลนด์ เล่าให้ฟังจากการมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งที่สองว่า “อาหารไทยทั้งที่เป็นอาหารข้างทางหรือร้านค้าทั่วไป ถึงแม้ว่าจะมีรสชาติที่เผ็ดจัดจ้านบ้าง แต่ถือเป็นรสชาติที่ดี เนื่องจากมีวัตถุดิบเครื่องเทศที่ให้ความหอมสดชื่น โดยอาหารที่ประทับใจได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย และอาหารที่ปรุงด้วยกะทิต่างๆ เช่น ต้มยำกุ้งน้ำข้น”

เมื่อถามถึงปัญหาที่ร้านอาหารข้างทางควรปรับปรุงจากสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ พวกเขาแทบจะไม่มีข้อตำหนิอะไรเลย จะมีบ้างก็เป็นเพียงทัศนะต่อสิ่งที่ประสบพบเจอแตกต่างกัน แต่ในภาพรวมคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประทับใจในร้านอาหารข้างทางของไทยเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับข้อมูลจากการจัดอันดับร้านอาหารข้างทางทั่วโลก ที่ประเทศไทยมักติดอันดับต้นๆ อยู่เสมอ

ร้านอาหารตามสั่งที่รวมเอาเมนูยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติมาไว้รวมกัน

ในบรรยากาศที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากหลายเชื้อชาติบนถนนข้าวสารนี้  ยังมีถนนเส้นเล็กคู่ขนานซ่อนอยู่ที่มีสตรีทฟู้ดเช่นเดียวกัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่ามีร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ทำอาหารสไตล์พม่าเพื่อขายให้กับแรงงานพม่าโดยเฉพาะ แรงงานเหล่านี้มาทำงานในย่านถนนข้าวสาร มีทั้งคนที่ทำร้านอาหาร หมอนวด และเป็นลูกจ้างขายอาหารริมทาง

แม่ค้าร้านข้าวราดแกงพม่าแห่งนี้ เริ่มเข้ามาทำงานในไทยเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน สมัยนั้น ค่าแรงที่ไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพม่า เธอจึงตัดสินใจละทิ้งความห่วงใยของครอบครัว ออกจากถิ่นฐานมายังดินแดนแห่งนี้

ในช่วงแรกของการใช้ชีวิตที่นี่ เธอต้องปรับตัวอย่างมากในการทำงานร่วมกับนายจ้างที่พูดคนละภาษากับเธอ เธอต้องคอยสังเกต คอยทำความเข้าใจกับงานใหม่ๆ เธอและสามีเรียนภาษาไทยผ่านการดูโทรทัศน์และฝึกฝนด้วยตนเอง จากสาวโรงงานซึ่งเป็นงานแรกสู่งานต่อๆ มา ในที่สุด เธอก็ได้ย้ายมาทำอาชีพแม่ค้าขายอาหารจนถึงทุกวันนี้

แม้ดูภายนอก เธอและครอบครัวจะทำงานอย่างอิสระ แต่เมื่อพูดคุยลึกลงไปแล้วกลับพบว่า มีนายจ้างคนไทยเป็นหัวหน้า อีกทีหนึ่ง เธอมีหน้าที่ประกอบอาหารและเสิร์ฟขาย โดยค่าแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ขายได้ หากได้มาก รายได้จะตกอยู่ที่วันละ 400-500 บาท  แต่หากขายได้น้อย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงชาวพม่าหลายคนที่ต่างทยอยกลับไปทำงานที่บ้านเกิด เนื่องด้วยค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกวันแต่รายได้เท่าเดิม ประกอบกับที่ประเทศพม่าเอง เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน หลายคนจึงเลือกกลับไปทำงานที่บ้าน รายได้ของเธอจึงเหลือวันละ 300 บาท

เมนูที่ได้รับความนิยมที่สุดอย่าง ‘ผัดไทย’ มีให้เลือกทานหลายสิบร้านในย่านถนนข้าวสาร

สอดคล้องกับที่เราได้พบว่าถนนข้าวสาร ณ ปัจจุบัน เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าอาหารข้างทาง รถเข็น ที่เป็นชาวต่างชาติ มีทั้ง เวียดนาม ลาว พม่า เต็มไปหมด แม้ว่าจะน้อยลงไปแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้านี้

นอกจากจะโดดเด่นที่มีร้านอาหารของแรงงานชาวพม่าแล้ว ยังทำให้เห็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่แม้ไม่ได้ทำงานอยู่ในประเทศตัวเอง แต่รสชาติอาหารบ้านเกิดก็ช่วยให้พวกเขายังมีพื้นที่ระลึกถึงรากเหง้าของตัวเองในต่างแดน

นอกจากนี้ ถนนลับๆ เส้นนี้ยังพิเศษกว่าถนนเส้นอื่นในบริเวณข้าวสาร เนื่องจากที่นี่ไม่จำเป็นต้องขายอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่จำเป็นต้องหลบหนีจากเทศกิจ เพราะเป็นพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ขายฟรีไม่เสียค่าเช่า มีเพียงเงื่อนไขคือ บางช่วงเวลาต้องเก็บร้านเพื่อหลีกทางให้กับงานเทศกาลสำคัญที่จัดในบริเวณใกล้ๆ

ถนนข้าวสารยามค่ำคืนกลายเป็นสถานที่แฮงค์เอาท์ของชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในกทม.

ท่ามกลางอาหารคาวกว่าร้อยร้านย่านถนนข้าวสาร ‘ไอศครีมมะพร้าว’ คือเมนูของหวานที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวหลายชาติ

ซอยเล็กๆ แห่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าสตรีทฟู้ด ไม่ได้จำกัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไป ในสังคมของสตรีทฟู้ดยังประกอบไปด้วยชีวิตอีกมากมาย ที่มีสถานะแตกต่างกันออกไป พวกเขาเหล่านี้ อาจไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการผลักดันประเทศอย่างพลเมืองไทยทั่วไป แต่พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของถนนข้าวสาร ที่กระทบเป็นระลอกคลื่นสู่รายได้ของประเทศ  ดังที่ข้อมูลชี้ว่าเฉพาะสตรีทฟู้ดในถนนเส้นหลักของตรอกข้าวสาร สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศราว 750 ล้านบาทในแต่ละปี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: