จัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน เคาะค่าเช่า 9,650 บาท/กม./เดือน

ทีมข่าว TCIJ: 23 ก.ย. 2561 | อ่านแล้ว 11359 ครั้ง

กสทช. ระบุสายสื่อสารพาดเสาไฟฟ้าเป็นเส้นทางวิกฤตหลายจังหวัดทั่วประเทศ เร่งจัดระเบียบ พบงบประมาณจากแผนพัฒนา 10 ปี ‘มหานครแห่งอาเซียน’ โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงใต้ดิน พื้นที่ กทม.-สมุทรปราการ-นนทบุรี ระยะทางรวม 127.3 กม. วงเงิน 48,717 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 382.69 ล้านบาท ทีโอที-กสท เสนอค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่ 9,650 บาท/ท่อย่อย/กม./เดือน ที่มาภาพประกอบ: pxhere (CC0)

กสทช. ระบุสายสื่อสารพาดสายไฟ วิกฤต 24 เส้นทางใน 4 ภูมิภาค

ปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อโครงข่ายให้ไปถึงผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและใช้งานได้ จึงเป็นหลักสำคัญในการให้บริการของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ทำให้สายเคเบิลที่เป็นเส้นใยแก้วนำแสง (Optical fiber cable) เคเบิลทองแดง (Copper cable) สายกระจาย (Drop wire) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อรวมกับของเดิมที่สะสมมานาน ทำให้เกิดภาพสายที่รกไม่เป็นระเบียบจำนวนมาก จนบางครั้งเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือบางครั้งเกิดกรณีไฟไหม้สายสื่อสาร

ไฟไหม้สายสื่อสารแยกอโศก-เพชรบุรี เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ที่มาภาพ: VoiceTV


เพลิงไหม้สายไฟและสายสัญญาณสื่อสาร ลุกลามตามแนวสายไฟพาดผ่านไปหลายสิบเมตร ส่งผลให้ไฟฟ้าดับไปทั่วชุมชนและเครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนพังเสียหาย เหตุเกิดที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่มาภาพ: sarakham360.com


ไฟไหม้สายโทรศัพท์บริเวณหน้าหอพักชาโตร์ถนนเชียงราก-บางขัน ม.7 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อเดือน ต.ค. 2557 ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

ไฟไหม้สายสื่อสารที่ จ.พิษณุโลก เมื่อเดือน ส.ค. 2561 ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

ข้อมูลจาก แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ประกอบกิจการสื่อสาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางที่เป็นเส้นทางวิกฤตที่การไฟฟ้าฯ ไม่อนุญาตให้พาดสายต่อไปได้ เพื่อให้จำนวนสายมีปริมาณลดลงและการพาดสายมีความเป็นระเบียบ เพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางวิกฤตจำนวน 24 เส้นทางใน 4 ภูมิภาค ในจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี (พัทยา) สมุทรสาคร นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา (หาดใหญ่)

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง ผู้ประกอบกิจการสื่อสาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ ร่วมดำเนินการโครงการปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในเส้นทางถนนธุรกิจ อาทิ ถนนเพชรบุรี ถนนศรีอยุธยา และถนนพหลโยธิน ซึ่งเมื่อการไฟฟ้านครหลวงนำระบบไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน ต้องมีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไป ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการต้องมีการนำสายสื่อสารลงใต้ดินหรือหลีกเลี่ยงเส้นทาง อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดินมีปัจจัยที่มีความเสี่ยงในการดำเนินการ เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบกิจการ งบประมาณที่ต้องใช้กับปรับเปลี่ยนสาย ทั้งกรณีจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน [1]

แผน 10 ปี‘มหานครแห่งอาเซียน’ นำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงใต้ดิน วงเงิน 48,717 ล้านบาท

การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินที่ถนนพิษณุโลกโดยการไฟฟ้านครหลวง เพื่อเชื่อมต่อโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินใจกลางเมือง เมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่มาภาพ: การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

ข้อมูลที่ กฟน. เปิดเผยกับสื่อมวลชนเมื่อเดือน ม.ค. 2561 ระบุว่า รัฐบาล คสช. ไฟเขียวแผนพัฒนา 10 ปี (2559-2568) เพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ระยะทาง 88.1 กิโลเมตร สมุทรปราการ 25.7 กิโลเมตร และนนทบุรี 13.5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ในวงเงิน 48,717 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 382.69 ล้านบาท ตามที่ กฟน. เสนอ เพื่อไปสู่เป้าหมายให้เป็น ‘มหานครแห่งอาเซียน’ ตามแผนมีทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ โครงการติวานนท์-แจ้งวัฒนะ, ลาดพร้าว-รามคำแหง, สามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, สาทร-เจริญราษฎร์, วงเวียนใหญ่-อรุณอมรินทร์, เทพารักษ์-สุขุมวิท และเขตพื้นที่เมืองชั้นใน โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เงินรายได้ของ กฟน. และเงินกู้ ปัจจุบันได้นำร่องพื้นที่ใจกลางเมืองแนวถนนพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท เสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกำหนดการภายในปี 2561 นั้น ภายในเดือน มี.ค.เริ่มพื้นที่ถนนราชปรารภจากแยกประตูน้ำ-ทางข้ามทางรถไฟสถานีราชปรารภ ระยะทาง 600 เมตร แล้วเสร็จก่อนสงกรานต์ปี 2561 จากนั้นในเดือน เม.ย.รื้อย้ายสายไฟและเสาถนนพระราม 1 ช่วงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานถึงสะพานรถเมล์ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร และถนนรัชดาระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร ระยะแรกตั้งแต่แยกรัชดา-ลาดพร้าวถึงแยกพระราม 9 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 4,300 ล้านบาท ระยะที่ 2 จากแยกพระราม 9 ถึงแยกคลองเตย ถนนพระราม 4 ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างสิ้นปี 2561 แล้วเสร็จปี 2564  ส่วนโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการคือ แถวช่องนนทรี ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี หรือปี 2563, พระราม 3 ตั้งแต่สะพานพระราม 9 ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร วงเงิน 1,520 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่ถนนพระราม 3 ซอย 47 ถึงแยกพระราม 3 ถนนนราธิวาส ระยะที่ 2 แยกพระราม 3 นราธิวาส ถึงถนนเลียบทางพิเศษ ระยะ 3 ตั้งแต่แยกสะพานพระราม 9 ถึงถนนพระราม 3 ซอย 47 ปี 2563 แล้วเสร็จ 6 กิโลเมตร และปี 2564 อีก 4 กิโลเมตร

นอกจากนี้ กฟน. ยังได้เซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ [BSR Joint Venture ประกอบไปด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS,บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH] ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร (รวม 64.9 กิโลเมตร) ให้ก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าลงดิน วงเงิน 7,000 ล้านบาท (ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 107.85 ล้านบาท) และปรับปรุงระบบจ่ายไฟ ของสายสีชมพู วงเงิน 4,400 ล้านบาท และสายสีเหลือง วงเงิน 3,900 ล้านบาท จะแล้วเสร็จปี 2564 [2]

กทม.เร่งหาเอกชนลงทุนทำท่อร้อยสายปลายปี 2561 

ท่อใต้ดินสำหรับสายไฟฟ้าและสายสื่อสารความปลอดภัยสูง ที่มาภาพ: เดลินิวส์

เมื่อต้นเดือน ก.ย. 2561 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าแนวทางในการปรับภูมิทัศน์เมืองเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารที่พันเกี่ยวรกรุงรังนำลงสู่ใต้ดินนั้น ตามแผน กทม.ต้องการนำสายสื่อสารทั่วกรุงเทพฯ ลงสู่ใต้ดินในกรอบระยะเวลา 2 ปี เพื่อเป็นการปรับภูมิทัศน์ให้กลายเป็นเมืองไร้สาย ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีถนนระยะทางรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร โดยต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ดังนั้น กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ประกอบการด้านการสื่อสารเช่าพื้นที่ เพื่อจัดทำท่อนำสายสื่อสารลงสู่ท่อใต้พื้นดินทั้งหมดโดยไม่มีการใช้งบประมาณของภาครัฐ

พื้นที่นำร่องที่ต้องนำสายสื่อสารลงสู่ใต้ดิน กทม.ได้สำรวจพื้นที่ในถนนสายหลักและสายรองเพื่อดำเนินการรวมระยะทาง 2,700 กิโลเมตร ซึ่งจะแบ่งพื้นที่นำสายสื่อสารลงสู่ใต้ดินเป็น 4โซน เพื่อกระจายการทำงานให้เกิดความรวดเร็วมากที่สุด แต่ละโซนจะเป็นพื้นที่ถนนเพื่อหาเอกชนเข้ามาลงทุนจัดทำท่อสายสื่อสาร โซนละประมาณ 700 กิโลเมตร โดยการลงทุนจะอยู่ที่กิโลเมตรละประมาณ 5-6 ล้านบาท (เฉพาะสายสื่อสารไม่รวมสายไฟฟ้า) โดยเอกชนจะได้รับสัมปทานนำท่อสายสื่อสารไปให้ผู้ประกอบการต่างๆ เช่าพื้นที่ทดแทน โดย กทม.จะเร่งการหาเอกชนเข้ามาดำเนินงานให้ได้ภายในปลายปี 2561 นี้เพื่อให้ก่อสร้างได้รวดเร็วที่สุด การหาเอกชนในพื้นที่ 4 โซนนั้น เอกชนที่ได้สัมปทานจะต้องไม่ซ้ำรายกันอย่างเด็ดขาดเพื่อให้เกิดการกระจายงานที่เหมาะสม และในปี 2564 ในถนนสายหลักสายรองจะไม่มีสายสื่อสารรกรุงรังดังเช่นปัจจุบันอย่างแน่นอน [3]

ทีโอที-กสท เสนอราค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่ 9,650 บาท/ท่อย่อย/กิโลเมตร/เดือน

จาก ผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 ได้ระบุถึงแนวทางการนำสายสื่อสารโทรคมนาคมลงใต้ดิน โดยการดำเนินการระยะสั้นนั้นเห็นชอบในหลักการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกันดำเนินการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าและท่อร้อยสายสื่อสารโทรคมนาคมไปพร้อมกับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้ทันตามกรอบระยะเวลาของแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบตามที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เสนอปรับลดอัตราค่าเช่าใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินให้มีราคาเป็น 9,650 บาท/ท่อย่อย/กิโลเมตร/เดือน (เฉพาะโครงการมหานครแห่งอาเซียน ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร) โดยเป็นราคาที่เป็นส่วนลดเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวนมากที่มีความต้องการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสามารถรับภาระได้ [4]

ก่อนหน้านี้ ทีโอทีจะขอคิดค่าเช่าท่อทั้งที่เป็นสายธรรมดาและไฟเบอร์ออปติกที่ระดับความลึก 4-5 เมตรที่ราคา 20,000 บาท/กิโลเมตร/ปี ส่วน กฟน. จะคิดค่าเช่าท่อในอัตราที่ถูกกว่าทีโอที 50% ซึ่งผู้ประกอบการโทรคมนาคมมองว่าเป็นอัตราที่แพงเกินไป หากนำสายสื่อสารและอุปกรณ์ลงใต้ดินโดยการเช่าท่อของทีโอทีและ กฟน. จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 10 เท่า เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไม่เช่าท่อร้อยสายของทีโอทีและ กฟน. [5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พ.ศ. 2560 [สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20/9/2561]
[2] กฟน.เร่งเครื่องดึงสายไฟลงใต้ดิน ปั้น “กรุงเทพฯ” มหานครไร้สายแห่งอาเซียน (ประชาชาติธุรกิจ, 31/1/2561)
[3] กรุงเทพฯ อีก 2 ปีเป็นเมือง "ไร้สาย" (เดลินิวส์, 12/9/2561)
[4] รายงานผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 (มติคณะรัฐมนตรี, 7/8/2561)
[5] โครงการท่อร้อยสายลงดิน (2): สปท. ชี้ปัญหาสายสื่อสาร – เคเบิล บริษัทขาดบรรษัทภิบาลที่ดี ยื่นครม.- องค์กรอิสระ แก้ลักพาดสายบนเสาไฟฟ้า (ไทยพับบลิก้า, 21/8/2560)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ระเบียบการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ของ 'กฟภ.-กฟน.'
คนไทยรู้ยัง: ใช้เงินเท่าไร? ในการพาด ‘สายสื่อสาร’ บนเสาไฟฟ้า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: