คาดปี 2565 e-Commerce ไทยพุ่ง 4.7 แสนล้าน ยักษ์ใหญ่ยังขาดทุน-สรรพากรจ่อเก็บภาษี

ทีมข่าว TCIJ : 18 มี.ค. 2561 | อ่านแล้ว 11924 ครั้ง

คาดปี 2565 ตลาด e-Commerce ของไทยจะมีมูลค่าถึง 4.7 แสนล้านบาท  ทุนข้ามชาติ ‘สิงคโปร์-จีน-เกาหลี’ บุกไทย พบ Lazada เบอร์ 1 ของไทยแต่เป็นการลงทุนจากสิงคโปร์ 100% (ล่าสุดถูกทุนจีนควบรวมไปแล้ว) ปี 2559-2560 ยังขาดทุนกว่า 2.68 พันล้านบาท ด้านสรรพากรเผยสรุปร่างกฎหมาย 'ภาษี e-Commerce ' ชง ครม.ภายใน มี.ค. 2561 นี้ ที่มาภาพประกอบ: Wikimedia Commons

ในปี 2556 โพลล์ระบุมีผู้เคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในไทยอย่างน้อยประมาณร้อยละ 20.7 ต่อมาตัวเลขนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 36.95 ในปี 2560 และในปีเดียวกันนี้ก็มีผลสำรวจที่ระบุว่าการซื้อสินค้าออนไลน์ขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในไทย ส่วนข้อมูลล่าสุดที่สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้ทำการประเมิน พบว่าจำนวนธุรกรรมที่ใช้เงินสดจะลดลงจากร้อยละ 90 ในปัจจุบัน สู่ระดับร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี  ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนถึงอุตสาหกรรม ‘อีคอมเมิร์ซ’ (e-Commerce) ในไทยที่กำลังเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ นำไปสู่การลงทุนใหม่ ๆ ในหลายด้าน ทั้งในด้านการขนส่ง โกดังสินค้า และการรองรับเทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น [1] [2] [3] [4]

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 ที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าประมาณ  214,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 470,000 ล้านบาท ในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 17.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 8.2 ของมูลค่าตลาดทั้งระบบในปี 2565 [5]  

3 ยักษํใหญ่ในสมรภูมิ e-Commerce ไทย [6] [7] [8]

Lazada, Shopee และ 11street ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ e-Commerce ที่คนไทยนิยมใช้บริการ ล้วนแล้วแต่เป็นทุนจากต่างชาติทั้งสิ้น

Lazada ก่อตั้งโดยบริษัท Rocket Internet จากเยอรมนีในปี 2555 เน้นเจาะตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เติบโตได้ดีที่สุดในสิงคโปร์ และเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000,000 บาท (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ) ต่อมาถูก Alibaba ควบรวมกิจการเมื่อปี 2559 ด้วยเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้ Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada ใน อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบัน Lazada มีสินค้าจำหน่ายในไทยมากถึง 40 ล้านรายการ ข้อมูลในปี 2560 ระบุว่ามีคนไทย 1.4 ล้านคน ที่ใช้มือถือที่ซื้อจาก Lazada จำนวนคนเข้าเว็บไซต์เฉลี่ยใน 1 ปี มากกว่าจำนวนคนเข้าตลาดนัดจตุจักร 50 เท่า และในแต่ละวันรถสินค้าของ Lazada วิ่งส่งสินค้าให้ลูกค้าทุกช่องทางรวมกันเป็นระยะทางเฉลี่ย 833,333 กม. เทียบเท่าระยะทางไป-กลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ Lazada มั่นใจว่าปัจจุบันบริษัทฯ เป็นเบอร์ 1 ในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย

Shopee เปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในสิงคโปร์และไต้หวัน นอกจากนี้ยังให้บริการในอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ Shopee ก่อตั้งโดยบริษัท Garena ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Sea Ltd. เพราะมีเป้าหมายต้องการมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียน Garena ถือเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่ใหญ่สุดรายหนึ่งในอาเซียน โดยเริ่มต้นจากเป็นบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ ปัจจุบันมีธุรกิจหลักอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1.นำเข้าเกมออนไลน์และเกมมือถือ หนึ่งในเกมดังที่เกมเมอร์ทุกคนรู้จักคือ ROV 2.ระบบชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นที่ชื่อ AirPay จากจุดเริ่มต้นเพื่อบริการลูกค้าเกม หลังจากได้ใบอนุญาตทางด้านระบบการชำระเงิน บริษัทฯ จึงขยายมาให้บริการ AirPay Wallet ให้บริการทั้งเติมเงินเกม เติมเงินมือถือ จ่ายค่าสาธารณูปโภค จ่ายบิล ซื้อตั๋วหนัง ซื้อตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ และ 3.Shopee ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งต่อยอดมาจาก AirPay

11Street  ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากเกาหลีใต้ 11Street เพิ่งเข้าตลาดเมืองไทยเมื่อเดือน ก.พ. 2560 บริษัทฯ เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการซื้อขาย ณ ก่อนเดือน พ.ย. 2560 ว่าอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,600 ล้านบาท) โดย 11Street ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้อีกเท่าตัวในปี 2561 และตั้งเป้าหมายจะขึ้นเบอร์หนึ่ง 1 ในแง่จำนวนคำสั่งซื้อ (Transection) ภายใน 4 ปีข้างหน้า

Lazada มหาอำนาจอีคอมเมิร์ซในไทย เงินลงทุนจากสิงคโปร์ 100% ขาดทุน 2 ปี 2.68 พันล้านบาท

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูล ณ 14 มี.ค. 2561) ระบุว่าบริษัท ลาซาด้า จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000,000,000 บาท (เป็นการลงทุนของผู้ถือหุ้นสัญชาติสิงคโปร์ 100%) ที่ตั้งห้องเลขที่ 2901 ชั้น 29 อาคารภิรัชทาวเวอร์ 689 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : 47912 การขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต วัตถุประสงค์ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีกรรมการคือ 1. นายอเล็กแซนดรอ บีสชีนี 2. นายศรัทธา หุ่นพยนต์ 

ในปี 2560 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,757,209,150 บาท มีรายจ่ายรวม 2,324,533,441 บาท ขาดทุนสิทธิ 568,270,309 บาท ก่อนหน้านั้นในปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,266,984,549 บาท มีค่าใช้จ่ายรวม 6,377,709,727 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,115,452,087 บาท รวม 2 ปี ขาดทุนกว่า 2,683,722,396 บาท

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงรายได้รวมในหมวดธุรกิจที่ส่งงบการเงินในหมวดการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต เมื่อปี 2559 และ 2560 พบว่าบริษัท ลาซาด้า จำกัด มีรายได้เป็นอันดับ 1 จากจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินในปี 2559 ที่ 556 ราย และปี 2560 ที่ 75 ราย

 

ประเมินเทรนด์ใหญ่ ๆ ที่จะเกิดในปี 2561

เทรนด์การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในไทยยังคงเติบโตได้เรื่อย ๆ ที่มาภาพประกอบ: aec.utcc.ac.th

เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซ เฉพาะในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ โดยระบุว่านอกจากการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างบริษัทอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ แล้วนั้น ปี 2561 ยังเป็นปีที่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกอีคอมเมิร์ซอีกมากมายโดย iPrice เล็งเห็นถึงเทรนด์ใหญ่ ๆ ดังนี้

เก็บภาษี e-Business ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2560 เพื่อความเท่าเทียม รัฐบาลจึงมีการถกเถียงและออกนโยบายให้มีการเรียกเก็บภาษี e-Business เพื่อกันปัญหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการค้าผูกขาดในไทย ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คาดว่าไม่เกินกลางปีคงได้เห็นข้อกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องรอขณะกรรมการสรุปให้ทราบอีกครั้ง

จับตา Central และ JD.com เป็นข่าวครึกโครมจนสะเทือนวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเอเชียกับการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์เพราะ JD.com ก็ตั้งเป้าขยายอาณาเขตให้ครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนเช่นกัน ซึ่งในปี 2561 นี้ทั้งสองบริษัทยังคงดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด ซึ่งสังเกตได้จากการเริ่มสมัครพนักงานในตำแหน่งใหญ่ ๆ เพื่อเป็นหัวเรือในการเริ่มธุรกิจ

E-payment มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในปี 2561 โดยในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีบริษัทที่เข้ามาให้บริการในด้าน e-payment มากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Airpay, LINE Pay, Alipay, Mpay และอีกมากมาย นอกจากนี้ธนาคาร 5 แห่งในประเทศไทยได้รับอนุญาตให้บริการด้าน QR Code ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นร้านค้าตามตลาดเริ่มวาง QR Code หน้าร้าน เพื่อเป็นช่องทางในการชำระเงินกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้เชื่อเลยว่าบริการเหล่านี้จะเข็มแข็งมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญผู้บริโภคจะหันมาใช้บริการ e-payment มากยิ่งขึ้น

ระบบการขนส่งสิ่งค้าที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จะเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ดีมากยิ่งขึ้น ในอดีตมีเพียงไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการเท่านั้น ซึ่งในปี 2560 ผู้ให้บริการมีการพัฒนาระบบที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Kerry Express, Lala Move หรือ LINE Man ที่หันมาให้บริการส่งสินค้าทั้งแบบด่วนและแบบ same day delivery การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จึงส่งผลให้การขนส่งในประเทศไทยพัฒนาไปอีกขั้นและในปี 2561 นี้ คุณภาพการขนส่งที่ดีขึ้นนี้จะช่วยเพิ่มความต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น

คนไทยนิยม Social Commerce แต่มูลค่าการซื้อไม่สูงนัก

จากผลสำรวจของ PWC พบว่าสัดส่วนของผู้บริโภคออนไลน์ชาวไทยที่ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือที่เรียกว่าโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) มีอยู่สูงถึงร้อยละ 51 เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 16 ความนิยมดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนจำนวนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของไทยที่ค่อนข้างสูง โดยกรุงเทพฯ นับว่าเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้ Facebook มากที่สุดในโลก 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ทำการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นอันดับสองรองจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ภาพดังกล่าวสะท้อนว่ายังมีผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยที่ขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยชาวไทย โดยสินค้าที่ซื้อขายมักมีมูลค่าไม่สูงมากนัก และเน้นตลาดภายในประเทศ และไม่ต้องการบริการหลังการขายหรือรับประกันสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada ยังมีลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย มักมีแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจากการพบสินค้าโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย ที่ใช้ประโยชน์จาก recommendation system ในการแสดงผลสินค้าที่ผู้บริโภคแต่ละรายมีแนวโน้มที่จะสนใจมากที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมักมีความต้องการสินค้าอยู่ก่อนแล้วจึงเลือกหาสินค้า ดังนั้น สินค้าที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายและมีมูลค่าไม่สูงนัก อย่างผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เสื้อผ้าและรองเท้า จึงได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย ขณะที่สินค้าที่มักต้องมีการวางแผนก่อนซื้อ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน จึงมักจะได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากกว่า [9]

สรรพากรสรุปร่างกฎหมาย 'ภาษี E-commerce' ชง ครม.ภายใน มี.ค. 2561 นี้

ต้นเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่าภายในเดือน มี.ค. 2561 กรมสรรพากรจะสรุปร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน เบื้องต้นหากผู้ประกอบการมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะรวมถึงสินค้าที่มีการสั่งซื้อออนไลน์จากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ และป้องกันการแตกบิลสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้น จะมีการจัดเก็บภาษี VAT ตั้งแต่ 1 บาทแรก จากเดิมเคยกำหนดให้สินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการสินค้า จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีการหลีกเลี่ยง เช่น สั่งซื้อสินค้านำเข้ามูลค่า 10,000 บาทต่อชิ้น แต่ผู้ค้าจะแตกบิลออกเป็น 10 ชิ้น ชิ้นละ 1,000 บาท เพื่อไม่ต้องเสียภาษี สำหรับร่างกฎหมายใหม่จะถูกจัดเก็บทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ เพราะการขายสินค้าผ่านออนไลน์ในปัจจุบันเติบโตสูง ทั้งนี้ในปี 2560 มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อยประมาณ 3 แสนราย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 17 [10]

 

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

[1] กรุงเทพโพลล์: “ชีวิตประจำวันของเยาวชนในยุคสื่อออนไลน์” เยาวชนเกือบครึ่งยอบรับว่าตนเอง “ติดสื่อออนไลน์”  โดย 80.6% ใช้พูดคุย หรือ chat (กรุงเทพโพลล์, 19/9/2556)]
[2] นิด้าโพล: “เน็ตมือถือไม่พอใช้ปัญหาใหญ่ยุคดิจิตอล” (นิด้าโพลล์, 9/2/2560)]
[3] ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตและมูลค่าอีคอมเมิร์ซ โชว์ความพร้อมไทยก้าวขึ้นเป็นเจ้าอีคอมเมิร์ซอาเซียน (ETDA, 27/9/2560)]
[4] EIC Research Series: แม่ค้าขยับ รับลูกค้าพร้อมเปย์ ด้วย e-Payment (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 30 พ.ย. 2560)]
[5] ‘กลยุทธ์สร้างประสบการณ์โดนใจ’ ... ทางรอดค้าปลีกรายย่อย ท่ามกลางตลาดออนไลน์ช็อปปิ้งที่แข่งขันกันรุนแรง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 26/9/2560)]
[6] คอลัมน์: BUSINESS SPOTLIGHT: E-COMMERCE แข่งดุทะลุเดือด เมื่อ "ยักษ์เอเชีย" สู้แบบไม่ยอมกัน (มันนี่ แอนด์ เวลธ์ ฉบับที่ 176, ธ.ค. 2560 )]
[7] 6 เหตุผล Alibaba ซื้อกิจการ Lazada มุ่งสู่การเป็น Amazon แห่งเอเชีย (Brand Buffet, 3/5/2559)]
[8] Alibaba ประกาศเข้าซื้อกิจการ Lazada อย่างเป็นทางการ (Blognone, 12/4/2559)]
[9] SCB EIC: Social Commerce เทรนด์ค้าออนไลน์ที่มาแรงไม่แพ้ Lazada (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 14 ก.ย. 2560)]
[10] เก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ไม่เกินกลางปีนี้, หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 - 16 มี.ค. 2561

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สถิติ e-Commerce ที่น่าสนใจของไทยปี 2560

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: