'นิคมอุตสาหกรรม' กระจุกตัวภาคตะวันออกถึง 75% ห่วง EEC ยิ่งซ้ำเติม

ทีมข่าว TCIJ : 29 ก.ค. 2561 | อ่านแล้ว 28023 ครั้ง

พบพื้นที่ ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ในไทย ส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคตะวันออกถึง 75% เม็ดเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมก็กระจุกตัวกว่า 50% ด้วยเช่นกัน รัฐบาลผลักดัน ‘โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ หรือ ‘EEC’ สุดตัว ก็จะยิ่งทำให้ไม่เกิดการกระจายเขตอุตสาหกรรมไปยังภูมิภาคอื่น ที่มาภาพประกอบ: Environmental Justice Atlas

หลัง 2554 นิคมอุตสาหกรรมใหม่เกิดน้อย เหตุเพราะภัยพิบัติ-การเมือง

ข้อมูลจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เปิดเผยเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ระบุว่า เฉลี่ยตั้งแต่ปี 2554-2559  การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่และการขยายพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมของไทยมีเพิ่มขึ้นเพียง 4.7% โดยมีปัจจัยฉุดรั้งจากภัยธรรมชาติ (น้ำท่วมใหญ่ปี 2554) และปัจจัยการเมืองในประเทศ ณ สิ้นปี 2559 มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 53 แห่ง ในด้านสัญชาติผู้ลงทุนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมพบว่าเป็นทุนจากไทย 36% ญี่ปุ่น 25% สิงคโปร์ 6% สหรัฐอเมริกา 5% จีน 4% และประเทศอื่น ๆ 24% [1] ส่วนข้อมูลหลังปี 2560 (จนถึง ก.ค. 2561) พบว่ามีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นใหม่อีก 1 แห่ง เท่านั้น คือ ‘นิคมอุตสาหกรรมที เอฟ ดี 2’ ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 54 แห่ง [2]

4 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจให้เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการในธุรกิจจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมที่สำคัญ ทั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรม’ และ ‘สวน/เขตอุตสาหกรรม’ ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) (ควบรวมกับบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้รายได้หลักของผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมาจากการขายและเช่าที่ดิน และรายได้จากบริการต่างๆ อาทิ การให้บริการไฟฟ้าและประปา รวมถึงสาธารณูปโภคอื่นๆ การให้เช่าโรงงาน/คลังสินค้า [3] TCIJ ได้สืบค้นข้อมูลจาก รายงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 27/7/2561) พบข้อมูลที่น่าสนใจของผู้ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมทั้ง 4 ราย ดังนี้

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AMATA) ตั้งอยู่ อาคารกรมดิษฐ์ 2126 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10320 ลักษณะธุรกิจ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยมีบริษัทในกลุ่มดำเนินธุรกิจด้านสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการหลังการขาย ทั้งน้ำประปา กระแสไฟฟ้า และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

ณ สิ้นปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 29,279.67 ล้านบาท มีรายได้รวม (งบปี 2560) 5,327.73 ล้านบาท  กำไรสุทธิ 1,409.49 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ณ 10 พ.ค. 2561) 1.นายวิกรม กรมดิษฐ์ 191,345,900 หุ้น (17.93%) 2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 75,545,624 หุ้น (7.08%) 3. กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล 31,419,400 หุ้น (2.94%) 4. บริษัท อีโตชู เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด 25,000,000 หุ้น (2.34%) และ 5.นายวิฑูรย์ กรมดิษฐ์ 24,440,670 หุ้น (2.29%) จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ณ 15 มี.ค. 2561) มี 80.43% การถือครองหุ้นต่างด้าว (ณ 26 ก.8. 2561) 9.98%       

ตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเครือของบริษัทฯ (ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, มี.ค. 2561) นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี 15,567 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมอมตะ (โครงการ 2) ชลบุรี 8,886 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง 8,634 ไร่ เป็นต้น

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) (ควบรวมกับบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด) ตั้งอยู่ 1121 หมู่ 3 ถนนเทพารักษ์ ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง สมุทรปราการ 10270 ลักษณะธุรกิจ บริษัทฯ เป็นผู้นำในการให้บริการแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้าน logistics properties โดยสามารถจำแนกส่วนธุรกิจได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจการพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Logistics) ธุรกิจการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Development) ธุรกิจให้บริการด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน (Utilities & Power) และธุรกิจให้บริการด้านดิจิตอล (Digital Platform) อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีนโยบายในการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์ฯ (WHART HREIT และ WHABT) หรือกองทุนรวมฯ (HPF) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการในอนาคตของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ฯ และกองทุนรวมฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลงทุนในกองทรัสต์ฯ และ/หรือกองทุนรวมฯ เพื่อผลตอบแทนในรูปเงินปันผลสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี

ณ สิ้นปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 73,618.96 ล้านบาท มีรายได้รวม (งบปี 2560) 12,409.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,266.43 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ณ 9 พ.ค. 2561) 1. บริษัท ดับบลิวเอชเอ โฮลดิ้ง จำกัด 3,629,083,491 หุ้น (25.33%) 2. STATE STREET EUROPE LIMITED 1,586,591,785 หุ้น (11.07%) 3. น.ส. จรีพร จารุกรสกุล 1,471,761,769 หุ้น (10.27%) 4. นายสมยศ อนันตประยูร 1,032,666,723 หุ้น (7.21%) 5. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 726,552,712 หุ้น (5.07%) จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ณ 7 มี.ค. 2561) มี 45.50% การถือครองหุ้นต่างด้าว (ณ 26 ก.ค. 2561) 17.67%

ตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเครือของบริษัทฯ (ที่ควบรวมมาจาก บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด) (ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, มี.ค. 2561) นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี 8,342 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี (โครงการ 2) 3,867 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์น (มาบตาพุต) 3,546 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ระยอง 36 1,281 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง 8,003 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 3,650 ไร่ และ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 2,202 ไร่ เป็นต้น

บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (ROJNA) ตั้งอยู่ เลขที่ 2034/115 ชั้น 26 อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310 ลักษณะธุรกิจ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจกิจผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม

ณ สิ้นปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 45,829.25 ล้านบาท มีรายได้รวม (งบปี 2560) 12,288.92 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,313.26 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ณ 16 พ.ค. 2561) 1. NIPPON STEEL & SUMIKIN BUSSAN CORPORATION 418,960,446 หุ้น (20.74%) 2. นายชาย วินิชบุตร 303,154,145 หุ้น (15.00%) 3. นายดิเรก วินิชบุตร 167,863,908 หุ้น (8.31%) 4. บริษัท มาซาฮิโร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 162,388,337 หุ้น (8.04%) และ 5. SMK ASIA LTD 134,467,593 หุ้น (6.66%) จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ณ 19 มี.ค. 2561) 34.73% การถือครองหุ้นต่างด้าว (ณ 26 ก.ค. 2561) 29.82%

ตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเครือของบริษัทฯ (ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, มี.ค. 2561) สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา 15,000 ไร่, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง บ้านค่าย 3,000 ไร่, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง ปลวกแดง 1,500 ไร่ และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี 6,000 ไร่ เป็นต้น

บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) (NNCL) ตั้งอยู่ เลขที่ 999 หมู่ 13 ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี ลักษณะธุรกิจ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อขายและให้เช่า และการให้บริการสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม

ณ สิ้นปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 4,010.63 ล้านบาท มีรายได้รวม (งบปี 2560) 816.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 243.62 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (9 พ.ค. 2561) 1. นายทวีฉัตร จุฬางกูร 506,006,000 หุ้น (24.70%) 2. บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) 220,950,000 หุ้น (10.79%) 3. นายณัฐพล จุฬางกูร 170,441,600 หุ้น (8.32%) 4. น.ส. สรางค์ลักษณ์ จันทวานิช 144,803,805 หุ้น 7.07 5. น.ส. รัตนาภรณ์ จันทวานิช 101,723,505 หุ้น (4.97%) จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (ณ 27 มี.ค. 2561) 34.41% การถือครองหุ้นต่างด้าว (ณ 26 ก.ค. 2561) 0.71%

ตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเครือของบริษัทฯ (ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, มี.ค. 2561) เขตอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 6,500 ไร่ และเขตอุตสาหกรรมนวนคร นครราชสีมา 2,000 ไร่ เป็นต้น

พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกระจุกตัวภาคตะวันออกถึง 75% การลงทุนกระจุกตัวมากกว่า 50%

นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี หนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ด้วยเนื้อที่ถึง 15,567 ไร่ (ประมาณการโดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา, มี.ค. 2561) ที่มาภาพ: Amata Corporation

จากข้อมูลปี 2559 มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 53 แห่งกระจายอยู่ใน 15 จังหวัด มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรวมประมาณ 154,189 ไร่ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเองจำนวน 11 แห่ง และร่วมดำเนินการกับเอกชนจำนวน 42 แห่ง โดยภาคตะวันออกมีสัดส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดในไทย ประมาณ 75.3% ภาคกลาง 16.3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.3% ภาคเหนือ 2.8% ภาคใต้ 1.5% และภาคตะวันตก 0.8%

ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดของไทยและได้รับความสนใจสูงสุดจากนักลงทุน จึงเป็นภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุดสาหรับนิคมอุตสาหกรรม โดยพื้นที่ภาคตะวันออกครอบคลุมชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมหนัก อาทิ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน แปรรูปอาหาร และในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นย้ายฐานการลงทุนมายังนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมากขึ้น จากการเป็นฐานการผลิตเชื่อมโยงโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program Program) นอกจากนี้ยังมีการขนส่งสะดวกทั้งทางถนน ทางอากาศ (ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา) ทางน้ำ (ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด) และใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่มาก และปัจจุบันชลบุรี  ระยอง และฉะเชิงเทรา ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic  Corridor Development หรือ EEC) (อ่านเพิ่มเติม: EEC ความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย: ทำไมต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้?) เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในระดับหนึ่งอยู่แล้วซึ่งรัฐและภาคเอกชนสามารถเข้าไปต่อยอดพัฒนาได้ ทันที

นอกจากนี้ยังพบว่าจากจำนวนที่ดินขายและเช่าในนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 มีโครงการใหม่ที่ขอรับ ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 1,456 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 642 พันล้านบาท หากจำแนกตามพื้นที่พบว่าภาคตะวันออกมีมูลค่ามากที่สุด 306  พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสุทธิทั้งหมด  ส่วนการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติปี 2560 มีจำนวน 1,227 โครงการ มูลค่า 625 พันล้านบาท มูลค่าโครงการที่อนุมัติการลงทุนก็ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ คือคิด เป็นสัดส่วน 53% ของมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด [4]

พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหม่ทั่วประเทศ 2560-ครึ่งปี 2561 ขยายตัวน้อย ยกเว้นภาคตะวันออก

การเปิดพื้นที่ใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรกปี 2560 ในภาพรวมทั่วประเทศถือว่ามีน้อยมาก โดยพื้นที่ขายและเช่าในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 9 เดือนแรกปี 2560 เพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า จำนวน 1,738 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในภาคตะวันออก เนื่องจากแรงกระตุ้นจากพื้นที่ขาย/เช่า ในโครงการ EEC ครอบคลุมชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่มีสัดส่วนถึง 89% ของจำนวนพื้นที่ขายและเช่าทั้งหมด [5] 

ขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน EEC ใกล้ทะลุเป้า ขาดแค่ที่ติดปัญหาผังเมือง

ข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่เปิดเผยเมื่อปลาย เดือน ก.ค. 2561ระบุถึงการกำหนดเป้าหมายเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ EEC ระหว่างปี 2560-2564 เพื่อรองรับการลงทุน 150,000 ไร่ว่า ล่าสุด กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับโครงการลงทุนจำนวน 33 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังไม่รวมการพัฒนาพื้นที่เขตอุตสาหกรรม-สวนอุตสาหกรรม ที่อยู่ในการดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามจากการประเมินล่าสุดพบในนิคมทั้งหมดมีการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุน เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แบ่งเป็น 1) นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ EEC มี 33 นิคม ล่าสุดมียอดการใช้พื้นที่นิคมแล้ว 120,000 ไร่ 2) นิคมอุตสาหกรรมที่ขายพื้นที่หมดแล้วจำนวน 7 นิคม ประมาณ 19,885 ไร่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง-แหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่พร้อมลงทุน 8,260 ไร่ กับพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 11,518 ไร่ และ 3) พื้นที่ที่อยู่ระหว่างจัดหารองรับการลงทุน EEC อีกประมาณ 31,324 ไร่ ใน จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 24,718 ไร่, จ.ชลบุรี ประมาณ 6,606 ไร่ และ จ.ระยอง 4,458 ไร่ โดยพื้นที่เหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง 20 โครงการประมาณ 30,000 กว่าไร่ เนื่องจากที่ดินที่นำมาจัดตั้งนิคมจะต้องเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

สำหรับปีงบประมาณ 2560-2561 ในระหว่างเดือน ต.ค. 2560 ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่จำหน่ายไปแล้วในเขต EEC ทั้งของภาครัฐและเอกชนรวม 997 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคม 736 ไร่ กับพื้นที่นอกนิคม 261 ไร่ มูลค่า 23,600 ล้านบาท ส่วนยอดการใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ EEC มีจำนวน 33 นิคมอุตสาหกรรม มียอดการใช้พื้นที่ไปแล้ว 120,000 ไร่  ซึ่งใกล้จะทะลุเป้าหมายแล้ว เหลือพื้นที่ที่จะต้องขายอีกแค่ 30,000 ไร่ ที่ยังติดปัญหาผังเมือง ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ใหม่อยู่ระหว่างมานำเสนอ 9,059 ไร่ และอยู่ระหว่างพัฒนา 11,884 ไร่ [6]

 

อ้างอิงเพิ่มเติม
[1] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 19/3/2561)
[2] จากการสืบค้นในเว็บไซต์การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25/7/2561
[3] แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2561-2563 : ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, 19/3/2561)
[4] เพิ่งอ้าง
[5] เพิ่งอ้าง
[6] นิคมอุต EEC แห่ขายที่ทะลุเป้า รัฐผนึกเอกชนดันยอด 120,000 ไร่ (ประชาชาติธุรกิจ, 22/7/2561)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: