Rocket Media Lab ชวนสำรวจ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้าน ว่าถูกนำไปใช้เรื่องอะไร ผ่านหน่วยงานไหนบ้าง พบว่า จากทั้งหมด 50 หน่วยงานที่ได้รับงบ งบกระตุ้นเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ใน 3 กรมที่ทำงานสร้าง-ซ่อม ถนนและระบบชลประทานรวม 63.24% ซึ่งหากรวมกรมทรัพยากรน้ำ 4.49% กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 3.25% และการประปาส่วนภูมิภาค 1.89% จะเท่ากับ 72.78% | ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก "ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม"
- กระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ กระทรวงคมนาคม 47,679,410,000 บาท คิดเป็น 41.33% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 27,101,410,000 บาท คิดเป็น 23.49% โดยงบประมาณที่สองกระทรวงนี้ได้รับมากกว่ากึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดในโครงการนี้ หรือคิดเป็น 64.82% เลยทีเดียว
- กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คิดเป็น 27.90% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเป็นงบที่ใช้เพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมมากที่สุด 70.17% ทั้งหมดเป็นงานบำรุงและบูรณะทางหลวงสายต่างๆ ทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุด 8,095,030,000 บาท คิดเป็น 35.84% ของงบปรับปรุงซ่อมแซมของกรมทางหลวง
- จากงบประมาณทั้งหมด พบว่า เป็นงบการปรับปรุงซ่อมแซม มากที่สุด 37.22% รองลงมาเป็นการสร้าง 36.98% อันดับ 3 การพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ 22.02% และอันดับ 4 เพิ่มประสิทธิภาพ 3.78%
- จากงบประมาณทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ น้ำ คมนาคม ท่องเที่ยว เกษตร แรงงาน ดิจิทัล และเศรษฐกิจชุมชน พบว่า งบประมาณด้านคมนาคมมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 39.75% ของงบประมาณทั้งหมด โดยมีงานที่เกี่ยวกับถนนและการปรับปรุงผิวทางมากที่สุด คิดเป็น 61.98% ของงบคมนาคม ในจำนวนนี้ เป็นงานประเภทปรับปรุงซ่อมแซมสูงถึง 93.24% %
- ภาคกลางได้รับงบประมาณไปมากที่สุด 43,858,160,900 บาท หรือคิดเป็น 38.01% ของงบทั้งหมด นนทบุรีและกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ได้งบมากที่สุดอันดับ 1 และ 2 มีสาเหตุจากทั้งการเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่ได้งบ เช่น สำนักงานประกันสังคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการที่งบบางส่วนยังไม่ได้ระบุพื้นที่
- หากตัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ออกไป จะพบว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3,539,738,200 บาท คิดเป็น 3.07% ของงบทั้งหมด และใน 10 อันดับแรก (หากตัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ออก) ก็มีจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6 จังหวัดด้วยกัน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะดำเนินโครงการโดย 50 หน่วยรับงบประมาณ จำนวน 481 โครงการ 8,939 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 115,375.2715 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (น้ำและคมนาคม), การท่องเที่ยว, การส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ, และเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งคาดว่างบประมาณนี้จะช่วยกระตุ้น GDP ได้ประมาณ 0.4%
Rocket Media Lab ชวนสำรวจ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้าน ว่าถูกนำไปใช้เรื่องอะไร ผ่านหน่วยงานไหนบ้าง
งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงพาณิชย์ได้งบไปน้อยที่สุด

จากข้อมูลโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 115,375.2715 ล้านบาท เมื่อนำมาแยกเป็นรายกระทรวงว่า กระทรวงไหนได้รับงบประมาณมาก-น้อย ที่สุด พบว่า

กระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรี โดยได้รับงบประมาณสูงถึง 47,679,410,000 บาท คิดเป็น 41.33% ของงบประมาณทั้งหมด โดยกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมที่ได้รับงบมากที่สุด 32,188,336,200 บาท กระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับ 2 คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 27,101,410,000 บาท คิดเป็น 23.49% ซึ่งก่อนหน้านี้มี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากพรรคกล้าธรรมเป็นรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการปรับ ครม. และเปลี่ยนมาเป็น อรรถกร ศิริลัทธยากร แต่ก็ยังเป็นพรรคกล้าธรรมอยู่เช่นเดิม โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ได้รับงบมากที่สุด 26,055,444,900 บาท มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า งบประมาณที่สองกระทรวงนี้ได้รับรวมกันแล้วมากกว่ากึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดในโครงการนี้ หรือคิดเป็น 64.82% เลยทีเดียว
อันดับ 3 คือ กระทรวงแรงงาน 10,000,000,000 บาท คิดเป็น 8.67% ซึ่งงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงแรงงานเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมฝ่ายรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางสังคมผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2568 – 2569) ของสำนักงานประกันสังคม

อันดับ 4 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 9,766,488,400 บาท คิดเป็น 8.46% โดยมีกรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ได้งบมากที่สุด 5,177,663,300 บาท

อันดับ 5 รัฐวิสาหกิจ ประกอบไปด้วย 5 องค์กรคือ การกีฬาแห่งประเทศไทย, การเคหะแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การประปาส่วนภูมิภาค, การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ขนส่ง จำกัด, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ งบประมาณรวม 7,403,046,300 บาท คิดเป็น 6.42% โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบมากที่สุด
อันดับ 6 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี งบประมาณ 5,699,990,000 บาท คิดเป็น 4.94% ของงบทั้งหมด พบว่าเป็นงบของโครงการกองทุนหมู่บ้านมากที่สุด 4,541,300,000 บาท นอกจากนี้ยังมีงบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งงบส่วนใหญ่เกือบหนึ่งพันล้านเป็นงบ “ยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในภารกิจการท่องเที่ยวในมิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2568” หรือเป็นงบของตำรวจท่องเที่ยวนั่นเอง และงบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 25,000,000 บาท เป็นงบจัดงาน “มหกรรม THAI DEEP SOUTH CONNECT ของดีพื้นที่ วิถีพื้นถิ่นชายแดนใต้”

อันดับ 7 กระทรวงการคลัง ซึ่งงบทั้งหมด 3,100,000,000 บาท เป็นงบของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
อันดับ 8 กระทรวงสาธารณสุข โดยงบทั้งหมด 1,115,268,300 บาท เป็นงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อันดับ 9 กระทรวงกลาโหม 1,026,374,000 บาท ซึ่งงบส่วนใหญ่ 980,374,000 บาท หรือคิดเป็น 95.52% เป็นงบของกองทัพบก โดยมีโครงการจำนวนมากถึง 116 โครงการด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ประจำปี 2568 ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เป็นงานขุดลอกแห่งน้ำต่างๆ ทั้วประเทศ ทั้งหนอง คลอง ห้วย ฯลฯ ในขณะที่กองทัพเรือนั้น ได้งบประมาณไป 46,000,000 บาท มีจำนวนสองโครงการคือ โครงการจ้างซ่อมระบบท่อจ่ายน้ำประปาหมู่บ้านพื้นที่ฐานทัพเรือพังงาทัพเรือภาคที่ 3 งบ 10,000,000 บาท และโครงการงานจ้างปรับปรุงระบบประปา ทร. พื้นที่สัตหีบ งบ 36,000,000 บาท

อันดับ 10 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม งบ 847,980,000 บาท กว่าครึ่งเป็นงบของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มี 2 โครงการคือ โครงการ OTOD ทุเรียน (ช่วยชาติ) งบ 278,000,000 บาท และ โครงการ OTOD AI ช่วยชาติ งบ 175,000,000 บาท นอกจากนี้ยังมีโครงการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center – AOC) ด้วยเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้งบ 284,980,000 บาท และโครงการพัฒนาระบบบริการภูมิอากาศอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน (Climate Field School: A Smart Climate Services System to Enhance Economic Value in Agriculture) ของกรมอุตุนิยมวิทยา งบ 85,000,000 บาท และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านระบบแชทบอทและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพฤติกรรม ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) งบ 25,000,000 บาท
อันดับ 11 กระทรวงวัฒนธรรม โดยงบทั้งหมด 586,548,300 เป็นของกรมศิลปากร ในโครงการบูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซม โบราณสถานต่างๆ

ในขณะที่กระทรวงที่ได้งบน้อยที่สุดคือ กระทรวงพาณิชย์ เพียง 88,536,400 บาท คิดเป็น 0.08% โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ได้งบมากที่สุด รองลงมาคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม งบ 98,800,000 บาท คิดเป็น 0.09% โดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ได้งบไปมากที่สุด ตามด้วยอันดับ 3 กระทรวงมหาดไทย งบ 108,000,000 บาท คิดเป็น 0.09% โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน กับโครงการค่าใช้จ่ายในการจัดงาน OTOP สร้างสุขสู่ชุมชน เป็นหน่วยงานที่ได้งบไปทั้งหมด ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ามหาดไทยทำข้อเสนอรวม 21,259 โครงการ งบฯ 7.96 หมื่นล้าน โดยแยกเป็นส่วนกลางสำนักปลัดฯ มท.และกปภ. รวมกัน 1 หมื่นล้าน และแผนกระตุ้น 76 จังหวัด รวม 5,223 โครงการ มากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และอปท. อีก 15,381 โครงการ 3.7 หมื่นล้าน ซึ่งพบว่าเฉพาะในส่วนของ อบต. จะทำโครงการ “ตู้น้ำดื่มสะอาด” รวม 2.7 พันล้านบาท ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ปรากฏในโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท

อันดับ 4 ที่ได้งบน้อยที่สุดคือ สำนักนายกรัฐมนตรี 150,000,000 บาท คิดเป็น 0.13% โดยมี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้รับงบประมาณไปทั้งหมด ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ดิจิทัลกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน (Government Super App) ทั้งหมด และอันดับ 5 คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 170,181,900 บาท คิดเป็น 0.15% โดยมีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ได้งบไปมากที่สุด อันดับ 6 คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา งบ 433,237,900 บาท ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้งบไปมากที่สุด 85.69% ซึ่งงบส่วนใหญ่เป็นงบโครงการพัฒนาห้องน้ำสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว

จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า มี 4 กระทรวงที่ไม่ได้รับงบกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงยุติธรรม
งบกระตุ้นเศรษฐกิจเทไปที่สร้าง-ซ่อม ถนน และงานชลประทาน 72.78% ของงบประมาณทั้งหมด
จากทั้งหมด 50 หน่วยงาน งบกระตุ้นเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ใน 3 กรมที่ทำงานสร้าง-ซ่อม ถนนและระบบชลประทานรวม 63.24% ซึ่งหากรวมกรมทรัพยากรน้ำ 4.49% กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 3.25% และการประปาส่วนภูมิภาค 1.89% จะเท่ากับ 72.78%
กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด คิดเป็น 27.90% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเป็นงบที่ใช้เพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมมากที่สุด 70.17% ทั้งหมดเป็นงานบำรุงและบูรณะทางหลวงสายต่างๆ ทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนงบประมาณมากที่สุด 8,095,030,000 บาท คิดเป็น 35.84% ของงบฯ ปรับปรุงซ่อมแซมของกรมทางหลวง ส่วนงบอีก 29.83% เป็นงบการสร้าง ทั้งหมดเป็นการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของทางหลวงสายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดตั้งเครื่องหมายจราจร ไฟส่องสว่าง ราวกั้นอันตราย ไฟสัญญาณจราจร
อันดับ 2 กรมชลประทาน 22.58% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นงบที่ใช้เพื่อการสร้างรวม 65.38% ซึ่งมีทั้งโครงการที่ระบุอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ 50.03% เช่น ระบบส่งน้ำ ฝาย อาคารบังคับน้ำ และโครงการที่ระบุว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ 15.35% เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสถานีสูบน้ำฯ ส่วนงบปรับปรุงซ่อมแซม 34.62% เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงและการบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างทางชลประทานต่างๆ เช่น ซ่อมแซมคันคลองระบายน้ำ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ขุดลอกคลอง
อันดับ 3 กรมทางหลวงชนบท 12.76% ของงบประมาณทั้งหมด แบ่งเป็นงบสร้าง 58.69% ซึ่งเป็นการสร้างถนนที่แยกออกมาจากทางหลวง และการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดตั้งเครื่องหมายจราจร ไฟส่องสว่าง ราวกั้นอันตราย ไฟสัญญาณจราจร ส่วนงบปรับปรุงซ่อมแซม 41.31% ทั้งหมดเป็นงานบำรุงและบูรณะถนนแยกจากทางหลวงและทางหลวงชนบท
ส่วนงบประมาณด้านน้ำอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ 4.49% (อันดับ 5) เป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ก่อสร้างฝาย และระบบส่งน้ำ เพื่อการเกษตรและเพื่อการอุปโภคบริโภค และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 3.25% (อันดับ 8) เป็นงบประมาณที่ระบุว่าเป็นโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ การประปาส่วนภูมิภาค (อันดับ 9) 1.89% ทั้งหมดเป็นงบงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำในหมู่บ้านและทางหลวง
อันดับ 4 สำนักงานประกันสังคม เป็นงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ 8.67% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมฝ่ายรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางสังคมผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2568 – 2569) 10,000 ล้านบาท
อันดับ 6 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 3.94% เป็นงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ ที่ระบุในเอกสารว่า “เป็นการสนับสนุน เสริมสร้าง ศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง” และ “พัฒนาผู้นำชุมชนรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน” อันดับ 7 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 3.94% แบ่งเป็นงบโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง 1,760 ล้านบาท งบประชาสัมพันธ์ 1,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด สร้างภาพลักษณ์เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว และงบกระตุ้นตลาดต่างประเทศ 750 ล้านบาท
ในงบ 1.15 แสนล้าน พบเป็นงบปรับปรุงซ่อมแซมมากที่สุด

จากงบประมาณทั้งหมด 115,375,271,500 บาท หากจำแนกตามลักษณะงานเป็น 4 แบบ ได้แก่ สร้าง ปรับปรุงซ่อมแซม เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ พบว่า การปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งหมายถึงโครงการที่เป็นการปรับปรุง บำรุงรักษา สิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว มีสัดส่วนมากที่สุด 37.22% รองลงมาเป็นการสร้าง ซึ่งหมายถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถนน อาคาร ระบบชลประทาน ระบบสัญญาณไฟจราจร เครื่องหมายจราจร 36.98% อันดับ 3 การพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ ซึ่งหมายถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยว 22.02% และอันดับ 4 เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงโครงการที่ระบุว่าเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ ในกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน 3.78%
เมื่อจัดกลุ่มประเภทของลักษณะงานปรับปรุงซ่อมแซม พบว่า เป็นงานเกี่ยวกับถนนและผิวทางมากที่สุด 66.50% เช่น งานบำรุงพิเศษและบูรณะ ทางหลวงหมายเลข 212 ตอน ท่าควาย – กลางน้อย ตอน 5 จ.นครพนม กรมทางหลวง 15,000,000 บาท อันดับ 2 งานที่เกิดขึ้นใน ห้วย หนอง บึง ลำน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน 6.33% เช่น งานขุดลอกหนองกระทิง ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร กองทัพบก 23,303,000 บาท อันดับ 3 งานเกี่ยวกับฝาย 5 % เช่น ปรับปรุงฝายยางแก้งสนามนาง ตำบลโนนสำราญ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา กรมชลประทาน 88,000,000 บาท อันดับ 4 งานเกี่ยวกับระบบส่งน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในโครงการส่งน้ำ เช่น คลองส่งน้ำ อาคารอัดน้ำ ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำ คลองซอย 4.89% เช่น ซ่อมแซมคันคลอง 5L-RMC กม.1+705 ถึง กม.2+610 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม กรมชลประทาน 990,000 บาท อันดับ 5 ระบบระบายน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ คลองระบายน้ำ 4.20% งานปรับปรุงซ่อมแซมอื่นๆ เป็นงานที่เกี่ยวกับ อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำเพื่อเกษตรและอุปโภคบริโภค ทางรถไฟและชานชาลา วัดและโบราณสถาน
งบในลักษณะงานสร้าง เมื่อจัดกลุ่มตามประเภทงานพบว่า การจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งหมายถึงงานที่เกี่ยวกับเครื่องหมายจราจร ไฟส่องสว่าง ราวกั้นอันตราย ไฟสัญญาณจราจร งานติดตั้งอุปกรณ์กั้นข้างทางหลวง ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ปรับปรุงกายภาพ มีสัดส่วนมากที่สุด 36.38% เช่น งานอำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน ทางหลวงหมายเลข 3 ตอน โพธิ์ทอง – บ้านพลิ้ว ตอน 4 จ.จันทบุรี กรมทางหลวง 16,800,000 บาท อันดับ 2 งานเกี่ยวกับระบบกระจายน้ำเพื่อเกษตรและอุปโภคบริโภค กิจกรรมเพื่อแจกจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น หมู่บ้าน พื้นที่เกษตร 20.35% เช่น ก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บ้านหนองสองห้อง ตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย กรมทรัพยากรน้ำ 120,525,800 บาท อันดับ 3 ระบบส่งน้ำ ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในโครงการส่งน้ำ เช่น คลองส่งน้ำ อาคารอัดน้ำ ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำ คลองซอย 15.82% เช่น ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการระบบส่งน้ำสถานีสูบน้ำบ้านนาดี 1 กรมชลประทาน 150,000,000 บาท อันดับ 4 ฝาย 7.91% เช่น โครงการฝายคลองไพรพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านหนองนกกระทา ตำบลนาบ่อคำ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร กรมชลประทาน 59,000,000 บาท อันดับ 5 เป็นงานเกี่ยวกับถนนและผิวทาง 5.06% เช่น งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 24 ตอน สี่แยกโชคชัย – หนองมัน จ.นครราชสีมา กรมทางหลวง 80,000,000 บาท งานก่อสร้างอื่นๆ เป็นงานที่เกี่ยวกับ ความปลอดภัยการท่องเที่ยว การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ระบบควบคุมรถบรรทุก วัดและโบราณสถาน
งบในลักษณะการพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้ เป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคมฝ่ายรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางสังคมผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2568 – 2569) มากที่สุด 39.37% จำนวน 10,000,000,000 บาท อันดับ 2 เสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15.75% จำนวน อันดับ 3 งบกองทุนกู้เพื่อการศึกษา 12.20% เช่น โครงการสนับสนุน เสริมสร้าง ศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง 4,000,000,000 ล้านบาท อันดับ 4 งบโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 6.93% จำนวนเงิน 1,760,000,000 บาท อันดับ 5 สื่อและประชาสัมพันธ์ 5.97% เช่น การทำตลาดการท่องเที่ยวไทยผ่าน Platform Online ในการเสนอขายสินค้าและบริการท่องเที่ยว ปี 2568 800,000,000 บาท งานการพัฒนาศักยภาพและกระจายรายได้อื่นๆ เป็นงานที่เกี่ยวกับ ความปลอดภัยการท่องเที่ยว เงินสนับสนุนด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จ้างเหมาพนักงานปฏิบัติงานให้บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์
สุดท้าย งบในลักษณะการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งหมดเป็นงานด้านน้ำ โดยเป็นงานที่เกี่ยวกับระบบระบายน้ำมากที่สุด 61.45% เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ประตูระบายน้ำปลายคลองขุนศรี ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี กรมชลประทาน 98,000,000 บาท อันดับ 2 ระบบกระจายน้ำเพื่อเกษตรและอุปโภคบริโภค 15.50% เช่น เพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำปราณบุรี – หัวหิน ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 550,000,000 บาท อันดับ 3 อ่างเก็บน้ำ 13.77% เช่น ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำตะแบก ต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก กรมทรัพยากรน้ำ 130,750,000 บาท งานอื่นๆ ได้แก่ เขื่อน ฝาย ระบบส่งน้ำ งานเกี่ยวกับสระ ห้วย หนอง บึง
งานคมนาคมมากที่สุด งานเกษตรน้อยที่สุด
เมื่อพิจารณารายละเอียดของงบประมาณ 6 ด้าน ได้แก่ น้ำ คมนาคม ท่องเที่ยว เกษตร แรงงาน ดิจิทัล และเศรษฐกิจและชุมชน พบว่า งบประมาณด้านคมนาคมมีสัดส่วนมากที่สุด 45,863,691,000 บาท คิดเป็น 39.75% ของงบประมาณทั้งหมด โดยมีงานที่เกี่ยวกับถนนและการปรับปรุงผิวทางมากที่สุด คิดเป็น 61.98% ของงบคมนาคม ในจำนวนนี้ เป็นงานประเภทปรับปรุงซ่อมแซม 93.24% % อันดับ 2 การจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน 32.12% ทั้งหมดเป็นงานประเภทสร้าง อันดับ 3 งานเกี่ยวกับทางรถไฟและชานชาลา 2.23% ในจำนวนนี้เป็นงบสร้าง 60.41% งานอื่นๆ ในงบประมาณด้านคมนาคมได้แก่ ท่าอากาศยาน ที่พักคอยรถโดยสาร ระบบควบคุมรถบรรทุก สถานีขนส่ง สะพานและส่วนประกอบอื่นๆ ของสะพาน เช่น ค่าก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 190,000,000 บาท


อันดับ 2 ด้านน้ำ 39,135,851,200 บาท คิดเป็น 33.92% ของงบประมาณทั้งหมด มีงานที่เกี่ยวกับระบบกระจายน้ำเพื่อเกษตรและอุปโภคบริโภค มากที่สุด 26.07% ของงบประมาณน้ำ อันดับ 2 งานเกี่ยวกับระบบส่งน้ำ 23.31% อันดับ 3 งานที่เกี่ยวกับฝาย 14.33% อันดับ 4 งานที่เกี่ยวกับระบบระบายน้ำ 14.20% อันดับ 5 งานที่่เกี่ยวกับห้วย หนอง บึง 9.86% งานอื่นๆ ในงบประมาณด้านน้ำ ได้แก่ งานที่เกี่ยวกับแก้มลิง เขื่อน คลอง แม่น้ำ สระ อ่างเก็บน้ำ

อันดับ 3 ด้านการท่องเที่ยว 10,052,579,600 บาท คิดเป็น 8.71% ของงบประมาณทั้งหมด มีงานที่เกี่ยวกับถนนและผิวทางมากที่สุด 22.77% อันดับ 2 โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง 17.51% อันดับ 3 งานที่เกี่ยวกับสื่อและประชาสัมพันธ์ 15.34% อันดับ 4 ความปลอดภัยการท่องเที่ยว 13.19% เช่น โครงการยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในภารกิจการท่องเที่ยวในมิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2568 954,490,000 บาท อันดับ 5 กระตุ้นตลาดต่างประเทศ 7.46% งานอื่นๆ ในงบประมาณการท่องเที่ยวเป็นงานที่เกี่ยวกับกล้องวงจรปิด การจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน ขยะ จ้างเหมาพนักงานปฏิบัติงานให้บริการนักท่องเที่ยว ป้าย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ระบุรายละเอียด ไฟฟ้า ระบบกระจายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และอาคารและสิ่งก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก
อันดับ 4 ด้านแรงงาน 10,000,000,000 บาท คิดเป็น 8.67% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งไม่มีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่าใช้งบอย่างไร

อันดับ 5 ด้านเศรษฐกิจและชุมชน 9,200,956,700 บาท 7.97% ของงบประมาณทั้งหมด มีงานที่เกี่ยวกับ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯ (SML) มากที่สุด 43.47% อันดับ 2 เงินกู้เพื่อการศึกษา 33.69% อันดับ 3 เงินสนับสนุนด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง 12.12% งานอื่นๆ ได้แก่ การจัดงาน จ้างที่ปรึกษา บุกตลาดศักยภาพใหม่ การจัดทำระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า งานอบรม การสร้างอาคาร
อันดับ 6 ด้านดิจิทัล 961,980,000 บาท 0.83% ของงบประมาณทั้งหมด มีงานที่เกี่ยวกับการอบรมมากที่สุด 47.09% ภายใต้โครงการ OTOD AI ช่วยชาติ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อันดับ 2 งานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ 29.62% ซึ่งเป็นโครงการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center – AOC) ด้วยเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) อันดับ 4 การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล 15.59% ซึ่งค่าใช้จ่าย ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ดิจิทัลกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน (Government Super App) งานอื่นๆ เป็นโครงการพัฒนาห้องทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าของดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 74,000,000 บาท

อันดับ 7 ด้านเกษตร 160,213,000 บาท 0.14% ของงบประมาณทั้งหมด มีงานที่เกี่ยวกับพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลมากที่สุด 53.05% ซึ่งเป็นพัฒนาระบบบริการภูมิอากาศอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน กรมอุตุนิยมวิทยา อันดับ 2 งานแก้หนี้ครัวเรือน 22.83% เป็นรายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์ อันดับ 3 งานที่เกี่ยวกับศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล 15.48% เป็นเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาธุรกิจเกษตรฮาลาลและการบูรณาการเศรษฐกิจสีเขียว สำหรับตลาดตะวันออกกลาง
ภาคกลางได้งบไปมากที่สุด ภาคตะวันออกได้งบไปน้อยที่สุด

เมื่อนำข้อมูลโครงการ/รายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 จำนวน 481 โครงการ 8,939 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 115,375.2715 ล้านบาท เมื่อนำมาแยกเป็นรายพื้นที่ว่าได้รับงบประมาณมาก-น้อย ที่สุด หากพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า


ภาคกลางได้รับงบประมาณไปมากที่สุด 43,858,160,900 บาท หรือคิดเป็น 38.01% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านคมนาคมมากที่สุด 10,799,540,700 บาท หรีอคิดเป็น 24.62% จากงบทั้งหมดที่ภาคกลางได้รับ โครงการงานบำรุงถนนสาย ลบ.4003 แยกทางหลวงหมายเลข 3027 – วัดพรหมมาสตร์ อ.ท่าวุ้ง เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี 95,000,000 บาท ได้รับงบประมาณมากที่สุด
โดยนนทบุรีเป็นจังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุด 15,102,854,200 บาท คิดเป็น 13.09% ของงบทั้งหมด รองลงมาคือกรุงเทพฯ 11,150,844,600 บาท คิดเป็น 9.66% อย่างไรก็ตาม โดยนนทบุรีและกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ได้งบมากที่สุดอันดับ 1 และ 2 มีสาเหตุจากทั้งการเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่ได้งบ เช่น สำนักงานประกันสังคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการที่งบบางส่วนยังไม่ได้ระบุพื้นที่ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งหากตัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ออกไปจะพบว่าจังหวัดที่ได้งบมากที่สุดในภาคกลางคือ สุพรรณบุรี 1,692,054,800 บาท คิดเป็น 1.46% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบโครงการประตูระบายน้ำบึงบ้านโพธิ์ พร้อมอาคารประกอบ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง มากที่สุด 180,000,000 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคกลาง คือ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้งบน้อยที่สุดในประเทศอีกด้วย 228,620,000 คิดเป็น 0.20% ของงบทั้งหมด

รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 32,726,872,600 บาท คิดเป็น 28.37% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านคมนาคมมากที่สุดเช่นกัน 16,067,018,200 บาท คิดเป็น 49.09% จากงบทั้งหมดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับ โครงการค่าก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานเลย ต.นาอาน อ.อเมือง จ.เลย 1 แห่ง 190,000,000 บาทเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3,539,738,200 บาท คิดเป็น 3.07% โดยพบว่าเป็นงบโครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำสถานีสูบน้ำ P2 (ท่อแนวที่2) ต.แก้งสนามนาง อ.แก้งสนามนาง จ นครราชสีมา มากที่สุด 224,880,000 บาท รองลงมาคืออุบลราชธานีและขอนแก่น ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ บึงกาฬ 708,938,800 บาท คิดเป็น 0.61% ของงบทั้งหมด

อันดับสามคือภาคใต้ 14,158,702,300 บาท คิดเป็น 12.27% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านคมนาคมมากที่สุดเช่นกัน 7,193,562,300 บาท คิดเป็น 50.81% จากงบทั้งหมดที่ภาคใต้ได้รับ โครงการค่าก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 1 แห่ง 190,000,000 บาทเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยสงขลาเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 2,962,988,800 บาท คิดเป็น 2.57% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบ โครงการคลองระบายน้ำคลองเปรม ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลามากที่สุด 250,000,000 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคใต้ คือ ระนอง 264,320,000 บาท คิดเป็น 0.23% ของงบทั้งหมด

อันดับสี่คือ ภาคเหนือ 9,968,170,500 บาท คิดเป็น 8.64% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านคมนาคมมากที่สุดเช่นกัน 4,697,203,200 บาท คิดเป็น 47.12% จากงบทั้งหมดที่ภาคเหนือได้รับ เงานปรับปรุงพื้นทางรถไฟระหว่างสถานีป่าเส้า-เชียงใหม่ (กม.739+000 – กม.751+000) แขวงบำรุงทางลำพูน จ.เชียงใหม่ 85,000,000 บาท โดยเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 2,567,354,100 บาท คิดเป็น 2.23% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบ ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำ จัดหาน้ำสหกรณ์สันกำแพง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่มากที่สุด 150,000,000 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคเหนือ คือ ลำพู 497,774,900 บาท คิดเป็น 0.43% ของงบทั้งหมด

อันดับห้าคือ ภาคตะวันตก 8,016,342,000 บาท คิดเป็น 6.95% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านน้ำมากที่สุด 4,257,181,500 หรือคิดเป็น 53.11% จากงบทั้งหมดที่ภาคตะวันตกได้รับ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำปราณบุรี – หัวหิน ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 550,000,000 บาท โดย กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 2,934,058,600 บาท คิดเป็น 2.54% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โครงการสถานีสูบน้ำ กลอนโด – รางสาลี่ ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มากที่สุด 198,330,000 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคตะวันตก คือ ตาก 962,000,200 บาท คิดเป็น 0.83% ของงบทั้งหมด

อันดับสุดท้ายคือภาคตะวันออก 6,647,023,200 บาท คิดเป็น 5.76% ของงบทั้งหมด โดยเป็นงานด้านคมนาคมมากที่สุด 3,940,820,600 คิดเป็น 59.29% จากงบทั้งหมดที่ภาคตะวันออกได้รับ โครงการงานก่อสร้างลานเก็บกองตู้คอนเทนเนอร์ (Container yard) ย่านสถานีมาบตาพุด จ.ระยอง 63,574,000 บาทเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดย ชลบุรี เป็นจังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุด 1,240,516,300 คิดเป็น 1.08% ของงบทั้งหมด โดยพบว่าเป็นงบโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรีมากที่สุด 96,516,000 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับงบน้อยที่สุดในภาคตะวันออก คือ ปราจีนบุรี 514,415,000 บาท คิดเป็น 0.45% ของงบทั้งหมด
จากข้อมูลทั้งหมด จะเป็นได้ว่าแม้ภาคกลางจะได้งบประมาณมากที่สุด แต่อาจเป็นเพราะนนทบุรีและกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่ได้งบก่อนจะกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ อีกที แต่หากตัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ออกไป จะพบว่านครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3,539,738,200 บาท คิดเป็น 3.07% ของงบทั้งหมด และใน 10 อันดับแรก (หากตัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ ออก) ก็มีจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6 จังหวัดด้วยกัน ในขณะที่จังหวัดที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในประเทศ 10 อันดับแรก เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคกลางและภาคใต้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้นได้งบประมาณน้อยเป็นอันดับที่ 75 ของประเทศเลยทีเดียว

ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-economic-stimulus-budget/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ