เครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่น 15 ข้อเทศบาลเชียงใหม่ ดันสิทธิถ้วนหน้า สร้างเมืองที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ก.ค. 2568 | อ่านแล้ว 316 ครั้ง

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือยื่น 15 ข้อเทศบาลเชียงใหม่ ดันสิทธิถ้วนหน้า สร้างเมืองที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือพร้อมภาคีเครือข่าย เดินหน้ายื่นข้อเสนอ 15 ประการต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ ผลักดันบทบาทท้องถิ่นให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับสวัสดิการ คุ้มครองสิทธิแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม พร้อมออกแบบเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ทั้งแรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง และแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้เชียงใหม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุลและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สืบเนื่องจากกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากล (May Day) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน อาทิ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), มูลนิธิการศึกษาประกายแสง (BEAM Education Foundation), สหภาพบาริสต้าเชียงใหม่ รวมถึงภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เฮา (แรงงาน) บ่ได้สู้อยู่คนเดว” เพื่อแสดงพลังแรงงานในระบบและนอกระบบ เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การเข้าถึงระบบประกันสังคมถ้วนหน้า และการคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ทั้งในระดับนโยบายระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ภายในงานมีการเดินขบวนแสดงสัญลักษณ์รอบเมืองเก่ากว่า 3 กิโลเมตร จากลานพุทธสถานถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พร้อมข้อความบนป้ายรณรงค์ที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในระบบแรงงาน เช่น “เมนส์มาขอสิทธินี้ให้สตรีได้หยุดงาน”, “กฎหมายคุ้มครองแรงงานใช้ได้ทุกอาชีพ ยกเว้น Sex Worker”, “งานบ้านคืองาน ต้องได้เงิน”, “ฝึกงานต้องเงิน” และคำขวัญหลัก “เฮา (แรงงาน) บ่ได้สู้อยู่คนเดว” เพื่อเน้นย้ำว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานนั้นต้องเกิดขึ้นร่วมกันอย่างมีพลัง ต่อเนื่องจากข้อเรียกร้องในวันแรงงานดังกล่าว เครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้เดินหน้ายื่นข้อเสนอในระดับท้องถิ่น โดยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 คณะผู้แทนจากเครือข่ายได้เข้าพบผู้แทนเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 15 ประการ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เทศบาลในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมสิทธิแรงงาน พัฒนาสวัสดิการพื้นฐาน และออกแบบเมืองที่ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ไม่เว้นแม้แต่แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง และผู้ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมักถูกมองข้ามในเชิงนโยบาย

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นพื้นฐานอย่างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไปจนถึงแนวทางการออกแบบเมืองที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนการเสนอให้มีการกำกับดูแลบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากเทศบาลให้เคารพสิทธิแรงงานตามหลักธรรมาภิบาล (ESG) ทั้งนี้ เครือข่ายเน้นย้ำว่า เทศบาลในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง และไม่อาจปล่อยให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติและแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ถูกละเลยหรือตกหล่นจากกระบวนการวางนโยบายสาธารณะอีกต่อไป

ในเวทีหารือครั้งนี้ เครือข่ายได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งและขยายศูนย์ดูแลเด็กที่เข้าถึงได้ มีค่าใช้จ่ายเหมาะสม และสอดรับกับเวลาทำงานของผู้ปกครองที่อยู่ในภาคบริการและเศรษฐกิจนอกระบบ เทศบาลนครเชียงใหม่ตอบรับว่า ปัจจุบันมีศูนย์ดูแลเด็กในความรับผิดชอบของเทศบาลที่สามารถรองรับเด็กได้ราว 200 คน โดยส่วนใหญ่เป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติ และยืนยันว่าพร้อมพิจารณาขยายพื้นที่ให้บริการ แม้จะยังมีข้อจำกัดเรื่องระเบียบราชการในการเปิดบริการนอกเวลาราชการ

ในประเด็นสุขภาวะและสวัสดิการแรงงาน เครือข่ายได้เสนอให้เทศบาลจัดหาผ้าอนามัยฟรี และพิจารณาจัดทำโครงการ "กล่องของขวัญสำหรับเด็กแรกเกิด" หรือ Baby Box เพื่อสนับสนุนแม่ทำงาน และลดปัญหาความยากจนจากการขาดแคลนผลิตภัณฑ์อนามัยประจำเดือน ซึ่งเทศบาลแสดงท่าทีตอบรับเชิงบวกและยืนยันความตั้งใจจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในฝ่ายบริหาร

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้จริง มีความถี่ในการเดินรถทุก 5–10 นาที โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของแรงงานจำนวนมาก แม้เทศบาลจะชี้แจงถึงข้อจำกัดที่เกิดจากระบบสัมปทานรถโดยสารเดิมอย่างรถแดง แต่เครือข่ายยังยืนยันว่า การเข้าถึงระบบขนส่งที่ดีคือหัวใจสำคัญของเมืองที่เป็นธรรม และควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะถือบัตรประชาชนเลข 13 หลักหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ เครือข่ายยังชี้ถึงความจำเป็นของการมีห้องน้ำสาธารณะที่เพียงพอ สะอาด ปลอดภัย และตั้งอยู่ใกล้กับจุดทำงานของแรงงาน เช่น พนักงานส่งอาหารหรือไรเดอร์ ที่ต้องใช้เวลาบนท้องถนนตลอดทั้งวัน รวมถึงเสนอให้เทศบาลผลักดันให้สถานประกอบการและร้านค้าจัดพื้นที่พักรอให้แก่ไรเดอร์ในระหว่างการทำงาน แม้เทศบาลจะระบุว่ายังไม่สามารถออกเทศบัญญัติได้ในเรื่องนี้เนื่องจากอาจกระทบต่อสิทธิของผู้ประกอบการ แต่เห็นพ้องว่าสามารถให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการได้ในฐานะพันธมิตรเพื่อเมืองที่เป็นธรรม

อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญคือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถ (congestion fee) เพื่อควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวในเมือง และสร้างรายได้หมุนเวียนเพื่อนำกลับไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เทศบาลระบุว่าปัจจุบันมีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ค่าธรรมเนียมยังต่ำจนไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้จริง

ในประเด็นสิทธิแรงงาน เครือข่ายเรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานทุกรูปแบบ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของแรงงานและส่งเสริมประชาธิปไตยในที่ทำงาน รวมถึงเสนอให้เทศบาลตรวจสอบบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานว่าไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน และปฏิบัติตามหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม เทศบาลยอมรับว่ายังไม่มีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบเว้นแต่จะมีการร้องเรียน และไม่มีบทบาทนำในการตรวจสอบสถานประกอบการที่อาจใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งยังเป็นหน้าที่หลักของอำเภอและกระทรวงแรงงาน

เครือข่ายยังเสนอให้มีงบประมาณประจำปีเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงาน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของแรงงานในนโยบายสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานในประเด็นการออกแบบเมือง เครือข่ายได้เรียกร้องให้เทศบาลออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยยึดหลัก Gender Equality Design อาทิ ทางเท้าที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและผู้สูงอายุ พื้นที่พักผ่อนที่เข้าถึงได้ และแสงสว่างเพียงพอ รวมถึงเสนอให้เทศบาลจัดเก็บข้อมูลเชิงแยกตามเพศ (gender-segregated data) เพื่อใช้ในการวางแผนนโยบายอย่างแม่นยำและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรแต่ละกลุ่ม ซึ่งเทศบาลยอมรับว่ายังไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลในลักษณะดังกล่าว

ท้ายที่สุด เครือข่ายเสนอให้มีการจัดเตรียมล่ามภาษาต่าง ๆ เช่น เมียนมา จีน กะเหรี่ยง และลาว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะในสถานพยาบาลและหน่วยงานราชการ ปัจจุบันเทศบาลมีเพียงล่ามภาษาอังกฤษ แต่แสดงความยินดีที่จะประสานกับเครือข่ายแรงงานในการพัฒนาแนวทางดังกล่าวต่อไป

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเน้นย้ำว่า สิ่งที่เสนอทั้งหมดไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสวัสดิการ แต่คือหลักประกันพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การที่เมืองจะเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างสมดุลและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จำเป็นต้องยอมรับเสียงของแรงงาน และเปิดพื้นที่ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: