มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายเร่งรัดการแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล หวังสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงของรัฐ
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ ขอสนับสนุนนโยบายเร่งรัดการแก้ปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ความว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้สถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอาศัยอยู่มานาน และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรไทยและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป นั้น
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ขอแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายและการดำเนินการดังกล่าว โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก กลุ่มเป้าหมายของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คือคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานแล้วนับจากช่วงทศวรรษ 2510 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2542 ซึ่งได้รับการจัดทำเอกสารแสดงตน ทะเบียนคนอยู่ และเลขประจำตัวสิบสามหลักแล้ว จำนวน 340,101 คน และคนรุ่นบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งต้องมีเอกสารรับรองการเกิด มีเอกสารแสดงตน เลขประจำตัวสิบสามหลัก เช่นกัน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 143,525 คน โดยรัฐไทยได้ให้คำนิยามคนกลุ่มนี้ว่าชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 19 กลุ่ม หรือรู้จักกันในนิยาม “คนไร้สัญชาติ” เพราะคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย เกิดเติบโต เรียนหนังสือ และปรับตัวเข้ากับสังคม (Socialized) ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังได้ทำงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยในฐานะพลเมืองหรือเป็นคนไทยเช่นเดียวกับประชากรที่มีสัญชาติไทยจำนวนมากที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศอื่น เพียงแต่ว่าประชากรกลุ่มนี้ยังคงตกอยู่ในสภาพไร้รัฐไร้สัญชาติมาตลอดหลายสิบปี
ประการที่สอง นโยบายแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของคนกลุ่มดังกล่าวก็คือ ในกรณีของคนรุ่นที่หนึ่งที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว รัฐไทยกำหนดให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการยื่นคำขอมีสิทธิพำนักอาศัยถาวร (มีถิ่นที่อยู่) ในประเทศไทย ในกรณีคนรุ่นที่สองที่เกิดในไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นคำขอเพื่อนำไปสู่การรับรองสัญชาติไทยตามหลักดินแดน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นนโยบายใหม่ แต่เป็นนโยบายที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมานับสิบ ๆ ปี นับจากอดีต
ประการที่สาม ขั้นตอนและกระบวนการ ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อคัดกรองผู้ยื่นคำร้องว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงดังกล่าว อาทิ กรณีผู้ยื่นคำขอมีสิทธิพำนักอาศัยถาวร จะต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบเอกสารแสดงตน ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ กรณีการมีสัญชาติไทยของคนรุ่นบุตรหลาน ต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ มีเอกสารรับรองว่าเกิดในประเทศไทย บิดามารดาจะต้องเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 19 กลุ่ม ฯลฯ
ประการที่สี่ กลุ่มเป้าหมายของมติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2567 จึงไม่ใช่คนต่างด้าวหรือคนสัญชาติอื่นที่เพิ่งอพยพเข้ามา แต่เป็นการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติที่ปรากฎตัวในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้น มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) จึงขอสนับสนุนการรับรองสถานะทางกฎหมายให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น
ประการที่ห้า มูลนิธิฯ เห็นว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีสัญชาติ เพื่อให้ตนได้รับการคุ้มครองจากรัฐและมีส่วนร่วมรับผิดชอบในรัฐและในการพัฒนาสังคม ดังที่ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 15 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อที่ 24 และกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ดังนั้นประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการเพื่อขจัดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติของประชากรที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย
ประการที่หก ประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติมักตกเป็นเป้าหมายของการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่บางคน หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มมิจฉาชีพและการชักจูงเข้าสู่องค์กรอาชญากรรม นโยบายเร่งรัดการแก้ปัญหาสถานะบุคคลของรัฐบาลจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการทุจริตและอาชญากรรมที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยลงได้ส่วนหนึ่ง
ประการที่เจ็ด การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จะเป็นมาตรการในการปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของชาติ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การที่บุคคลที่เป็นเยาวชนและกำลังแรงงานได้รับการรับรองสถานะสัญชาติไทย ย่อมเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถพัฒนาความรู้และทักษะ โดยการเข้ารับการศึกษา ฝึกอบรม ให้เป็นประชากรไทยที่มีคุณภาพ ตลอดจนสามารถโยกย้ายถิ่น เดินทางและประกอบอาชีพหรือทำงานในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น โดยที่ไม่ต้องทำงานและอยู่อาศัยอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ซึ่งจะตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจะเป็นการทดแทนกำลังแรงงานที่ต้องลดการนำเข้าจากประเทศอื่นลงได้ส่วนหนึ่ง
ประการสุดท้าย มูลนิธิฯ เห็นว่า นโยบายและการดำเนินการตามมติ ครม. จะเป็นมาตรการหนึ่งในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงของรัฐ
ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ขอแสดงความชื่นชมสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีมติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างตน และขอส่งกำลังใจให้กับสำนักทะเบียนอำเภอ/เทศบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการรับรองสถานะทางกฎหมายของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นประชากรและพลเมืองไทยมามาเป็นเวลานาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ