แอมเนสตี้ฯ เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2567/68 ชี้โลกเผชิญวิกฤตสิทธิมนุษยชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 พ.ค. 2568 | อ่านแล้ว 493 ครั้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2567/68 ชี้โลกเผชิญวิกฤตสิทธิมนุษยชน เรียกร้องไทยใช้เวทีโลกปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2567/68 ที่รวบรวมเหตุการณ์สิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่กาซา ยูเครน เมียนมา ไปจนถึงการสังหารผู้ปกป้องสิทธิในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ท่ามกลางบริบทที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชี้ตรงกันว่า “ระบบระหว่างประเทศ” ที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำลังเจอกับความท้าทายจำนวนมากจากนโยบายของรัฐและประเทศมหาอำนาจ

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าปี 2567 ที่ผ่านมา โลกของเรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งวิกฤต ไม่ใช่เพียงจากภัยสงคราม การละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือวิกฤตสิ่งแวดล้อม แต่เกิดจาก ‘การพังทลายของระบบระหว่างประเทศ’ ที่แต่เดิมถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยรายงานระบุว่า ปีที่ผ่านมามีผู้พลัดถิ่นทั่วโลกมากกว่า 110 ล้านคน และอย่างน้อย 21 ประเทศออกหรือใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่มีนักข่าวอย่างน้อย 124 คนถูกสังหารจากการนำเสนอข่าวสาร และพบว่ากว่า 2 ใน 3 ของนักข่าวเป็นชาวปาเลสไตน์ที่รายงานเหตุการณ์ในฉนวนกาซา

พุทธณีกล่าวเพิ่มเติมว่าการกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซาเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาชน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และบางประเทศในสหภาพยุโรปยังพบว่าประเทศเหล่านี้มีบทบาทสนับสนุน และใช้อำนาจยับยั้งในเวทีสหประชาชาติปกป้องอิสราเอลในการสู้รบ

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุทธณีเผยว่าในรายงานของแอมเนสตี้ยังชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่ายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านการรัฐประหารมานาน 4 ปี แต่ก็ยังพบกองทัพยังคงใช้อาวุธหนักโจมตีพลเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร้ความปรานีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้สถานที่เหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการสู้รบที่เมียนมา

และในรายงานปีนี้ยังพบข้อมูลการสังหารชาวโรฮิงญายังคงว่าพวกเขายังคงถูกปราบปรามอย่างเป็นระบบ ถูกผลักดันออกนอกประเทศ และถูกควบคุมในค่ายที่ขาดมนุษยธรรม โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับพล.อ. อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่ดีและสำคัญของกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่กลับพบว่าประเทศในภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทย ยังไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

“มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานครั้งใหม่ไปยังเมียนมา แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ตัดช่องทางทรัพยากรที่กองทัพใช้ในการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่ไทยเพิกเฉยต่ออาชญากรรมในเมียนมา เป็นการปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกยิ่งขึ้น”

ด้านประเด็นสิ่งแวดล้อม รายงานเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก โดยพบว่าในประเทศในซีกโลกใต้ต้องเผชิญผลกระทบหนักที่สุดทั้งที่ประเทศแถบนั้นมีส่วนสร้างปัญหาน้อยที่สุด ขณะเดียวกันยังพบว่าเทคโนโลยีถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมผ่านสปายแวร์และมีการทำโฆษณาชวนหลอกลวง ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ

“ขอย้ำว่าการล่มสลายของระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นการต่อต้านเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนยังคงยืนหยัดเรียกร้องต่อการถูกละเมิดสิทธิ”

พุทธณีกล่าวทิ้งท้ายถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าประเทศไทยต้องเลือกที่จะไม่หันหน้าหนี และต้องเลือกที่จะลงมือทำเพื่อไม่ให้เสียงของผู้ที่ถูกละเมิดถูกกลบหายไปในความเงียบอย่างเป็นระบบ

ด้านชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความก้าวหน้าในบางส่วน โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่การเพิ่มระดับการคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย ญี่ปุ่น และเกาหลี ไปจนถึงการรับรองให้ชนเผ่าพื้นเมืองในไต้หวัน สามารถใช้ชื่อดั้งเดิมของตนในเอกสารราชการได้ แต่ยังพบปัญหาอีกหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศยังคงร่วมมือกันปราบปรามผู้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ผู้ขอลี้ภัยยังคงต้องเป็นเหยื่อของการควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนดหรือถูกส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย ผู้คนต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งและมลพิษทางอากาศจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่กลับกลายเป็นว่านักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งภูมิภาคยังคงถูกประหัตประหารอย่างต่อเนื่อง

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสมือนได้ก้าวหน้าไปสองก้าว แต่แล้วก็ก้าวถอยหลังกลับมาอีก 3 ก้าว แม้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนบางส่วนจะได้รับการพัฒนา แต่ก็ยังมีความท้าทายมากมาย ทั้งใหม่และเก่า ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งสิทธิพลเมืองและการเมือง และสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคของเรา กลับเพิกเฉย หรือแม้กระทั่ง ในบางกรณี มีการร่วมมือกันกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นเองด้วยซ้ำ”

ชนาธิปกล่าวเพิ่มเติมในบริบทของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อันประกอบไปด้วยลาว เวียดนาม และกัมพูชา ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มอันน่าห่วงกังวลเป็นพิเศษ ในขณะที่มีกลุ่มทุนหลั่งไหลเข้าไปริเริ่มโครงการพัฒนาและธุรกิจต่างๆ ประเทศเหล่านี้กลับยังขาดธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การไล่รื้อที่ชาวบ้านที่นครวัด ไปจนถึงการค้ามนุษย์ในประเทศกัมพูชาและลาว อีกทั้ง รัฐบาลในลุ่มน้ำโขงล้วนไม่เปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ และอาศัยแนวทางการลงโทษนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือโครงการพัฒนาต่างๆ โดยใช้วิธีการดำเนินคดีอาญา หรือควบคุมตัวโดยพลการ ในบางกรณี มีการส่งตัวบุคคลกลับไปยังประเทศต้นทาง แม้ว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงในการถูกซ้อมทรมานก็ตาม

“รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาค ต้องหยุดรวมใจกันปราบปรามนักกิจกรรม ผู้เห็นต่าง และสมาชิกคนกลุ่มน้อยที่ถูกประหัตประหาร การร่วมมือกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควรเป็นไปเพื่อเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่ใช่บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน” ชนาธิปกล่าว

บัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายบางด้าน แต่ภาพรวมยังสะท้อนถึงโครงสร้างที่จำกัดพื้นที่ของภาคประชาสังคม และการไม่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอ เช่น การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน การต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และการออกหมายจับนักวิชาการต่างชาติในคดีมาตรา 112 ล้วนเป็นตัวอย่างสะท้อนถึงทิศทางที่น่ากังวล

“การละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยยังน่าเป็นห่วงอย่างการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนโดยไม่คำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศ และการส่งตัว "มี ควิน เบดั๊บ" กลับเวียดนาม ทั้งที่เขามีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย”

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชาชนมากกว่า 1,960 คนที่ยังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือมาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนอย่างน้อย 279 คน ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 29 คนที่ยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี รวมถึงกรณี “บัสบาส มงคล” ที่ถูกตัดสินจำคุกกว่า 54 ปี และ “อานนท์ นำภา” ที่ได้รับโทษมากกว่า 22 ปี นอกจากนี้ยังพบการเสียชีวิตของนักกิจกรรม “บุ้ง เนติพร” ที่อดอาหารประท้วงในเรือนจำนาน 110 วัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในไทย ยังอยู่ในจุดที่เปราะบางและยังไร้ความคืบหน้าในการสอบสวน

บัญชาระบุอีกว่ารายงานยังชี้ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคก้าวไกลในปี 2567 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และสะท้อนความย้อนแย้งกับคำมั่นของรัฐบาลต่อสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีการสังหารโดยมิชอบ เช่น รอนิง ดอเลาะ นักสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในจังหวัดปัตตานี รวมถึงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมชนที่ด้านหน้า สภ. ตากใบ ที่หมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยไม่มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากลึกในไทย

“การลอยนวลพ้นผิดเป็นหนึ่งในรากของปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย หากไม่เริ่มจากความจริงและความยุติธรรม โอกาสในการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนจะหายไปอย่างถาวร”

บัญชากล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าในบางด้าน เช่น การที่รัฐสภาผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนและประเทศที่ 38 ของโลกที่รับรองสิทธิการสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังพบนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนม การคุกคามทางดิจิทัล และการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง

โดยในรายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง: BEING OURSELVES IS TOO DANGEROUS” ของแอมเนสตี้ที่เผยเมื่อปีที่แล้วมีข้อเท็จจริงที่ทำให้เห็นรูปแบบของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านเทคโนโลยีกับนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการสอดแนมของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่ออังคณา นีละไพจิตร และปรานม สมวงษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเปิดเผยเอกสารของกองทัพไทยที่ชี้ถึงปฏิบัติการ “ทีมไซเบอร์” ที่คอยติดตามการทำงานของภาคประชาสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแอมเนสตี้ ประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

บัญญายังระบุอีกว่า ทางการยังคงจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยปัจจุบันพบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 1,960 คนถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องประชาธิปไตยระหว่างปี 2563-2567 และมีอย่างน้อย 33 คนที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ รวมถึงมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นถึง 279 คน และยังพบว่าการดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่งผลให้มีการตัดสินโทษจำคุกในระยะเวลาที่ยาวนาน เช่นกรณีของ “บัสบาส มงคล” ที่ถูกจำคุกกว่า 54 ปี และ “อานนท์ นำภา” กว่า 20 ปี อีกทั้งกรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” นักกิจกรรมที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ เป็นสัญญาณอันตรายของการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขมีข้อเสนอแนะถึงทางการไทย ดังนี้

  • ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และปรับกระบวนการประกันตัวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
  • ปฏิรูปร่างกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และยกเลิกข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติทางเพศ
  • ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามโดยรัฐและเอกชน
  • สอบสวนการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และยุติการลอยนวลพ้นผิด
  • แก้ไขกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับให้สูญหายให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
  • รับรองสิทธิในการลี้ภัยและไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ
  • เคารพและส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในที่ดิน วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ

“ในโลกที่เรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอาจมีแนวโน้มที่จะกำลังพังทลายจากสงคราม การละเมิดเสรีภาพ และความเพิกเฉยของมหาอำนาจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสังหารในกาซา การปราบปรามในเมียนมา การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในลาว เวียดนาม กัมพูชา หรือการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ฟังเสียงของประชาชน ยุติการกดขี่ และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกมิติ เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงหลักการที่ถูกเขียนไว้ แต่คือชีวิต ความหวัง และอนาคตของผู้คนทั่วโลก” บัญชา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงรายงาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2567/68 และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้กับรัฐบาลไทย โดยมีนายอานนท์  ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารดังกล่าวเพื่อที่จะส่งต่อให้กับรัฐบาลไทยต่อไป

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: