นักวิชาการ ระดมความเห็นถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วประเทศสเปนและโปรตุเกส ชี้สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เสถียรของกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าหลักหลุดจากระบบ ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันไทยมุ่งสู่พลังงานสีเขียว อนาคตจะมีไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น โดย 3 การไฟฟ้าเร่งหารือรับมือ ชี้ต้องนำเทคโนโลยีมารองรับพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกัน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย
Energy News Center รายงานว่าเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เพื่อให้เข้าใจเชิงลึกถึงสาเหตุและผลกระทบของเหตุการณ์ไฟดับระดับประเทศ และเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของไทยและอาเซียน
นายสุรชัย ชัยทัศนีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ (Blackout) ทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน และเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบกัน ซึ่งการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน ย่อมส่งผลกระทบทางเทคนิคต่อระบบไฟฟ้า
ดังนั้น ประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมแนวทางรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนี้
1. นำเทคโนโลยี Energy Storage เข้ามาใช้เพื่อช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินจากพลังงานหมุนเวียน และจ่ายคืนเมื่อพลังงานหมุนเวียนลดลง
2. นำเทคโนโลยี Grid Modernization & Flexibility เข้ามาใช้เพื่อทำให้กริดรับมือกับพลังงานหมุนเวียนที่กระจายตัวและแปรปรวนได้ดีขึ้น เช่น ควบคุมแบบสองทางและอัตโนมัติ
3. ทำเรื่อง Forecasting & System Operation เพื่อพยากรณ์และวางแผนระบบไฟฟ้าล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น
4. พิจารณาเทคโนโลยี Flexible Generation ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เร็วหรือยืดหยุ่น เข้ามารองรับช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงพอ
5. พิจารณาเรื่อง Diverse & Distributed RE เพื่อกระจายแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยงและเพิ่มความเสถียรให้กับระบบไฟฟ้า
6.นำเรื่อง Interconnection & Trading ที่จะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายและการค้า เพื่อส่งไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เข้ามาช่วยรับมือกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน
7.ส่งเสริม Regulatory & Market Mechanisms โดยวางกลไกกำกับดูแลที่สร้างแรงจูงใจและตลาดที่รองรับระบบไฟฟ้าที่มีพลังงานหมุนเวียนสูง
น.ส. พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติไฟฟ้าดับ แต่น่าจะเป็นผลมาจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ออกแบบไว้รองรับพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ มีข้อเสนอแนะแนวทางเสริมความมั่นคงเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ดังนี้
1. จัดทำ Energy Resilience Roadmap ควบคู่กับ Roadmap สู่ Net Zero
2. ปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อเทคโนโลยีและบริบทโลก เพื่อรองรับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ภัยภูมิอากาศ หรือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
3. สื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุของความเสี่ยง แต่ต้องมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม
4. ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลแบบเปิด (Open Data Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ