คิกออฟ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมเป็นกำแพงพิงหลังใน ‘สังคมสูงวัย’

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ค. 2568 | อ่านแล้ว 168 ครั้ง

คิกออฟ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมเป็นกำแพงพิงหลังใน ‘สังคมสูงวัย’

มธ. เปิดโครงการ “TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย” ประกาศ ระดมทรัพยากรทั้งมหา’ลัย เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้บริการวิชาการ-บริการสังคม ดูแลประชาชนรับมือสังคมผู้สูงอายุ พร้อมเปิดแผนปฏิบัติการเฟสแรก จับมือ ‘จ.ปทุมธานี’ กำหนดพื้นที่ sandbox ยกระดับกำลังคนด้านสุขภาพ คลี่คลาย Pain Point คนทำงานด่านหน้า-ชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ประกาศความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนและรับใช้สังคมท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายสังคมสูงวัย ด้วยการบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายคณะและหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียวตามค่านิยม ONE TU เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนทางด้านบริการวิชาการ บริการสังคม ตลอดจนการสื่อสารสังคม ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และคาดการณ์กันว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประชากรไทยราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคนจะเป็นผู้สูงอายุ เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อัตราการเกิดใหม่ลดต่ำลง ประเทศไทยก็จะมีประชากรวัยทำงานน้อยลงตาม ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นำไปสู่ความท้าทายทางการคลัง การจัดเก็บภาษี การพัฒนาประเทศ การจัดสวัสดิการให้ประชาชน ฯลฯ

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์กันตามสถิติ ในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่โลกของการทำงาน จะต้องเหนื่อยกว่าคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะจากสัดส่วนประชากรบ่งชี้ว่า นอกจากเขาจะต้องดูแลชีวิตของตัวเองแล้ว เขายังจะต้องหารายได้สำหรับดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการทำหน้าที่พลเมืองอย่างจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ

“นี่จึงนับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้พวกเขามีความเข้มแข็งมากที่สุด และในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ธรรมศาสตร์มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงต่อโจทย์ใหญ่ของประเทศ เราจึงยินดีอย่างยิ่งที่จะระดมสรรพกำลัง ตลอดจนทรัพยากร เพื่อเข้ามาเป็นกำแพงพิงหลังให้กับประชาชนในการรับมือกับปัญหานี้” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยแล้ว ทุกวันนี้ธรรมศาสตร์กล้าที่จะประกาศว่าเรามีความเป็นเลิศและเข้มแข็งในทุกกลุ่มสาขาวิชา ซึ่งภายใต้ภารกิจ TU Care & Ageing Society กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมฝ่ามรสุมสังคมสูงวัย โดยมีทรัพยากรในระดับโครงสร้าง อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ที่กำลังอัพเกรดเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้ป่วยให้ได้ถึง 1,000 เตียง ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ศูนย์ให้การดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้ายแห่งแรกของประเทศที่ให้การดูแลโดยโรงเรียนแพทย์ โครงการ EEC Md บนเนื้อที่กว่า 585 ไร่ ที่จะนำไปสู่ The Health and Wellness Innopolis และจะเป็นต้นแบบ Medical Valley ของประเทศ ศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (ABCD Centre) ฯลฯ ที่ให้การสนับสนุน

รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ TU Care & Ageing Society ตอนหนึ่งว่า ภายใต้โครงการจะมีการผสานความเป็นธรรมศาสตร์ลงไปเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านทั้งการให้บริการวิชาการ การให้บริการสังคม การฝึกอบรมพัฒนาทักษะต่างๆ และการสื่อสารสังคม โดยในปี 2568 ซึ่งเป็นเฟสแรกของการดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์จะทำงานร่วมกับ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมี ACTION PLAN ดังนี้

ในระดับนโยบาย ธรรมศาสตร์จะให้บริการวิชาการ โดยจับมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) กำหนดพื้นที่ Sandbox แสวงหาความต้องการตลอดจน Pain Point การดูแลผู้สูงอายุระดับชุมชน จากทั้งผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าและชุมชน จากนั้นจะนำความต้องการดังกล่าวเข้าสู่เวทีสนทนานโยบาย หรือ Policy Dialogue เพื่อตกผลึกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับ อบจ.ปทุมธานี และเป็นโจทย์ให้ธรรมศาสตร์นำทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่อไป

ในระดับพื้นที่ ธรรมศาสตร์จะนำองค์ความรู้ คณาจารย์ และงานวิจัย เข้าไปสร้างคน กล่าวคือจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร จ.ปทุมธานี ในการดูแลผู้สูงอายุ Up-Skill ให้ผู้ที่มีบทบาทดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยตรง อาทิ Care-giver, กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนการให้องค์ความรู้-การเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลผู้สูงอายุพื้นฐานให้กับประชาชนในชุมชน ด้วยหลักสูตรที่กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ออกแบบ

ขณะเดียวกัน ธรรมศาสตร์ทราบดีว่าผู้ปฏิบัติงาน-เจ้าหน้าที่ด่านหน้า มีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน โครงการจะเข้าไปสนับสนุนการจัดกระบวนการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ช่วยปลุกไฟให้กับผู้ดูแล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุต่อไป พร้อมกันนี้ภายใต้โครงการ TU Care & Ageing Society ยังจะสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารสังคม และขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อช่วยกันบอกเล่าความสำเร็จ โมเดลต้นแบบ และดอกผลการทำงาน และนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของธรรมศาสตร์ และ จ.ปทุมธานี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม และสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: