ชายแดนใต้: ระเบิดโดนผู้บริสุทธิ์ล้ำเส้นมนุษยธรรม ลดความชอบธรรมการต่อสู้ด้วยอาวุธ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 19 พ.ค. 2568 | อ่านแล้ว 264 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ทุกท่าน

นับตั้งแต่ต้นปี 2568 สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานที่ชายแดนใต้กว่า 15 ปี ให้ข้อมูลว่า เด็กจำนวน 16 คนและผู้หญิงจำนวน 21 คน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด มีอุสตาซหรือครูสอนศาสนาอิสลาม ถูกสังหาร 1 คน และกลุ่มคนไทยพุทธถูกลอบยิงจำนวนมาก และยิ่งน่าเศร้าใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเดือนเมษายน เกิดความรุนแรงโดยตรงต่อประชาชนโดยเริ่มต้นจากลอบสังหารอุสตาซเสียชีวิต 1 คน เมื่อวันที่ 18 เมษายน และต่อมาล่าสุด ในวันที่ 20 เมษายนเกิดเหตุลอบวางระเบิดหลังแฟลต สถานีตำรวจโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสส่งผลให้เด็กได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 คนและกราดยิงชาวบ้านไทยพุทธที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน ทำให้ภายในระยะเวลา 3 วัน มีผู้เสียชีวิต 1 คนและได้รับบาดเจ็บ 17 คน ทั้งหมดเกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบฝ่ายส่งผลกระทบต่อพลเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง นักการศาสนา และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่คือคนไทยพุทธ นอกจากนี้ยังมีศาสนาสถานที่ได้รับผลกระทบเช่นศาลาวัด เป็นต้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธ รัฐและกลุ่มติดอาวุธทุกฝ่ายล้วนมีพันธกรณีพื้นฐานในการเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองพลเรือนจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากการปะทะและการปฏิบัติการทางทหาร พวกเขาจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงป้องกันทุกประการที่เป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดผลกระทบที่มีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้อง หลักการคุ้มครองพลเรือนในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธได้รับการรับรองอย่างชัดเจนในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law - IHL) และกฎบัตรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (International Human Rights Law - IHRL) ซึ่งต่างวางกรอบแนวทางและมาตรฐานในการดำเนินปฏิบัติระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมถึงการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ การเคารพต่อหลักกฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายสากล แต่ยังเป็นหัวใจของการสร้างความชอบธรรม ลดความตึงเครียด และวางรากฐานสำหรับการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนในพื้นที่ การคุ้มครองพลเรือนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่คือภารกิจที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกระดับการคุ้มครองทั่วไป

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ เด็กได้รับการคุ้มครองโดยหลักประกันขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มิได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งอนุสัญญาเจนีวา และมาตรา 4 แห่งพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สอง นอกจากนี้ เด็กยังได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมภายใต้หลักการสำคัญที่กำหนดไว้ว่า “ประชากรพลเรือนและพลเรือนแต่ละคนจะต้องไม่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี” (มาตรา 13 แห่งพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สอง) ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้ง กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้การคุ้มครองแก่สตรีทั้งในฐานะประชากรพลเรือนทั่วไป และในฐานะกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงบางประการโดยเฉพาะ ทั้งนี้ พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สองได้กำหนดให้ประชากรทั้งหมดถือเป็นพลเรือน ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม เว้นแต่ในช่วงเวลาที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ (มาตรา 13 วรรคสาม แห่งพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่สอง) “พลเรือนและพลเรือนแต่ละคนจะได้รับการคุ้มครองโดยทั่วไปจากอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติการทางทหาร” ด้วยเหตุนี้พวกเขาจะต้องไม่เป็นเป้าหมายของการโจมตีหรือการกระทำใดๆ หรือการคุกคามด้วยความรุนแรงซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อแพร่กระจายการก่อการร้าย (APII มาตรา 13) ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบจากความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิต ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้หญิง ผู้นำศาสนา และประชาชนชาวไทยพุทธในพื้นที่

อะไร คือข้อเสนอแนะ

ผู้เขียนและภาคีเครือข่ายต่างๆที่อยู่ใต้ร่มธง สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สะท้อนตรงกันว่า “ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าผู้กระทำจะมีวัตถุประสงค์หรือข้อเรียกร้องใด เพราะการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก ผู้หญิง และประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่ควรถูกนำไปเกี่ยวข้องหรือใช้เป็นเครื่องมือในความขัดแย้ง

ผลของการระเบิดโดนผู้บริสุทธิ์ มันล้ำเส้นมนุษยธรรม อีกทั้งจะลดความชอบธรรมการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทุกภาคส่วนต้องไม่เงียบ ต้องร่วมส่งเสียง และร่วมเสนอทาง ออก มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ซึ่งสมาคมด้วยใจ ฯ มีข้อเสนอ 6 ข้อดังต่อไปนี้: 1. ยุติการโจมตีหรือปฏิบัติการทางทหารทุกรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือน โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง ผู้นำศาสนา และประชาชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบ 2. เคารพและปฏิบัติตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาเจนีวาและพิธีสารเพิ่มเติม ที่ให้การคุ้มครองพลเรือนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ 3. ดำเนินการสอบสวนอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีความรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเปราะบาง พร้อมนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 4. ส่งเสริมกลไกป้องกันความรุนแรง เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การติดตามสถานการณ์ และการประสานงานข้ามฝ่ายในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง 5. ฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะข้อ 6. ซึ่งรัฐควรแสดงท่าทีและดำเนินการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงเจตจำนงในการยุติความรุนแรงและสร้างทางออกที่ยั่งยืน การยุติการโจมตีและความรุนแรงต่อกลุ่มเปราะบาง ไม่เพียงเป็นข้อเรียกร้องด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชน และเป็นก้าวสำคัญสู่กระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนในพื้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: