นิทรรศการ 'Freedom Beyond Walls' กำลังใจข้ามกำแพง โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องขังในคดีการเมือง ให้พวกเขารู้ว่าทุกคนข้างนอกยังจดจำ ห่วงใย และพร้อมยืนเคียงข้างอยู่เสมอ
“เมื่อได้ออกไป 1st Thing คงใช้เวลากับคนที่รักและแมว”
การใช้เวลากับคนที่รักและแมวอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคน แต่สำหรับ “ผู้ต้องขังทางการเมือง” นี่คือกิจกรรมแสนพิเศษที่ไม่เพียงบ่งบอกว่าเขาได้รับอิสรภาพ แต่ยังยืนยันความเป็นมนุษย์ของเขา เช่นเดียวกับคนทั่วไปในโลกภายนอก
การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปี 2563 – 2564 แม้จะขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่อาจหวนกลับได้ แต่อำนาจรัฐที่พยายามต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลให้ผู้ชุมนุมหลายคนต้องกลายเป็นผู้ต้องขังทางการเมือง เพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพในพื้นที่การชุมนุม และยังมีกิจกรรมมากมายภายใต้แคมเปญ Free Ratsadon และถึงแม้ว่าวันนี้การชุมนุมจะไม่ใช่วิธีการแสดงออกทางการเมืองที่เป็นที่นิยม แต่แคมเปญ Free Ratsadon ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อไปในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่โดดเด่นของแคมเปญ Free Ratsadon คือการเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังทางการเมือง หรือ “เพื่อนในเรือนจำ” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ต้องขังในคดีการเมือง ให้พวกเขารู้ว่าทุกคนข้างนอกยังจดจำ ห่วงใย และพร้อมยืนเคียงข้างอยู่เสมอ โดยเริ่มจากการเขียนจดหมายลงในกระดาษและนำไปส่งให้เพื่อนๆ ในเรือนจำ จากนั้นได้พัฒนามาเป็นโปสการ์ดที่ร่วมออกแบบกับศิลปินชาวไทยหลายรูปแบบ และล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดการประกวดออกแบบโปสการ์ดฝีมือเยาวชนและบุคคลทั่วไป ภายใต้แนวคิด “Unchained Expression” ผลงานทั้งหมดผ่านการคัดเลือกจนเหลือ 81 ชิ้น และถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Freedom Beyond Walls” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

แสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คิวเรเตอร์หรือผู้ดูแลจัดทำของนิทรรศการ Freedom Beyond Walls กล่าวว่า จุดประสงค์แรกเริ่มของการจัดประกวดออกแบบโปสการ์ดเกิดขึ้นจากการที่ต้องการโปสการ์ดรูปแบบใหม่นำมาจัดกิจกรรม และอีกหนึ่งจุดประสงค์คือการเป็นพื้นที่สำหรับให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านงานศิลปะ เพราะคุณสมบัติหนึ่งของศิลปะคือการเปิดพื้นที่ให้ตีความได้ไม่รู้จบ

“สิ่งที่แอมเนสตี้พยายามทำ ไม่ใช่แค่การไปบอกคนอื่นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกคืออะไร แต่เราอยากให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ในตัวของทุกคน แล้วจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ถูกนำออกมาใช้ เราก็เลยมองว่าศิลปะใช้ในการตีความได้เยอะ คนบางคนอาจจะเก่งเรื่องเขียน เขาก็จะเขียนจดหมายกับเรา แต่คนบางคนอาจจะอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องนี้สำคัญ ทุกอย่างคือสิทธิมนุษยชน แต่อาจจะไม่ได้เก่งขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เรามองว่านี่คือโอกาสที่จะให้เขาได้มีส่วนร่วมกับแคมเปญของเรา และเรามองว่าจากการตีความของคนทั่วไป มันสำคัญต่อการเคลื่อนไหว” แสงเทียนกล่าว
นิทรรศการ Freedom Beyond Walls จัดขึ้นบริเวณ “มุมสามเหลี่ยม” พื้นที่เล็กๆ บนชั้น 1 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นโซนหลักๆ 4 โซน ได้แก่
- The Silenced Voices อุโมงค์ที่เต็มไปด้วยป้ายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง พร้อมแผ่นกระดาษที่เขียนคำพูดของพวกเขา แขวนแน่นอยู่ภายใน ซึ่งหากแผ่นกระดาษเหล่านี้มีเสียง เชื่อว่าอุโมงค์แห่งนี้จะเต็มไปด้วยเสียงอื้ออึงของเหล่าผู้ต้องขังที่โหยหาอิสรภาพ ทว่าในความเป็นจริง เรากลับไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ เพราะเสียงของพวกเขาถูกทำให้เงียบลงหลังกำแพงเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าไปในอุโมงค์ ผู้จัดงานจะมอบแผ่นพับให้ผู้ชมได้เข้าไปตามหาเสียงของผู้ต้องขังทางการเมือง เพื่อให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักเจ้าของเสียงที่ถูกทำให้เงียบ นับเป็นโซนเปิดของนิทรรศการที่ช่วยปูพื้นฐานให้เห็นความสำคัญของการเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ซึ่งเหตุผลนั้นก็แสนเรียบง่าย เพราะคนเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์นั่นเอง
- Postcards of Hope กำแพงหนาที่ประดับประดาไปด้วยโปสการ์ดจำนวน 75 ชิ้น ฝีมือของศิลปินทั้งกลุ่มบุคคลทั่วไปและเยาวชน เป็นการตีความและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียด จะพบว่านอกจากความสวยงามแล้ว ผลงานเหล่านี้ยังสะท้อนตัวตนและแนวคิดของศิลปินที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม และเชื่อว่าหากโปสการ์ดเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ในเรือนจำ ก็ย่อมสร้างความหวังให้พวกเขาได้อย่างแน่นอน
- Message of Hope พื้นที่ตรงกลางของนิทรรศการ ซึ่งจัดวางโปสการ์ดที่ชนะการประกวดจากประเภทบุคคลทั่วไป และประเภทเยาวชน พร้อมปากกา ให้ผู้ชมได้ร่วมเขียนโปสการ์ดส่งกำลังใจและความห่วงใยไปยังเพื่อนๆ ผู้ต้องขังทางการเมือง โดยทางแอมเนสตี้จะนำโปสการ์ดเหล่านี้ส่งผ่านไปรษณีย์ ทนายความ และครอบครัวของผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาไม่เคยโดดเดี่ยว ยังคงมีหลายคนที่ระลึกถึงพวกเขา และรอคอยให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ
- Wall of Support โซนที่ให้ผู้ชมได้เขียนกระดาษโพสต์อิต เพื่อให้กำลังใจทั้งผู้ต้องขังทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน และทุกคนที่กำลังขับเคลื่อนประเด็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่เรียบง่าย ทุกคนสามารถทำได้ แต่ทรงพลังและสร้างกำลังใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีโซนย่อยๆ อย่างแผ่นกราฟที่ให้ผู้ชมได้สำรวจระดับความหวังของตัวเอง และติดสติ๊กเกอร์เพื่อบอกให้รู้ว่าตนเองมีความหวังอยู่ในระดับไหน และบอร์ดให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของแคมเปญ Free Ratsadon เพื่อให้ผู้ชมทุกคนได้ทำความรู้จักและให้การสนับสนุนตามแนวทางของตัวเอง รวมทั้งกิจกรรมพิเศษที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตลอดการจัดนิทรรศการ ดังนี้
- วันพุธที่ 16 และ 23 กรกฎาคม – กิจกรรมถ่ายภาพ Polaroid พร้อมตกแต่งในแบบของคุณ (จำนวนจำกัด)
- วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม เวลา 13:00-17:00 น. กิจกรรมเวิร์กช็อป “กำไลเชือกเทียน” โดย @lafleur_corner
- วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม เวลา 13:30 – 15:00 น. และ 16:00 – 17:30 น. กิจกรรม live drawing ทโดยศิลปิน “SaveSummer”
- วันที่ 22, 24-27 กรกฎาคม กิจกรรมทำเข็มกลัดจากแอมเนสตี้
นิทรรศการ “Freedom Beyond Walls: นิทรรศการโปสการ์ดและจดหมายเพื่อส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ” จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 1 มุมสามเหลี่ยม หน้าร้านกาแฟ ระหว่างวันที่ 15 – 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:00–20:00 น. (ปิดทุกวันจันทร์ ตามเวลาทำการของหอศิลป์กรุงเทพฯ) เข้าชมฟรี

www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ