สส.พรรคประชาชน ชี้ปัญหาโครงสร้างขัดขวางความก้าวหน้าสมุนไพรไทย ตั้งคำถามไทยกล้าที่จะลงทุนในการพัฒนาคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ไม่ว่าจะด้านการปลูก เก็บเกี่ยว รักษาผลิตผล แปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์แล้วหรือยัง
6 กรกฎาคม 2568 การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาชน ผู้จบการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าได้เข้าร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 11-12 ร่วมกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2568
การณิก ระบุว่า จากการสังเกตและศึกษาปัญหาของวงการสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย พบว่ายังมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ "ไปไม่สุด" ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโครงสร้างของหน่วยงานรัฐไทย โดยสามารถแยกปัญหาหลักได้ 5 ด้าน
การณิก ชี้ว่า สมุนไพรไทยส่วนใหญ่ขาดการควบคุมกระบวนการปลูก ทำให้มาตรฐานด้านปริมาณสารสำคัญ (สารออกฤทธิ์) ความคงที่ของคุณภาพวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษายังขาดความคงที่และต่อเนื่อง
"องค์กรภาครัฐของไทยขาดความเชี่ยวชาญ และขาดการบูรณาการร่วมกันของข้อมูลงานวิจัย ด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) สมุนไพรไทย กับงานวิจัยทางคลินิก (Clinical trials) เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผล ความปลอดภัยในมนุษย์ รวมไปถึงข้อจำกัดด้านทุนวิจัยระยะยาว" การณิก กล่าว
นอกจากนี้ ยังชี้ว่า ประเทศไทยยังขาดนักวิจัยที่สนใจด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสารสำคัญจากต่างประเทศ แทนการพัฒนาโดยนักวิจัยไทย รวมถึงการไม่ลงทุนผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ จะยิ่งเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาแทนที่สมุนไพรจากภูมิปัญญาดั้งเดิม
การณิก ระบุว่า ข้อบังคับทางกฎหมายที่ซ้อนทับกันของหลายหน่วยงาน ความล่าช้าจากการขอใบอนุญาตปลูก/ตั้งโรงงาน การขึ้นทะเบียนยาแผนไทย/ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ความยุ่งยากในการขอมาตรฐานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรผู้สนใจ/ผู้ประกอบการไม่อยากลงทุนในผลิตภัณฑ์
"เมื่อต้องการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกษตรกรที่สนใจอยากปลูกสมุนไพร ควรมีการให้ความรู้ด้านมาตรฐานการเพาะปลูกให้เกษตรกรรับรู้ถึงระดับการต้องการในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถเพาะปลูกได้ตรงตามมาตรฐาน GAP ที่ตลาดต้องการ" การณิก กล่าว
การณิก ชี้ว่า แพทย์แผนปัจจุบัน รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ยังไม่เชื่อในผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้แทนยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่เชื่อถือได้
"แม้จะเป็นการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาล แต่ประชาชนก็ยังไม่มีสิทธิ์เลือกใช้ยาแผนไทยเป็นสิทธิ์แรก เนื่องจากต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโรค และถูกสั่งจ่ายยาสมุนไพร จากแพทย์แผนปัจจุบัน" การณิก กล่าว
สส.เชียงใหม่ วิพากษ์ว่า รัฐบาลขาดความเข้าใจในระบบต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ในการเกิดผลงานด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมุ่งเน้นแต่การนำเสนอผลลัพธ์ต่อเวทีโลก
"รัฐบาลแทบจะทุกสมัยมักจะประกาศนโยบายส่งเสริมสมุนไพร แต่แทบจะไม่เคยส่งเสริมการปลูกที่ได้มาตรฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีบทบาทด้านวิชาการสมุนไพร โครงการจำนวนมากมักเกิดในระยะสั้น ไม่มีแผนส่งเสริม สนับสนุนระยะยาว ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ยาก" การณิก กล่าว
การณิก ตั้งคำถามท้าทายว่า "วันนี้ รัฐไทยต้องการให้สมุนไพรไทยไปได้ไกลแค่ไหน เราคงต้องหันกลับมามองว่าผู้บริโภค มีความเชื่อมั่นที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยแล้วหรือยัง ประเทศไทยกล้าที่จะลงทุนในการพัฒนาคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ไม่ว่าจะด้านการปลูก เก็บเกี่ยว รักษาผลิตผล แปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์แล้วหรือยัง"
การณิก สรุปว่า การพัฒนาสมุนไพรไทยต้องไม่ใช่การนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาจัดแสดงโชว์ แล้วชี้ว่านี่คือผลงานที่เกิดจากคนไทย นี่คือ Soft Power ของไทย สร้างเศรษฐกิจไทย แบบที่รัฐบาลยุคนี้กำลังทำ แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
อนึ่งงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2-6 กรกฎาคม 2568 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 11-12 โดยวันที่ 6 กรกฎาคม เป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ