สส.เชียงใหม่ ชวนจับตาการสร้างทางแยกต่างระดับเพิ่มอีก 5 แห่ง งบกว่า 3,138 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ก.ค. 2568 | อ่านแล้ว 75 ครั้ง

สส.เชียงใหม่ ชวนจับตาการสร้างทางแยกต่างระดับเพิ่มอีก 5 แห่ง งบกว่า 3,138 ล้านบาท

สส.เชียงใหม่ ชวนจับตา เตรียมสร้างทางแยกต่างระดับเพิ่มอีก 5 แห่ง งบกว่า 3,138 ล้านบาท ระบุควรติดตามการใช้เงินภาษีอย่างใกล้ชิด และแม้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยภาครัฐ นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดแยก ลดความล่าช้า และเอื้อให้รถสัญจร ประชาชนมีความสะดวกสบาย แต่อีกด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงเพียงการสร้างถนนหรือสะพาน แต่ต้องหมายถึงการสร้างทางเลือกการเดินทางที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการรักษาความผูกพันของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป

5 กรกฎาคม 2568 การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 2 เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการพัฒนาเพิ่มอีก 5 จุด ระหว่างปี 2568-2571 ด้วยงบประมาณรวมเกือบ 3,138 ล้านบาท

ทั้ง 5 จุดที่จะพัฒนาได้แก่ แยกหลุยส์ แยกสันกลาง แยกซุปเปอร์ไฮเวย์ แยกกองทราย และแยกสะเมิง

การณิกระบุว่า ล่าสุดมีความคืบหน้าในโครงการ "ทางแยกต่างระดับสะเมิง" หรือแยกสะเมิง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอการทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา ใช้งบประมาณกว่า 920 ล้านบาท หากสร้างแล้วเสร็จจะเป็นข่าวดีของผู้ใช้ถนนวงแหวนรอบสาม หรือถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121 ที่จะสามารถวิ่งตรงต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดติดไฟแดงบริเวณจุดตัดกับถนนทล.108

สำหรับโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้วคือ "ทางต่างระดับแยกสันกลาง" หรือแยกกาดเจริญ บริเวณจุดตัดทล.121 กับ ทล.1317 ใช้งบประมาณ 430 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

ขณะที่ "ทางต่างระดับแยกกองทราย" บริเวณจุดตัดทล.121 กับ ทล.106 ใช้งบประมาณ 430 ล้านบาท ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่กรมทางหลวงได้เริ่มสำรวจและออกแบบโครงการแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงการก่อสร้างทางต่างระดับเพิ่มอีก 2 จุด คือ บริเวณจุดตัด "แยกหลุยส์" หรือ "แยกต้นเปาพัฒนา" จุดตัดทล.121 กับ ทล.1006 ด้วยงบประมาณ 643 ล้านบาท และบริเวณจุดตัด "แยกซุปเปอร์ไฮเวย์" จุดตัดทล.121 กับ ทล.11 ด้วยงบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการดำเนินการสำรวจและออกแบบจากกรมทางหลวง

การณิกเน้นว่า ทุกคนควรติดตามการใช้เงินภาษีอย่างใกล้ชิด โดยตนจะร่วมกับคณะกรรมการติดตามงบประมาณเข้าร่วมประชุมกับทางจังหวัดเชียงใหม่ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อติดตามการบริหารงบประมาณ แผนการดำเนินงาน และความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างทั้ง 5 แยกในสัปดาห์ถัดไป

การณิกระบุว่า การเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยภาครัฐ นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดแยก ลดความล่าช้า และเอื้อให้รถสัญจรได้ต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยให้เกิดการจ้างแรงงานภายในประเทศ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง เพราะประชาชนเดินทางสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การณิกเตือนว่า ผลกระทบหรือข้อเสียจากการพัฒนาเมืองย่อมเกิดขึ้นต่อวิถีชุมชนดั้งเดิม โดยเฉพาะหากการออกแบบทางต่างระดับไม่ได้คำนึงถึงลักษณะการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ ชุมชนที่ถูกทางแยกขวางกั้นอาจต้องเผชิญกับความลำบากในการเดินทางไปมาหาสู่กัน ขาดความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ในชุมชน

การณิกเสนอให้มีการออกแบบและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมทุกเส้นทางและมีราคาที่เป็นธรรม จะช่วยให้คนเชียงใหม่ไว้วางใจกล้าที่จะจอดรถทิ้งไว้ที่บ้านและหันมาเดินทางด้วยบริการสาธารณะ เมื่อปริมาณรถบนท้องถนนลดลง เราก็ไม่จำเป็นต้องขยายถนนให้กว้างขึ้น และสิ่งสำคัญที่เราจะได้กลับมาคือทางจักรยานที่ปลอดภัย พร้อมร่มไม้เขียวชอุ่มตลอดสองข้างทาง

"การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงเพียงการสร้างถนนหรือสะพาน แต่ต้องหมายถึงการสร้างทางเลือกการเดินทางที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการรักษาความผูกพันของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป" การณิกกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: