การคืนสู่มาตุภูมิของวัตถุจัดแสดง: เส้นทางสู่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยั่งยืน

ไอโกะ ฮามาซากิ 4 ก.ค. 2568 | อ่านแล้ว 173 ครั้ง


การคืนสู่มาตุภูมิของวัตถุจัดแสดงเป็นกระบวนการที่ควรได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นวัตถุจัดแสดงที่ถูกโจรกรรม ถูกลักลอบจำหน่าย ถูกช่วงชิง หรือถูกนำไปโดยปราศจากข้อตกลงร่วมของบุคคลผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุจัดแสดงชิ้นนั้น ๆ

ด้วยความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ผ่านสิ่งของ ความสัมพันธ์อันดีจะเริ่มต้นขึ้นจากการที่มนุษย์ทั้ง 2 บุคคลนั้น เรียนรู้จักการแบ่งปันสิ่งของระหว่างกันและกัน ผ่านการให้ การยืม การคืน และการใช้ร่วมกัน โดยการใช้ร่วมกันนี้สามารถเป็นได้ทั้งรูปแบบของการสับเปลี่ยนผลัดเวียนกันใช้ หรือใช้ร่วมกัน ณ ขณะเวลาเดียวกัน

ซึ่งความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้น แบ่งเป็นลำดับตามการพัฒนาได้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับสังคม ระดับประเทศ และระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ในกรณีของวัตถุจัดแสดงนั้น เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านสิ่งของในระดับระหว่างประเทศ และไม่ใช่การสัมพันธ์ผ่านสิ่งของด้วยวิธีการแบ่งปัน แต่เป็นการช่วงชิง เพื่อแสดงถึงอำนาจของประเทศหนึ่ง ๆ ที่มีเหนือกว่าประเทศหนึ่ง ๆ ในห้วงเวลานั้น ๆ ผ่านสิ่งของ วัตถุจัดแสดงจึงอยู่ในสถานที่หนึ่งในสถานะของการถูกครอบครองเพื่อแสดงอำนาจ

วัตถุจัดแสดงนั้น ๆ จึงไม่เพียงแต่เล่าประวัติของตนเอง แต่ยังทำหน้าที่ถึงการเล่าประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมในช่วงยุคนั้น ๆ หรือห้วงเวลานั้น ๆ และเรื่องราวเส้นทางการเดินทางของวัตถุจัดแสดง

ด้วยเหตุเช่นนี้ สิ่งนี้จึงกลายเป็นเหตุผลที่มีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์บางส่วนได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพราะวัตถุจัดแสดงบางชิ้น ได้ฉายถึงภาพของความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอดีต ความโหดร้ายที่มนุษย์หรือบรรพบุรุษได้กระทำต่อกัน พิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นสถานที่ที่ทำให้มุมมอง ข้อถกเถียง ความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ได้นำไปสู่ความคิดและบทสนทนาที่สร้างสรรค์ หรือสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความแตกต่างเพื่อเรียนรู้ แต่ตอกย้ำถึงร่องรอยของความไม่ลงรอยระหว่างประเทศ

ศิลาจารึกโรเซตตา (Rosetta Stone) คือวัตถุจัดแสดงอีกชิ้นหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่เล่าเรื่องราวของภาษาไฮโรกลีฟิก (Hieroglyphics) เดโมติก (Demotic) และกรีกโบราณ (Greek) แต่ยังเล่าเรื่องราวของการล่าอาณานิคม ที่นโปเลียนโบนาปาร์ต รัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส สามารถยึดครองอียิปต์ และช่วงชิงครอบครองแผ่นหินโรเซตตาได้ในปีคริสต์ศักราชที่ 1799 ที่เมืองราชิด ต่อมา อังกฤษได้ทำสงครามชนะฝรั่งเศส และยึดครองเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองหนึ่งของอียิปต์ ในปีคริสต์ศักราชที่ 1801 ศิลาจารึกโรเซตตา จึงกลายเป็นของกองทัพอังกฤษตามข้อตกลง และเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา

โดยชาวอียิปต์มองว่า แผ่นหินโรเซตตาที่ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม (British Museum) ได้กลายเป็นวัตถุจัดแสดงอันเป็นสัญญะตัวแทนของความรุนแรงที่ชาวตะวันตกได้กระทำกับอียิปต์ และเรื่องเล่านี้ถูกขับเน้นถูกฉายแสดงและตอกย้ำมากกว่าการเป็นวัตถุจัดแสดงที่เล่าเรื่องอารยธรรมของลุ่มแม่น้ำไนล์

และไม่เพียงแต่ชาวอียิปต์เท่านั้น ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวการทวงคืนวัตถุโบราณ – วัตถุจัดแสดงให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ หรือ 'Restitution' ข่าวหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่ส่งต่อกันอย่างขยายวงกว้างในแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ ได้กระตุ้นสำนึกร่วมทางความรู้สึกให้ผู้คนเข้าร่วมการทวงคืนวัตถุโบราณกลับคืนสู่มาตุภูมิมากขึ้น หรือแสดงความยินดีกับประเทศนั้น ๆ ที่ได้รับคืนวัตถุโบราณ แม้จะไม่ใช่วัตถุโบราณ – วัตถุจัดแสดงที่ประเทศตนเองได้รับคืน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุโบราณนั้น ๆ แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงมนุษย์เราไว้ด้วยกัน คือสัญญะของการส่งสัญญาณบอกเราว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการคืนดี หรือคือการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นมิตร การไม่ใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คือการแบ่งปัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

การส่งคืนวัตถุโบราณระหว่างประเทศเนเธอแลนด์และอินโดนีเซีย คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากที่ประเทศเนเธอแลนด์เคยปกครองประเทศอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันเนเธอแลนด์ได้ดำเนินการส่งคืนวัตถุโบราณแก่อินโดนีเซียมากกว่า 1,500 ชิ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือของการทำงานภายในพิพิธภัณฑ์ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสนับสนุนซึ่งกันและกันในงานอนุรักษ์ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีโครงการการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและภัณฑารักษ์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากร และได้พัฒนาองค์ความรู้ในการวิจัยร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ การได้ทำงานร่วมกัน จึงได้กลายเป็นวิธีการหนึ่งในสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้าน ๆ อื่นอีกต่อไปในอนาคต

การแลกเปลี่ยนนิทรรศการระหว่างกันของเนเธอแลนด์กับอินโดนีเซีย โดยการให้ การยืม การคืน และการใช้ร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานของสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันนั้นแข็งแรงด้วยมิตรไมตรี จึงคือตัวอย่างอันดีของการที่มนุษย์มีความสัมพันธ์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันผ่านสิ่งของ ซึ่งแตกต่างจากการได้สิ่งของมาด้วยวิธีการใช้กำลัง การช่วงชิง การโจรกรรม การลักลอบ การทำอย่างปิดบัง การได้มาโดยมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมหรือขาดการรับรู้ร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ ดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต และถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์

การที่ประเทศไทยได้รับคืนวัตถุจัดแสดงจากพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกยินดี และเกิดความคิดว่า เห็นด้วย กับการคืนวัตถุโบราณและวัตถุจัดแสดงให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ ด้วยเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ที่ติดตามด้วยความสนใจ ได้ให้ไว้ ว่าการส่งคืนวัตถุโบราณ วัตถุจัดแสดง ให้คืนสู่มาตุภูมิ นั้น ทำให้วัตถุโบราณ วัตถุจัดแสดง ได้รับการดูแลตามความเชื่อ ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ๆ ประเทศนั้น ๆ ผู้ที่ดูแลวัตถุมีความเข้าใจต่อความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นที่มีต่อวัตถุโบราณนั้น มีความเข้าใจต่อบริบทแวดล้อม และวัฒนธรรม ดังนั้น วัตถุจัดแสดงจะถูกปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเคารพ ถูกดูแลรักษา ส่งต่อคุณค่า วัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการฟื้นฟูความภาคภูมิของคนในพื้นที่ ของคนในประเทศ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและความสัมพันธ์ที่ผูกพันกับวัตถุจัดแสดงชิ้นนั้น ๆ ทำให้ผู้คนได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของโบราณ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ได้มาเรียนรู้จักอดีตของตนผ่านวัตถุโบราณ หรือได้มาทำความรู้จักวัตถุโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกับตนมาก่อนในอดีตกาล หรือสร้างโอกาสในการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ ข้อมูลความรู้ด้านอื่น ๆ ผ่านหลักฐานชั้นต้น ผ่านโบราณวัตถุ นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสในการได้ฝึก นักวิชาการไทยได้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ได้พัฒนาทักษะบุคลากรต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ งานอักษร งานโบราณคดี งานพิพิธภัณฑ์ งานประวัติศาสตร์ งานวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาพื้นที่ ต่อสถานที่ที่วัตถุจัดแสดงนั้น ๆ ตั้งอยู่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดการส่งคืนโบราณวัตถุ ยังเป็นเสมือนตัวแทนสัญญะของการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือ โกลเด้นบอย (Golden Boy) ที่ประเทศไทยได้รับคือจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET: Metropolitan Museum of Art) ประเทศสหรัฐอเมริกา คืออีกหนึ่งตัวอย่าง ที่บอกเล่าว่า การกลับคืนสู่มาตุภูมิของวัตถุจัดแสดงนั้น ทำให้ผู้คนในพื้นที่ ในประเทศเกิดความภาคภูมิใจ ทำให้เครือข่ายภาคการทำงานการเคลื่อนไหวทวงคืนวัตถุโบราณมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่นต่อการทำงานมากขึ้น เนื่องจากได้รับขวัญกำลังใจจากการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ และยังส่งผลให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของโกลเด้นบอย จนทำให้พิพิธภัณฑ์สถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่จัดแสดงของโกลเด้นบอยในปัจจุบัน ได้ต้อนรับแขก ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มากหน้าหลายตามากขึ้น ตามดั่งที่ได้ปรากฏในข่าวหลายสำนัก

การส่งคืนวัตถุโบราณและการรับคืนวัตถุโบราณ นอกจากจะส่งประโยชน์ให้ดั่งที่กล่าวไปในข้างต้น ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีและภาพลักษณ์ตามการนิยามถึงพิพิธภัณฑ์จากสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ แก่พิพิธภัณฑ์ที่ส่งวัตถุโบราณคืนสู่มาตุภูมิ

จากความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สำนักงานยูเนสโก ส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ และกรมศิลปากร ที่จะนำส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียง ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นโอกาสอันบอกเล่าว่า การส่งคืนวัตถุและการรับคืนวัตถุกลับสู่มาตุภูมิ คือสิ่งที่ผู้คนในแต่ละสังคมกำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่หนทางนี้ ให้ความสำคัญกับการให้วัตถุแต่ละชิ้นได้กลับมาอยู่ในมาตุภูมิและให้ความสำคัญกับมนุษย์ ผู้คนในสังคมภายในพื้นที่ที่มีความรู้สึกผูกพันกับวัตถุจัดแสดง

เอกสารอ้างอิง
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย. (21 เมษายน 2564). ดัตช์และอินโดนีเซีย (2). ไทยรัฐ. https://shorturl.asia/9MOXI
ปรีดี บุญซื่อ. (10 กรกฎาคม 2566). ศิลาจารึกโรเซตต้า (The Rosetta Stone) กุญแจไขความลี้ลับอักษรภาพอียิปต์. ศิลปวัฒนธรรม. https://shorturl.asia/P1T43
มติชน. (22 พฤษภาคม 2567). เปิดชม 'โกลเด้นบอย' วันแรก ล้นพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร ไม่ขัดแชะภาพคู่ 'สุริยวรมันที่1' มาด้วย!. https://shorturl.asia/x9tqv
สยามรัฐ. (7 พฤศจิกายน 2567). อเมริกาเตรียมส่งโบราณวัตถุ 3,000 ปี แหล่งมรดกโลกบ้านเชียงคืนไทย. https://shorturl.asia/ipMQy
อัยย์ลดา แซ่โค้ว. (7 กรกฎาคม 2566) เนเธอร์แลนด์ส่งคืนโบราณวัตถุ ให้ศรีลังกาและอินโดนีเซีย แต่ยังปฏิเสธคืนโครงกระดูก 'มนุษย์ชวา'. เดอะ โมเมนตัม. https://shorturl.asia/48GtU
อัยย์ลดา แซ่โค้ว. (23 พฤษภาคม 2567). จาก 'แผ่นหินโรเซตตา' ถึง 'ภาพของชาวยิว' มองปรากฏการณ์ทวงคืนของล้ำค่าทั่วโลก สัญญะการชำระบาดแผลทางประวัติศาสตร์. เดอะ โมเมนตัม. https://shorturl.asia/82vfw
โตมร ศุขปรีชา (11 กรกฎาคม 2562). The Rising of Restitutions เอาการล่าอาณานิคมคืนไป เอาความยิ่งใหญ่ทางอารยธรรมคืนมา. ดิ วันโอวัน. https://shorturl.asia/oVzjF
ตามใจนักจิตวิทยา. (20 พฤศจิกายน 2566) "เด็กคนหนึ่งจะเข้าใจเรื่องการแบ่งปันได้อย่างไร?". Facebook. https://shorturl.asia/3UPuS
ทันโลก กับ ThaiPBS. (21 กุมภาพันธ์ 2565). ASEAN connect เนเธอแลนด์ จัดนิทรรศการต่อสู้เพื่อเอกราช ของอินโดนีเซีย #ทันโลกกับที่นี่ThaiPBS. [Video]. YouTube. https://shorturl.asia/LyNb9

บรรณานุกรม
ณัฏฐา ชื่นวัฒนา. (9 กรกฎาคม 2563). แวววับ จับใจ ไร้สิ้น: การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1). ดิ วันโอวัน. https://shorturl.asia/4Qcnm
ดาอุด โบเลอดรัว, นิสิต อินทมาโน และ มนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์. (23 พฤศจิกายน 2565). มรดกของเอเชียอาคเนย์ที่ถูกฉกชิงอย่างไม่รู้จบ เราจะหยุดการโจรกรรมวัฒนธรรมได้อย่างไร. ยูเนสโก. https://shorturl.asia/zOLZC
ปดิวลดา บวรศักดิ์. (5 กุมภาพันธ์ 2567). โกลเด้นบอย ไม่มีทางเป็นรูปของ "พระอิศวร" หรือ "พระศิวะ" แน่นอน เพราะเหตุใด?!. ศิลปวัฒนธรรม. https://shorturl.asia/CUFhc
พรสุดา เสริฐจันทึก. (3 เมษายน 2567). Golden Boy: เรื่องเล่าใหม่ของสายธารประวัติศาสตร์ จากอีสานใต้สู่ลุ่มทะเลสาบเขมร. ดิ วันโอวัน. https://shorturl.asia/LlCjh
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. (20 พฤษภาคม 2567). โกลเด้นบอย โบราณวัตถุ'นอกโพยทวงคืน' ย้อนวิวาทะก่อนสบตา 'ของแท้'. มติชน. https://shorturl.asia/4CLvu
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (18 สิงหาคม 2563). การหายไปของหมุดคณะราษฎร กับข้อถกเถียงว่านิยาม ของโบราณวัตถุคืออะไร. เดอะ สแตนดาร์ด. https://shorturl.asia/fZhlz
มติชน. (30 เมษายน 2567). 'ทนงศักดิ์' นักโบราณคดี เผยเหตุผลสมัคร ส.ว. หวังช่วยภาครัฐ ปรับวิธีทวงคืนโบราณวัตถุได้รวดเร็วขึ้น. https://shorturl.asia/YnK4T
วรกานต์ วงษ์สุวรรณ. (21 มีนาคม 2567). การลักลอบค้าโบราณวัตถุและการเรียกร้องทวงคืนสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ. มิวเซียมสยาม. https://shorturl.asia/vWOxc
อาคีโอโก. บทบาทในการทวงคืนสมบัติของชาติ จากกรณีศึกษา MINSTRY OF ANTIQUITIES ประเทศอียิปต์. อาคีโอโก. https://shorturl.asia/kcTHK
โตมร ศุขปรีชา. (13 กันยายน 2563). ทำไมยืมหนังสือแล้วถึงไม่คืน? ปัญหาว่าด้วยวัฒนธรรมและความเคารพ. ดิ วันโอวัน. https://shorturl.asia/97OPF
ไทยพีบีเอส. (15 ตุลาคม 2563). เปิดปม: ทวงคืนโบราณวัตถุไทย. https://shorturl.asia/Cz5uF
ไทยรัฐ. (18 กุมภาพันธ์ 2558). ขอคืนโบราณวัตถุ ใช่ชี้ขอได้ดั่งใจนึก. https://shorturl.asia/QDxzc
Chris Owen. (January 2024). A Beginners Guide to the Repatriation of Stolen or Looted Art and Cultural Material. Norton Rose Fulbright. https://shorturl.asia/X6BV7
Don Hollway. (September 2016). Lust for Glory: Napoleon's Egypt Campaigns Helped With Invading Europe. Warfare History Network. https://shorturl.asia/E2cUx
Reuters. (12 November 2021). France returns 26 looted artifacts and artworks to Benin. CNN. https://shorturl.asia/2z8Df
Yunqi Li and Sayeedah Maryam. (28 October 2024). Who owns history?. WIRED. https://shorturl.asia/ynMVf
รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี. (12 กุมภาพันธ์ 2565). จาก 'ฝรั่งเศส' สู่ 'เบนิน' การกลับบ้านของโบราณวัตถุ | ร้อยเรื่องรอบโลก EP158. [Video]. YouTube. https://shorturl.asia/7S1Q8
Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม. (4 มีนาคม 2567). "โกลเด้นบอย" ภารกิจตามรอยมรดกไทย กับเบื้องหลังการได้คืน! | SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.4. [Video]. YouTube. https://shorturl.asia/YrORg

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: