สวทช. ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Industry 4.0 Platform

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 2837 ครั้ง


สวทช. ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย Industry 4.0 Platform โชว์ ‘IDA แพลตฟอร์ม’ เชื่อมโยงข้อมูลระบบภายในโรงงาน ผ่านเซนเซอร์และ IoT ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่าเทคโนโลยี IDA Platform เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิต สู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ทราบสถานะการทำงานของเครื่องจักร สามารถแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ช่วยโรงงานลดต้นทุนด้านพลังงานในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ณ หอมนุษยธรรม บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี : ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.กิตติวัตร โสมวดี รองผู้จัดการบริหารการผลิต Plant 200 & Plant 400 บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด และคุณธเนศ อิงสกุลรุ่งเรือง ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะ System Integrator: SI ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press: แชร์ความสำเร็จในการปรับตัวของบริษัท LION การพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน

ดร.กิตติวัตร โสมวดี รองผู้จัดการบริหารการผลิตฯ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจในการใช้บริการการเข้ามาร่วม i4.0 Platform เพราะบริษัทไลอ้อน มีอุตสาหกรรม 2.0 อุตสาหกรรม 3.0 มาก่อนหลายโรงงาน กระทั่งในช่วงปี 2016 บริษัท ไลอ้อนฯ จะมีการสร้างโรงงานใหม่จำนวนมากจึงมีการปรับให้ทันสมัย และพัฒนาหลายรูปแบบโดยได้เข้าศึกษาข้อมูลและร่วมโครงการกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ของ สวทช. ที่เข้ามาช่วยประเมินอุตสาหกรรม 4.0 จึงเข้าร่วมเพื่อเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีการเชื่อมโยงระบบที่เปลี่ยนจากการใช้กระดาษ มาเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบดิจิทัล ในการประเมินดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 Thailand i4.0 Index ทำให้ทราบประเด็นสำคัญที่โรงงานควรปรับปรุง ซึ่งทางบริษัทฯ เน้นปรับปรุงด้านกระบวนการการผลิต หรือ Smart factory โดยนำ IDA Platform เข้ามาเติมจุดอ่อน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานและแสดงผลในรูปแบบ Dashboard โดยบริษัทสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ต่อยอดขยายผลไปยังระบบอื่น ๆ ภายในโรงงานภาย เช่น ระบบไอน้ำ (Steam System) ชิลเลอร์ (chiller) เครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ ระบบน้ำหล่อเย็นของเครื่องจักร (Cooling Tower: คูลลิ่ง ทาวเวอร์) ซึ่งขยายมาได้ 2 ปี แล้ว

“ผลลัพธ์ที่ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ได้จากการใช้ IDA Platform ช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานในกระบวนการผลิต 60,000 kWh. (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี ลดค่าไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้หลักแสนบาทต่อเดือน โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ไปพัฒนาระบบอื่นๆ ของโรงงานต่อไปได้”

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่า แพลตฟอร์ม IDA หรือ แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL IOT AND DATA ANALYTICS PLATFORM: IDA PLATFORM) เป็นโครงการนําร่องสำคัญภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) จากความร่วมมือระหว่าง ARIPOLIS-SMC สวทช. และพันธมิตรรัฐร่วมเอกชน โดยแพลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์IOT (INTERNET OF THINGS) เพื่อตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักรในกระบวนการผลิสู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ทําให้ทราบสถานการณ์ทำงานของเครื่องจักร นําไปสู่การบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงานซึ่งตอบสนองความต้องการในการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ SMES โดยบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีได้นำแพลตฟอร์ม IDA มาใช้นำร่องใน PLANT 4 โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะ SYSTEM INTEGRATOR: SI ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ภายในโรงงาน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม IOT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตสู่การวิเคราะห์ข้อมูล (DATA ANALYTIC) อย่างอิสระ ดังนั้นแพลตฟอร์ม IDA จึงสามารถประยุกต์ใช้งานครอบคลุมได้หลายมิติ ได้แก่ 1.การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (ENERGY MONITORING) โดยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบต้นทุนรวมถึงภาพรวมด้านการใช้พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานให้คุ้มค่าสูงสุด 2.การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ OVERALL EQUIPMENT EFFECTIVENESS (OEE) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวมที่บ่งบอกความพร้อมของเครื่องจักร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างตรงจุดเพื่อเพิ่มความ สามารถในการผลิต (PRODUCTIVITY) แก่โรงงานอุตสาหกรรม และ 3.การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (PREDICTIVE MAINTENANCE) โดยการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะเกิดความเสียหายในอนาคต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที เป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

คุณธเนศ อิงสกุลรุ่งเรือง ในฐานะ System Integrator กล่าวว่า ความสำคัญของ System Integrator: SI ช่วยการสนับสนุนโรงงานในสายการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขยายผล IDA Platform สู่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้โรงงานสามารถทดลองใช้ IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต หรือบริษัทที่เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับโรงงานหรือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม และการพัฒนา Solution ที่ต้องการได้ในอนาคต

“ในฐานะ System Integrator (SI) ทำหน้าที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถทำงานร่วมกับ IDA Platform โดยบทบาทของ SI ที่เข้าไปดำเนินการคือ สำรวจ ออกแบบ ประเมินปริมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และติดตั้ง รวมทั้งการเชื่อมโยงฮาร์ดแวร์เข้ากับ IDA Platform และระบบอื่น ๆ สิ่งสำคัญของ SI คือต้องเข้าใจ Pain Point และความต้องการของลูกค้า รวมทั้งพิจารณาถึงความคุ้มค่า

สำหรับ pain point ของโรงงานส่วนมาก คือ มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้อย่างเต็มที่ อาทิ ไม่มีการใช้ข้อมูลเพื่อการแจ้งเตือนเรียลไทม์เมื่อเกิดความผิดปกติหรือปัญหา ทำให้ทีมงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยให้โรงงานสามารถเห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและยกระดับการผลิตได้อย่างมาก โดยสามารถเริ่มต้นได้ ด้วยเทคโนโลยี IoT เชื่อมต่อระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมแสดงผลในรูปแบบ Dashboard เพื่อแสดงค่าพลังงานทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นข้อมูล และสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางด้านพลังงานในกระบวนการผลิต รวมทั้งเห็นสถานะและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรได้ทันที และสามารถวางแผนบำรุงรักษาเครื่องจักต่อไป

ความสำคัญของ SI นอกจากทำหน้าที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถทำงานร่วม IDA Platform แล้ว ยังต้องให้ความรู้กับบุคคลากรในโรงงานถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับ ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงาน ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าการรั่วไหลของพลังงานหรือต้นทุนด้านพลังงานเกิดที่ไหน เมื่อไหร แล้วโรงงานจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร ดังนั้น “ดิจิทัล” เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และอย่ากลัวที่จะปรับตัว ลองใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในโรงงานเพื่อให้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกมาก”

ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) กล่าวว่า จากกรณีตัวอย่างการประเมิน Thailand i4.0 Index ของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัททราบทิศทางของการปรับปรุงองค์กร เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และระดับความพร้อมขององค์กร สามารถนำผลการประเมินที่ได้มาจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบริษัทและบรรลุเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจได้ด้วย Digital Transformation

ทั้งนี้แนวทางการยกระดับองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1. Online & Interactive Self-assessment ซึ่ง จะมีตัวชี้วัดเป็น Thailand i4.0 Index มี 6 มิติหลัก 17 มิติย่อย และสามารถสรุปผลได้เป็น 6 Band Levels โดย Band 5-6 จะเท่ากับ Industry 4.0 ขั้นที่ 2. Initiation การรับการประเมิน Thailand i4.0 Index แบบ On-site โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าและยังได้รับคำแนะนำสำหรับการพัฒนาต่อไป ขั้นที่ 3. Solutioning การรับบริการที่ปรึกษาจากศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้ Testbed & Facilities SMC การทำคอร์สการฝึกอบรม การกำหนดกลยุทธ์ วางแผนปรับปรุงระบบขององค์กร การจัดทำแผนการลงทุน รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมจาก BOI ขั้นที่ 4. Implementation & Operation การนำอุปกรณ์ Solution ต่าง ๆ ไปใช้จริงในโรงงาน และ SMC ยังมี Campaign ให้เงินสนับสนุนสำหรับโรงงานที่สนใจทำ Implementation & Operation

นอกจากนี้ ยังมี Membership ที่จะให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของส่วนลดการใช้บริการต่าง ๆ การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค การเข้ามาใช้เครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของ SMC ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับข้อมูล ข่าวสารการเข้าร่วมกิจกรรม Business Matching อีกด้วย ผู้สนใจนำเทคโนโลยี IDA Platform ไปใช้ โดยมีสิทธิพิเศษมอบให้ ติดตามรายละเอียด www.nectec.or.th/smc/ สอบถามข้อมูลได้ที่
อีเมล: Ida100@nectec.or.th ถึง 30 ก.ย. 2567 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: