ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยืนตามศาลชั้นต้น ทายาทแรงงานข้ามชาติมีสิทธิได้รับเงินกองทุนเงินทดแทน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5026 ครั้ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยืนตามศาลชั้นต้น ทายาทแรงงานข้ามชาติมีสิทธิได้รับเงินกองทุนเงินทดแทน

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าทายาทของแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุจากการทำงาน มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนทันที แม้นายจ้างจงใจไม่ขึ้นทะเบียนแรงงานและไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ศาลแรงงานภาค 5 ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษภาค 5 กรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจากการทำงาน แต่กองทุนเงินทดแทนไม่จ่ายเงินให้ทายาทผู้ตาย โดยคำพิพากษามีสาระสำคัญสองประเด็นคือ

ประเด็นแรก เห็นว่าบริษัทเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนนายจ้างลูกจ้างเพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานผู้ตายและหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โดยการที่บริษัทให้แรงงานข้ามชาติเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างของบริษัท แต่บริษัทได้ทำสัญญาจ้างเหมากับบุคคลภายนอกเพื่อให้บุคคลภายนอกขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นลูกจ้างของบุคคลภายนอกนั้น โดยที่บุคคลภายนอกมิได้เป็นผู้รับเหมางานของบริษัทอย่างแท้จริงแต่อย่างใด จึงเป็นการทำสัญญารับเหมาโดยเจตนาลวงโดยสมรู้กัน สัญญานั้นจึงเป็นโมฆะ ศาลจึงได้วินิจฉัยว่าบริษัทเป็นนายจ้างที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติดังกล่าว

ประเด็นที่ 2 พรบ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมจัดตั้ง “กองทุนเงินทดแทน” ขึ้น โดยมีเจตนามุ่งที่จะคุ้มครองและเยียวยาลูกจ้างทั้งหลายที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ให้ลูกจ้างหรือทายาท (ในกรณีเสียชีวิต) ได้รับเงินทดแทน ซึ่งรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลและอื่นๆ จาก “กองทุนเงินทดแทน” ได้โดยตรง ไม่ต้องเรียกร้องเอาจากนายจ้าง โดยกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุน ไม่ว่านายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนหรือไม่ก็ตาม เพื่อมิให้ลูกจ้างหรือทายาท ในกรณีลูกจ้างเสียชีวิต ต้องเสี่ยงกับฐานะการเงิน หรือการบิดพริ้วของนายจ้างหรือความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรรมการกองทุนเงินทดแทนไม่อาจอ้างเอาการที่นายจ้างจงใจหรือหลีกเลี่ยง ไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน มาปฏิเสธสิทธิของทายาทของแรงงานที่เสียชีวิตในการรับเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้ การที่สำนักงานประกันสังคมได้ออกแนวปฏิบัติหนังสือที่ รง 0607/ว987 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2555 เรื่องการให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยกำหนดว่า แรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตทำงาน ทั้งได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือผ่านการพิสูจน์สัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2555 โดยหากไม่มีหลักฐานดังกล่าว นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตาม พรบ.เงินทดแทนฯ เองนั้น จึงเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลแรงงานภาค 5 ให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมที่ 1/2564 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2564 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 15/2566 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่สั่งให้บริษัทนายจ่ายเงินทดแทนแก่ภรรยาของแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิต เอง โดยศาลมีคำพิพากษายืนตามศาลแรงงานภาค 5 ให้ สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินจากกองทุนเงินทดแทนแก่ภรรยาแรงงานข้ามชาติผู้เสียชีวิต

คำพิพากษาในคดีดังกล่าวนี้ มูลนิธิฯเห็นว่า สำนักงานประกันสังคมต้องดำเนินการยกเลิกแนวปฏิบัติต่างๆอันเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิเยียวยา อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้วางหลักไว้ในมาตรา 27 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 แรงงานสัญชาติเมียนมา ทำงานเป็นลูกจ้างกรรมกรก่อสร้างทั่วไปให้แก่บริษัทจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสบอุบัติเหตุจากการก่อสร้างขณะย้ายแบบวงกบหน้าต่างเหล็กขนาด 3 x 2 เมตร ตกลงมาถูกศีรษะ เป็นเหตุให้ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสันทรายและโรงพยาบาลนครพิงค์ และเสียชีวิตต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2563 จากนั้นภรรยาของผู้ตายได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เพื่อช่วยเหลือดำเนินการให้ได้รับเงินค่าทดแทน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินการดังนี้

1. วันที่ 25 ธ.ค. 2563 พาภรรยาผู้ตายในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของลูกผู้ตาย ไปสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน ต่อมาสำนักงานประกันสังคม ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2564 เรื่องเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน ว่ามีสิทธิได้รับเงินทดแทนจำนวนรวมทั้งสิ้น 750,391.50 บาท แต่ไม่มีสิทธิรับจากกองทุนเงินทดแทน โดยเจ้าหน้าที่สั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่าย โดยให้เหตุผลว่านายจ้างไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งไม่ได้ขึ้นทะเบียนและนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่เห็นด้วยให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน

2. วันที่ 29 ธ.ค. 2564 ภรรยาผู้เสียชีวิตได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเพื่อขอรับเงินจากกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยที่ 15/2566 ยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่

3. วันที่ 23 มี.ค. 2566 บริษัทนายจ้างได้ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 อ้างว่าบริษัทมิได้เป็นนายจ้างของผู้ตาย แต่ผู้ตายเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาของบริษัท ซึ่งเป็นผู้นำผู้ตายไปขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมา

4. วันที่ 28 มี.ค. 2566 ทางมูลนิธิฯได้จัดทนายความให้แก่ภรรยาผู้ตายยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่อศาลแรงงานภาค 5 เช่นกัน เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ให้ภรรยาผู้ตายได้รับสิทธิในเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน

5. ศาลแรงงานภาค 5 ได้รวมพิจารณาคดีทั้งสองและได้มีคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 25 ก.ย. 2566 ว่าสัญญาจ้างรับเหมาระหว่างบริษัทกับผู้รับเหมาที่อ้างว่าเป็นนายจ้างของผู้ตายมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน เพื่อจะอ้างว่า ผู้ตายเป็นลูกจ้างของผู้รับเหมา มิใช่ลูกจ้างของบริษัท สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ บริษัทจึงเป็นนายจ้างที่แท้จริงของผู้ตาย และยกฟ้องบริษัท

6. สำหรับคดีที่ภรรยา โดยทนายความของมูลนิธิฯ ฟ้องสำนักงานประกันสังคมนั้น ศาลแรงงานภาค 5 ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมที่ 1/2564 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 15/2566 และพิพากษาให้กองทุนเงินทดแทนต้องจ่ายเงินแก่ภรรยาของผู้ตาย

7. ต่อมานายจ้างสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 5 ต่อศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษภาค 5 นำมาสู่การพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษภาค 5 ดังกล่าวข้างต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: