สำรวจสถานการณ์ LGBTIQNA+ สูงวัย กลุ่มประชากรที่ถูกมองข้าม

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 10977 ครั้ง


รายงานพิเศษจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าด้วยคุณตาคุณยายไม่ได้มีแค่หญิงหรือชายเสมอไป ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์ LGBTIQNA+ สูงวัย กลุ่มประชากรที่ ‘เคย’ ถูกมองข้ามและกำลังถูกมองข้ามอีกครั้ง | ที่มาภาพประกอบ: The Miami Foundation

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2567 สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง 'คุณตาคุณยายไม่ได้มีแค่หญิงหรือชายเสมอไป : เข้าใจสถานการณ์ LGBTIQNA+ สูงวัย กลุ่มประชากรที่ ‘เคย’ ถูกมองข้ามและกำลังถูกมองข้ามอีกครั้ง' ระบุว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว” คาดว่าทุกคนคงเคยได้ยินประโยคนี้จนทราบกันดีอยู่แล้ว ผู้สูงวัยไทยก็เริ่มปรับตัวและลูกหลานเองก็เตรียมพร้อมเป็นที่พึ่งให้พวกเขาได้อยู่เรื่อยๆ แต่เวลาที่ได้ยินประโยคนี้ เราอาจลืมไปหรือเปล่าว่า ภาพของผู้สูงวัยไม่ได้มีแค่หญิงและชาย แต่มีเพศหลากหลายที่สูงวัยด้วยเช่นกัน แล้วพวกเขาเหล่านี้ถูกนับรวมอยู่ในด้วยไหม

“ถ้าเราอยากรู้ว่าสถานการณ์ของคนแต่กลุ่มเป็นยังไง เราก็ต้องรู้จำนวนของคนในกลุ่มนั้นก่อน แต่สำหรับกลุ่ม LGBTIQNA+ ที่เป็นผู้สูงอายุ แทบจะไม่มีใครเก็บข้อมูลไว้เลย มันจึงยากที่จะบอกได้ว่า ตอนนี้พวกเขาเป็นอย่างไร กำลังเจอสถานการณ์อะไร และนโยบายแบบใดที่จะตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาได้”

แต้ว-รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล บอกว่าโจทย์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) หนึ่งในหน่วยงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ความตั้งใจของอ.แต้วและคณะวิจัย คือ การนำแสงให้มาส่องถึงกลุ่มคนที่ไม่ถูกพูดถึง ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศเท่าที่ อ.แต้วได้พูดคุยล้วนเป็นคนที่เคย ‘สู้’ แล้วทั้งนั้น พวกเขาสู้กับอคติในสังคมที่มีคนหลากหลายทางเพศตั้งแต่เด็ก สู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม สู้กับกลุ่มคนที่มาเอารัดเอาเปรียบจากตัวตนของพวกเขา

ในวันที่พวกเขาล่วงเข้าสู่ผู้สูงวัย อ.แต้วมองว่ามันควรจะถึงเวลาได้แล้วที่พวกเขาจะได้พักผ่อนจากการต่อสู้เหล่านี้ และได้รับสวัสดิการและสิทธิต่างๆ ตามที่พวกเขาสู้มาตลอดสักที

ตัวตนที่ถูกบังคับให้ ‘ปิด’ ตั้งแต่เด็กจนถึงชีวิตบั้นปลาย

สมัยก่อน การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีมากกว่าสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทอม เกย์ เลสเบี้ยน ดี้ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน เริ่มต้นจากการกีดกัน การใช้คำพูดหรือพฤติกรรมที่ดูถูกเหยียดหยาม ลามไปจนถึงการใช้กำลังและคุกคาม

“มีอยู่วันหนึ่งที่เพื่อนที่ทำงานของเราไปเที่ยว แต่เราไม่ได้ไป เช้าวันต่อมาเพื่อนที่เป็นกะเทยมาบอกกับเราว่า ‘ดีแล้วที่เธอไม่ไป มีเพื่อนร่วมงานวางแผนจะข่มขืนเธอ’ ส่วนเพื่อนที่เป็นกะเทยโดนบังคับให้เข้าอาบอบนวดและมีอะไรกับผู้หญิง โชคดีที่เขาหนีออกมาได้”

หนึ่งใน LGBTIQNA+ สูงวัยที่นิยามว่าตัวเองเป็นทอมเล่าประสบการณ์ตอนยังเป็นวัยทำงานให้ อ.แต้วฟัง ‘การแก้ทอมซ่อมดี้’ พฤติกรรมที่กลุ่มเพศกำเนิดหญิงมักจะเจอ เนื่องจากคนบางกลุ่มในสังคมมองว่า การเป็นทอม การเป็นเลสเบี้ยน หรือการเป็นดี้ เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขก็มีตั้งแต่คุกคามไปจนถึงข่มขืน เพื่อบังคับให้พวกเขาหันมาใช้ชีวิตตามแบบแผนที่สังคมเห็นว่าดี

ส่วนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีเพศกำเนิดชาย ก็มักจะโดนคาดหวังจากสังคมให้ทำตามบทบาทของเพศชาย เช่น ต้องเข้มแข็ง เป็นหัวหน้าครอบครัว สุขุม ในสมัยก่อนถ้าหากใครไม่เป็นตามบรรทัดฐานชายตามที่สังคมคาดหวังก็จะถูกล้อว่าเป็น ‘ตุ๊ด’ ซึ่งแนวคิดและการกระทำดังกล่าวทำร้ายคนกลุ่มนี้มาก

และกลุ่มที่มีเพศกำเนิดชายก็อาจเคยเจอการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ไปจนถึงคุกคามทางเพศ ได้เหมือนกัน

ในส่วนของความสัมพันธ์ ในอดีตผู้หญิงบางคนมีประสบการณ์คบเพศเดียวกัน แต่สุดท้ายความสัมพันธ์เหล่านั้นก็ต้องจบลง ซึ่งอาจจะจบลงเพราะความตั้งใจหรือจบลงเพราะสังคมไม่ยอมรับ สุดท้ายบางคนก็จำยอมแต่งงานกับผู้ชายตามค่านิยมกระแสหลัก เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่มีเพศกำเนิดชาย พวกเขาหลายคนก็ต้องมีแฟนหรือมีภรรยาเป็นผู้หญิงเพื่อจะได้รักษาภาพลักษณ์ของสังคมไว้

“สังคมมักบอกว่าความรักที่เกิดขึ้นในเพศเดียวกันไม่ยั่งยืน ถ้าเป็นผู้หญิงคบกับผู้หญิงก็จะเข้าใจว่าเป็นแค่เพื่อนกันมากกว่า จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่เป็นหญิงชายราว 62% มีคู่ครอง มีคู่สมรส ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศมีประมาณ 37% เท่านั้นที่มีคู่”

อ.แต้วกล่าวอีกว่า การถูกเลือกปฏิบัติ กดขี่ ทำร้าย กลั่นแกล้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมีผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ จนท้ายที่สุดหลายคนเลือกจะซ่อนความเป็นตัวเองไว้ และยอมทำตามบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งบางรายที่สู้กลับก็มีทั้งรอดและไม่รอด

“จากกลุ่มตัวอย่างที่เราเข้าไปคุยด้วย มีบางส่วนที่ไม่รอด หมายถึง กลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แล้วเขาโดนผลกระทบที่แย่มากๆ เช่น ถูกไล่ออกจากงาน ไล่ออกจากบ้าน คนรอบข้างไม่ยอมรับ พวกเขาสูญเสียแหล่งยึดเหนี่ยวและคุณค่าความเป็นมนุษย์จากการมีงานทำ มีครอบครัว แบบนี้น่ากังวลนะ”

สุขภาพ ร่างกาย และความสุขของ LGBTIQNA+

“เราพบว่าด้านสุขภาพกายของผู้สูงวัยที่เป็น LGBTIQNA+ ไม่ได้มีความแตกต่างผู้สูงวัยหญิงชายคนอื่นสักเท่าไหร่ แต่สุขภาพจิตต่างหากที่เรามองว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง”

‘รู้สึกกังวลใจ’ คือคำตอบที่ทีมวิจัยได้รับจากการพูดคุยกับกลุ่ม LGBTIQNA+ สูงวัย สำหรับ อ.แต้วมันอาจจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพจิตโดยตรง แต่มันเป็นความรู้สึกที่ติดตัวกับคนกลุ่มนี้อยู่ตลอด รวมไปถึงความไม่เท่าทันต่ออาการของโรคซึมเศร้า ผู้สูงวัยบางคนมองว่าเป็นแค่ความกังวลใจที่สามารถรักษาด้วยตัวเอง หรือปล่อยนานไปก็หาย ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดที่เหมาะสมก็นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอย่างจริงจังในอนาคตได้

ปัญหากังวลใจก็ไม่ได้มาจากสิ่งอื่นสิ่งไหนไกล แต่มาจากการถูกกดขี่ในสังคม การที่ไม่ได้เป็นตัวเองตามที่ใจต้องการส่งผลให้สุขภาพจิตทรุดโทรมลง

ความสุขคนเราไม่เท่ากัน มันอาจยากที่จะระบุได้ว่าตัวเองมีความสุขอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ แต่ อ.แต้วและทีมวิจัยมีข้อสังเกตบางอย่างที่พบได้จากแบบสอบถามความสุขของ LGBTIQNA+ สูงวัย

“ถ้าถามว่ามีความสุขเท่าไหร่ไล่จาก 1 ถึง 10 ไปเนี่ย ต้องเป็นคนที่มีความทุกข์จริงๆ นะเขาถึงจะตอบ 0-4 ส่วนใหญ่เขาน่าจะตอบ 5 ขึ้นไป แต่พบว่าผู้สูงอายุ LGBTIQNA+ เลือกตอบ 0-4 ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป”

ประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ก็เป็นอีกด่านที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยากจะเข้าถึง เนื่องจากในปัจจุบันสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพยังไม่ตอบโจทย์ของชีวิตพวกเขาสักเท่าไหร่ เช่น ประกันสังคมไม่ครอบคลุมในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ หรือถ้าครอบคลุมก็ต้องผ่านเงื่อนไขอีกหลายขั้นตอน เป็นต้น

ปัจจุบันนักกิจกรรมที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศพยายามผลักดันเรื่องนี้ และทำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่าตัดแปลงไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่มันคือเรื่องของการมีตัวตนตามที่ต้องการและเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพอีกด้วย

ผู้สูงอายุ LGBTIQNA+ มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน

“คนเลือกทำงานหลังเกษียณเพราะว่าง แก้เหงา แต่สำหรับ LGBTIQNA+ ที่เป็นผู้สูงวัยบางคนจำเป็นต้องทำงานหลังเกษียณนะ เพราะว่าเขามีรายได้ไม่เพียงพอตั้งแต่วัยทำงานแล้ว”

งานวิจัยชี้ว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มเป้าหมายที่เป็น LGBTIQNA+ สูงวัย มีรายได้รวมน้อยกว่า 40,000 บาทต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับเส้นแบ่งความยากจนของประเทศไทย สิ่งนี้ส่งผลให้ผู้สูงวัยหลายคนยังต้องทำงานถึงแม้จะเกษียณอายุแล้ว

การมีรายได้น้อยไม่ได้เกิดขึ้นตอนพวกเขาเริ่มสูงวัย แต่เป็นปัญหาสั่งสมมาตั้งแต่วัยทำงานแล้ว กลุ่มตัวอย่างบางส่วนเล่าว่า พวกเขาเคยโดนใช้ความรุนแรงทางกายภาพ เพศ และวาจา ในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นไปได้ว่า การคุกคามทำให้การทำงานไม่มั่นคง นอกจากนี้พวกเขายังเคยเจอการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน รวมไปถึงถูกจำกัดโอกาสในหน้าที่การงานเพราะเหตุผลเรื่อง ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’

ปัญหาเศรษฐกิจมักถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการ ‘บังคับ’ ให้คู่รักเพศเดียวกันเลิกกัน เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีกฎหมายมารองรับความสัมพันธ์ของพวกเขา ประเด็นเรื่องแบ่งสินสมรส ทรัพย์สมบัติ รวมไปถึงการตัดสินใจทางการแพทย์ในวาระสุดท้ายของชีวิต

“แม่ของเราบอกว่า คบเพศเดียวกันมันวิปริต ไม่มั่นคง ในสมัยนั้นการแต่งงานมีแค่หญิงกับชาย แม่ก็ถามเราว่า ถ้าเรากับแฟนอยู่ด้วยกันจะอยู่ยังไง จะแบ่งสมบัติกันยังไง ต่อให้หาเลี้ยงมาด้วยกันก็เถอะ”

LGBTIQNA+ สูงวัยที่นิยามตัวเองว่าเป็นดี้กล่าว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิในการจัดการทรัพย์สินและทำธุรกรรมร่วมกันได้ เพื่อให้ความรักของคู่รักที่มีความหลากหลายเพศไม่ต้องเผชิญกับข้อกังขาอีกต่อไป

ในมุมมองของอ.แต้ว มิติด้านเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนาเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของ LGBTIQNA+ สูงวัยมากที่สุด

“สำหรับเราเศรษฐกิจมันสำคัญมาก เพราะการมีเงินมันทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเอง เพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้อีกต่างหาก ไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น”

LGBTIQNA+ สูงวัยต้องรอด

“พวกเขาสู้กับความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น พอตอนนี้ที่เป็นคนสูงวัยแล้ว เราว่ามันถึงเวลาที่พวกเขาจะได้พัก นโยบายและสวัสดิการในสังคมต่างหากที่ควรจะรองรับพวกเขาให้ได้”

สำหรับ อ.แต้ว กลุ่ม LGBTIQNA+ สูงวัย คือ กลุ่มคนที่ประสบกับการถูกกดขี่และอคติต่างๆ ในสังคมมาแล้วทั้งนั้น ถ้าในวันนี้ที่พวกเขาล่วงเข้าวัยใกล้เกษียณ พวกเขาควรได้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่มีความสุขและสบายใจสักที

ข้อเสนอทางนโยบายจากงานวิจัยชิ้นนี้ จึงพยายามหาทางให้กลุ่ม LGBTIQNA+ สูงวัย อยู่รอดให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งมิติสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายแม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ผลักดันมาตั้งนานแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ก็ยังเชื่อว่าควรผลักดันต่อไป ในเมื่ออคติของคนในสังคมบางส่วนที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่

ชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจาก LGBTIQNA+ สูงวัยส่วนใหญ่ไม่มีลูก และบางทีพวกเขาอยากเจอสังคมใหม่ๆ ไว้เป็นเพื่อนหรือพึ่งพากันและกันบ้าง บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะช่วยให้พวกเขาเจอมิตรภาพใหม่ๆ ในวัยเกษียณได้

ด้านสุขภาพ อ.แต้วมองว่าควรมีการพัฒนาระบบรองรับและนโยบายด้านการใช้สวัสดิการของรัฐสำหรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การผ่าตัดยืนยันเพศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีคลินิกสุขภาพเพศครบวงจรสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย และภาครัฐควรมีส่วนดูแลประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้มีความเท่าเทียมเหมือนกับประกันของผู้สูงวัยทั่วไป

ผู้ปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น เพราะ LGBTIQNA+ สูงวัยบางส่วนเคยพบเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเข้ารับบริการสุขภาพมาก่อน ถ้าหากมีการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะรู้สึกกังวลใจน้อยลงเมื่อต้องไปเข้ารับบริการ

ท้ายที่สุด เพื่อที่ให้ LGBTIQNA+ ที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยมีชีวิตบั้นปลายอย่างที่หวังได้ ภาครัฐควรเข้าไปมีส่วนในการดูแลการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และส่งเสริมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในระบบการทำงานได้อย่างอิสระและไม่ต้องปิดบังอัตลักษณ์ของตัวเองอีกต่อไป


อ้างอิง :
ร่างงานวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย โดย ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล, ผศ.ดร. นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล, ผศ.ดร. ลินดา เยห์, ผศ.ดร. อัครา เมธาสุข, ผศ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์, และ รศ.ดร. วิราภรณ์ โพธิศิริ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: