การใช้อุจจาระเพื่อรักษาโรค กำลังเป็นที่นิยมในไต้หวัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 6429 ครั้ง

การใช้อุจจาระเพื่อรักษาโรค กำลังเป็นที่นิยมในไต้หวัน ทั้งนี้การบริจาคอุจจาระช่วยชีวิตคนได้เช่นเดียวกับการบริจาคเลือด ยาผลิตจากแบคทีเรียในอุจจาระดีกว่ายาปฏิชีวนะ

Radio Taiwan International รายงานเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2567 ว่าการนำจุลินทรีย์จากอุจจาระของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อรักษาโรค กำลังทดแทนการปลูกถ่ายในผู้ป่วยทางคลินิกเป็นรูปแบบของยาใหม่ และทำการตลาดผลิตภัณฑ์การดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน โดยในปีที่แล้วบริษัท Nestle ยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร และบริษัทยา Seres Therapeutics ได้ร่วมกันพัฒนายากินที่ผลิตจากแบคทีเรียในอุจจาระตัวแรกของโลก ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ทำการตลาดโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) จนทำให้เกิดกระแสความนิยมเกี่ยวกับยาจุลินทรีย์อีกครั้ง สำหรับในไต้หวันก็มีผู้นำด้านวงการแพทย์และบริษัทแพลตฟอร์มที่ทดสอบทางพันธุกรรมเข้าร่วมตลาดบริการเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกัน

ที่ประเทศไต้หวัน หญิงแซ่อง วัย 50 ปี ติดเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล (Clostridium difficile) เนื่องจากได้รับเคมีบำบัดต้านมะเร็ง เธอมีอาการท้องเสียมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน มีอาการหนักมากจนหมดเรี่ยวแรงและกินอาหารไม่ได้ เพื่อต้องการรักษาด้วยเคมีบำบัดต่อ แพทย์จึงแนะนำใช้จุลินทรีย์ที่สกัดจากอุจจาระของคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ใส่เข้าไปในลำไส้ผ่านการส่องกล้อง ไม่คาดคิด อาการท้องเสียหยุดในวันรุ่งขึ้น และยังกินซุปปลาตุ๋นที่คนในครอบครัวทำจนหมด เธอรู้สึกปลื้มปีติและบอกว่า “ทำไมไม่ช่วยทำให้ตั้งแต่แรก"

การใช้อุจจาระเพื่อรักษาโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ ลำไส้หรือที่เรียกว่า "สมองที่สอง" ของมนุษย์ ประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายล้านล้านชนิดและกลายเป็นดาวดวงใหม่ที่ช่วยรักษาโรค เคยใช้รักษาผู้ป่วยตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบ จนถึงผู้สูงอายุวัย 99 ปี ทั้งนี้ Clostridium difficile เป็นเชื้อก่อโรคกลุ่มแบคทีเรีย มักเกิดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปยังสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของลำไส้ ทำให้เชื้อ Clostridium เพิ่มจำนวนมากขึ้น หากอาการรุนแรงมากอาจเกิดการทะลุของลำไส้หรือแม้กระทั่งต้องตัดลำไส้ใหญ่ออกทั้งหมด ชิวเจิ้งสุน(邱政洵) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉางเกิง สาขาหลินโข่ว บอกว่า ในทางคลินิกมักใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเชื้อ Clostridium แต่เสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบของโรคเนื่องจากจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล

ขั้นตอนการนำอุจจาระมารักษา

นพ.ชิวเจิ้งสุน(邱政洵) ได้แนะนำศูนย์บำบัดจุลินทรีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในไต้หวัน ตั้งอยู่ชั้น 12 ของตึกผู้ป่วยเด็กที่ก่อตั้งในปี 2018 และในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้จัดเก็บอุจจาระบริจาคจากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดไว้ในธนาคารแบคทีเรียอุจจาระ และได้ช่วยผู้ป่วย Clostridium difficile กว่า 100 รายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพลำไส้ รอง ผอ.ชิว บอกด้วยว่าการบริจาคอุจจาระสามารถช่วยชีวิตได้เช่นเดียวกับการบริจาคเลือด มีผลข้างเคียงและเกิดโรคซ้ำในอัตราที่ต่ำ  อีกทั้งให้ผลการรักษามากกว่า 90%

ส่วนที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก สาขาสือไผ กรุงไทเป ที่ชั้น 7 ของอาคารวิจัย มีห้องปฏิบัติการ P2 ที่เป็นคลังผลิตจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพแห่งแรกของไต้หวันที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 สิ่งพิเศษคือมีการนำเข้าเทคโนโลยีการทำให้แห้งด้วยความเย็นและแคปซูลทนกรดแบบพิเศษมาใช้ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Clostridium difficile กินแคปซูลแบคทีเรียที่สกัดจากอุจจาระเพียง 2 วัน ก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการส่องกล้องเพื่อนำจุลินทรีย์จากอุจจาระของคนแข็งแรงปลูกถ่ายเข้าไปในลำไส้ใหญ่

แพทย์ รพ.ทหารผ่านศึก ไทเป เชิญชวนประชาชนสุขภาพดีบริจาคอุจจาระช่วยชีวิตคน

หลัวจิ่งฉวน(羅景全) แพทย์หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลทหารผ่านศึก สาขาสือไผ บอกว่า ให้มองจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นเหมือนป่า ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ก็เหมือนกับวัชพืชที่รก การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (Fecal Microbiota Transplantation: FMT) หรือ “การปลูกถ่ายอุจจาระ” ก็เหมือนกับการใส่ดินที่แข็งแรงเข้าไปเพื่อฟื้นฟูป่า อู๋จวิ้นอิ่ง(吳俊穎) ประธานสมาคมไมโครไบโอตาแห่งไต้หวัน(Taiwan Microbiota Consortium) บอกว่า FMT ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ในช่วงต้นปี 2013 รายงานของ The New England Journal of Medicine ยืนยันว่า FMT มีอัตราการรักษา Clostridium difficile สูงถึง 93% เป็นสองเท่าของการใช้ยาปฏิชีวนะที่ให้ผลน้อยกว่า 40% เนื่องจากผลการรักษาดี จึงใช้เพื่อการรักษาในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ส่วนในไต้หวันก็ผ่านกฎหมายควบคุมพิเศษในปี 2018 โดยกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: