ชายแดนใต้: รูปแบบการปกครองพิเศษ การรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจนที่เดียวในไทย บทเรียน 3 วัน 12 เวทีที่นราธิวาส กมธ.สันติภาพ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 10 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 10659 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน...

31 พ.ค. -2 มิ.ย. 2567 ได้มีโอกาสร่วมคณะกับทาง กมธ.สันติภาพนำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเป็นที่รู้จักสั้น ๆในวงการสื่อ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้

ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง นำคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ฯ สภาผู้แทนราษฎร มารับฟังความคิดเห็นประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดสุดท้ายหลังจากที่กรรมาธิการจัดเวทีรับฟังมาทุกภูมิภาคเริ่มตั้งแต่พบนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สะท้อน “ปัญหาไร้แหล่งงาน หลังจบการศึกษา แถมมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาสูงที่สุดในประเทศ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษารั้งท้าย” โดยมีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ ดังนี้

1. พัฒนาแหล่งงานในพื้นที่ จ.นราธิวาสและชายแดนภาคใต้ สนับสนุนให้มีแหล่งอุตสาหกรรมรองรับแรงงานในพื้นที่ที่จะสำเร็จการศึกษาหรือคนว่างงาน ส่งเสริมการอบรมทักษะอาชีพที่รองรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของพื้นที่อย่างยั่งยืน

2. ส่งเสริมและสนับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่เข้าถึงแหล่งทุนการศึกษามากขึ้น

3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเพียงพอ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การคมนาคม การขนส่ง เป็นต้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและความปลอดภัยของประชาชน

4. พัฒนาการสื่อสารภาครัฐที่รวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพในหลากหลายช่องทาง เช่น การสื่อสารด้านภัยพิบัติ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และป้องกันการสื่อสารที่บิดเบือนและการเข้าใจที่ผิดพลาด

5. ส่งเสริมทักษะการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วยงานวิชาการ งานวิจัย และผลักดันสู่การสร้าง “คุณค่าและมูลค่า”

6. สนับสนุน ส่งเสริมแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกันบนความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา

7. ควรมีกระบวนการสำรวจความต้องการ ผลดี ผลเสีย หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีที่ภาครัฐจะพัฒนา หรือใช้สอยทรัพยากรในพื้นที่ และต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่

8. สนับสนุนเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมฮาลาล

หลังจากนั้นรับฟังกลุ่มสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเคยพบกับ กมธ.แล้วในเวทีที่ จ.ปัตตานี โดยในครั้งนี้ทางสมัชชาได้มาสะท้อนภาพรวมของการจัดงานมลายูรายา 2024 (Melayu Raya 2024) ที่จัดไปเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กิจกรรมมลายูรายาถูกจัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในปีนี้จัดไปเมื่อเดือน เม.ย. 2567 ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นคือภาพเยาวชนมุสลิมสวมชุดมลายูรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นับหมื่นคน แต่เมื่อ กมธ.สอบถามตัวแทนสมัชชาฯ ถึงที่มาของการจัดกิจกรรม กลับพบว่าเกิดขึ้นมาจากปัญหาของความไม่เข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมของภาครัฐ

ผู้มาให้ข้อมูลสะท้อนว่า “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งถูกอธิบายจากรัฐทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทำให้คิดไปว่าคือการทำให้สังคมมลายูถูกกลืนหายไปจากการจัดกิจกกรมของรัฐที่มักถูกอ้างว่าเพื่อส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และรัฐก็ไม่ออกมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้วรัฐต้องการส่งเสริมอะไรกันแน่ จึงทำให้ภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมขึ้นมาเอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเข้ามาออกแบบกิจกรรม

ก่อนจัดกิจกรรมผู้จัดได้พูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐมาหลายครั้ง อะไรที่รัฐไม่เห็นด้วยก็จะตัดออกไปจากกิจกรรม แม้กระทั่งเพลงที่จะใช้ในงาน ก็ส่งเนื้อเพลงให้เจ้าหน้าที่ดูก่อน

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ในปี 2565 คือมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม 9 ราย ด้วยข้อหาที่รุนแรง คืออั้งยี่ซ่องโจร ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของพวกเขาเพียงเพื่อรณรงค์ทางวัฒนธรรมมลายู และสร้างสำนึกในอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ แต่สิ่งที่รัฐทำไม่เพียงเป็นการใช้กฎหมายพิเศษปิดกั้นการแสดงออกเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐรับปากไว้ก็อาจทำไม่ได้จริง ไม่น่าเชื่อถือ”

ผู้ให้ข้อมูล บอกต่อว่าในปีนี้กิจกรรมเป็นไปด้วยความราบรื่น และได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ก็มีบางคนเล่าว่าก่อนจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ก็ยังให้ผู้ใหญ่บ้านในบางหมู่บ้านประกาศไม่ให้เยาวชนไปร่วมกิจกรรม

หลังจากนั้นวิ่งตรงไปที่อำเภอตากใบเพื่อพบกับกลุ่มผู้เสียหายตากใบที่ส่วนกำลังฟ้องรัฐแต่นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียรที่เดินทางมาในฐานะที่ปรึกษา กมธ.สันติภาพชายแดนใต้แบะได้รับภารกิจเป็นหนึ่งในคณะรายงาน สะท้อนว่า

“กรรมาธิการสันติภาพคงจะได้ลิ้มรสปัญหาผลกระทบของความขัดแย้งเป็นประสบการณ์ตรงแล้ว หลังจากที่ดีเบทและรับฟังปัญหาจากฝ่ายต่าง ๆ มานานหลายเดือน การไปรับฟัง ประชาชนที่นราธิวาสวันนี้มีอาการที่เป็นเรื่องก้ำกึ่งมาก ในเชิงสถานการณ์ ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดในนราธิวาสถี่กว่าที่อื่น อันนี้น่าจะทำให้มีการระมัดระวังเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่การดูแลกันมากก็จะมีผลทางตรงข้าม"

"ในขณะที่เราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่า เมื่อครอบครัวผู้เสียหายตัดสินใจฟ้อง มันเป็นการอัพเกมเรื่องตากใบอย่างแรงมาก เรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดแม้จะมีความพยายามมาก่อนเรื่องชาวบ้านจะฟ้องเจ้าหน้าที่ ระดับของแรงกดดันมากขนาดไหนก็คือจะเห็นว่า หลังจากที่มีข่าวว่าครอบครัวจะฟ้อง ก็มีการเยี่ยมเยียนจากเจ้าหน้าที่ทันที คนนอกพื้นที่อย่างเราไม่รู้ว่า การดำรงอยู่ของชาวบ้านที่ต้องเลี้ยงตัวเองอยู่บนความหล่อแหลมแบบนี้มันลำบากขนาดไหน คือเราเข้าใจแต่เราไม่เข้าใจอย่างถึงที่สุด"

"วันนี้เราจึงไม่ได้เห็นภาพการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้เสียหายตากใบ”

หลังจากนั้นก็มุ่งตรงไปพบชาวบ้านขาวพุทธ ที่วัดชลธาราสิงเหอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า “มาถึงนราธิวาส ไม่ได้มาฟังภาษาเจ๊ะเหที่ตากใบ ก็เหมือนมาไม่ถึงครับซึ่งคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ฯ มารับฟังประชาชนความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่ จ.นราธิวาส และได้มาจัดเวทีขึ้นที่วัดชลธาราสิงเหที่ตากใบด้วย ถือเป็นเวทีที่ 4 ของในการเดินทางมาครั้งนี้ ซึ่งนอกจากพวกเรามาเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของพี่น้องเจ๊ะเห โดยเฉพาะการอนุรักษ์ภาษาถิ่นแล้ว เรายังมารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ ที่ได้สะท้อนความต้องการของพวกเขาที่จะทำให้การสร้างสันติภาพเกิดขึ้นจริง”

ชาวบ้านสะท้อนสอดคล้องกันว่าควรอนุรักษ์รักษาภาษาถิ่นที่นี้คือเจ๊ะเหซึ่งผู้เขียนเสนอนอทางออกที่ยั่งยืนคือการบรรจุวิชาภาษาถิ่นในสาระเพิ่มเติมในหลักสูตรสถานศึกษาเพราะทุกสถานศึกษามีอำนาจตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติในการกำหนดสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองผ่านความเห็นชอบองคณะกรรมการสถานศึกษานั้น ๆ ซึ่งชุมชนสามารถมีส่วนร่วมไม่เพียงที่เจะเหเท่านั้นแต่โรงเรียนในที่อื่น ๆ ของประเทศไทยก็ควรบรรจุภาษาถิ่นในหลักสูตรสถานศึกษาด้วยเช่นกันหรือวิชาอื่น ๆ ที่เหมาะสมในชุมชนนั้น ๆ

นี่คือภารกิจเต็มเยียดวันที่หนึ่ง

วันที่สอง 1 มิ.ย. 2567 พบปะสตรี ชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน ด่านศุลกากร และผู้ได้รับผลกระทบที่มูโนะ ซึ่งสตรีชายแดนใต้ในนามคณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างที่มาเลเซียพร้อมได้ยื่นข้อเสนอด้านเด็กสตรีและกลุ่มเปราะบางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะกรรมาธิการสันติภาพ ณ หอประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส (ดูเพิ่มเติม: https://youtu.be/TqzKjWx97OE?si=EpMCNn1uIswedDDR)

หลังจากนั้นพบกับ Tanah Kita Network อันเป็นเครือข่ายชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปทับที่ที่ดินของประชาชนและการไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน จึงใคร่ขอนำข้อเสนอรายละเอียดปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อที่คณะกรรมาธิการฯ จะได้นำไปประมวลและสังเคราะห์รวมในรายงานการศึกษาที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำมาสู่การสร้างสันติภาพและการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามหลักการที่ว่า “สิทธิและความมั่นคงในที่ดิน คือรากฐานหนึ่งของสันติภาพชายแดนใต้” (อ่านเพิ่มเติม: https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000041028)

ช่วงบ่ายประมาณ เวลา 14.30-16.30 น. กมธ.สันติภาพเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ข้าราชการตำรวจรวมทั้งตัวแทนหอการค้านักธุรกิจเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย ณ ห้องประชุมศุลกากรพิพัฒน์ อาคารด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสซึ่ง หลังจากด่านศุลกากรและคณะได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทาง กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ได้เสนอให้ด่านศุลกากรและคณะจัดทำข้อเสนอเพื่อทำให้ด่านศุลกากรสุไหงโกลก สามามารถเป็นด่านที่ส่งเสริมความยั่งยืน ของเศรษฐกิจชายแดนและความปลอดภัยของสังคม ด้วย นวัตกรรมและบริการที่เป็นเลิศ รวดเร็วและทับใจ มีประสิทธิ์ภาพ ประสิทธิ์ ในขณะกมธ.สันติภาพยังสนใจบทบาทรัฐในการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนที่เรียกว่าความมั่นคงของมนุษย์มากกว่าความมั่นคงทางทหารในกลุ่มคนที่เปราะบาง กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ มูลค่าสินค้าที่หนีภาษีแต่ใช้ในชีวิตประจำวันแต่ยังไม่ได้คำตอบในองค์รวมและข้อเสนอแนะ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000041030)

เวลาประมาณ 17.30 ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวบ้านมูโน๊ะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ภายหลังได้รับผลกะทบจากเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2566 ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า “ผมลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องมูโน๊ะ จ.นราธิวาส ในเหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิด แม้ผ่านมาเป็นปีแต่ยังมีประชาชนกว่าร้อยครัวเรือนที่ยังไม่มีบ้านอยู่ในนามของ กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ฯ เตรียมแถลงเพื่อเร่งรัดรัฐบาลหลังกลับไปที่กรุงเทพฯ ทันทีครับ”

จากบทเรียนดังกล่าวสะท้อนว่า “ระบบราชการรวมศูนย์ทำให้การแก้ปัญหาชาวมูโน๊ะล่าช้าและการแก้ปัญหาในที่อื่น ๆ ในกรณีคล้าย ๆ กันเช่นอุทกภัยชายแดนใต้ที่ผ่านมาก็เช่นกัน ก็เกิดจากการจัดการแบบรวมศูนย์ เช่น เรื่องของเรือ ที่ต้องอาศัยจากกระทรวงกรมที่แตกต่างกันไป ท้องถิ่นไม่มีทรัพยากรหรืออำนาจที่จะไปดำเนินการเองได้อย่างเต็มที่ การจัดการปัญหาภัยพิบัติในอนาคตจะต้องมึการบริหารที่เน้นจากท้องถิ่นมากขึ้น ให้คนใกล้ปัญหาได้เป็นคนแก้ปัญหา โดยไม่ต้องรอกระทรวงกรมต่าง ๆ เป็นหลักซึ่งในระยะยาวที่สุดเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันที มีประสิทธิผล จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจ“ (อ่าน/ชมย้อนหลัง: https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000041019 และ https://www.facebook.com/share/v/cx5k6tqj8Hn2YLdH และ https://www.facebook.com/share/v/mjNEactLGMVjL3dL/?)

วันที่สาม พบผู้บริหารการศึกษา และท้องถิ่น

10.00น.-12.00น.นายจาตุรนต์ ฉายแสงประธานคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสันติภาพชายแดนใต้และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการตนเองโรงเรียนต้นแบบจังหวัดนราธิวาส “โรงเรียนดารุสสาลาม”

โดยมนายฟัครุดดีน บอตอ ผู้จัดการโรงเรียนดารุสสาลาม แบะอดีตสว.จังหวัดนราธิวาส นายมูหามะรอสดี บอตอ รองผู้จัดการโรงเรียนดารุสสาลามนางนูรีฮัน เร็งมา ผู้อำนวยการโรงเรียนดารุสสาลามและ ดร.นูรเอ็ฮซาน บอตอ รองผู้อำนวยการโรงเรียนดารุสสาลาม เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้"

ซึ่งตัวแทนผู้บริหารทั้ง 4 ท่านได้เข้าร่วมเสนอแนวทางและร่วมแสดความคิดเห็นในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายนัจมุดดีน อูมา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ คณะผู้บริหาร นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมโรงเรียนดารุสสาลาม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

โดยเฉพาะนายฟัครุดดีน บอตอ เสนอการแก้ปัญหาใต้อย่างยั่งยืน นั้นจะต้องเปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการศึกษาดั่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เคยใช้นโยบายการต่างประเทศร่วมกับประเทศกัมพูชา “เปลี่ยนสนามเป็นสนามการค้า”เพราะตลอดไฟใต้ 20 ปี รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแถมหมดงบประมาณหลายแสนล้านโดยใช้นโยบายการทหารและความมั่นคง แทนที่จะใช้งบประมาณพัฒนาการศึกษา แต่กลับใช้งบประมาณซื้ออาวุธเป็นต้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสสอนไว้ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ คือแนวทางที่ถูกต้องและสามารถใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ได้ดีที่สุด แต่ที่ลงมาทำงาน เข้าใจหรือไม่...ไม่เข้าใจเลย เข้าถึงมั้ย...ไม่เข้าถึงปัญหาเลย แค่สามอย่างนี้ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พอแล้วที่จะแก้ปัญหาที่นี่”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ให้ทัศนะว่า “เช้านี้ผมมาลงพื้นที่โรงเรียนดารุสลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อีกครั้งหนึ่ง เคยมาครั้งแรกในสมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นเหตุการณ์ในพื้นที่กำลังข้มข้นและมีคนแนะนำว่าถ้าให้ดี อย่ามาที่นี่ ได้ยินอย่างนั้นผมเลยมาเยี่ยมเป็นที่แรกเลย สิ่งที่ผมจะเล่าบ่อย ๆ ก็คือผมลงมาเล่นฟุตซอลกับผู้อำนวยการหลายโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ตอนนั้นเราสนับสนุนสนามฟุตซอลขนาดมาตรฐานหลายแห่ง และไม่เคยมีสักแห่งที่ถูก ปปช.ตรวจสอบเลยแม้แต่สนามเดียว? การมาในครั้งนี้มาในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทางด้านการศึกษา ครู อาจารย์ รวมถึงนักเรียน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงก็รับรู้เข้าใจปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หลักสูตรในประเทศไทยไม่ได้ปรับปรุงมากว่า 10 ปี ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศไทยทั้งประเทศในระยะหลังลดต่ำมาก เมื่อดูตัวชี้วัดในระดับโลกจะเห็นว่าประเทศไทยล้าหลังมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่พอมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยิ่งแย่กว่าจังหวัดอื่น ๆ เพราะชายแดนภาคใต้มีฝ่ายความมั่นคงมาทำหน้าที่จัดการศึกษาซึ่งผิดฝาผิดตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อฟังจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนวันนี้ เล่าว่าโรงเรียนมีหลักสูตร มีโครงการสอนหลายแบบที่ก้าวหน้ามาก เด็ก ๆ ทำโครงการวิทยาศาสตร์เข้าประกวดในระดับประเทศ เด็กนักเรียนต้องใช้แลบที่ได้มาตรฐาน จึงต้องไปใช้แลบของทางมหาวิทยาลัยทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างผลงาน

สอดคล้องกับ ศอ.บต.ที่นำครูหลายโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพบผมที่รัฐสภา ให้ข้อมูลว่ามีนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเรียนวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ถึง 4,000 คน แต่ฝ่ายความมั่นคงมีงบประมาณเพื่อให้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้ได้ 4 ห้อง มีเด็กอยากเรียน coding อยากเรียน AI เรียนสิ่งที่สมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายที่ดูแลการศึกษาต้องตามให้ทัน เพราะยังติดอยู่กับคิดแบบเก่า ๆ ว่าเด็กในชายแดนภาคใต้ต้องการเรียนแต่ศาสนาไม่สนในวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ก็ยิ่งสิ่งที่ควรส่งเสริมสนับสนุนก็กลับไม่ได้ทำ

โรงเรียนเอกชนที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีเช่นนี้ยังมีอีกหลายแห่งทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และทั่วประเทศ แต่มีโรงเรียนรัฐบาลมาเปิดแข่งมาก รวมถึงไม่มีการสนับสนุนจากรัฐ ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเคยมีคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งเคยทำวิจัยและมาให้ข้อมูลกับผมว่า ถ้ารัฐบาลยิ่งส่งเสริมอุดหนุนโรงเรียนเอกชน รัฐบาลจะยิ่งประหยัดงบประมาณด้านการศึกษาลง แล้วก็ให้ตัวเลขว่าถ้าทำกันเต็มระบบจะลดภาระของรัฐบาลเป็นหมื่นล้านบาททั่วประเทศ เพราะว่าโรงเรียนเอกชนเขาลงทุนอาคารสถานที่ ห้องเรียน โต๊ะเก้าอี้ รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเอง ก็ควรเอามาอุดหนุนเรื่องครูให้ดี อุดหนุนเครื่องมือการเรียนการสอนที่เขาจำเป็น

หลักสูตรการเรียนการสอนในชายแดนภาคใต้จึงต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับพื้นที่ ตรงกับผลสัมฤทธิ์ของทั้งประเทศและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนศาสนา และจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนครับ”

สำหรับ “ฟัครุดดีน บอตอ” อดีต สว.ถูกยิง ขึ้นศาลทหารกว่า 15 ปีกับคดีที่ยังไร้จุดจบ (อ่านเพิ่มเติม: https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/108055-fakruddin.html)

หลังจากนั้นพบกับผู้แทนผู้บริการการปกครองท้องถิ่นซึ่งได้สะท้อนว่า “การปกครองที่ชายแดนใต้ถ้าไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับคนพื้นที่ปัญหาก็ไม่จบ ซึ่งพบว่าจังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่แล้วแต่เป็นพิเศษที่ให้อำนาจส่วนกลางมากกว่าการกระจายอำนาจ" (ชมคลิปย้อนหลัง: https://youtu.be/WvJ2KU_XrnA?si=sGg1HZLx1R71DbLL)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง สะท้อนว่า “การกระจายอำนาจ ควรเป็นรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนมีอำนาจมีส่วนร่วมกำหนด การกระจายนี้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญให้คนส่วนน้อยในพื้นที่มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียม ต้องมีหลักการบางอย่างให้คนส่วนน้อยได้รับรู้ ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจทั่วประเทศล้าหลัง ยิ่งในชายแดนใต้ก็ล้าหลังเช่นกัน แต่ปัญหาคือชายแดนใต้มีปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ มีการปกครองรูปแบบพิเศษ มีกฎหมายพิเศษ ลดเงื่อนไข สิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหว การแสดงความเห็น นี่คือรูปแบบการปกครองพิเศษ การรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจนที่เดียวในไทย ดังนั้นการกระจายอำนาจในชายแดนใต้ต้องยกระดับขึ้นมาก่อน เพราะส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจนที่สุด เศรษฐกิจแย่ที่สุด การศึกษาล่าหลังที่สุด ความไม่ยุติธรรม อัตลักษณ์ จึงต้องมองการกระจายอำนาจ ในชายแดนใต้แบบเข้าใจ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: