ธรรมาภิบาล กระจายอำนาจ ความหวังของ “คนไร้ที่พึ่ง” (2) ได้เวลาผ่าตัดความเหลื่อมล้ำ

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5655 ครั้ง

 

เมื่อปัญหาของคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ว่าคนไม่มีบ้านจะอยู่หรือไม่อยากจะอยู่บ้าน จึงออกมาเร่ร่อนไปทั่วตามถนนหรืออาศัยที่สาธารณะเป็นแหล่งพักพิง แต่ปัญหานี้สลับซับซ้อนที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ตรงประเด็น ถึงรากเหง้า 

 

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

ตอนจบของรายงาน “ธรรมาภิบาล กระจายอำนาจ ความหวังของ “คนไร้ที่พึ่ง” เมื่อปัญหาของคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ว่าคนไม่มีบ้านจะอยู่หรือไม่อยากจะอยู่บ้าน จึงออกมาเร่ร่อนไปทั่วตามถนนหรืออาศัยที่สาธารณะเป็นแหล่งพักพิง แต่ปัญหานี้สลับซับซ้อนที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ตรงประเด็น ถึงรากเหง้า แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยชินกับการแก้ปัญหาสังคมด้วยการสงเคราะห์กันเป็นคราวๆ ไป การแก้ไขปัญหาคงไม่จบแค่เพียงสร้างบ้านให้เขาอยู่ หรือ หาบ้านเช่าราคาถูกให้เขา อาจจะต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อปัญหานั้นเสียก่อน โดยเฉพาะภาครัฐไม่ว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่นอาจจะต้องคิดถึงระบบสวัสดิการที่แท้จริง แทนที่จะคิดถึงระบบสงเคราะห์เพียงเท่านั้น #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

 

ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

มาตรการเร่งด่วนในประเด็นของ ‘คนไร้ที่พึ่ง’

ศราวุธ มูลโพธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต (กคส.) ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

เมื่อมิติการแก้ไขปัญหาประเด็นคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของ “บ้าน” เพียงอย่างเดียว ภาวะไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางประชากรศาสตร์ โครงสร้างทางการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงประสิทธิภาพและความครอบคลุมของนโยบายสวัสดิการในมิติต่างๆ แล้วหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม และเครือข่ายภาคีเข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมวางแผนนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและตอบโจทย์ปัญหานี้อย่างไร?

ความน่าสนใจอีกประการคือการดึง ‘ท้องถิ่น’ เข้ามามีบทบาทตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ อำนาจของท้องถิ่นมีมากน้อยเพียงใดและทิศทางของภาครัฐ ภาคประชาสังคมต่อประเด็นคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ศราวุธ มูลโพธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต (กคส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึง ปัญหาสำคัญที่ต้องการดำเนินการแก้ไขในประเด็นคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง มีอยู่ 3 ข้อ 

1. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน กรณีคนไร้บ้านที่อาศัยพื้นที่สาธารณะ ไม่ได้อยู่ประจำหลักแหล่งรวมทั้งไม่มีทะเบียนบ้าน พม. ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับกรมการปกครอง เพื่อให้มีทะเบียนบ้านที่อยู่ในการดูแลของ พม. ซึ่งมีศูนย์อยู่ในทุกจังหวัด 

2. ส่งเสริมการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2565 ทางหน่วยงาน พม. มีโครงการห้องเช่าคนละครึ่งเพื่อรองรับให้คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง หรือผู้มีรายได้น้อย ตั้งหลักมีอาชีพ มีรายได้ โดยโครงการนี้ภาครัฐจะออกเงินครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนไร้บ้านจ่าย ในสัดส่วน 60:60 (โดยส่วนเกิน 20% จะถูกเก็บเข้ากองทุนช่วยเหลือคนไร้บ้านต่อไป) ของค่าเช่าห้อง และในปี 2567 โครงการจะมีการขยายต่อยอดไปที่จังหวัด นนทบุรี กาญจนบุรี สุพรรบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ จากการอ้างอิงยอดจำนวนสถิติคนไร้บ้านที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในจังหวัด 

3. การส่งเสริมอาชีพ โดยมีโครงการจ้างงานตามสถานประกอบการ 4 ภาค ปัจจุบัน 77 จังหวัดมีภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นสถานประกอบการให้ผู้ใช้บริการที่มีความสนใจตามความถนัดของแต่ละคนได้ทํางาน ในรูปแบบไปกลับก็มีหรือว่าการรับงานมาทําในหน่วยงานหรือไปทําที่สถานประกอบการ ฯลฯ ร่วมบูรณาการกับ 12 กระทรวง ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในระบบมีข้อมูลทั้งหมด 950,000 ครัวเรือน ทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2564 ที่เน้นไปเรื่องคุณภาพชีวิต 5 มิติ คือ สุขภาพ การศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การเข้าถึงสวัสดิการ และที่อยู่อาศัย

ศราวุธ กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2565 ได้มีประกาศของคณะกรรมการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่อง การกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 (อ่านประกาศ) โดยประเด็นหลักของการประกาศ ก.ก.ถ. ฉบับนี้คือ ให้ท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. องค์การบริหารส่วนจังหวัด กทม. และเมืองพัทยา บริหารจัดการระบบสาธารณะประโยชน์เพื่อตอบสนองให้ประชาชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้และกรณีที่ท้องถิ่นใดมีการจัดในลักษณะเดียวกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีสิทธิ์ที่จะได้รับพิจารณาจากกระทรวง พม. ในเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณตามที่คณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกำหนดตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา

“สังคมยังเข้าใจว่าคนไร้ที่พึ่งเท่ากับคนไร้บ้านที่อยู่ตามถนน ซึ่งที่จริงแล้วมันคลอบคลุมไปถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ที่เสี่ยงที่จะเป็นผู้ประสบปัญหาทางสังคม เราต้องแก้ปัญหาไปถึงต้นน้ำในระดับชุมชน ครอบครัว โดยอาศัยท้องถิ่นเข้ามามีส่วนช่วยถึงแม้ว่าจะมีประกาศฯ ออกมาแล้ว แต่ในเรื่องของการบังคับใช้หรือการสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจกับท้องถิ่น มันยังไม่เพียงพอ ท้องถิ่นบางพื้นที่เข้าใจว่าไม่ต้องทำก็ได้ ทำก็ได้ก็ประสานส่งให้ส่วนกลาง ซึ่งจริงๆ แล้วท้องถิ่นสามารถมีอำนาจในการทำงานได้ทั้งหมด” ศราวุธ กล่าว

การเข้าถึงสวัสดิการของกรณี ‘คนไร้ที่พึ่ง’ ในปัจจุบัน

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ให้สัมภาษณ์ในประเด็นการช่วยเหลือเพื่อให้คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง เข้าถึงสิทธิทำบัตรประชาชนว่า มีการทำมีจุด drop in หรือจุดช่วยเหลือ 2 จุด คือ ตรอกสาเกและบริเวณใต้ปิ่นเกล้า เพื่อช่วยเหลือทำบัตร ให้คำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ได้ รวมทั้งเป็นการทำเผื่อไม่ให้ประชาชนที่แจกข้าวตรงบริเวณราชดำเนินมาแจก ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีประชาชนแจกข้าวเพิ่มขึ้น คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่คนที่รับของบริเวณนั้นบางคนไม่ได้เป็นคนไร้บ้านก็รับของไปขาย และมีประเด็นในข้อขัดแย้งกับกฎหมายในการนำมาขับเคลื่อนงาน เช่น พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ที่เจ้าหน้าที่เทศกิจดูแล กทม. มีกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน 2559 หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2557 ที่เจ้าหน้าที่ พม. รับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้ กทม. และเครือข่ายร่วมกันบูรณาการและจัดทำจุดช่วยเหลือ แบบที่เห็นในปัจจุบัน

อัจฉรา กล่าวว่า “ความย้อนแย้งของกฎหมายที่เครือข่ายถือกันแต่ต้องทำประเด็นงานเดียวกันมันคลุมเครือ อีกคนใช้กฎหมายจับปรับไปส่งอีกหน่วยงาน แต่หน่วยงานทำอะไรไม่ได้เพราะมีกฎหมายอีกฉบับคุ้มครองเป็นเรื่องที่คนไร้บ้านเจ้าตัวต้องเกิดความยินยอมที่จะอยู่ในสถานสงเคราะห์ด้วยตนเองเท่านั้น ปัญหามันวนอ่างไม่มีทางออก ขนาดว่าเราไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการสร้างสถานสงเคราะห์ เราเน้นไปเรื่องคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่มันควรจะตอบโจทย์กว่านี้ เพราะถ้ามีมันจะมีเคสที่กลับบ้านกลับคืนสู่ครอบครัวได้ หรือถ้ายังมีเคสที่ต้องอยู่ในถนนเขาควรมีสถานที่ที่สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ” 

อัจฉรา ชวนตั้งคำถามต่อระบบสวัสดิการต่อกรณีคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง แล้วทุกคนเข้าใจว่าปลายปัญหาคือระบบสวัสดิการ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามกลับไปยังระบบสวัสดิการว่าที่มีอยู่นั้นครอบคลุมในทุกมิติแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ที่เป็นกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ระบบสวัสดิการที่มีอยู่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกคนแล้วหรือยัง

เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวอีกว่า “เคสคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ที่เขาอาศัยอยู่ถนน มันเป็นปลายปัญหาของระบบทั้งหมดแล้ว คือ เขาไปทางไหนไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ไป ไม่มีตัวตนเหมือนตายทั้งเป็น…สวัสดิการมันควรจะครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนถึงตอนเราตาย แต่ว่าเราไม่ได้เห็นโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมของสวัสดิการว่าหน้าตาเป็นแบบไหน หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีโมเดลของแต่ละจังหวัดในการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นของเขาว่าแก้ปัญหายังไง มีการดูแล สนับสนุนยังไงบ้าง”

บทบาทและแนวทางการช่วยเหลือโดย สสส. ต่อประเด็น ‘คนไร้ที่พึ่ง’

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะคนไร้บ้าน (สสส.) ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะคนไร้บ้าน (สสส.) อธิบายถึง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในมีสำนักย่อยชื่อ ‘สํานักสนับสนุนสุขภาวะ’ ที่ดูแลประเด็นกลุ่มประชากรที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพแบบพิเศษ ซึ่งประเด็นคนไร้บ้านมาเป็นที่สนใจในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 โดยการทำงานที่ผ่านมาประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคม (NGOs) ทำในประเด็นส่งเสริม สร้างสุขภาพ หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2559 มีลงพื้นที่สำรวจเชิงลึก (One Night Count) ทำงานเชิงวิชาการ และในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ สสส. ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อมาพูดคุยปัญหา แก้ไข เพื่อให้งานสามารถขับเคลื่อนไปได้

อนรรฆ กล่าวว่า คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ที่พบโดยทั้งหมดเป็นคนไทยแนวโน้มการเข้าถึงบริการดีขึ้น เช่น จุดบริการ Drop In รับให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิ์ ตรวจสุขภาพ บริการอื่นๆ จากผลสำรวจคนไร้บ้านประมาณ 25 – 30% ปัญหาที่พบคือการเข้าถึงสิทธิ์ บัตรประชาชนหลาย ไม่มีสถานะ ซึ่งการเข้าถึงสิทธิ์ของคนไทยคือการมีบัตรประชาชน สสส. เข้าไปช่วยทำให้ระบบการทำบัตรพิสูจน์สิทธิมีความคลอบคลุม เพื่อที่การเข้าถึงสิทธิของคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในส่วนของเรื่องบัตรจึงไม่ได้เป็นปัญหา นอกจากประเด็นคนไทยไร้สิทธิการพิสูจน์สิทธิ์ถือเป็นอีกเรื่องที่ยากในเชิงวิธีการนำเข้าสู่ระบบ เพราะระบบก็อาจจะปฏิเสธเขาเพราะเป็นคนจน สสส. ได้ร่วมมือกับเครือข่าย เช่น ร่วมงานเครือข่ายภาคประชาสังคมอาศัยแกนนำนำระบบการทำบัตรลงในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงาน สปสช. ผลักดันให้เข้าถึงสิทธิ เช่น กรณีสิทธิบัตรทองที่ผูกกับต้องอยู่ภูมิลำเนาเดิม ให้ระบบยืนยันว่าเขาไม่ได้อยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม แต่เขาอยู่ที่นี่ ไม่จำเป็นต้องใช้ทะเบียนบ้านก็สามารถใช้สิทธิได้ ฯลฯ

อนรรฆ กล่าวในการระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า “ความท้าทายและยังไม่มีทางออก คือ เรื่องคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุสัดส่วนเพิ่มขึ้น คนไร้บ้านที่ป่วยจิตเวช เราจะดูแลเขาอย่างไร มันไม่ได้เป็นปัญหาระดับบุคคลแต่มันโยงไปถึงระบบที่ใหญ่กว่านั้น โจทย์นี้ที่เป็นความท้าทายในอนาคตที่จะต้องทำ ในส่วนโมเดลมีพี่น้องภาคประชาสังคมช่วยในการขับเคลื่อนเป็นหลักซึ่งก็จะเป็นความท้าทายอีกว่าในพื้นที่อื่นที่ไม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เราอาจจะต้องการหน่วยงานเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนสนับสนุนด้วย”

อำนาจหน้าท้องถิ่นมีมาก - น้อย แค่ไหนกับกรณี “คนไร้ที่พึ่ง”

ธนพร ศรียากูล

ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบายว่า ในแง่ของอำนาจท้องถิ่นนั้นสามารถที่จะทำได้มากที่สุดเท่าที่อยากทำ แต่ท้องถิ่นในแต่ละแห่งมีสภาพปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เช่น งบประมาณ ขนาดพื้นที่ความรับผิดชอบ สภาพสังคม และเศรษฐกิจ ฯลฯ

ประเด็นคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง ท้องถิ่นสามารถที่จะจัดบริการได้หลากหลาย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างสถานคุ้มครอง โดยการเชื่อมโยงสิทธิ์ให้คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง สามารถเข้าถึงสิทธิ ซึ่งที่กล่าวมาอยู่ในวิสัยที่ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เช่น บัตรประชาชน จัดพื้นที่มีจุดบริการอาบน้ำ ซักผ้า จุดบริการให้คำปรึกษา ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้พวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ธนพร กล่าวว่า “เพราะฉะนั้นสิ่งที่คณะกรรมการกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการคนไร้ที่พึ่งเนี่ย ทํางานเป็นเรื่องของการยกระดับการดูแลให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้ ไม่ใช่ว่าให้ท้องถิ่นไปแข่งกันสร้างที่พักชั่วคราว แข่งกันสร้างสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนะครับ รูปแบบในการที่จะบริการคนไร้ที่พึ่งมันมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นสามารถปรับได้ตามแต่บริบทของท้องถิ่นนั้นๆ”

ท้องถิ่น ส่วนกลาง เพิ่มอำนาจให้ส่วนใดจึงจะแก้ไขปัญหา ‘คนไร้ที่พึ่ง’

“ท้องถิ่นคือ คำตอบเดียวเลยครับ ส่วนกลางมันได้พิสูจน์มาแล้วผ่านกรมประชาสงเคราะห์ตั้งเกือบร้อยปีจนแตกตัวมาเป็นกรมพัฒนาสวัสดิการและสังคม ถ้าสภาพยังเป็นแบบเดิมก็ทำอะไรไม่ได้เพิ่มมาก สัดส่วนงบประมาณ งบที่ได้ประจำปีน้อยลง เจ้าหน้าที่เพิ่มไม่ได้ สถานสงเคราะห์ที่มีทรุดโทรม ถ้าเอางานพวกนี้ไว้ส่วนกลางแน่นอนว่าการดูแลพี่น้องกลุ่มนี้มีแต่จะลดทอนคุณค่าเขา” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกระจายอำนาจ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์

ธนพร กล่าวว่า ปัญหาของส่วนกลาง กทม. คือเรื่องของโครงสร้างการทำงานถอดแบบเหมือนกระทรวง กรม รูปแบบการแก้ปัญหามีโมเดลเดียวผูกอยู่กับ ผู้ว่าฯ ซึ่งในความเป็นจริงควรจะมีหลากหลายแตกแขนง เช่น เขตเทศบาล 31 เทศบาล ได้เข้ามามีส่วนร่วมงานในการออกแบบ นอกจากนี้ที่เป็นปัญหาคือ ผอ.เขต และ ผอ.สำนัก ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบผู้บริหารและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)

เขาเน้นว่า “ในส่วนการช่วยเหลือรูปแบบการสงเคราะห์ที่เน้นการสร้างบ้าน ที่พัก ชั่วคราวและมีเงื่อนไขกติกากฎเกณฑ์หลายอย่างที่เมื่อพี่น้องเข้าไปแล้ว ทำไม่ได้ก็ตกเงื่อนไข หรือจะมีสักกี่คนที่เดินไปขอความช่วยเหลือจากสถานสงเคราะห์ ดังนั้นเราจึงเคยเห็นภาพเมื่อก่อนว่ามีเจ้าหน้าที่ไปกวาดต้อนขึ้นรถแล้วเอามาส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง”
ธนพร กล่าวว่า รูปแบบสงเคราะห์ยังขาดความต่อเนื่องในมิติการพัฒนาศักยภาพ การฟื้นฟู ที่จะส่งเสริมให้คนไร้ที่พึ่งสามารถพึ่งพาตนเองและกลับคืนสู่สังคม ฉะนั้นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการดึงทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ชุมชน ระดับจังหวัด ให้แต่ละท้องถิ่นสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของแต่พื้นที่จะเกิดเป็นโมเดลโดยตัวมันเอง ในส่วนบทบาทของหน่วยงานภาครัฐกระทรวงพัฒนาสังคม (พม.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ฯลฯ เข้ามาเชื่อมงานดูแลเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้คนไร้ที่พึ่งสามารถกลับคืนสู่สังคมได้มากที่สุด

เมื่อถามในประเด็นที่ว่า อำนาจท้องถิ่นส่งผลต่อปัญหาเขตพื้นที่ทำงานทับซ้อนหรือไม่ ธนพร กล่าวว่า ไม่เกิดการทับซ้อน เนื่องจากทุกท้องถิ่นจะมีสภาฯ (สภาฯ อบต. สภาฯ จังหวัด) สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ภายในปี พ.ศ. 2568 ทุกท้องถิ่นต้องอภิปรายสนับสนุนงบประมาณเอง ซึ่ง พ.ร.บ. การกระจายอำนาจฉบับนี้จะทำให้ท้องถิ่นสามารถตั้งขอเงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปีจากสำนักงบประมาณได้ และในทุกๆ ปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดประกวดรางวัลต่างๆ มากมาย ท้องถิ่นหลายที่น่าจะเห็นโอกาสเหล่านี้

“ถ้าท้องถิ่นเราได้ทํางานกันอย่างเชื่อมโยงในการดูแลคนไร้ที่พึ่งภายใต้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งให้อํานาจเรียบร้อยแล้ว อย่างไรเสียเนี่ยไม่มีทางเลยที่ชีวิตคนไร้ที่พึ่งจะแย่ลง มีแต่จะได้รับบริหารจากรัฐที่ดีขึ้น” ธนพร กล่าว

ความท้าทายแผนในอนาคตที่ กทม. มองต่อประเด็น ‘คนไร้ที่พึ่ง’

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ภาพ : ภัทรภร ผ่องอำไพ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าปัญหาคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งนี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบสวัสดิการโดยแท้ เพราะทำให้คนๆ หนึ่งออกมาใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนอยู่พื้นที่สาธารณะ สวัสดิการต่างๆ ที่เขาเคยได้รับไม่มีเลย บางรายมีปัญหาสุขภาพ บางรายไม่มีบัตรประชาชนจนไปถึงไม่มีรายได้ สิ่งที่ กทม. ทำร่วมกับเครือข่าย คือ จัดสรรพื้นที่บางส่วนเพื่อให้บริการ พูดคุย ปรึกษา จัดเข้าถึงบริการสวัสดิการ และฟื้นฟูให้กับคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง สามารถที่จะกลับสู่สภาวะสังคมได้

ศานนท์ กล่าวว่า“จำนวนประชากรคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง มีจำนวนเพิ่มขึ้น มีประชาชนเข้ามาแจกอาหารเพิ่ม บางทีมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุม

ศานนท์ เสริมว่า เดือนมีนาคม 2567 กทม. ได้มีการเช่าพื้นที่ของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตรงสำนักงานประปาแม้นศรี (เดิม) เพื่อที่จะดำเนินโครงการบ้านอิ่มใจ ใช้เป็นพื้นที่รองรับให้คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง และคนรายได้น้อย มาใช้บริการ

ซึ่งภายในอาคารมีหน่วยงานที่จะบริการในด้านสวัสดิการต่างๆ ถือจุดศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนตามความต้องการของเขา และเป็น Emergency center หรือที่พักชั่วคราวเพื่อให้เขาฟื้นฟูและกลับคืนสู่ชีวิตปกติ อาจจะมีเงื่อนไขว่าอยู่ได้ไม่เกิน 45 วันกำลังอยู่ในช่วงปรึกษาหารือและหาพื้นที่เช่าบ้านที่ราคาถูกหรือเหมาะสม 

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “กรณีที่เขาหลับนอนในพื้นที่สาธารณะหรือแย่งที่กัน เราเองก็ทำงานยาก เพราะตามกฎหมายเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้มันมีกฎหมาย พ.ร.บ. รักษาความสะอาดอยู่ก็เกิดเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขึ้นไม่ว่าจะเป็น พม. ที่มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทาง กทม. ก็ทำโครงการบ้านอิ่มใจ แต่ก็ต้องบอกว่าโครงการบ้านอิ่มใจในอดีต มันก็มีความล้มเหลวเยอะ เช่น หาพื้นที่แต่มันอยู่ไกล คนไม่อยากมาใช้บริการ และเหตุผลที่เราเลือกประปาแม้นศรีเพราะเป็นพื้นที่ที่ใกล้มาก สามารถนั่งวินมอไซร์หรือสามารถนำรถตู้ไปรับได้ แต่ปัญหาหลักๆ ก็คืออยู่ดีๆ เราจะไปชวนเขาขึ้นรถมันยาก ต้องเป็นเรื่องความยินยอม ความสมัครใจซึ่งถ้าเขาตกลงก็ไม่มีปัญหา”

นอกจากนี้ ศานนท์ กล่าวว่า กทม. มีพื้นที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้ากับพื้นที่ตรอกสาเกเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีจุด Drop In ให้บริการคู่กับเครือข่ายภาคี ภาคประชาสังคมและในส่วนของการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ กทม. เล็งอาชีพที่คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง สามารถทำได้ เช่น คนรักษาความปลอดภัย งานกวาดพื้น ฯลฯ งานที่เขาทำสามารถจ่ายเงินเป็นรายวันได้โดยไม่ได้เป็นงานที่เป็นมอบหมายระยะยาว เพราะบางครั้งคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง เขาอาจจะไม่ได้อยากทำงานทุกวัน

“ดังนั้นแล้วสิ่งที่ทาง กทม. อยากจะทำเพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องของการให้เข้าระบบสวัสดิการควบคู่ไปกับการจัดระเบียบพื้นที่ด้วย เช่น การควบคุมตึงบางพื้นที่ที่คนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่ง อาจจะต้องขยับเขยื้อน การแจกอาหารที่จะไม่ได้มีทุกคน แต่จะแจก 2 รอบ และในอนาคตอาจจะเหลือรอบเดียว เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการทำงานมีอาชีพ และที่อยู่อาศัย” รองผู้ว่า กทม. กล่าว

จากทั้งหมด ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ปัญหาของคนไร้บ้าน/ไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ว่า คนไม่มีบ้านจะอยู่หรือไม่อยากจะอยู่บ้าน จึงออกมาเร่ร่อนไปทั่วตามถนนหรืออาศัยที่สาธารณะเป็นแหล่งพักพิง แต่ปัญหานี้สลับซับซ้อนที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ตรงประเด็น และถึงรากเหง้าของปัญหา คนไม่มีที่อาศัยส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่มีงานทำ ขาดรายได้ แต่ที่ไม่มีงานทำส่วนหนึ่งอาจจะมาจาก ขาดการศึกษา ขาดความรู้ ความสามารถ ทักษะ หรือมีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ ทำให้ประกอบอาชีพไม่ได้

แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยชินกับการแก้ปัญหาสังคมด้วยการสงเคราะห์กันเป็นคราวๆ ไป การแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่งพาอาศัย คงไม่จบแค่เพียงสร้างบ้านให้เขาอยู่ หรือ หาบ้านเช่าราคาถูกให้เขา อาจจะต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อปัญหานั้นเสียก่อน โดยเฉพาะภาครัฐไม่ว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่นอาจจะต้องคิดถึงระบบสวัสดิการที่แท้จริงแทนที่จะคิดถึงระบบสงเคราะห์ง่ายๆ เช่นนั้น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: