'แอมเนสตี้' ชี้กรณี 'บุ้ง เนติพร' เสียชีวิต เป็นสัญญาณเตือนทางการไทยทบทวนสิทธิประกันตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 3573 ครั้ง

'แอมเนสตี้' ชี้กรณี 'บุ้ง เนติพร' เสียชีวิต เป็นสัญญาณเตือนทางการไทยทบทวนสิทธิประกันตัว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้กรณี "บุ้ง เนติพร" นักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงทางการไทยทบทวนสิทธิในการประกันตัว ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

15 พ.ค. 2567 สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยชาวไทย ในวันที่ 14 พ.ค. 2567 หลังประท้วงด้วยการอดอาหารอย่างยาวนานระหว่างถูกควบคุมตัว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” ที่ได้อดอาหารประท้วงหลังจากเธอและบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวโดยพลการ รวมทั้งผู้ที่ใช้สิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองโดยสงบ

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ทางการไทยใช้วิธีการปฏิเสธเพื่อไม่ให้นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยได้รับเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ชัดเจนว่า มีความพยายามปิดปากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของผู้เห็นต่าง ซึ่งปัจจุบันหลายคนยังคงถูกควบคุมตัว และถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

“เหตุการณ์ที่น่าเศร้าเช่นนี้ ควรเป็นสัญญาณเตือนถึงทางการไทยให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดี และปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน รวมทั้งผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม และต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับมานานแล้วจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงต้องยุติการดำเนินคดีที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการควบคุมตัวโดยพลการ

“บุ้ง เนติพร นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยคนอื่นที่ถูกควบคุมตัว ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในเสรีภาพของตัวเองจากทางการ ที่ปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าเศร้า

“รัฐบาลไทยต้องดำเนินการสอบสวนถึงเหตุการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพรโดยทันที อย่างเป็นอิสระ รวมถึงหาแนวทางในการป้องกันเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตามกฎหมายระหว่างประเทศทางการไทยต้องรับประกันสิทธิที่จะมีชีวิตและมีสุขภาพดีของผู้อดอาหารประท้วง เช่นเดียวกับผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่น ๆ ที่อยู่ในเรือนจำ”

“เราขอให้ประชาคมโลกเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ให้ยุติการปราบปรามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งเรียกร้องให้หยุดการปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” ครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ และนักกิจกรรม วัย 28 ปี เสียชีวิตในที่ 14 พ.ค. 2567 ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เธออยู่ระหว่างการอดอาหาร 110 วัน เพื่อประท้วงการควบคุมตัวโดยพลการของเธอและคนอื่นตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาเธอได้เรียกร้องให้นักกิจกรรมคนอื่นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด

ตำรวจได้เริ่มดำเนินคดีต่อเนติพรเมื่อเดือน มี.ค. 2565 หลังจากเธอได้ทำการสำรวจความเห็นคนทั่วไปในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการปิดจราจรระหว่างมีขบวนเสด็จ เป็นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116

เธอเคยถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม ถึง 4 ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เธออดอาหารประท้วงเป็นเวลา 64 วัน ทางการได้ควบคุมตัวเธออีกครั้ง หลังศาลสั่งถอนประกันเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 และเธอถูกศาลสั่งจำคุกหนึ่งเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล

ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิในการมีชีวิต รัฐมีพันธกรณีที่สำคัญในการคุ้มครองชีวิตของบุคคลภายใต้การควบคุมตัวของรัฐ การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของรัฐ มักเป็นเหตุให้เกิดข้อสันนิษฐานถึงความรับผิดของรัฐต่อการพรากชีวิตไปโดยพลการ ซึ่งต้องได้รับการชี้แจงโดยการสอบสวนอย่างเหมาะสม โดยทันที อย่างเป็นกลาง มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตเช่นนี้

ทางการไทยได้สั่งปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงทางออนไลน์นับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยโดยสงบ ที่เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. 2563

เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคง สถาบันกษัตริย์ และความผิดทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปราบปราม และมีการตีความว่าการใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์

แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายเดือน มีการปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นการจำกัดอย่างเข้มงวดต่อสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเสรีภาพด้านการเดินทาง การแสดงออก และการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทางการไทยยังคงใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบและการสมาคม และคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ รวมทั้งรัฐบาลทุกประเทศที่เข้าร่วมการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Reviews หรือ UPR) ได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และการใช้คำสั่งจนเกินขอบเขตเพื่อควบคุมการใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบทั้งในด้านเสรีภาพในการเดินทางและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: