ธรรมศาสตร์จะไปทางไหนและใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป (2)

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 22586 ครั้ง


การเสนอตัวเพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการกำหนดอนาคตของธรรมศาสตร์ ผมมีกรอบนโยบาย 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ครับ

1. มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน : ธรรมศาสตร์ควรต้องกลับไปเป็นธรรมศาสตร์อย่างที่เคยเป็น คือมหาวิทยาลัยที่เป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร มหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาให้รักประชาชน มหาวิทยาลัยที่ทำเพื่อประชาชน เอาโจทย์ปัญหาของประชาชน ปัญหาของประเทศ ปัญหาของสังคม ดังเช่นปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นโจทย์ในการวิจัยและในการเรียนการสอน และกลับไปเป็นผู้นำทางสังคมในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา

2. ยุทธศาสตร์ทำดักหน้า : การทำตามหลังไม่อาจทำให้ธรรมศาสตร์ตามไปทันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ เพราะเราไม่ได้วิ่งเร็วกว่าเขา และต่อให้ไปถึงได้ เขาก็ไปที่อื่นต่อแล้ว การจะทำให้ธรรมศาสตร์ตามทันและแซงได้ ต้องใช้วิธีวิ่งไปดักข้างหน้า คือรู้ทิศทางว่าเขาจะไปไหน เราก็วิ่งลัดไปดักหน้า ซึ่งทิศทางของโลกในขณะนี้มี 3 เรื่องคือ AI สังคมสูงวัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การทำในเรื่องที่เขายังไม่ทำ ธรรมศาสตร์ก็จะกลายเป็นผู้นำ ดังเช่นที่เราเคยทำในเรื่องหลังคาโซลาร์เซลล์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งของของเอเชีย และอันดับ 3 ของโลก หรือสวนหลังคาอาคารป๋วย 100 ปีที่ได้รางวัลระดับโลกมากมายและทำให้ธรรมศาสตร์มีชื่อเสียงในเวทีโลก

3. พัฒนาศักยภาพทุกคนให้ไปไกลที่สุด : ธรรมศาสตร์คือที่ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ จะได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ โดยมีความสมดุลทั้งความเป็นเลิศ ความทั่วถึงเท่าเทียม คุณภาพชีวิต และความสุขในการทำงานและการเรียนรู้

การทำงานหนักเกินไป หรือเรียนหนักเกินไปเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ชาวธรรมศาสตร์ต้องมีภาระงานน้อยลง แต่บรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น โดยทำงานอย่างฉลาดมากขึ้น (work smarter, not harder) ซึ่งไม่ใช่การลดเป้าหมาย หรือลดความเป็นเลิศ แต่เป็นการลดการทำงาน เลิกงานที่ทำมากได้น้อย มาเป็นการทำน้อยได้มาก งานกรอกเอกสารมากมายน่าเบื่อหน่ายต้องมีให้น้อยที่สุด งานซ้ำซ้อนซ้ำซากไม่มีคุณค่าต่อชีวิตให้เอไอและหุ่นยนต์ทำ เพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์มีเวลาให้กับศิลปะ ดนตรี กีฬา และนันทนการต่างๆ ได้มากขึ้น

4. ผู้บริหารแนวราบ และสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน : ผู้บริหารธรรมศาสตร์ต้องเป็นผู้นำที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เจ้านาย สร้างประชาธิปไตยในที่ทำงานซึ่งธรรมศาสตร์จะต้องเป็นผู้นำ พร้อมกับสร้างประชาคมธรรมศาสตร์ที่เข้มแข็ง ทุกคนคือทีมธรรมศาสตร์โดยไม่แบ่งพรรคพวก โดยมีแพลตฟอร์มให้ร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมกำหนดอนาคตมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวทีมงานของอธิการบดี

ทั้ง 4 ประการคือกรอบนโยบายที่ผมจะใช้ในการทำงาน และในการ ‘เดินทาง’ ไปพูดคุยกับประชาคมธรรมศาสตร์ ทั้งคณะ หน่วยงาน อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เพื่อช่วยกันสร้าง ’นโยบายสาธารณะ‘ ที่จะกำหนดอนาคตของธรรมศาสตร์ร่วมกัน ผมจะ ‘เดินทาง‘ อย่างไรโปรดติดตามฉบับที่ 3 ครับ


เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊คของปริญญา เทวานฤมิตรกุล 30 ม.ค. 2567

อ่านทั้งหมด
ธรรมศาสตร์จะไปทางไหนและใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป (1)
ธรรมศาสตร์จะไปทางไหนและใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป (2)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: