มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน 1) สำรวจตรวจตราเบื้องต้น ความเป็นไปได้ “ซอฟต์พาวเวอร์พะเยา”

กมลชนก เรือนคำ 19 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 16652 ครั้ง


ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา

“ซอฟต์พาวเวอร์” คืออะไร

ไม่กี่ปีมานี้การพูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft power) ในสังคมไทยถือเป็นเป็นปรากฎการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง จนถึงขั้นที่ว่าพรรคการเมืองหลายพรรคได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในนโยบาย และหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้ผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์นี้ให้เป็นรูปธรรม

ในงานวิจัย “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย” จากชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้นิยามว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (อำนาจละมุน หรือ อำนาจแบบอ่อน) หมายถึง อำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจพร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป อำนาจแบบนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าอำนาจแบบแข็ง (hard power) หรืออำนาจเชิงบังคับอย่างอำนาจทางทหาร โดยองค์ประกอบ soft power มักมาจากทรัพยากรสำคัญ 3 ประการ วัฒนธรรม (culture) ค่านิยม (values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy)

ในบทความของชำนาญ จันทร์เรือง (2564) ชี้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาโดย Joseph S. Nye ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์จากสถาบันจอห์น เอฟ เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีประสบการณ์ทั้งในวงวิชาการและวงการเมือง เพราะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งที่บิล คลินตัน เป็นประธานาธิบดี ซึ่งเขาได้พัฒนาแนวคิดนี้ร่วมกับ Robert Keohane โดยได้เขียนหนังสือ Power and Interdependence ตั้งแต่ปี 1977 มาแล้ว ซึ่งบริบทแตกต่างจากปัจจุบันนี้มาก โดยหากนิยามแบบแคบ ๆ ก็คือ ซอฟต์พาวเวอร์ หมายถึงอํานาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจ พร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป อํานาจในลักษณะนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ หรืออํานาจเชิงบังคับอย่างอํานาจทางทหาร ที่เรียกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ (hard power) ซึ่งในกรณีของสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่ามีทรัพยากรเชิงซอฟต์พาวเวอร์ ที่เข้มแข็ง อาทิ วัฒนธรรมที่เสนอผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการค้าเสรี เป็นต้น ส่วนหากจะนิยามแบบกว้าง ๆ ซอฟต์พาวเวอร์ก็คืออำนาจโดยปราศจากกำลังทางทหาร (Non-military power) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซอฟต์ พาวเวอร์คืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมอง แนวคิดของผู้คน และมีส่วนดึงดูดให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งได้

ส่วนในงานศึกษาของพิมพาภรณ์  บุญประเสริฐ (2566) หมายถึง ความสามารถที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยการชักจูง โน้มน้าวให้คนอื่นคล้อยตามความประสงค์ของเรา โดยคำนี้นำมาใช้ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่ออรรถาธิบายศักยภาพทางการเมืองของรัฐนั้น ๆ ที่ส่งอิทธิพลโดยทางอ้อมต่อพฤติกรรมหรือความสนใจของรัฐอื่น ๆ ผ่านการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมหรือความคิด ซอฟต์พาวเวอร์จึงเป็นอำนาจในการชักจูงมิใช่บังคับเพื่อให้ผู้รับสารเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ความเกรงกลัว การบริโภค การแต่งกายประเด็นสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์จึงประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมืองหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย และนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งเป็นมุมมองทางรัฐศาสตร์ในบริบทหลังสงครามเย็น ทว่าซอฟต์พาวเวอร์ยังมีนิยามอื่นและมีบทบาทขยายไปยังมิติทางเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านปรากฏการณ์ “คลื่นเกาหลี” (Korea Wave/ Hallyu) ที่เริ่มต้นปลายทศวรรษ 1990 และ “ญี่ปุ่นเท่” (Japan Cool) ที่เกิดขึ้นในปี 2002 เพื่อตีโต้กระแสวัฒนธรรมเกาหลี กล่าวคือการทำให้ประเทศอื่นยอมรับวัฒนธรรมของเขา ไปเสพ ไปใช้ แล้วกลายเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่าจากมุมมองเรื่องการเมือง สังคม วัฒนธรรม ซอฟต์พาวเวอร์มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนิยามความหมายของซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ หมายถึง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ในบางวัฒนธรรมอาจหมายรวมถึงศิลปะความบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ แต่ในรายละเอียดอาจมีการให้คำอธิบายที่แตกต่างกันไป

ในงานศึกษาชิ้นนี้ของพิมพาภรณ์ ยังได้วิเคราะห์นิยามความหมายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไว้ว่าอาจหมายถึง “ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่พัฒนาคนพัฒนาชาติสู่ระดับโลก ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไทย อันจะนำมาซึ่งรายได้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนด้วยการสร้างให้มีหรือกำหนดให้เป็น”  ในความเข้าใจของประชาชนผ่านสารที่รัฐบาลนำเสนอ ซอฟต์พาวเวอร์จึงมิใช่เป็นเพียงอำนาจละมุนที่ดึงดูด “คนนอก” มิใช่เป็นเพียง “เสน่ห์” หรือการ “บริหารเสน่ห์” ที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม หากแต่มีนัยเรื่องอำนาจต่อ “คนใน” ผ่านการคัดเลือก สร้าง และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

ส่วน THACCA (Thailand Creative Content Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ได้ให้คำนิยามซอฟต์พาวเวอร์ว่าคือ “การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การทำให้คนมีส่วนร่วม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเรื่องการเมือง การปกครอง นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกชนชั้น และสังคมการเมืองทุกรูปแบบ ทั้งยังแฝงอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ และเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม”

ส่องยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ดังที่ได้กล่าวไปว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้พยายามผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นรูปธรรม โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขึ้นมาขับเคลื่อน โดยในเดือนตุลาคม 2566 ได้มีการเปิดเผยแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยอย่างบูรณาการ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power เป้าหมายของประเทศไทย โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแผนงานโครงการภายใต้ทั้ง 11 สาขาในเบื้องต้นแล้วจำนวน 54 โครงการ กรอบวงเงิน 5,164 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังจะมีการเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามตามนโยบาย OFOS และ THACCA ได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยจะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร, กีฬา, เฟสติวัล, ท่องเที่ยว, ดนตรี, หนังสือ, ภาพยนตร์, เกม, ศิลปะ, การออกแบบ, แฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สร้าง One Stop Service อำนวยความสะดวกในการดำเนินการของอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ พร้อมกับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา การสร้างแรงจูงใจด้านภาษี การทลายกรอบบรรทัดฐานเดิมเพื่อให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด มีการเพิ่มพื้นที่สำหรับ Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ การพบปะกันเพื่อริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ

ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก จะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกซึ่งจัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพสูงเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ของพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบาย "1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA)" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

นโยบาย One Family One Soft Power

ส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการ “พัฒนาคน” (นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power) โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” ที่จะมีในทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเองในทุกด้าน  ไม่ว่าทักษะด้านการทำอาหาร ร้องเพลง ออกแบบ ศิลปะ กีฬา และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะ “ไม่เสียค่าใช้จ่าย” เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน ที่มีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี

นอกจากสร้างคนแล้ว เราจะ “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” เพื่อรองรับแรงงานทักษะสูง โดยจะสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการปลดปล่อยเสรีภาพ ปลดล็อคกฎหมาย ทลายทุกอุปสรรค สนับสนุนเงินทุน ขยายการส่งออกผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณที่เพียงพอทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ จะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างอุตสาหกรรมให้เติบโต สร้างเงินเข้าประเทศมหาศาล และสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟท์พาวเวอร์

THACCA เพื่อ “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” เพื่อไทยจะทำอะไรบ้าง?

การผลักดัน Soft Power ไทยจะเป็นจริงได้ ต้องทำทั้งระบบด้วยการ “สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน” ด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS) และต้อง “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” ด้วยเจ้าภาพหลัก คือ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ที่จะดูแล Soft Power อย่างเป็นระบบ ครบวงจร

THACCA จะทำอะไรบ้าง เพื่อผลักดัน Soft Power ไทยอย่างครบวงจร

1. THACCA ดูทั้งระบบ จบที่เดียว เป็นเจ้าภาพหลัก ดูทั้งระบบเบ็ดเสร็จองค์กรเดียว ไม่ต้องประสานงานวิ่งหลายหน่วยงาน

2. กองทุนรวมซอฟต์พาวเวอร์ รวมกองทุนที่กระจัดกระจายในหลายหน่วยงานให้อยู่ภายใต้การดูแลของ THACCA และเติมทุนให้ทุกสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ลดหย่อนภาษีสร้างแต้มต่อให้รายเล็กและรายใหม่

3. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยาย TCDC ครบทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชน และลงทุนถนน ราง เรือ ขยายสนามบิน

4. ยกระดับคนทำงานด้วย 1 ครอบครับ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) สร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ เรียนฟรีมีเงินเดือนผ่านการเรียนไปทำงานไป สนับสนุนให้ตั้งสหภาพคนทำงานในทุกสาขา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจ้างงานและคุ้มครองสวัสดิการ

5. รื้อกฎหมาย ทลายอุปสรรค เลิกงานเอกสาร ลดขั้นตอน ลัดเวลา ในการประสานงานและขอใบอนุญาตทุกฉบับ แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดล็อคสุราเสรี ปลดล็อคเวลาเปิดปิดธุรกิจกลางคืน กวาดล้างขบวนการรีดไถ่จ่ายส่วนให้หมดไป

6. ปลดปล่อยเสรีภาพในการแสดงออก เลิกเซนเซอร์ เปิดพื้นที่แสดงออก ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์

7. เร่งผลักดัน 8 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย (ศิลปะร่วมสมัย, งานออกแบบ งานฝีมือ และแฟชั่น, การท่องเที่ยว, กีฬา, อาหาร, ภาพยนตร์, หนังสือ, ดนตรี, เฟสติวัล) เร่งส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ เจรจาเปิดตลาดใหม่ ขยายขนาดอุตสาหกรรม สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

สำรวจตรวจตราเบื้องต้น ความเป็นไปได้ “ซอฟต์พาวเวอร์พะเยา”

พะเยาเป็นเมืองมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ เดิมชื่อว่า “พยาว” หรือ “ภูกามยาว” เป็นเมืองเก่าแก่ในแคว้นล้านนา ตั้งอยู่เชิงเขาชมพูหรือดอยด้วน ใกล้แม่น้ำสายตาหรือแม่น้ำอิง ตั้งขึ้นพุทธศตวรรษที่ 16 ประมาณปี พ.ศ.1638 โดยพ่อขุนจอมธรรม กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลั๊วะจักราช และเจริญรุ่งเรืองพร้อมกับกรุงสุโขทัย

พุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ เมืองพะเยามีความเจริญมาก มีฐานะเป็นเมืองเอก เรียกว่า “อาณาจักรพยาว” ต่อมาพะเยาถูกยึดครองและตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาของราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ. 1877-1879)

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษฐิระ อดีตเจ้าเมืองสองแคว ผู้มีเชื้อพระวงศ์สุโขทัย ให้มาเป็นเจ้าครองเมือง เมืองพะเยามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปะและวิทยาการ จากนั้นค่อยๆ เสื่อมลง ในปี พ.ศ. 2101 พม่ายึดครองอาณาจักรล้านนาและปกครองล้านนาอยู่ 200 ปีจวบจนปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียึดเมืองเชียงใหม่สำเร็จ และโปรดให้พระเจ้ากาวิละครองเมืองลำปาง และยึดครองล้านนาบางส่วนรวมทั้งเมืองพะเยาคืนมาได้                                     

พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พม่ายกทัพมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งเมืองพะเยา ประชาชนต้องอพยพไปอยู่เมืองลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลานานถึง 50 ปี 

พ.ศ. 2386 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้เจ้าหลวงวงศ์นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปางแล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลำปางจากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร)

พ.ศ. 2437 - 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิม เป็นการปกครองแบบ “มณฑลเทศาภิบาล” เมืองพะเยา ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ) และยุบให้มีฐานะเป็น “อำเภอเมืองพะเยา” แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา

พ.ศ.2457 มีการเปลี่ยนระบบการปกครองใหม่ทำให้เมืองพะเยาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย  

และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “จังหวัดพะเยา” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยา ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 โดยจังหวัดพะเยาประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ

จากอดีตอันยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน พะเยาได้สะสมความโดดเด่นและความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้อย่างมากมาย กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพตามแนวนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้

เมื่อพิจารณาซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดัน ซึ่งได้แก่ อาหาร, กีฬา, เฟสติวัล, ท่องเที่ยว, ดนตรี, หนังสือ, ภาพยนตร์, เกม, ศิลปะ, การออกแบบ, แฟชั่น นั้นผู้เขียนได้ลองสำรวจตรวจตราและจัดหมวดตัวอย่างคร่าว ๆ โดยใช้ข้อมูลจากสำนักสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา เน้นในหมวด อาหาร, เฟสติวัล, ท่องเที่ยว และการออกแบบ ได้ดังนี้

ตารางแสดงตัวอย่างทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาเป็นซอฟพาวเวอร์ 4 ด้านของพะเยา

อาหาร

เฟสติวัล

ท่องเที่ยว

ออกแบบ

ปลาส้ม (อ.เมือง)

ถั่วเน่า (อ.เมือง)

ข้าวส้ม (อ.เชียงคำ)

แอ่งแถะ (อ.เชียงม่วน)

ลาบ (ทุกอำเภอในจังหวัดพะเยา)

ตำเตา (อ.เมือง)

ขนมจีนยายหม่อม (อ.เมือง)

น้ำปู (อ.เมือง)

กะละแมโบราณ (อ.เชียงคำ)

ไส้อั่ว (อ.เมือง)

 

งานสืบสานตำนานไทลื้อ (อ.เชียงคำ)

ฟ้อนผีมด-ผีเม็ง (อ.เมือง)

ตักบาตรชายแดนไทยลาว (อ.ภูซาง)

ปีใหม่เมี่ยน

เวียนเทียนกลางกว๊าน (อ.เมือง)

ประเพณีตานข้าวสังฆ์ดิบ

งานสถาปนาจังหวัดพะเยา

ประเพณีแปดเป็งไหว้สาปูจาพระเจ้าตนหลวง

ประเพณีตานตุงไทลื้อ (อ.เชียงคำ)

ประเพณีปู่จาพญาลอ

กว๊านพะเยา (อ.เมือง)

อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง (อ.เมือง)

เฮินไตลื้อแม่แสงดา (อ.เชียงคำ)

อุทยานแห่งชาติ (อ.ภูซาง)

วนอุทยานภูลังกา (อ.ปง)

ผาช้างน้อย (อ.ปง)

หนองเล็งทราย (อ.แม่ใจ)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ (อ.จุน)

 

ผ้าทอไทลื้อ (อ.เชียงคำ อ.เชียงม่วน)

ตุ๊กตาไทลื้อ (อ.เชียงคำ)

ตะแหลว (อ.เชียงคำ)

กระเป๋าผักตบชวา (อ.เมือง)

มีดบ้านร่องไฮ (อ.เมือง)

ผ้ามัดหมี่ลายขอ (อ.ปง)

แก้วไวน์จากกะลามะพร้าว (อ.เมือง)

 

จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่าจังหวัดพะเยาเองก็มีของดีประจำถิ่นอยู่มากมายหลากหลายในอำเภอต่าง ๆ และบางอย่างได้รับการยกย่องเชิดชูแล้ว บางอย่างก็รอการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดพะเยา

โดยในตอนต่อไปของบทความชุดนี้จะขอลงในรายละเอียดตัวอย่างไอเดียการสร้างซอฟต์พาวเวอร์จากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เด่น ๆ ของจังหวัดพะเยา.

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา
โครงการแผนที่ทุนทางสังคมจังหวัดพะเยา
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย, ชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ตุลาคม 2561
ชำนาญ จันทร์เรือง: ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) คือ อะไร?, ประชาไท, 28 ตุลาคม 2564
มรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์: SOFT POWER เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, หน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), ธันวาคม 2564
"ไส้อั่ว" สูตรดั้งเดิม จ.พะเยา อีกหนึ่ง ซอฟต์ พาวเวอร์ ขายดีของทุกวัน, คมชัดลึก, 5 มิถุนายน 2565
ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน จ.พะเยา มรดกภูมิปัญญากว่า 100 ปี ซอฟต์พาวเวอร์ที่ไปสร้างชื่อหลายประเทศ, ผู้จัดการออนไลน์, 16 มีนาคม 2566
นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินัดแรก มอบ “แพทองธาร” เป็นประธานเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ กำชับหน่วยงานรัฐและเอกชน เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว, เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 3 ตุลาคม 2566
กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนตามนโยบาย รมว.เกษตรฯ นำร่องพัฒนา 5 สาขา "พะเยาโมเดล", ไทยรัฐ, 6 พฤศจิกายน 2566
ททท.เชียงราย ผนึกทุกภาคส่วนเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ“สุขทันที...ที่เที่ยวพะเยา”คาดรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท, ฐานเศรษฐกิจ, 11 ธันวาคม 2566
วาทกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาลไทย, พิมพาภรณ์ บุญประเสริฐ, วิวิธวรรณสารปีที่ 7 ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม) 2566
เปิดงบฯ Soft Power ทั้ง 11 สาขา 54 โครงการ กว่า 5 พันล้านบาท, Rocket Media Lab, 5 มกราคม 2567

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: