WHO หนุนไทยห้ามนำเข้า-ขาย 'บุหรี่ไฟฟ้า' แนะเพิ่มความเข้มแข็งการบังคับใช้กฎหมาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 2855 ครั้ง

WHO หนุนไทยห้ามนำเข้า-ขาย 'บุหรี่ไฟฟ้า' แนะเพิ่มความเข้มแข็งการบังคับใช้กฎหมาย

ผอ.WHO ประจำประเทศไทย ได้เข้าให้ ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า’ ต่อ กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า ชี้บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เสพติด เด็กเยาวชนตกเป็นเป้าหมายการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า แนะไทยซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วนั้น ควรเพิ่มความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย และรัฐควรปกป้องนโยบายสาธารณะจากการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า

23 ก.พ. 2567 ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และคณะ ได้เข้าให้ข้อมูล ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า’ ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยสรุปได้ดังนี้

1. บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายและเสพติด โดยนํ้ายาในบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยนิโคติน สารแต่งกลิ่นรส และสารประกอบอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดมะเร็ง ปอดอักเสบเฉียบพลัน ส่งผลเสียต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ และการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้างอีกด้วย ทั้งนี้นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางสมองของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งช่วงวัยนี้จะมีความไวต่อการเสพติดนิโคตินเป็นอย่างมาก

2. เด็กและเยาวชนตกเป็นเป้าหมายการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีการทำการตลาดส่วนใหญ่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์ จึงสามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ซึ่งการได้พบเห็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมออนไลน์นั้น เพิ่มความอยากลองและมีผลต่อทัศนคติที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีการแต่งกลิ่นรสถึง 16,000 รูปแบบ จากการศึกษาพบว่า กลิ่นรสที่ดึงดูดใจของบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นปัจจัยให้เริ่มการทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเสพติดและใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำต่อไป นอกจากนั้นบุหรี่ไฟฟ้ายังมีการออกแบบรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย มีสีสันดึงดูดใจ มีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับของใช้ชนิดอื่นๆ และเป็นตัวการ์ตูน เพื่อการหลบซ่อนจากครูหรือผู้ปกครอง

3. อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่มขึ้นสูงมากในเด็กและเยาวชน จากการสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กสูงกว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในผู้ใหญ่ในหลายๆ ประเทศ เช่นเดียวกับในประเทศไทยพบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเด็กอายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 นอกจากนั้นการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายฉบับพบตรงกันว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มอัตราการใช้บุหรี่มวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ถึง 3 เท่า

4. บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยในการเลิกบุหรี่ในระดับประชากร ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับการโปรโมทว่าช่วยในการเลิกบุหรี่ แต่จากข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการใช้จริงยังไม่พบว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ในระดับประชากรทั่วไป และยังพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลให้มีการเสพติดนิโคตินในระยะต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลเรื่องอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ประกอบกับความเสี่ยงที่จะเสพติดนิโคตินต่อเนื่อง ทำให้สรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีประสิทธิภาพโดยรวมในการใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลและมีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อการช่วยเลิกบุหรี่นั้นควรแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้

5. ข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก แต่ละประเทศควรเร่งดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน โดยการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการที่ครอบคลุมในการควบคุมการใช้บุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วนั้น ควรจะต้องเพิ่มความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย และมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบมาตรการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม นอกจากนั้นรัฐควรจะปกป้องนโยบายสาธารณะจากการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: