กฟผ. ศึกษาเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 8204 ครั้ง

กฟผ. ศึกษาเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาการนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) มาผลิตไฟฟ้าป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในหน่วยการผลิตที่หมดอายุลง ขนาดกำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ คาดใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว 3 แสนไร่ เตรียมเสนอกระทรวงพลังงาน เพื่อให้บรรจุเป็นการผลิตไฟฟ้าชีวมวลไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ต่อไป

Energy News Center รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2567 ว่านายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาโครงการนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellets) มาผลิตไฟฟ้า เบื้องต้นจะนำ wood pellets มาเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในหน่วยการผลิตที่หมดอายุเป็นหลัก โดยมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์

โดยการผลิตไฟฟ้าจาก wood pellets ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2065

สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้ในอนาคตจะขายเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้นโครงการดังกล่าวจะต้องนำเสนอกระทรวงพลังงาน เพื่อให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนดังกล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ลงนามทึกข้อตกลงความร่วม (MOU) กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เพื่อศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไปเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยทาง อ.อ.ป. จะเป็นผู้ประสานชุมชนเพื่อจัดหาพื้นที่และปลูกพืชโตเร็ว สำหรับนำมาทำ wood pellets เป็นเชื้อเพลิงให้หน่วยผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3 แสนไร่ สำหรับการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ โดยหากสามารถเริ่มปลูกได้ในปี 2567 นี้ น่าจะเริ่มตัดไม้เพื่อผลิตเป็น wood pellets ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2567 นี้ อาจจะเกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตขึ้นทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น รวมทั้งมีการใช้ไฟฟ้าจากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ประกอบกับมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้นด้วย ดังนั้นพีคไฟฟ้าอาจจะไปเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนได้

อย่างไรก็ตามในปี 2567 นี้ กฟผ. จะมีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจาก “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid)” ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบในเดือน มี.ค. 2567 นี้ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: