ชี้ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำขณะสอบปากคำ และต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวทุกครั้ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 2170 ครั้ง

ชี้ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำขณะสอบปากคำ และต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวทุกครั้ง

จากกรณี ‘ลุงเปี๊ยก’ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายชี้ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหา ขณะสอบปากคำ และต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวทุกครั้ง วอน ผบ.ตร. ลงโทษหนักตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาทุกคน

18 ม.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องการทรมานและอุ้มหายเป็นหนึ่งในประเด็นที่แอมเนสตี้ผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการคุลมถุง ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต น.ส.บัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ตามที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ชี้ตำรวจไม่มีอำนาจคลุมถุงดำ ขณะสอบปากคำ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิต น.ส.บัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ชี้ ผิดกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย ม.6 อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำ โหดร้ายไร้มนุษยธรรม-ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิด ม.157 และขณะควบคุมตัวต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานยืนยันความโปร่งใสขณะจับกุมย้ำตำรวจไทยต้องไม่ลืมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามทรมานอุ้มหาย

จากคดีการเสียชีวิตของนางสาวบัวผัน หรือ ‘ป้ากบ’ ที่พบเยาวชนในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวะสระแก้ว ตกเป็นผู้ต้องหาเพราะร่วมกันก่อเหตุ ยังเป็นคดีฆาตกรรมที่สังคมให้ความสนใจ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ต้องสงสัยคือ ‘นายเปี๊ยก’ สามีของนางสาวบัวผัน ผู้เสียชีวิต ออกมาให้ปากคำกับตำรวจและทำแผนประกอบคำรับสารภาพตามพื้นที่ต่างๆ จนล่าสุดมีการตั้งข้อสงสัยถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ดูแลคดีความว่าโปร่งใสและผิดกฎหมายมาตราใดบ้างในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

ภายหลังจากที่มีการออกมาอ้างว่าขณะควบคุมตัว ‘นายเปี๊ยก’ สามีของนางสาวบัวผัน ผู้เสียชีวิต ตำรวจไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการจับกุม ด้วยกล้อง Boday Cam ตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย’ โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวและผู้ต้องสงสัยยินดีที่จะมอบตัว รวมถึงมีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีความคุยกันว่า มีการนำถุงดำคลุมหัว ‘นายเปี๊ยก’ ในห้องสอบปากคำ โดยคุยกันในลักษณะที่ว่าเป็นการทำเล่นๆ ไม่ได้มัดหรือทำให้หายใจไม่สะดวก

ควบคุมตัวผู้ต้องสัยคดีต่างๆ ตำรวจต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว Body Cam ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เผยว่า การเชิญตัวหรือให้มอบตัวใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในคดีการเสียชีวิตของนางสาวบัวผัน หากตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงด้วยภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam ตามมาตรา 22 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย ขณะควบคุมตัว โดยอ้างว่าไม่ได้บังคับเพราะผู้ต้องสงสัยคือ ‘นายเปี๊ยก’ เต็มใจมอบตัวกับตำรวจนั้น

ในกรณีนี้ต้องดูพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ มานำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาไปสอบปากคำ แม้ตำรวจอ้างว่าเชิญตัว แต่หากผู้ถูกเชิญตัวไม่ไป หรือไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจจะใช้กำลัง ก็ถือว่าเป็นการควบคุมตัวแล้ว หรือถ้าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้าใจว่า ถ้าตำรวจบอกให้ไป ตัวเองต้องไป มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังบังคับ ก็หมายถึงเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวเช่นกัน จึงต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนกว่าจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน และระหว่างการสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพและเสียงด้วยจนสิ้นสุดตามกฎหมาย

“ถ้าตำรวจอ้างว่าเป็นการเชิญตัว ‘ลุงเปียก’ มาสอบปากคำ และเป็นการมามอบตัวเอง จึงไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam สำหรับเรื่องนี้แม้ตำรวจจะอ้าง แต่ว่าผู้บังคับบัญชาต้องสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอบสวนผู้ที่เห็นเหตุการณ์ โดยเฉพาะ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนางสาวบัวผัน ว่าเขารู้สึกอย่างไรหรือเข้าใจอย่างไรตอนนั้น ตำรวจมีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าเขาเข้าใจว่าตำรวจเข้ามาควบคุมตัว ถ้าตัวเองไม่ไปก็ไม่ได้ น่าจะถือว่าเป็นการจับกุม เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนให้ชัด มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าเป็นการคุกคามต่อสวัสดิภาพหรือเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยให้ตำรวจอ้างตลอดเวลาว่า ‘เชิญตัว’ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย จะไม่มีผลบังคับใช้”

ตำรวจไทย ไม่มีสิทธิคลุมถุงดำ สอบปากคำผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหา เข่าข่ายโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนกรณีที่มีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นการคุยกันระหว่างตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของนางสาวผัวผัน ที่พูดถึงการใช้ถุงดำคลุมหัว ‘นายเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยในขณะนั้น นายสมชาย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ระบุว่า หากเป็นเรื่องจริงการที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องสงสัยคดีนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“อยากจะถามว่า ‘ลุงเปี๊ยก’ เป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรือยังไง ถึงเล่นกันโดยการนำถุงดำมาคลุมหัวเล่นกับเขา ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ โดยพฤติกรรมถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด แล้วตำรวจกำลังสอบปากคำ เอาถุงดำมาคลุม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ประเด็นที่สองน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนที่ถูกถุงดำคลุมขณะอยู่ในภาวะเช่นนั้น ต้องมีความรู้สึกตกใจอย่างมากจนแทบสิ้นสคชติ น่ามีความรู้สึก หวาดกลัวอย่างสุดขีด”

ส่วนกรณีที่มีประเด็นอ้างว่า ตำรวจถอดเสื้อ ‘ลุงเปี๊ยก’ ผู้ต้องสงสัยระหว่างอยู่ในห้องสอบปากคำให้อยู่ในที่แอร์เย็น ถือเป็นการทรมานหรือไม่ นายสมชาย กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย บอกว่าในส่วนนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีเช่นกัน โดยอาจไม่ถึงขั้นทรมาน

วอน ผบ.ตร. ลงโทษหนักตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาทุกคน

นายสมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพูดทิ้งท้ายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในคดีการเสียชีวิตของนางสาวบัวผัน ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว รวมถึงคดีอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการทรมานและอุ้มหายว่า ตำรวจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เป็นผู้ที่รักษากฎหมายและมีอำนาจตามกฎหมาย มีหน้าที่ในการเคารพปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หากตำรวจมีพฤติกรรมแบบที่ปรากฏเป็นข่าวจริง คือการทำความผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระดับสากล รวมถึงเป็นการกระทำที่ชี้ชัดว่าผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในทางวินัยและในทางอาญา

“เรื่องนี้น่าจะได้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับผู้เสียหาย ในทางกฎหมายแนะนำว่าน่าจะต้องมีการแจ้งไปที่พนักงานอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือฝ่ายปกครอง เพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ ที่นี้หากทางผู้เสียหายไม่ดำเนินการ ใครก็สามารถแจ้งไปที่พนักงานอัยการ DSI หรือแจ้งไปที่นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นคดีที่เข้าข่ายในลักษณะความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ ใครๆ ก็สามารถแจ้งได้”

ส่วนที่มีการสั่งย้ายตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนเดิมในคดีการเสียชีวิตของนางสาวบัวผัน เรื่องนี้นายสมชาย ฝากถึง พลตำรวจเองสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) การย้ายตำรวจที่อาจจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยังไม่ใช่การลงโทษแต่เป็นเพียงการย้ายเพื่อที่จะทำการสืบสวนสอบสวนต่อเพื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานในพื้นที่ ตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือทำให้เห็นความโปร่งใสในการทำงานของตำรวจ เสนอให้พักข้างราชจนกว่าจะสืบสวนสอบสวนสิ้นสุด

“พฤติกรรมอย่างนี้น่าจะสั่งพักราชการไปเลย ขั้นตอนต่อไปควรต้องดำเนินคดีทางวินัยและอาญาต่อไปกับตำรวจกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้ตำรวจคนอื่นๆ ทำเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป อันนี้ฝากทางท่านรอง ผบ.ตร. ด้วย เพราะท่านเป็นคนเอาจริง เอาจัง และเคร่งครัด อยากจะให้เอาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปราบการทรมานอุ้มหาย ถูกใช้อย่างจริงจังในสังคมไทย ไม่ควรมีใครถูกกระทำอย่างย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยะรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

การทรมาน คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว การทรมานอาจก่อให้เกิดบาดแผลทางร่างกายจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย เช่น ทุบ ตี ทำร้ายร่างกาย บีบหรือรัดคอให้หายใจไม่ออก หรือในทางจิตใจ เช่น การบังคับอดนอน อดอาหารและน้ำ หรือสร้างความอับอายให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ การทรมานด้วยรูปแบบใหม่ๆ อาจทำให้ไม่เกิดรอยแผลบนผู้เสียหาย แต่สร้างความเจ็บปวดอันสาหัส เช่น การทุบด้วยวัสดุพิเศษ หรือขังไว้ในห้องเย็น ทำให้การตรวจสอบร่องรอยการทรมานทำได้ยากขึ้น

การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฏหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการทรมานเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทั้งไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: