ฟังเสียงจากฝ่ายคัดค้านตลาดคาร์บอนในไทย

สมานฉันท์ พุทธจักร 17 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6387 ครั้ง

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ “COP28” จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จบลงพร้อมคำสัญญาที่คลุมเครือเรื่องปลดระวางการใช้พลังงานฟอสซิล รวมทั้งการออกมาสนับสนุนให้มีการสร้างกลไกลกระตุ้นให้ตลาดการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” - ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมออกมาคัดค้าน โดยบอกว่าที่ผ่านมามีงานศึกษามากมายชี้ว่าแนวทางตลาดคาร์บอน เป็นทางออกที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ “COP28” จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จบลงพร้อมคำสัญญาที่คลุมเครือของนานาชาติ ในเรื่องปลดระวางการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะเดียวกันสิ่งที่ถูกผลักดันอย่างมากในเวที COP ครั้งนี้ คือการที่ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ไปจนถึงผู้ค้าคาร์บอนเครดิต ออกมาสนับสนุนให้มีการสร้างกลไกลกระตุ้นให้ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้นเติบโตมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน ออกมาคัดค้าน โดยบอกว่าที่ผ่านมามีงานศึกษามากมายที่ชี้ชัดได้ว่าแนวทางตลาดคาร์บอน เป็นทางออกที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และตามมาด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิต่อชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งยังเป็นเพียงข้ออ้างให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากได้ต่อไป

จึงพยายามเรียกร้องผ่านการประชุม COP ครั้งนี้ ให้มีการหยิบยก มาตรา 6.8 ในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กำหนดในแต่ละประเทศสามารถออกแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ต้องอาศัยกลไกลตลาดคาร์บอน แทนการแก้ปัญหาผ่านระบบตลาดคาร์บอนเพียงเป็นหลักอย่างที่เป็นอยู่

โดยประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในภาคี UNFCCC ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามผลักดันอย่างมากให้เกิดตลาดคาร์บอนขึ้นในประเทศ ด้วยการร่วมกับเอกชนทำโครงการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า เช่นกันในเวทีระดับโลก ในส่วนของไทย ก็มีภาคประชาชนและนักวิชาการหลายคน ที่ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับตลาดคาร์บอน และพยายามเสนอเครื่องมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ

Green peace: แก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องเป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศจริง ๆ มันคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคหรือเทคโนโลยี เพราะคนที่ได้ผลกระทบมากที่สุด เป็นกลุ่มคนจน คนด้อยโอกาส” ธารา บัวคำศรี จาก Green peace ประเทศไทย อธิบายว่าการเริ่มต้นเรียกร้องการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศของโลก นั้นเกิดขึ้นจากแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน ที่มองว่าหากเกิดวิกฤตภูมิสภาพอากาศนั้นจะกระทบต่อสิทธิด้านต่าง ๆของประชาชน โดยเฉพาะในชุมชนที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง แนวทางการแก้ปัญหาสภาพอากาศจึงต้องคำนึงสิทธิด้านต่าง ๆของประชาชนไปพร้อมกันด้วย

ในประชุม COP28 ครั้งนี้ ข้อถกเถียงหลักในวงเจรจา คือการความพยายามสร้างข้อตกลงร่วมกัน ให้ทั้งโลกปลดระวางการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีสมาชิกกว่า137 ประเทศ ได้เสนอในวงเจรจาให้มีการบรรจุคำว่า Phase out หรือยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล  ลงไปใน “ในคำประกาศสุดท้าย” ที่เป็นเหมือนฉันทามติร่วมกันของการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้เป็นมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างแผนการหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลให้ได้จริงในอนาคตต่อไป แต่กลับมีเหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันออกมาคัดค้าน โดยพยายามเสนอให้ใช้คำว่า Phase down หรือค่อยๆลดการใช้ฟอสซิล บรรจุเข้าไปแทน สร้างความไม่พอให้กับหลายฝ่าย นำมาสู่การเจรจาที่ยืดเยื้อ โดยในที่สุดผลการเจรจาก็ออกว่าให้มีการใส่คำว่า “transition Away” หรือเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิล ลงไปในคำประกาศสุดท้าย

“กลไกลตลาดคาร์บอนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง ให้ประเทศมหาอำนาจไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซ” สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุม COP ครั้งนี้ คู่ขนานไปกับวาระการปลดระวางเชื้อเพิงฟอสซิล คือการพยายามผลักดันตลาดคาร์บอนให้เติบโต แม้ใน COP ครั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก แต่ธารา มองว่าในอนาคตประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างกลุ่มประเทศค้าน้ำมัน จะใช้การลงเงินสนับสนุนคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นข้อต่อรองให้ตัวเองไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่ที่ผ่านมามีทั้งรายงานข่าวจำนวนมากที่ออกมาเปิดเผย ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในโครงการคาร์บอนเครดิตในหลายพื้นที่ของโลก รวมทั้งยังถูกประเมินจากองค์กรทางวิชาการว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤติสภาพอากาศที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคประชาสังคมรวมถึง Green peace จึงพยายามเสนอในเวที COP ที่ผ่านมาให้หยิบยก มาตรา 6.8 ขึ้นมาผลักดัน ซึ่งเป็นกลไกลความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องอาศัยกลไกลตลาดคาร์บอน ซึ่งเปิดพื้นที่ให้มีการพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศแนวทางอื่น ๆ ผ่านกลไกลที่มีอยู่ขององค์การสหประชาชาติ

ตัวเทนจาก Greenpeace ประเทศไทย ชูป้ายที่มีข้อความ “ผืนป่าไม่เท่ากับคาร์บอนเครดิต” ต่อหน้า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2” (TCAC 2023) / ที่มา: Greenpeace

โดยมีบทเรียนปัญหาของโครงการคาร์บอนเครดิตในอเมริกาใต้เป็นตัวอย่างสำคัญ ที่มีบริษัทที่เข้าทำโครงการในพื้นที่ป่า เกิดการละเมิดสิทธิขึ้นจำนวนมาก เช่นไล่ลื้อชุมชนออกจากป่า หรือจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน เป็นเหตุผลที่ Green peace ประเทศไทย เคลื่อนไหวคัดค้านตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยเฉพาะการนำพื้นที่ป่าของประเทศไปเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป ในป่าคาร์บอน

ตลอดช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน มีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับรัฐ นำพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของรัฐ ไปให้บริษัทเอกชนเข้าใช้ประโยชน์พัฒนาเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตมากกว่าล้านไร่ และในรัฐบาลชุดใหม่โดย เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ประกาศประกาศในงานประชุมด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศระดับชาติ อย่างชัดเจนว่า จะใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ทำให้ภาคประชาชนต่างกังวลว่าจะมีละเมิดสิทธิประชาชน โดยการไล่ยึดที่ดินของชาวบ้านที่กำลังเป็นข้อพิพาทกับหน่วยงานป่าไม้

นอกจากนั้นแล้วยังมีความกังวลว่าโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในป่า เนื่องจากมีแนวโน้มที่ จะเน้นปลูกเฉพาะพันธุ์ไม้ที่ถูกระบุว่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดี โดยละเลยลักษณะความหลากหลายทางชีวภาพจำเพาะของแต่ละพื้นที่ “แนวคิดการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิตในระยะยาวมันมีผลกระทบต่อเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแน่นอน เพราะมันไปลดทอนมุมของเราที่มีต่อป่า ทำให้ป่ามันมีหน้าที่แค่ตอบสนองเรื่องคาร์บอนเครดิต” สุรินทร์ อ้นพรหม ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านป่าไม้ และสิทธิชุมชนกล่าว โดยอธิบายว่าพื้นที่ป่าแต่ละแห่งมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่มาก ไม่ใช่แค่พืชพันธุ์แต่ยังรวมไปถึงสัตว์ หรือระบบนิเวศน์แยกย่อยมากมายที่อาศัยอยู่ภายในป่า สามารถสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์และโลกได้ในหลายด้าน

แต่การเข้ามาของโครงการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า ทำให้การปลูกป่ามุ่งไปเพียงเพื่อให้สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุด โดยไม่สนใจประโยชน์ด้านอื่นของพื้นที่ป่า “เขาคิดแต่เพียงจะปลูกต้นไม้ให้ได้คาร์บอนเครดิตเยอะ ๆ เช่นเคยคุยกับบริษัทที่เขาทำคาร์บอนเครดิต เขาตั้งเป้าแค่ว่าจะปลูกป่าหนึ่งไร่ให้ได้เครดิต 0.95 ตันคาร์บอนเป็นต้น ซึ่งไปละเลยคุณค่าด้านอื่นของป่าแน่นอน”  สุรินทร์ กล่าว

โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่ามีต้นไม้ทั้งหมด 58 ชนิด ที่ดูดซับคาร์บอนได้ดี สามารถนำมาเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตได้

“ปัญหาคือพันธุ์ไม้เหล่านี้ไม่ได้นำไปปลูกแค่ในป่าเศรษฐกิจ แต่มันสามารถนำไปปลูกในป่าอื่นๆ อย่างป่าอนุรักษ์ได้ การที่เลือกชนิดโดยไม่คำนึงถึงชนิดป่าในระยะยาวมันมีกระทบ ” สุรินทร์ ยกตัวอย่างเช่นหากมีการนำไม้โตเร็ว เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตจำนวนมาก ไปปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำจะสร้างความเสียได้ และยังมีตัวอย่างบทเรียนโครงการคาร์บอนเครดิตในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกปรับเปลี่ยนให้มีพันธุ์ไม้เพื่อตอบสนองต่อบริษัทที่เข้ามาทำ MOU ซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงเท่านั้น แต่ระบบนิเวศน์ที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชนกลับถูกทำลาย

แก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องของคาร์บอน

“แนวคิด Net zero และคาร์บอนเครดิต ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถช่วยโลกได้ แล้วยังส่งผลกระทบกับต่อชุมชนทั่วโลก”  กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai climate justice for all ผู้ติดตามปัญหาการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ กล่าวโดยมองว่าแนวตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็กลับได้รับการผลักดันอย่างมากในเวทีนานาชาติ  แต่แนวทางอื่น ๆกลับไม่ถูกนำมาสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น

“เราเพ่งแต่ตัวคาร์บอนอย่างเดียวมากเกินไป จริง ๆ เราสามารถแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีอื่นอย่าง การรักษาระบบนิเวศ สร้างสิทธิชุมชน สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้รักษาป่า ต้องคิดให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด แต่เราตัดทั้งหมดออกไปให้เหลือแค่จะดูดซับคาร์บอนล้วน ๆ อย่างเดียว” กฤษฎา ยกตัวอย่างปัญหาการมีมุมมองในการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ ที่เน้นเพียงแค่เรื่องของคาร์บอน คือการสนับสนุนพลังงานจากการสร้างเขื่อน ซึ่งถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาด เพียงเพราะแค่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่ในความเป็นจริงการสร้างเขื่อนนั้นสร้างความเสียหายให้ต่อระบบนิเวศน์อย่างมาก

การที่นานาชาติสนับสนุนผลักดันเพียงแค่ตลาดคาร์บอน เหมือนเป็นทางออกเดียวในแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิกาศ ทั้งที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ ยังปิดกั้นไม่ให้มีสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบอื่น ๆ ที่ยั่งยืนกว่า “ตลอดคาร์บอนมันเหมือนตลาดหุ้นมันตลาดคริปโต เราไม่ควรฝากสิ่งแวดล้อมไว้กับระบบที่ผันผวน” 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: