สื่อและการสื่อสารใน 3 เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในประเทศไทย

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 15 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 15100 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก "Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" ย้อนดูสื่อและการสื่อสารใน 3 "เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน" (Mass Shooting) ในประเทศไทย ชี้ควรถอดบทเรียนและสร้างมาตรการป้องกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยสื่อ หรือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นและส่งต่อทั้งสิ้น | ที่มาภาพประกอบ: Veronica Jones/The Daily Texan

การยิงใส่ฝูงชน (Mass Shooting) เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตคนจำนวนมาก ไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้งนัก แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยต้องตื่นตระหนกกับการยิงใส่ฝูงชนจากครั้งแรก ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2563 เว้นช่วงไปสองปีเกิดเหตุการณ์ครั้งที่สองที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ในปี 2565 และล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ยิงในที่สาธารณะที่ห้างสยามพารากอนใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ WISESIGHT ทำการศึกษาวิเคราะห์การสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อเหตุการณ์การยิงใส่ฝูงชน ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู และที่ห้างสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจแลำรวบรวมประเด็นที่สื่อสารกันในโลกออนไลน์ พบความสนใจใน 5 ประเด็น คือ 1) ตัวเหตุการณ์การยิงใส่ฝูงชนและการเตือนภัย 2) การพกพาอาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ 3) การจัดการสถานการณ์ของภาครัฐ 4) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุและครอบครัว และ 5) การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่หมายรวมถึงทางออนไลน์ด้วย

เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน (Mass Shooting) เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นฉับพลันกับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่คู่ความขัดแย้งกับผู้กระทำ จึงสร้างความตระหนก ความหวาดกลัว ความสะเทือนใจ และความสงสัย ด้วยคำถามที่สะท้อนผ่านการสื่อสารของผู้คนในสังคมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและทางสื่อสารมวลชน คำถามแรก คือ อะไรคือมูลเหตุของการก่อเหตุและการเข้าถึงอาวุธปืน คำถามที่สอง คือ มาตรการการรักษาความปลอดภัยและการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ และคำถามที่สามคือ บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงคำแนะนำวิธีการเอาตัวรอดหากตกอยู่ในเหตุการณ์

อะไรคือมูลเหตุของการก่อเหตุและการเข้าถึงอาวุธปืน

ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวไว้ในงานการเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง: ที่มา ทางแก้ และป้องกัน” วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเกิดเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนครั้งแรกในประเทศไทยที่โคราช ความว่า ทางอาชญาวิทยาจากการศึกษาการกราดยิงในต่างประเทศผู้ก่อเหตุเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน (Mass Shooting)
มักมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ

1.เป็นคนที่เก็บตัว มีปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว ไม่มีที่ปรึกษาทำให้คิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

2.เป็นผู้ที่ถูกกระทำในวัยเด็ก เช่น มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกกระทำจากโรงเรียนหรือที่ทำงานทำให้เกิดความรู้สึกโกรธ เกลียด

3.เป็นผู้ที่คลุกคลีและได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาโดยตลอด เช่น มีพฤติกรรมฆ่าสัตว์ ชื่นชอบหรือสะสมอาวุธปืน

4.มีการเรียนรู้ศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาอย่างจริงจัง โดยการจดบันทึกและวางแผนเอาไว้ก่อน

ส่วนสาเหตุการก่ออาชญากรรมมักจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ มูลเหตุจูงใจ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดการตัดสินใจลงมือ และโอกาส คือ จังหวะเวลา และสถานที่ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น โอกาสการเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่ก่อเหตุได้ การป้องกันเรื่องนี้จะต้องทำทั้งสองอย่าง คือตัดโอกาสและตัดเหตุจูงใจ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะกระทำได้ยากทั้งสองอย่าง

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติที่เว็บไซต์ World Population Review รวมรวบไว้ (ข้อมูลปี 2565) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการครอบครองปืนมากที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 20 ของโลก พลเรือนคนไทยมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองมากถึง 10.3 ล้านกระบอก คิดเป็นสัดส่วน 15.41% ของประชากรไทย 66,090,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากติดอันดับที่ 15 โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ยังไม่นับรวมการมีปืนในครอบครองของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการก่อเหตุยิงใส่ฝูงชนเมื่อปี 2563 ที่โคราช และปี 2565 ที่หนองบัวลำภู เป็นการก่อเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอาวุธปืนในครอบครองและไม่ถูกเรียกคืนเมื่อพ้นหน้าที่ หากนับรวมอาวุธเทียมปืน อย่างในกรณีการก่อเหตุยิงใส่ฝูงชนที่ห้างสยามพารากอน โดยเยาวชนวัย 14 ปี ใช้ปืน Blank Gun ดัดแปลงมาใส่กระสุนจริง

หลังเกิดเหตุที่พารากอน กระทรวงมหาดไทยพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการครอบครอง การพกพา และการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวมถึงการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลจาก ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ปี 2563 มีการอนุมัติโครงการปืนสวัสดิการตำรวจ มีทั้งปืนสั้น – ปืนยาวรวมกันอย่างน้อย 127,116 กระบอก ปืนเหล่านี้เปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัด รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมถึงข้าราชการบำนาญ มีสิทธิซื้อได้ ปืนเหล่านี้ขายถูกกว่าราคาปืนทั่วไปในตลาดราวครึ่งหนึ่ง เพราะได้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีในการนำเข้า

โครงการปืนสวัสดิการ เป็นอีกหนึ่งช่องโหว่งที่ทำให้การมีอาวุธปืนทำได้ง่าย เช่น เมื่อจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ครอบครองปืนหลวงหรือปืนสวัสดิการก็ตาม เมื่อขัดสนเงินทองก็เอาปืนไปจำนำ หากสุดวิสัยก็ปล่อยขาดหรือขายไปแล้วทำเรื่องแจ้งหาย โดยยอมชดใช้และรับโทษทางวินัยหากเป็นปืนหลวง ซึ่งกินเวลานานกว่าเรื่องจะแดงขึ้นมาและการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้น นอกจากนี้ยังไม่มีการยึดปืนเจ้าหน้าที่คืนเมื่อพ้นหน้าที่ หรือเกษียณอายุราชการไปแล้ว

 
 
มาตรการการรักษาความปลอดภัยและการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์

การศึกษาในช่วงเกิดเหตุ พบการตำหนิภาครัฐที่ไม่มีข้อความแจ้งเตือนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นฉับพลัน ทำให้ประชาชนต้องทราบข่าวการยิงใส่ฝูงชนจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์

คำถามเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยดังขึ้นทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่ห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ ทางสยามพารากอนจะชี้แจงว่าได้เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนมา 3 ปี นับจากเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่โคราช โดยใช้มาตรการการฝึกซ้อมและการตั้งรับให้กับพนักงานและร้านค้าภายในศูนย์การค้า

แต่คำถามคำโตคือ ห้างไม่มีมาตรการการตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าหรือ แม้ว่าท้ายที่สุดผลการสืบสวนออกมาว่าอาวุธที่ผู้ก่อเหตุให้เป็นปืน “Blank Gun” (แบลงก์กัน) ที่ใช้ตอนปล่อยตัวนักกีฬาและใช้ในงานภาพยนตร์ งานการแสดง โดยนำมาดัดแปลงและใส่กระสุนจริง

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มีการฝึกอบรมเตรียมการรับมือกับเหตุกราดยิงทุก ๆ 3 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสายตรวจเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 5 นาที และขอกำลังเสริมจากตำรวจหน่วยที่ฝึกด้านการรับมือกับเหตุกราดยิง พร้อมจัดการอพยพคนออกตามมาตรการซึ่งมีผลช่วยลดความสูญเสีย

 
 
ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน พบว่าเรื่องการพกพาอาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจ (มี 224,879 Engagement) และตั้งคำถามถึงระบบรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ

เห็นได้ว่า เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนถือเป็นภาวะวิกฤติ เป็นสภาวะเหตุการณ์หรือสถานการณ์ชั่วคราวที่ไม่ได้คาดคิด เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน สร้างความสับสน ความตื่นตระหนก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบการสื่อสารและแจ้งเตือนในภาวะวิกฤติ (Emergency Alert)

แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านเหตุการณ์วิกฤติอย่างสึนามิมาและเรียนรู้ว่าจำเป็นจะต้องมีระบบการสื่อสารเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนที่สยามพารากอน ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกของการเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ภาครัฐก็ยังไม่มีระบบการสื่อสารแจ้งเตือนภัยในภาวะวิกฤติแต่อย่างใด จะมีก็แต่การสื่อสารเพื่อแจ้งเตือนของสยามพารากอนเองที่ส่ง SMS ถึงผู้เข้าอยู่ในพื้นที่สยามพารากอนบางคนว่า “ขณะนี้เหตุการณ์ฉุกเฉินให้อพยพออกจากพื้นที่พารากอน”

หลังเกิดเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอน รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงว่าจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงด้วยการใช้ระบบส่ง SMS (Location Based Service) และระบบ Cell Broadcast เพื่อส่งข้อความไปยังมือถือหลายเครื่องพร้อมกัน เพื่อให้การแจ้งเตือนผ่าน SMS ทำได้รวดเร็ว และเจาะจงพื้นที่ได้

 
 
 
โซเชียลมีเดียเป็นสื่อหลักเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารท่ามกลางวิกฤติ

จากการเก็บข้อมูลในระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับจากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น คือ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. ถึง วันที่ 4 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. พบว่า เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนในสยามพารากอนได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากถึง 20.2 ล้าน Engagement

หากจะวิเคราะห์การสื่อสารของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนทั้ง 3 ครั้ง พบว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารท่ามกลางเหตุการณ์วิกฤติ โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้สื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นประชาชนจึงติดตามข่าวสารเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดบนแพลตฟอร์มสื่อสังคม และช่วยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารดังกล่าวออกไปในวงกว้าง ในขณะที่สื่อมวลชนติดตามทำข่าวทั้งจากข้อมูลที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย และจากการลงพื้นที่ทำข่าว เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารผ่านทั้งโซเชียลและผ่านแพลตฟอร์มหลักของสื่อ ทั้งออนไลน์และทีวี

X เป็นแพลตฟอร์มสื่อสารที่สั้นกระชับรวดเร็วเหมาะกับการสื่อสารในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่สื่อสารข้อความสั้นและสามารถส่งภาพได้ ประกอบกับเป็นแพลตฟอร์มเปิดที่ผู้ใช้สามารถติดตามผู้

สื่อสารได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต และ X ยังคงเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ทรงพลังในช่วงเกิดเหตุยิงใส่ฝูงชน นอกจาก X แล้ว TikTok กลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนใช้เพื่อสื่อสารข่าวสารถึงกันในภาวะวิกฤติ เช่นกรณีเหตุการณ์ในสยามพารากอน ต่อประเด็นเหตุการณ์และการเตือนภัย การศึกษาของ Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ WISESIGHT พบว่า ผู้สื่อสารกลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้งานทั่วไป ขณะที่แพลตฟอร์ม Tiktok และ X ถูกใช้มากที่สุด

บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

สื่อมวลชนยังคงถูกตั้งคำถามถึงทุกครั้งที่มีการสื่อสารในเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนว่าทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมสื่อหรือไม่ แม้ว่าประชาชนอยากได้ความเร็วแต่สิ่งสำคัญที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดคืออยากได้ข้อมูลข่าวสามารที่ถูกต้องเชื่อถือได้จากสื่อมวลชน

สื่อแข่งขันกันนำเสนอข่าวและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รายงานข่าวก่อนสื่ออื่นนั้น บางครั้งก็เป็นการก้าวล่วงเส้นจริยธรรมการทำงานสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุซึ่งถูกกั้นไว้เป็นเขตหวงห้ามตามกฎหมาย เช่นกรณีเหตุยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จ. หนองบัวลำภู ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งเข้าไปในสถานที่ก่อเหตุทั้งที่มีการกั้นและประกาศว่าเป็นพื้นที่หวงห้าม การมีสื่อสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตว่ารู้สึกอย่างไร

กรณีการยิงที่โคราช สื่อมวลชนมีการไลฟ์สดจากสถานที่เกิดเหตุในระหว่างที่เหตุการณ์ยังไม่สงบ โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่ยังมีผู้ประสบภัยติดอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ การรายงานสดเช่นนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่สร้างอันตรายให้กับเหยื่อในเหตุการณ์มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของผู้ก่อเหตุ ราวกับเป็นการสร้างให้ผู้ก่อเหตุเป็นฮีโร่ เป็นบุคคลที่โลกควรรู้จักและจดจำ อันอาจสร้างโอกาสในการเลียนแบบพฤติกรรมได้

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้มุมมองต่อการทำงานของสื่อในเหตุการณ์วิกฤติไว้ว่า ในการรายงานข่าว เมื่อสื่อบอกประชาชนในเรื่องที่ต้องรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง อัปเดตตัวเลขสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ หลังจากนั้นสิ่งที่สื่อควรขยับประเด็นต่อ คือตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถขยายมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีก

“สื่อไม่ควรทำหน้าที่แค่รายงานเหตุการณ์ข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ควรตั้งคำถามว่ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ของสาเหตุ ปัจจัยทำให้ส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ สื่อสามารถตั้งคำถามเพื่อสร้างการถกเถียงสาธารณะ เปิดประเด็นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว

เมื่อสื่อมวลชนถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นผู้ตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริงของข่าวและข้อมูลที่แพร่สะพัดในช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤติอย่างการยิงใส่ฝูงชน ดังนั้นสื่อไม่ควรนำเสนอข้อมูล ภาพ วิดีโอที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรให้ความสำคัญกับความนิยม (Rating) มากกว่าความถูกต้องของการทำหน้าที่สื่อ

เหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชน (Mass Shooting) ในประเทศไทยทั้ง 3 ครั้ง มากเกินพอแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่มีส่วนก่อให้เกิดเหตุการณ์ ควรถอดบทเรียนและสร้างมาตรการป้องกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต โดยเฉพาะการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยสื่อ หรือ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นและส่งต่อทั้งสิ้น

 

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 13/11/2023

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: