ม.มหิดล เสนอรัฐ ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ช่วยเหลือ ‘เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์’ ควบคู่นโยบายขจัดยากจน

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 3226 ครั้ง

ม.มหิดล เสนอรัฐ ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ช่วยเหลือ ‘เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์’ ควบคู่นโยบายขจัดยากจน

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอรัฐ ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ช่วยเหลือ ‘เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์’ ควบคู่นโยบายขจัดยากจน

คำว่า “ด้อยโอกาส” “เปราะบาง” หรือ ”ชายขอบ“ ที่ดูเหมือนเป็น ”การตีตรา“ จะหมดไป หากทุกฝ่ายหันกลับมามองถึงจุดเริ่มต้นของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ “จุดเริ่มต้นของชีวิต”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล คือเบื้องหลังสำคัญของการมอบคำนิยาม “เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์” แทนคำว่า “ด้อยโอกาส” “เปราะบาง” และ “ชายขอบ” โดยหวังให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อ “จุดเริ่มต้นของชีวิต” โดยนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึง 8 ปีแรกของชีวิตว่า เป็น “ต้นตอ” ที่แท้จริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังคุกคามความยั่งยืนของโลก

ที่ผ่านมารัฐมุ่งขจัดปัญหาความยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นตั้งแต่การใช้ “เครื่องมือวัดภาวะยากจน” จากการคำนวณต้นทุน หรือมูลค่าของการได้มาซึ่งอาหาร และการเข้าถึงบริการที่สนองตอบความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต ก่อนขยายผลสู่มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้มากขึ้นดังเช่นที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงโครงการฯ จากการกำหนดคุณสมบัติและจำนวนที่จำกัดของผู้ลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ยังไม่เข้าข่ายและครอบคลุมการลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ มองว่าระบบออกแบบไว้ดีอยู่แล้ว ตั้งแต่การค้นหา และให้การช่วยเหลือ แต่จะยั่งยืนยิ่งขึ้นหากใช้กระบวนการเดียวกันขยายผลต่อยอดช่วยเหลือ “เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์” ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะยากจนเช่นเดียวกันให้ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

“ถือเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นพ่อแม่ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก ยังรวมถึงผู้ที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งจากที่ผ่านมา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยจนพบจุดสมดุลของการประเมินความเสี่ยงภาวะเปราะบางในเด็กไทย จากเกณฑ์ที่ทั่วโลกพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด"

"แม้เพียงคะแนนเดียวก็เห็นได้ถึงความแตกต่าง และยิ่งมากคะแนน ยิ่งมากความเสี่ยง ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว

ยังมี “เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์” อีกเป็นจำนวนมากที่รอคอยการช่วยเหลือ และฟื้นฟูจากครอบครัวที่ล่มสลาย โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ มองว่าเป็นจุดสำคัญที่รัฐจะต้องลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศชาติโดยเร่งด่วน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: