วันเด็ก 67 ขอยุติข่มขู่ คุกคาม ดำเนินคดีต่อเด็กที่ร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6153 ครั้ง

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2567 แอมเนสตี้พบเด็กถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกข่มขู่ คุกคาม สุขภาพจิตเสีย อนาคตดับ เรียกร้อง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินคดีต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อเป็นของขวัญวันเด็กปีนี้

วันเด็กแห่งชาติ (National Children's Day) ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567 ปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงยืดหยัดยืนเคียงข้างเด็กและเยาวชนทุกคนที่ต้องการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน จุดประกาย ให้เด็กทุกคนมีสิทธิ ส่งเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกล่าวหาต่อเด็กและเยาวชน ที่ใช้สิทธิมนุษยชน หยุดคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก เพราะสิทธิเด็กเท่ากับสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบไม่เท่ากับอาชญากรรม ชวนคุยกับ…ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการสำรวจจุดยืนของแอมเนสตี้และสถานการณ์สิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2563 ที่เคยเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่หลายแห่งในประเทศไทย จนทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงและการชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างน้อย 286 คน ถูกดำเนินคดีอาญาจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จนทำให้เด็กหลายคนต้องเดิมพันชีวิตและอนาคตของพวกเขา เพื่อต่อสู้ให้พ้นมลทินจากคำตัดสินของกระบวนการยุติธรรม กินเวลายาวนานเรื้อรังอยู่หลายปี 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ ในฐานะนักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดถึงคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปี 2567 ที่ระบุว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อย่างมีนัยสำคัญ ในมุมมองของคนที่ทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชน หลังจากใช้เวลาอ่านคำขวัญวันเด็กปีนี้วนซ้ำอยู่หลายครั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งมุมมองและข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิเด็กของแอมเนสตี้ในปีนี้

สิ่งที่ ‘ชนาธิป’ ตกผลึกหลังจากเห็นคำขวัญนี้คือ เขาต้องการฝากถึงรัฐบาลไทย ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘สิทธิในเสรีภาพภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ’ ควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมและสนับสนุนเด็กทุกคน เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญวันเด็ก และของขวัญวันเด็กอย่างหนึ่งที่รัฐบาลไทยควรให้เด็กทุกคนในปีนี้ คือการคืนความยุติธรรมให้กับเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เป็นคดีติดตัวเด็ก จนทำให้สูญเสียอนาคตด้านต่างๆ

“อยากฝากรัฐบาลว่า เมื่อต้นปีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการออกคำขวัญวันเด็ก ที่พูดถึงการกระทำหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่อยากให้เด็กออกไปโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ช่วยกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ฉะนั้นการที่เราจะสร้างเด็กที่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ โอบรับความหลากหลายได้ตามที่รัฐต้องการ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญคือการให้ความสำคัญกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบของเด็กด้วย สิ่งนี้จะเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ในการทำให้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นได้จริง”  

 

เด็กต้องไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องหยุดคุกคาม-ข่มขู่ ยุติการดำเนินคดี และเยียวยา

สำหรับวันเด็กปีนี้ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหนึ่งในตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องการส่งเสียงแทนเด็กทุกคน ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิในการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบว่า ต้องการให้ภาครัฐหยุดดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะการที่เด็กไปชุมนุมประท้วง คือการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่ทุกสามารถพึงกระทำได้ เพื่อแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ที่เต็มไปด้วยความหวังดีต่อสังคมไทย และไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องเสียโอกาสการใช้ชีวิต เพียงเพราะถูกดำเนินคดีความในกระบวนการยุติธรรม จากการใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขา ซึ่งกินเวลาเรื้อรังนานหลายปี

“ตอนนี้มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลแล้ว สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ดำเนินการอยู่ตลอดมาตั้งแต่ปี 2563 คือการนำเด็กเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เขาแค่เข้าไปร่วมชุมนุมประท้วง ที่พวกเขากระทำโดยสงบ แค่การออกมาแสดงออกส่งเสียงของตัวเอง แต่กลับต้องเข้าไปใช้ชีวิตไปกับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บางอยู่ในเรือนจำ บางต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้ต้องเสียโอกาสในการเรียนหนังสือ ไปเจอเพื่อนๆ หรือพัฒนาตัวเอง วันเด็กแห่งชาติปีนี้จึง อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนี้มาก ๆ”   

ผลพวงจากการถูกดำเนินคดีความที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ชนาธิป เผยว่ายังพบเด็กที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนนอกเครื่องแบบข่มขู่ คุกคาม ติดตามชีวิตประจำวันที่บ้านหรือโรงเรียน หลังการสลายการชุมนุมจบสิ้น และถึงแม้ว่าปัจจุบันเรื่องเหล่านี้จะจบและหมดไปแต่สิ่งที่ยังเป็นร่องรอยของการกระทำลักษณะนี้ คือการพบเด็กที่ถูกดำเนินคดีหลังการชุมนุมประท้วงโดยสงบได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างหนัก เช่น 1.ภาวะ Depression อาการซึมเศร้าที่เกิดหลังเจอเหตุการณ์แรง ๆ กระทบจิตใจ 2.มีภาวะ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง 3. ภาวะ Trauma หรือ บาดแผลในจิตใจ ที่ตอบสนองทางอารมณ์ต่อเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนกับสภาวะจิตใจ และ 4.ภาวะกลัวการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ไม่กล้าแสดงออก เพราะรู้สึกเจ็บปวดกับการถูกคุกคามและติดตามโดยภาครัฐ

“สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการเยียวยาเด็กกลุ่มนี้ คืนความยุติธรรมให้กับพวกเขา โดยที่อาจจะเริ่มจากการเข้าไปสอบสวนก่อนก็ได้ว่า ใครเป็นผู้ที่กระทำการละเมิดเหล่านั้น ใครเป็นคนใช้ความรุนแรงกับเด็กระหว่างการสลายการชุมนุม ใครเป็นคนไปติดตามคุกคามหรือข่มขู่พวกเขา โดยที่ไม่บอกสถานะหรือไร้หลักฐานความรับผิดชอบทางกฎหมาย และจากนั้นก็ค่อยๆ คืนความยุติธรรมให้กับเด็กกลุ่มนี้” ชนาธิป กล่าวถึงการเยียวยาชีวิตเด็ก

กระบวนการยุติธรรมต้นตอใหญ่ทำให้สถานการณ์ ‘สิทธิเด็ก’ ไม่ดีขึ้น?

ตั้งแต่เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นแกนนำและร่วมเป็นมวลชนสนับสนุนเรียกร้องประชาธิปไตยกระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ชนาธิป เล่าว่า แอมเนสตี้ติดตามสถานการณ์สิทธิเด็กในการชุมนุมประท้วงมาโดยตลอด พบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้จบสิ้น ซึ่งแอมเนสตี้ ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ยังคงติดตาม ส่งเสียงเรียกร้องถึงภาครัฐให้ยุติการละเมิดสิทธิกับเด็กทุกคนที่ถูกดำเนินคดีต่อไป

นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงรายงานเรื่อง ‘ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย’ ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566หลังจากลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเด็กและเยาวชนว่า รายงานฉบับนี้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2563 หลังเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ในประเทศไทย 

สิ่งที่เห็นชัดในรายงานคือ การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงทั่วโลกก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่น คือปี 2563 การประท้วงช่วงนั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าร่วมจำนวนมาก ที่ต่างออกมาส่งเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิในรั้วโรงเรียนและการศึกษาของตัวเอง ไม่ใช่แค่การเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว

“เด็กไม่ได้พูดแค่การประท้วงอย่างเดียว เขาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน พูดเรื่องสิทธิผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิผู้หญิง สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะเห็นว่ามีข้อเรียกร้องที่หลากหลาย แต่สิ่งที่เราไปพบเจอหลังจากที่เด็กออกมาใช้สิทธิและส่งเสียงของตัวเอง คือการกลายเป็นว่าต้องถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบ”

 

พบเด็กถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 2 ประเด็นใหญ่

1.การคุกคาม ติดตาม เด็กที่เข้าร่วมการชุมนุม รูปแบบการคุกคามนี้คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปที่บ้านและโรงเรียน เพื่อกดดันครู ผู้ปกครอง ให้สื่อสารถึงเด็กว่าต้องหยุดไปร่วมชุมนุมประท้วง หรือต้องลงโทษเด็กที่ออกมาชุมนุมประท้วงหรือใช้สิทธิในการแสดงออกรูปแบบต่างๆ ระหว่างการชุมนุม บางกรณีพบว่าทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เด็กถูกผู้ปกครองทำร้ายร่างกาย ตบตี ถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกหักค่าขนม ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.การถูกละเมิดสิทธิด้วยการถูกดำเนินคดีทางอาญา แม้การดำเนินคดีอาญามาจากหลายฐานความผิด แต่สิ่งที่พบมากที่สุดคือความผิดเกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งถูกนำมาใช้ในช่วงที่สถานการณ์ระบาโควิด – 19 ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนกว่า 200 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ รวมถึงรัฐบาลในยุคนั้นประกาศใช้กฎหมายแต่ละฉบับปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ทำให้เด็กถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หรือข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์”  ปัจจุบันมีหลายกรณีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว

จากประเด็นใหญ่ทั้ง 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกดำนเนิคดีความหลังการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2563 ชนาธิปเล่าว่า บางกรณีเข้ามาตรการพิเศษ อาจจะไม่ได้รับโทษตามปกติ แต่เด็กจะถูกนำตัวไปอบรมแทนเพื่อให้เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความคิด ซึ่งถือว่ามาตรการพิเศษนี้เป็นข้อดีสำหรับเด็ก ในการที่จะทำให้เขากลับตัวกลับใจมาเป็นพลเมืองที่ไม่ทำผิดกฎหมาย แต่อีกด้านหนึ่งแอมเนสตี้ ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าในกระบวนการยุติธรรมยังมีกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะดำเนินคดีกับเด็กที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

“เด็กกลุ่มนี้ไม่ควรจะโดนคดีตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ แม้แต่การนำตัวเด็กเข้าสู่มาตรการพิเศษก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิได้ อาจจะถือเป็นการตีตราเด็กไปในตัว ทั้งที่เขาไม่ควรถูกเอาผิดตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ” 

อีกด้านแอมเนสตี้ค้นพบว่า แม้จะมีทางเลือกสำหรับเด็กที่เข้าร่วมชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดีความ แต่หลายคนไม่เลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบพิเศษ ที่ให้เด็กบำเพ็ญประโยชน์ อบรมปรับทัศนคติแทนการถูกลงโทษทางอาญา ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กทุกคนต้องการยืนยันในหลักการและจุดยืนของตัวเองว่า การเข้ามาร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นความผิด แม้จะรู้ดีว่าเส้นทางที่เลือกสุดท้ายจะถูกลงโทษ

 

11 เดือนหลังออกรายงานและส่งข้อเรียกร้องให้ทางการไทย สถานการณ์สิทธิเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร?

ชนาธิปนักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า สถานการณ์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันแม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้การชุมนุมประท้วงมีจำนวนลดลง เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เคยชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง อาจจะไม่ได้ปรากฎตัวเด่นชัดเท่ากับเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าการละเมิดสิทธิเด็กน้อยลง เพราะคดีที่ยังดำเนินอยู่ยังมีผลกับเด็กที่เข้าร่วมชุมนุมเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน หลายคดียังไม่สิ้นสุด

อีกประเด็นที่ ชนาธิป พูดถึงการดำเนินคดีกับเด็กที่ชุมนุมประท้วงช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คือการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงด้วยการใช้อาวุธ ที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าเป็นอาวุธที่ไม่ทำให้ถึงตาย แต่ในทางปฏิบัติและตามหลักสิทธิมนุษยชนกลับมองว่า ไม่ว่าจะเป็นอาวุธรูปแบบใดที่ใช้สลายการชุมนุม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตประชาชนทั้งสิ้น ที่สำคัญเหตุการณ์ในตอนนั้นสะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยไม่ได้คำนึงว่า การชุมนุมมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าร่วมในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกรวมอยู่ด้วย 

“เด็ก ๆ หลายคนถูกกระสุนยางยิง ถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่ ความรุนแรงพวกนี้เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนกลางปี 2564 มีกรณีที่เด็กสามคน อายุระหว่าง 14-16 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงระหว่างสลายการชุมนุม ต่อมาก็มีเด็กคนหนึ่งเสียชีวิต กรณีนี้เจ้าหน้าที่รัฐสรุปว่าเป็นฝีมือของคนทั่วไป ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ข้อเท็จจริงก็คือเด็กคนนี้ต้องเสียชีวิตไปโดยที่ไม่มีใครต้องออกมารับผิด ถึงตอนนี้กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถให้คำตอบอย่างแน่ชัดได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่และใครเป็นคนทำ คนที่ยิงก็ยังลอยนวลพ้นผิดอยู่”

 

วันเด็กปีนี้ ร่วมถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรมกับเด็ก-เยาวชน

การวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทย อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่หากพูดกันตรง ๆ ชนาธิป เปิดใจว่า “กฎหมายที่มีอยู่ในประเทศ มันบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่แรก ถ้าเรามองผ่านหลักการด้านสิทธิมนุษยชน มันมีกฎหมายหลายฉบับที่อนุญาตให้มีการเอาผิด ลงโทษกับคนที่แค่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ”  โดยเขาได้พูดถึงการที่เด็กหรือผู้ใหญ่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เรื่องการหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ที่เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่นใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งถูกดำเนินคดีฐานความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถึงแม้ว่าจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังนำมาสู่การดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอยู่นับพันคดีในปัจจุบัน

หากขอของขวัญวันเด็กในปีนี้จากรัฐบาลไทยได้ ชนาธิป บอกว่าอยากเห็นความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ปัจจุบันมีเด็กที่อยากให้ศาลอนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์คดีและคำตัดสินจากภายนอกที่มีความเป็นอิสระ ที่ใครก็สามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในชั้นศาลได้ เพื่อดูความโปร่งใสและความเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคดีส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธไม่ให้มีการเข้าไปสังเกตุการณ์ จึงทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับการเป็นอิสระและเป็นธรรมในการดำเนินคดี

สำหรับคดีเด็กและเยาวชนที่เป็นคดีทางการเมือง สำหรับ ชนาธิป มองว่ามีความอ่อนไหวเพราะมีเรื่องทางการเมืองและประชาธิไตยมาเกี่ยวข้อง การที่มีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้าไป อาจจะช่วยให้มีความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

เด็กมองว่าการที่ไม่มีคนจากภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์ ทำให้พวกเขาเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากขึ้น เด็กที่ถูกดำเนินคดีอยากให้มีคนเข้าไปฟังด้วย เพราะเวลามีคนเข้าไป เขามองว่าเหมือนมีคนจ้องมองการทำงานผ่านกระบวนการยุติธรรมอยู่ ว่าจะมีการพิจารณาคดีเด็กอย่างยุติธรรมหรือไม่”

“เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่เด็กกลุ่มนี้ที่มีอายุประมาณ 18 – 19 ปี ต้องมาวนเวียนอยู่กับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเนื่องจากถูกตั้งข้อกล่าวหา แทนที่พวกเขาควรจะได้ออกไปเรียนรู้ หรือออกมาพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ การละเมิดเช่นนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น ตราบใดที่ยังไม่มีการยุติการดำเนินคดีกับเด็กกลุ่มนี้”  ชนาธิปกล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: