เผยเด็กเคยเห็นสื่อลามกอนาจารถึง 54%

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 2585 ครั้ง

เผยเด็กเคยเห็นสื่อลามกอนาจารถึง 54%

จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต โดย Digital 2023 Global Overview Report พบคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 85% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการเข้าถึงเพียง 64.4% โดยกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ "เด็กและเยาวชน" - เด็กเคยเห็นสื่อลามกอนาจารถึง 54% เป็นที่น่ากังวล ในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารที่แสดงโดยเด็ก และ 26% เด็กเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์

สำนักข่าวสร้างสุข รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 ที่ TikTok Creator House ชั้น 4 สยามพารากอน กรุงเทพฯ นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต โดย Digital 2023 Global Overview Report พบคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 85% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีการเข้าถึงเพียง 64.4% โดยกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ เด็กและเยาวชน โดยมีเด็กเคยเห็นสื่อลามกอนาจารถึง 54% เป็นที่น่ากังวล ในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารที่แสดงโดยเด็ก และ 26% เด็กเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาข่าวลวง การถูกหลอกลวงด้วยมิจฉาชีพ การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่ก่อพฤติกรรมความรุนแรง และความเสี่ยงทางสุขภาพ หากสังคมตระหนักถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ร่วมกันดูแล เฝ้าระวังตรวจสอบสื่อเพื่อให้เกิดพื้นที่สื่อออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกกลุ่มวัย จะช่วยลดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ ได้”

“ทุกวันนี้เด็กต้องประสบปัญหาภัยออนไลน์ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ สสส. เร่งสานพลัง มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย TikTok และภาคีเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศ (Thailand Safe Internet Coalition) จัดกิจกรรมวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ Safer Internet Day พร้อมเสวนา #HappinessHappyNet ออนไลน์สุขใจ ความสุขในยุคดิจิทัล มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เสริมพลังคนทุกช่วงวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่เท่าทัน และใช้สื่ออย่างมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม เห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น ควบคู่กับการสร้างปัจจัยแวดล้อม เพิ่มพื้นที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ พร้อมสื่อสารและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อและข้อมูลสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการสร้างแนวปฏิบัติทางสังคม (Norm) ในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์” นางญาณี กล่าว

นาวาเอกหญิง ศิริเนตร รักษ์วงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า บุคคลไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อบนโลกออนไลน์ NCSA เร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ลดจำนวนการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง และสามารถใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

นายสันติ ศิริธีราเจษฎ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสให้เด็ก ทั้งด้านการเรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร การแสดงออก การมีตัวตน แต่ความเสี่ยงในโลกออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม สิ่งสำคัญคือ สิทธิเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง การจัดงานครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มของทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมความรู้ด้านดิจิทัล แนวปฏิบัติที่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชันพรีมิโร ระบบสารสนเทศออนไลน์ ช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกล่วงละเมิด ลดความเสี่ยงและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต เด็กและเยาวชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง การสร้างเนื้อหาเชิงบวก และการสนับสนุนความร่วมมือกับสังคมรอบข้างส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและครอบคลุม นำไปสู่โลกดิจิทัลที่ปลอดภัย และมีความสุข เพื่อเด็กทุกคน (For every child)

น.ส.สุชนา สินธวถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง (DEPA) กล่าวว่า DEPA สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติและทุกช่วงวัย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เกิดการนำทักษะไปประยุกต์ใช้และปรับตัวช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยพัฒนาช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เรโทร โอเค RetroOk” สร้างความตระหนักรู้บนรากฐานที่ดีด้านความรอบรู้ทางดิจิทัล เผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัย เสริมกลไกด้านสังคม ป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน และเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ มีรายได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยพัฒนาช่องทางเฟซบุ๊กกลุ่มปิด “JobD2U” ที่รวบรวมบริษัทดิจิทัลและคนหางาน มีสมาชิกกว่า 10,000 คน

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ผลักดัน พ.ร.บ.ลงโทษคนที่ล่อลวงเด็ก หรือครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (grooming) กฎหมายควบคุมดูแลภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากโลกไซเบอร์ ให้มีโทษความผิดเสมือนการทำอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-15 ปีและปรับตั้งแต่ 1.4–5 แสนบาท ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา พร้อมสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติ เร่งสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันภัยออนไลน์แก่ประชาชน เช่น มิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ลงทุน โอนเงิน ต้องมีสติ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่กลัว เมื่อเกิดเหตุให้รีบแจ้งอายัดบัญชีธนาคาร ขอคำปรึกษา แจ้งเบาะแสที่เบอร์ 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

น.ส.เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดด้านความสัมพันธ์ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ Beautiful Madness by Mafuang และพอดแคส LIFE CRY SIS กล่าวว่า “เราไม่ต้องเผชิญเรื่องราวแย่ๆ อยู่คนเดียว” คือความคิดของคนที่อยู่ในความเศร้าและอารมณ์ดิ่ง หากมีคนรับฟังจะทำให้เกิดแรงใจอยากฝ่าฟันหรืออยู่กับสิ่งนั้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการทำความเข้าใจธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย ต้องใช้สติ แทนการใช้ความกลัว เข้าใจขอบเขตที่ดีต่อใจ (healthy boundary) และความสมดุลในการแบ่งเวลา (balance) ทำให้ใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างสนุก ได้เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายคือการแบ่งปันความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มความสุขในโลกออนไลน์ สำหรับทางเพจจะเน้นเล่าเรื่องสุขภาพจิตใจและจิตวิทยา ที่ย่อยง่ายและสนุก เข้าถึงง่าย มีแนวทางการจัดการความรู้สึกเมื่อเจอข้อความหรือการปฏิบัติตัวจากคนในโซเชียลมีเดียที่กระทบหรือทำร้ายจิตใจ พร้อมเติมความสุขกลับสู่หัวใจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: