กมธ.กฎหมายและสิทธิมนุษยชนฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6318 ครั้ง

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) หรือ HRDF แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 8-9 ม.ค. 2567 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่หารือแนวทางเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ณ จังหวัดภูเก็ต กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ ซึ่งนำโดย กัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ สส. จ.กรุงเทพมหานคร เขต 11 พรรคก้าวไกล , เกียรติคุณ ต้นยาง ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ สส. จ.นนทบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล, คุณากร มั่นนทีรัย กรรมาธิการ สส. จ.นนทบุรี เขต 6 พรรคก้าวไกล และวราวุธ รักเที่ยง กรรมาธิการ สส. จ.กรุงเทพมหานคร เขต 17 พรรคก้าวไกล โดยมีคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการและเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ คณะทำงานกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คณะทำงานกลุ่มผู้ลี้ภัย และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการ จำนวน 22 ท่าน ร่วมติดตามและแลกเปลี่ยนข้อมูล

กัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการที่จัดตั้งภายใต้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จำเป็นจะต้องดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเห็นมายาวนานว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐ บุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรายังเอาไปซุกอยู่ใต้พรม เราจำเป็นต้องนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาบนพรมและมีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้กลุ่มคนต่างๆ ซึ่งถูกละเลยในการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆในการเป็นมนุษย์ จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ

การโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ คืออะไร? กัณวีร์ อธิบายความหมายว่า ในทั่วไปเราพบเห็นคนเดินทางข้ามแดนไปประเทศต่างๆมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องมีหนังสือเดินทาง(passport) มีการตรวจลงตราวีซ่า (Visa) หรือ หลักฐานสำคัญในการขออนุญาตเพื่อเดินทางเข้าประเทศ นั้นคือการโยกย้ายถิ่นฐานปกติ แต่หลายๆครั้งยังคงมีผู้คนที่เดินทางข้ามแดนโดยไม่มีเอกสารรับรอง หรือแม้เข้ามามีหนังสือเอกสารรับรองแต่พออยู่ไปแล้วเอกสารเหล่านี้หายไปหรือไม่ถูกต้องตามระเบียบของรัฐนั้นๆ คนที่อยู่โดยเอกสารไม่ถูกต้องในต่างประเทศเราเลยเรียกว่า กลุ่มคนผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ อย่างในประเทศไทย จะมีกลุ่มผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา มีจำนวนศูนย์พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง มีประชากรจำนวนกว่า 99,000 คน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในศูนย์ฯมาแล้วกว่า 40 ปี โดยประเทศไทยยังไม่รู้ว่าแนวทางแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างไร หรืออย่างกรณีกลุ่มคนเมียนมาที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยหลังการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศพม่า 1 ก.พ.2564 สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ไทยเราไม่มีแนวทางแก้ปัญหารองรับ เพราะเรายังคงใช้วิธี “ผลักดันกลับ” ซึ่งไม่ใช่หลักการสากล ที่ทั่วโลกยอมรับคือ “หลักการไม่ส่งกลับ” นอกจากนี้อย่างกรณีชาวอุยกูร์ ที่ลี้ภัยจากเขตปกครองพิเศษซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งจีนถูกกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ กลุ่มคนได้เดินทางเข้ามาตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) มาอยู่ในประเทศไทย และหลังจากนั้นก็ถูกกักขังไว้ในห้องกักตัวคนต่างชาติของ ตม. ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร พวกเขาจะถูกขังลืมไปเรื่อยๆหรือไม่ หรือชาวโรฮิงญาที่ขังอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถานกรมราชทัณฑ์ ที่เราไม่รู้ว่าจะขังพวกเขาอีกนานเท่าไหร่? และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของการเดินทางมาเยือนจังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ การพบปะภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐที่ทำงานในด้านนี้ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงรวมทั้งพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในภูเก็ต รวมถึง model ของจังหวัดภูเก็ตมีการจัดการอย่างไร อย่างที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ชาวลาว ชาวกัมพูชา จึงมองว่าการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะการดำเนินการเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบไม่ได้เกี่ยวข้องแค่มิติสิทธิมนุษยชน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของคนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย

กัณวีร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยเราพยายามผลักดันให้เข้าไปอยู่ในเวทีประชาคมโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย เราอยากเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ว่าเรายังไม่มีการดำเนินงานใดใดที่จะตอบโจทย์ได้ในเวทีโลกในการดูแลสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการเป็นมนุษย์ของคน เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้น เรามีการให้คำมั่นข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยมีหลักการ 4 ข้อ 1.การแจ้งเกิด การลงทะเบียนเกิดของบุคคลทุกคน ผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศไทย ใครก็ตามที่เกิดในประเทศไทยเราสามารถแจ้งเกิดได้ การแจ้งเกิดไม่ใช่การรับรองสัญชาติ ใบเกิดใบแรกของผู้ลี้ภัยออกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ปัญหาที่รับฟังจากแรงงานข้ามชาติในภูเก็ตคือการแจ้งเกิดไม่ได้เพราะขาดเอกสารรับรอง 2.การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ของผู้อพยพไม่ว่าใครก็ตาม ในประเทศไทยควรสามารถเข้าถึงได้แล้ว ปัญหาที่มีปัจจุบันอย่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการใช้ดุลยพินิจแตกต่างกันและไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้หลายพื้นที่แรงงานข้ามชาติและเด็กที่เป็นบุตรหรือผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ พื้นที่ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีอย่างกรณีกรุงเทพมหานคร ดุลยพินิจในส่วนภาคราชการผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร สามารถให้ผู้ลี้ภัยในเมืองที่ได้รับประกันตัวแล้วสามารถซื้อหลักประกันสุขภาพได้ 3.การหาทางออกที่ไม่ใช่การกักตัว (Alternatives to Immigration Detention) สำหรับเด็กผู้อพยพและครอบครัว เราควรมีทางอื่นมากกว่าการกักขัง การคุมตัวในสถานกักกัน และ 4.การต่อต้านการเลือกปฏิบัติ การส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อผู้อพยพ มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและหลายจังหวัดในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราต้องมองว่าหากประเทศไทยขาดแรงงานข้ามชาติเราไม่สามารถดำเนินกิจกรรมหลายอย่างที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจได้ แรงงานขั้นพื้นฐานของประเทศไทยปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นแรงงานเพื่อนบ้าน หากเรามีทัศนคติที่ดี เราให้เขามีสวัสดิการต่างๆได้ ให้เขามาช่วยเราพัฒนาประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้เขาจะช่วยพัฒนาประเทศเราได้ด้วยการเสียภาษี

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ในประเด็นผู้โยกย้ายไม่ปกติในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ได้พูดคุยกับเจ้าของปัญหาจริงๆ คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคประชาสังคม สิ่งที่ค้นพบคือประเด็นปัญหาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติเป็นปัญหาที่ซ้อนทับกันในหลายเรื่อง มีลักษณะเป็นโดมิโน ปัญหาสถานะการเข้าเมืองส่งผลต่อเรื่องการเข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพ สิทธิการศึกษา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ควรจัดทำเร่งด่วน คือ ปรับปรุงระบบข้อมูลจำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน แรงงานข้ามชาติและครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ที่จะติดตามจำนวนของการลงทะเบียนของแรงงานข้ามชาติในระบบให้มีความถูกต้องและมีจำนวนสอดคล้องกัน การทำงานอย่างบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ภารกิจหลังจากนี้ของคณะกรรมาธิการ คือ การจัดทำรายงานสรุปและนำมาพิจารณาในกลุ่มกรรมาธิการเพื่อนำไปรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันว่าปัญหาทั้งหมดที่ศึกษานั้นติดขัดที่ระบบกฎหมายใด และจะสามารถปลดล็อคส่วนไหนได้บ้าง เช่น การออกระเบียบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานสะดวกลดเงื่อนไขอะไรที่สร้างความลำบากในการดำเนินการ

ในประเด็นสิทธิมนุษยชน ศศินันท์ มองว่าปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติเป็นปัญหาเดียวกันกับที่รัฐบาลจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติคือปัญหาเรื่องจำนวนวิกฤตเด็กเกิดต่ำ และการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ถ้ารัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาโดยมองมิติของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะมาใช้แรงงานให้ประเทศไทย มาทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นรัฐบาลต้องสร้างกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างชาติให้ง่ายขึ้น มองไปถึงเด็กผู้ติดตามแรงงานต่างชาติ ซึ่งหากรัฐบาลไทยดูแลส่งเสริมสุขภาพและการศึกษา เด็กเหล่านี้ก็จะมาเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศไทย เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติจึงเป็นการแก้ไขปัญหาหลายมิติ ถ้าจัดการเรื่องนี้จะส่งผลดีต่อประเทศในด้านอื่นๆตามมา การทำเรื่องคุณภาพชีวิตแรงงาน การส่งเสริมการศึกษาจึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศไทย

โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการเข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ โดยได้สรุปและมอบหมายให้ทางแรงงานจังหวัดภูเก็ต สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานการศึกษาพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์แรงงานข้ามชาติตามข้อสักถามจากคณะกรรมาธิการฯ ผู้ว่าฯ ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อแรงงานจังหวัดภูเก็ต ในเชิงการบูรณาการข้อมูลจำนวนแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างอิงถึงวิธีการทำฐานข้อมูลติดตามคนต่างชาติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่มีความแม่นยำทั้งจำนวนข้อมูลผู้เดินทางเข้า-ออกในประเทศ สามารถระบุพื้นที่และสืบค้นได้ง่าย ฉะนั้นทั้งแรงงานจังหวัดภูเก็ต สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต หน่วยการศึกษาจังหวัดภูเก็ต ควรมีข้อมูลจำนวนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่แม่นยำและเชื่อมต่อกันได้ในระดับพื้นที่ ทำเป็น Dashboard ที่สามารถติดตามข้อมูลเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ปัจจุบันคาดว่าจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนแรงงานข้ามชาติไม่เกิน 100,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา ชาวลาว และเวียดนาม นับเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ 2-3 ล้านคน/ปี หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบจะต้องมาบูรณาการร่วมกัน และการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ตให้ครอบคลุมและถูกต้อง ซึ่งต้องบ่งชี้ให้เห็นรายละเอียดและสถานะของกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานในจังหวัดเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอื่นๆต่อไป ไม่ว่าจะเรื่องการเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ และการศึกษาของกลุ่มผู้เปราะบาง

นอกจากนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ได้เดินทางมาติดตามงานและให้ความสนใจจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สร้างรายได้อันดับต้นๆให้แก่ประเทศไทย แต่ภูเก็ตก็ยังมีปัญหาที่ตามมาเป็นด้วยต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตที่สูงแต่งบประมาณที่มีจำกัด ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และอื่นๆ หวังว่าทางคณะกรรมาธิการฯ จะนำภาพของภูเก็ตไปสะท้อนให้เห็นในระดับประเทศต่อไป นอกจากแรงงานข้ามชาตินั้น ภูเก็ตยังมีประเด็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ อูรักลาโว้ย มอแกลน และมอแกน ซึ่งเกาะเกี่ยวระหว่างพื้นที่จังหวัดระนอง จ.พังงา จ.ภูเก็ต รวมแล้วมีจำนวนกว่า 40 ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในด้านสาธารณสุขและการศึกษาเช่นกันประเด็นที่อาจจะต้องหารือในระดับจังหวัดต่อไปในเรื่องนี้ คือ ศูนย์บ้านพักพิงหรือศูนย์ดูแลเด็ก ตอนนี้เชื่อว่าภูเก็ตยังมีไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มผู้โยกย้ายไม่ปกติ ผู้หลบหนีเข้าเมือง กลุ่มที่หนีจากประเทศที่มีความขัดแย้งไม่มีที่ไป หลายคนโดนผลักดันส่งกลับประเทศ โดนจับกุมจากหน่วยงานความมั่นคงและต้องส่งไปที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเด็กเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อมาที่บ้านพักเด็กซึ่งมีรองรับไม่เพียงพอ การไม่มีที่พักหรือที่รับรองสำหรับกลุ่มที่รอผลักดันกลับเป็นปัญหาสำคัญ โดยหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในประเด็นกลุ่มเด็กผู้ติดตาม

สร้าง one stop service ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานข้ามชาติ

8 ม.ค.2567 เวลา 10.30 – 13.00 น. ที่ โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สมาคมมิตรภาพอันดามัน ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล สาขาภูเก็ต มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (FED) สมาคมไทยเนปาลี สาขาภูเก็ต และผู้แทนภาคประชาชนอื่นๆ แกนนำแรงงาน ได้ร่วมนำเสนอปัญหาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในที่ประชุม และเวลา 13.00 – 17.00 น. ได้พาคณะกรรมาธิการลงพื้นที่ชุมชนแรงงานเพื่อสำรวจปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ที่ ศูนย์ประสานงานแรงงานเพื่อนบ้านองค์การสะพานปลา และบริเวณโดยรอบชุมชนเพื่อพูดคุยและพบปะกับแรงงานในพื้นที่

มสพ. ได้สะท้อนปัญหาหลักของแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นย้ำ 3 เรื่องสำคัญ 1.ด้านสถานะการเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ พบว่า นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำเอกสารต่างๆ สูง แรงงานและนายจ้างต้องทำเอกสารบ่อยครั้ง อีกทั้งกระบวนการมีความยุ่งยากซับซ้อน แรงงานและนายจ้างไม่สามารถดำเนินการได้เองอย่างสะดวกรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการพึ่งพา นายหน้า หรือตัวกลาง (โบรกเกอร์) ซึ่งมีทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมาย ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากและก่อให้เกิดหนี้สินระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นปัญหาซับซ้อนตามมา เช่น การยึดเอกสารประจำตัวแรงงาน หนี้ที่ไม่เป็นธรรม และการใช้ภาระด้านเอกสารและหนี้เหนี่ยวรั้งให้ทำงานอันเป็นข้อบ่งชี้ของการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ 2.ด้านความคุ้มครองทางสังคม แรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตาม เช่น บุตรและครอบครัวมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและความคุ้มครองทางสังคม เช่น การจดทะเบียนเกิด การซื้อประกันสุขภาพของบุตรที่เป็นผู้ติดตาม สิทธิด้านการรักษาพยาบาล สิทธิด้านการศึกษาสำหรับเด็ก สิทธิประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ปัญหาการเข้าถึงสิทธิเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเอกสารสถานะการเข้าเมืองที่ถูกทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและความคุ้มครองที่แรงงานข้ามชาติและครอบครัวควรได้รับ และ 3.ด้านสิทธิแรงงาน ประเด็นปัญหาค่าจ้างค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ การได้ค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกันของแรงงานหญิงและชาย ความปลอดภัยในการทำงานซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น งานบริการ งานก่อสร้าง งานประมง หรือการทำงานที่ยาวนานและไม่มีวันหยุด การยึดทรัพย์สิน การไม่จ่ายค่าจ้าง นายจ้างค้างค่าแรง ยึดเอกสารประจำตัวเพื่อไม่ให้สามารถเปลี่ยนงานได้ ทำให้หลายครั้งแรงงานข้ามชาติตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับ (Forced Labour) ข้อเสนอแนะของ มสพ. คือ หน่วยงานภาครัฐที่ควรมีระบบการขึ้นทะเบียน แบบ one stop service เพื่อให้การขออนุญาตทำงานและการทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความสะดวก ลดความซับซ้อนและภาระของแรงงานและนายจ้างที่ต้องดำเนินการผ่านหลายหน่วยงาน ลดการพึ่งพานายหน้าหรือตัวกลาง (โบรกเกอร์) นอกจากนี้ การทำระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานจะช่วยแก้ปัญหาสถานะบุคคลและการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานสำหรับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวได้

สิทธิทางการศึกษาและสุขภาพ : ปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่รัฐมองเห็นแต่ไม่มีนโยบายรองรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ

มูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล สาขาภูเก็ต และ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (FED) ได้นำเสนอโดยเน้นปัญหา คือ การเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กที่เป็นบุตรและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ รวมถึงความยากลำบากของการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ทั้งระบบประกันสุขภาพ และประกันสังคม ในด้านการศึกษาผู้แทนจากศูนย์การเรียนรู้ของ FED ได้เล่าถึงสถานการณ์ไม่ปกติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 ก.พ.2564 กองทัพเมียนมาทำการรัฐประหาร ส่งผลให้เด็กต่างชาติโดยเฉพาะเด็กเมียนมา ในศูนย์ FED มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 300-400 คน เป็น 800-1,000 คน สถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศพม่าสร้างผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องความเป็นอยู่ หลายคนไม่ได้มีความพร้อมในการอพยพมาแต่จำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัวเข้ามาเพื่อความปลอดภัยโดยมาเป็นแรงงานข้ามชาติ ในขณะเดียวกันเด็กเหล่านี้เมื่อไม่มีเอกสารประจำตัวจากประเทศต้นทาง ก็อยู่ในสถานะผู้หลบหนีเข้าเมืองทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิและการค้ามนุษย์ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมมองว่า ในเรื่องการศึกษา อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เด็กๆ ครอบครัวแรงงานข้ามชาติ สามารถอยู่ภายใต้กฎหมาย และให้เด็กสามารถเข้าเรียนได้ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐหรือศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งแรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อให้บุตรได้เข้าเรียน เพราะการที่เด็กไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ยังเป็นปัจจัยเชื่อมโยงกับ อุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานะบุคคล สิทธิด้านสุขภาพ และการเยียวยาเมื่อตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

ศูนย์การศึกษาและการให้สิทธิด้านสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ผู้แทนจากมูลนิธิบ้านศรีชุมพาบาล สาขาภูเก็ต ที่ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กๆ สะท้อนว่า ตนมักจะถูกตั้งคำถามว่า “เด็กไทยลำบากมีจำนวนมาก ทำไมไม่ช่วยเหลือก่อน?” จึงอยากสะท้อนความเห็นว่า การเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กไม่ควรถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ เด็กไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือสัญชาติใด ก็ควรได้รับสิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางซึ่งมีโอกาสไม่เท่าเทียมและมักจะถูกละเลย ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความต้องการแรงงานข้ามชาติในภาคเศรษฐกิจและนำร่องเรื่องการศึกษา หากในอนาคตมีศูนย์การศึกษาที่รองรับร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน จะทำให้เด็กทุกชนชาติมีการศึกษาที่ถูกต้อง เขามีโอกาสที่จะเติบโตเป็นอนาคตแรงงานที่ดีได้ ดังนั้น มากกว่ามุมมองเรื่องความมั่นคง ควรมองว่าคนที่หนีความเดือดร้อนเข้ามาเป็นเด็ก และเด็กเหล่านี้ควรอยู่อย่างปลอดภัย ได้รับการศึกษา และสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอแรงงานข้ามชาติในจังหวัดภูเก็ต : จัดตั้งกลุ่มภายใต้สหพันธ์แรงงานไทย และมีศูนย์ประสานงานไกล่เกลี่ยในกระบวนการยุติธรรม

สมาคมมิตรภาพอันดามัน สมาคมไทยเนปาลี ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต และ ผู้แทนแรงงานข้ามชาติในจังหวัดภูเก็ต ได้สะท้อนว่าสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในอดีตนั้นการขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมีความยากลำบาก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นโดยได้รับความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในการดำเนินการช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แรงงานที่เกิดคดีความมักจะเข้าไม่ถึงสิทธิในการต่อสู้คดี เนื่องจากไม่มีกลไกการไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ความไม่รู้ในเรื่องภาษา กฎหมายไทย และความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจ นอกจากนี้การถูกข่มขู่คุกคามทั้งจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ การที่แรงงานไม่กล้าสู้คดีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ข้อเสนอจึงอยากให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งกลุ่มภายใต้สหพันธ์แรงงานไทย เพื่อใช้กลไกนี้ในการต่อรองกับนายจ้างและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และอยากให้จังหวัดภูเก็ตมีศูนย์ประสานงานไกล่เกลี่ยในกระบวนการยุติธรรมที่แรงงานข้ามชาติหรือคนต่างชาติสามารถเข้าถึงได้ อีกส่วนคือเรื่องการดำเนินการด้านเอกสารของคนต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ กรณีที่แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน มีแนวทางการดำเนินการขอเอกสาร Visa หรือขอสัญชาติอย่างไร และอีกกรณี คือ ลูกแรงงานข้ามชาติที่เติบโตและเรียนในโรงเรียนไทยจนจบมหาวิทยาลัย ความเป็นไปได้ในเรื่องของการขอสัญชาติ การดำเนินการเอกสาร และค่าใช้จ่ายยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นมากในจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ได้ยกกรณีแรงงานข้ามชาติที่เป็นเพศหญิงมักจะได้ค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย การถูกเลิกจ้างเพราะตั้งครรภ์ระหว่างทำงาน ได้รับค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในภูเก็ตยังมีแรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 370 บาท/วัน โดยเฉพาะอาชีพคนทำงานในบ้านและคนทำความสะอาดส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานข้ามชาติเพศหญิงมักจะทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง/วัน และบางครั้งก็ทำงานแต่ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่มีวันหยุดวันลา หรือถูกไล่ออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า อย่างกรณีในช่วงฤดูกาลวันหยุดยาวหรือช่วงท่องเที่ยวแม่บ้านที่ทำงานในโรงแรมหรือทำงานวันหยุดก็ไม่สามารถลาหยุดและไม่ได้รับค่าจ้างชดเชย นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในเรื่องที่พักอาศัย บางกรณีมีการทำร้ายร่างกายลูกจ้าง หรือการเจ็บป่วยจากการทำงานนายจ้างก็ไม่รับผิดชอบค่ารักษา ทำให้แรงงานต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่แรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย อันเนื่องจากนายจ้างไม่ดำเนินการทำเอกสารให้แรงงานให้ถูกต้องทำให้แรงงานหลุดจากระบบ กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผลักภาระให้ลูกจ้างต้องดำเนินการทั้งหมด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: