ถอดบทเรียน 'สิงคโปร์-ฮ่องกง' บังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3665 ครั้ง

ถอดบทเรียน 'สิงคโปร์-ฮ่องกง' บังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพ

ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมถอดบทเรียน 'สิงคโปร์-ฮ่องกง' บังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอย่างมาก โดยพบการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งจากร้านค้าและบนสื่อออนไลน์จำนวนมาก นับเป็นหายนะที่เด็กไทยกำลังตกเป็นเหยื่อการตลาดล่าเหยื่ออย่างไร้จริยธรรมของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศจย. ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุม เรื่อง ‘E-Cigarette: Law Enforcement Mechanism Lessons learned from Singapore and Hong Kong’ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ร่วมกับส่วนราชการและ 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระ ผู้ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์ของ Mr.Willy Ng ผู้ช่วยผู้อำนวยการ Health Sciences Authority (Singapore) สรุปดังนี้ สิงคโปร์มีกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย จ่ายแจก ซื้อขาย ครอบครอง ใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขายและให้ทุนอุปถัมภ์ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าต้องห้ามเด็ดขาด เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน โดยไม่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้ายืดครองตลาดเหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอื่นๆ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้สิงคโปร์ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด คือ การมีนโยบายที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กำหนดโทษสูงและโทษครั้งต่อไปจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องปรามไม่ให้คนฝ่าฝืน รวมทั้งนักเรียนที่สูบก็ต้องโทษปรับทางโรงเรียน แต่ไม่มีโทษทางอาญา ที่สำคัญมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เช่น มีระบบเฝ้าระวังการจำหน่ายออนไลน์ด้วย AI การปิด Website และสื่อ Online โดยได้รับความร่วมมือจากทุก Platform รวมทั้งการล่อซื้อใน chat ลับ และการตรวจตราการนำเข้าอย่างเข้มงวดโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ในขณะที่ฝ่ายการศึกษาก็เร่งให้ความรู้แก่ประชาสังคมทุกภาคส่วน สิงคโปร์สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนลงได้จาก 11.8% เป็น 10.1% จากปี 2017-2020

ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ผู้ถอดบทเรียนการบังคับใช้กฎหมายของฮ่องกง และประสบการณ์การรณรงค์ของ ศ.ดร. Judith Mackay ผู้อำนวยการ Asian Consultancy on Tobacco Control และ Senior Policy Advisor ของ WHO สรุปดังนี้ ฮ่องกงมีการร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติ เครือข่ายนักวิจัย ภาคประชาสังคม วิชาชีพด้านสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ในการหยุดการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทยาสูบที่ต้องการลดทอนกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าโดยพยายามให้เปิดขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน หรือ heated tobacco products ใช้ความพยายามถึง 3 ปี ในที่สุดฮ่องกงได้ยกเลิกกฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าและผ่านกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบสำเร็จ เมื่อ 21 ตุลาคม 2021 เพียงในเดือนแรก กรมศุลกากรสามารถจับกุมได้ 46 ราย ยึดผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าได้ 360,000 ชิ้น มูลค่า 10 ล้านเหรียญฮ่องกง อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนลดลงจาก 10.2% ปี 2019 เป็น 9.5% ปี 2021

นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ (สช.) กล่าวสรุปว่า บทเรียนที่ได้จากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขของทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย’ เพราะกฎหมายของทั้งสองประเทศนี้ ห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ในปัจจุบันไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และมีการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทยาสูบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้น ขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาเพื่อปรับงานในบทบาทภารกิจต่อไป และขอเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาและดูงานการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าของสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อปรับใช้ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ากับประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: