‘อโรคยศาล วัดคำประมง’ ต้นแบบสถานชีวาภิบาลแห่งแรกของไทย ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ด้วยการแพทย์ผสมผสาน-หลักธรรม

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 2823 ครั้ง

‘อโรคยศาล วัดคำประมง’ ต้นแบบสถานชีวาภิบาลแห่งแรกของไทย ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ด้วยการแพทย์ผสมผสาน-หลักธรรม

สปสช.ลงพื้นที่ อโรคยศาล วัดคำประมง จ.สกลนคร “สถานชีวาภิบาลต้นแบบแห่งแรกของไทย” ให้การดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะท้าย บริการด้วยการแพทย์ผสมผสาน ทั้งแผนไทย-แผนปัจจุบัน เน้นใช้หลักศาสนาช่วยดูแลจิตใจ เตรียมขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล” ในระบบ สปสช. หนุนดูแลผู้ป่วยบัตรทอง

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 คณะผู้บริหารสำงานหลักประกันสุขภาพแห่ชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยสปสช เขต 8 อุดรธานี นพ.กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนเพื่อขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ณ วัดคำประมง ต.สว่าง อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร สำหรับดูแลผู้ป่วยประคับประคองแก่ผู้ป่วยท้ายด้วยการรักษาแบบองค์รวม

หลวงตาปพนพัชร์ ภิบาลพักตร์นิธี เจ้าอาวาสวัดคำประมง กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองที่เข้ามารักษาที่ อโรคยศาล วัดคำประมง จะเริ่มตั้งแต่การดูประวัติผู้ป่วยก่อนว่าได้รับการรักษาใดมาบ้าง เพื่อนำมาประมวลและหาวิธีดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงการดูแลทางจิตวิญญาณ มีการทำวัตร สวดมนต์เย็น กิจกรรมเทศนา ดนตรีบำบัด ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ในจิตใจได้ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านบาท

“ที่อโรคยาศาล เราทำงานร่วมกับหลายองค์กร ทั้งคณะแพทย์ พยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่นเดียวกับ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีแนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เราก็มาทำงานร่วมกัน” หลวงตาปพนพัชร์ กล่าว

น.ส.วิไลลักษณ์ ตันติตระกูล พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลอายุรศาสตร์-ศัลยศาสตร์ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง ปฏิบัติงานที่วัดคำประมง กล่าวว่า อโรคยศาล วัดคำประมงดูแลผู้ป่วยประคับประคอง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเริ่มให้การดูแลในฐานะสถานอภิบาลพักฟื้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามารับการดูแลทั้งหมด จำนวน 6,500 ราย รวมถึงมีการให้บริการใช้ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้การแพทย์ทางไกลเข้ามาช่วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ มีโรงพยาบาลรับส่งต่อ เช่น โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กรณีส่งต้อผู้ป่วยฉุกเฉิน และโรงพยาบาลสกลนคร แต่อย่างไรก็ดี การส่งต่อสถานบริการเหล่านี้จะมีการทำข้อตกลงกันอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยประสงค์รับบริการแบบใด

“การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลมีเกณฑ์ว่าจะต้องไม่เป็นสถานพยาบาลในระบบ แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก สธ. และสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร (สสจ.สกลนคร) ให้เป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานด้านมะเร็งจนได้รับเลขจัดตั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้านทำให้ยังไม่เป็นโรงพยาบาลในระบบ ฉะนั้นจึงเข้าเกณฑ์ในการจัดตั้งสถานชีวาภิบาล ส่งผลให้อโรคยศาล วัดคำประมง กลายเป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย” น.ส.วิไลลักษณ์ ระบุ

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะท้ายนั้นเป็นไปตามหลักนโยบายของรัฐบาล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลครบตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งเดิมทีก่อนจะมีบริการลักษณะนี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการ ส่งผลให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ประสงค์จะใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายให้ดีที่สุด

สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย อยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองอยู่แล้ว สอดคล้องกับการที่ นพ.ชลน่าน ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กำหนดให้หน่วยบริการภาคเอกชน วัด ฯลฯ เข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบ ฉะนั้นเมื่อเข้ามาแล้ว สถานบริการเหล่านี้ก็จะได้รับค่าใช้จ่ายตามสิทธิจาก สปสช. ทำให้การให้บริการนั้นเกิดความยั่งยืน

“จากการลงพื้นที่ได้มีโอกาสเห็นผู้ป่วย และญาติหลายรายที่มีความทุกข์ เมื่อได้เข้ามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการดูแลจากพระอาจารย์ ทีมงาน และผู้ป่วยด้วยกันเอง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เมื่อใจดีขึ้นคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ซึ่งที่นี่เป็นตัวอย่างที่เราได้เห็นที่นี่ รวมถึงที่วัดคำประมูลเองก็มีความพร้อม มีการดำเนินการครบวงจรกับหน่วยบริการในการดูแลสุขภาพร่วมกับหลักพระพุทธศาสนาเข้ามาดูแลจิตใจ จนทำให้สามารถเปิดเป็นสถานชีวาภิบาลแห่งแรกได้” ทพ.อรรถพร กล่าว

อนึ่ง ที่ประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 25 ธ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการกําหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ นอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ให้บริการแบบประคับประคอง สามารถเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองและสามารถเบิกจ่ายเงินค่าบริการจาก สปสช. ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: