'ขายตรง' ในคราบ 'แชร์ลูกโซ่' ที่ชายแดนใต้

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 29 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 1362 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวดังดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงาม โดยมีรูปแบบธุรกิจที่เน้นการตลาดแบบเครือข่ายแบบแชร์ลูกโซ่กำลังถูกตำรวจเล่นงานอย่างหนัก ซึ่งความเป็นจริงธุรกิจคล้ายๆ มีบทเรียนก่อนหน้านี้มากมายด้วยความเข้าใจจริตคนไทยหรือภาษาใต้เรียกว่าโถกรัดดวงในขณะที่สังคมมุสลิมชายแดนใต้ก็ไม่ต่างกันเพียงเพิ่มเรื่องให้สอดคล้องกับจริตอ้างศาสนาและวัฒนธรรม

ชายแดนภาคใต้ช่วงก่อนหน้านี้เห็นคนเฒ่าคนแก่ใส่หมวก ใส่ผ้าคลุมรวมตัวเยอะๆถามว่ามาจากไหน เมาะๆและอาเยาะๆก็ตอบว่า มาจากโรงแรมชื่อดังใจกลางเมืองปัตตานี มีบาบอท่านหนึ่งทำธุรกิจกำไรงามกับดาโต๊ะมาเลเซีย ลงทุนคนละ 3 หมื่นได้กำไร 4 พันบาทโอนทุกๆ ได้ 15 วัน ทำธุรกิจเกี่ยวกับทองบ้าง ธุรกิจอุมเราะห์ฮัจญ์ ธุรกิจเขามั่นคง คนก่อนๆหน้าพวกเรายืนยันว่า เขาไม่หลอก โอนมาทุกครั้งตามสัญญา มีสลิปแต่ละคนมายืนยัน ถ้าหาสมาชิกเพิ่มก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งหาสมากชิกมากก็ได้กำไรหลายชั้นเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ มีคนผู้มีชื่อเสียง ผู้นำชุมชน หลายพื้นที่ร่วมด้วย อาหารก็อร่อย จนปลัดอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีได้ทำหนังสือประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในธุรกิจในรูปแบบนี้ที่กำลังระบาดในชุมชน

ปัจจุบันหลังวิกฤติโควิด โทรศัพท์มีบทบาทมากๆ นักเรียน ครูทุกคน จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น ปัจจุบันเหยื่อ จึงเข้าถึงครู และนักเรียนมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อลงไปร้านนำ้ชา ที่คนชายแดนใต้ชอบนั่งหลายๆชั่วโมง ในอดีตคนเหล่านี้ ที่บ้านผมเป็นนายหน้าที่ดิน แต่ปัจจุบันเขาบอก ว่า นั่งเล่นหุ้นฮาลาล นั่งเขียโทรศัพท์ ก็ได้เงิน เป็น พัน เป็นหมื่น พอถามเขาว่าฮาลาลจริงหรือ เขาก็บอกว่าไม่ฮาลาลได้อย่างไร เขาก็โชว์ ในเพจหุ้นฮาลาล มีทั้งรูป จุฬาราชมตรีและผู้ทรงคุณวุฒิศาสนาเป็นบอร์ดบริหารโดยล่าสุด มีข่าวทางสื่อว่าโดนหลอก (ดูเพิ่มเติมใน https://www.facebook.com/share/v/Pd1Hvk6YwkGVFPLu/ และ https://www.facebook.com/share/p/bbNgBst9VPj2V6VX/)

หากเราดูที่ชาวบ้านบอกรายละเอียด จะพบว่า ในอดีตมีธุรกิจขายฝันมากมายที่ชายแดนภาคใต้กำลังเป็นคดีความ ชาวบ้านสูญเงินรับหมื่น นับแสน นับล้านบาทแล้วแต่จำนวนลงทุน เช่น อ้างว่านำเงินไปธุรกิจ ข้าวสาร โรงงาน (วันฮาลาล )และอื่นๆ เพียงแต่ละยุคแต่ละสมัยจะปรับรูปแบบเท่านั้นอย่างไรก็แล้วแต่ผู้คนชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้หลาบจำ ยิ่งแนะนำเขาเขาจะกล่าวหาว่าเราอิจฉาเขาบ้าง

ในธุรกิจขายฝันแบบนี้ภาพรวมไม่ต่างกันหรือสรุปเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้

- มักบอกว่าเป็นการลงทุนระยะสั้น ผลตอบแทนสูง แถมบางครั้งโฆษณาด้วยว่ามีความเสี่ยงต่ำ

- มีการอ้างชื่อคนดัง ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะครู อุสตาซ อุสตาซะห์ (ครูสอนศาสนา) กำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นหรือนี้ก็ลงทุน ผู้มีอิทธิพล หรือคนที่เป็นที่รู้จัก ต่างก็ร่วมลงทุน

- รูปแบบการลงทุนแชร์ลูกโซ่จะไม่ชัดเจน สินทรัพย์เป็นอะไรที่เข้าใจยาก ใหม่ หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือบางครั้งเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศ ตรวจสอบได้ยาก(อย่างเช่นอ้างดาโต๊ะที่มาเลเซีย)

- จะมีรูปแบบของการหาสมาชิกเพิ่มเป็นประเด็นหลัก เช่น ชวนเพื่อนมาสมัคร จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ๆ ไป

- อ้างว่าถ้าไม่รีบคว้า อาจเสียโอกาสนี้ไป (ต่อไปคนชายแดนภาคใต้/ปตานีจะรวยทั้งหมดเเละจะได้นำเงินนี้สร้างมัสยิด ปอเนาะและตาดีกาไม่ต้องลำบากแบมือขอรัฐบาล)

- ชักจูงให้เราลงทุนเพิ่ม โดยช่วงแรก มักจ่ายผลตอบแทนคืนให้จำนวนสูงตามที่ตกลงไว้ และเมื่อสมาชิกตายใจ ก็จะชักจูงให้นำเงินมาลงทุนในแชร์ลูกโซ่เพิ่ม เพื่อผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย อีกทั้งให้รางวัลล่อใจได้ไปทำฮัจญ์ ไปประกอบศาสนกิจที่ประเทศซาอุดิอารเบีย อันเป็นความฝันสูงสุดของมุสลิมโดยเฉพาะชาวบ้าน

ธุรกิจขายฝันแบบนี้แน่นอนผิดทั้งกฎหมายบ้านเมืองและหลักการอิสลาม

อ.อับดุลอาซีซ (อำนาจ) มะหะหมัด ผอ. สถาบันนวัตกรรมฮาลาลและตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ DPU สะท้อนว่า ”ปัจจุบันนี้แนวทางการหลอกลวงและการมอมเมาผู้คนในรูปแบบใหม่ๆ กำลังแพร่หลายอย่างมากในสังคม โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนและผู้ที่กำลังมองหาความสำเร็จหรือโอกาสทางการเงินอย่างรวดเร็ว กลวิธีเหล่านี้มาในรูปแบบของ NLP (Neuro-Linguistic Programming), แชร์ลูกโซ่, และ ไลฟ์โค้ช ที่มีการโฆษณาชวนเชื่อถึงวิธีการลงทุนหรือการพัฒนาตนเองที่จะสามารถเปลี่ยนชีวิตไปสู่ความร่ำรวยหรือความสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายครั้งสิ่งเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงหรือเอาเปรียบทรัพย์สินของคนที่ไม่ทันระวังตัว ผิดทั้งกฎหมายที่กำลังเป็นข่าวและหลักการศาสนาอิสลาม เราต้องเท่าทัน“

สำหรับหลักการอิสลามแท้จริงการทำธุรกรรมที่กล่าวถึงนั้น มันไม่ใช่ค้าขายที่ฮาลาลตามหลักการอิสลามแต่ตั้งอยู่บนความคลุมเครือที่ผิดต่อหลักการ ( الْغَرَرُ ) และหนึ่งในรูปแบบการพนัน หรือดอกเบี้ย ซึ่งได้ถูกระบุไว้ในหะดีษหนึ่งที่รายงาน จากอบู ฮุรอยเราะฮ์ – รอฎิยัลลอฮุอันฮู – ว่า:

نَهَى رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ بَيْعِ الْغَرَرِ

“ท่านนบี – ศ็อลลัลลอฮูอาลัยฮิวะซัลลัม – ได้ห้ามไม่ให้มีการขายสิ่งที่คลุมเครือ”

ดังนั้น สอดคล้องกับข้อชี้ขาดด้านศาสนาในโลกมุสลิมเช่นจากมาเลเซีย ได้ระบุในคำฟัตวา (คำวินิจฉัย)ว่า:

“การตลาดแบบเครือข่ายที่เน้นการหาสมาชิกและไม่เน้นการขายสินค้าจริงนั้น ถือเป็นการหลอกลวง และเป็นธุรกิจที่ผิดศีลธรรมในอิสลาม”

คณะกรรมการถาวรเพื่อวินิจฉัยปัญหาของประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ให้คำวินิจฉัยที่ชัดเจนว่า:

“ธุรกรรมในลักษณะนี้เป็นที่ต้องห้าม เนื่องจากสมาชิกไม่สามารถรู้ได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการหาสมาชิกเพิ่มเติมตามที่บริษัทต้องการได้หรือไม่… รูปแบบของการตลาดเครือข่ายหรือแบบปิรามิดนั้น แม้จะสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายจะถึงจุดอิ่มตัว และผู้ที่เข้าร่วมในระยะหลังมักจะขาดทุนและไม่สามารถหาผลกำไรได้”

จึงขอฝากทั้งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ออกฟัตวา (คำวินิจฉัยศาสนา) พร้อมทั้งชี้แจงประชาชนและรัฐเองใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดเพราะมีหลักฐานชัดเจนผ่านคลิปเสียงและภาพปลิ้วว่อนโลกโซเซียล ออถ้าเป็นไปได้ลองชวนสื่ออย่างโหนกระแส นำไปแฉต่อก็จะเป็นสิ่งที่ดีและจะเป็นอีกช่องทางช่วยชาวบ้านชายแดนใต้


*หมายเหตุ: ในเพจเศรษฐศาสตร์อิสลามได้อธิบายธุรกิจนี้อย่างละเอียดว่า ผิดทั้งกฎหมายบ้านเมืองและหลักอิสลาม (โปรดดู https://www.blockdit.com/articles/5ee3728219063b173a46ee2a)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: