“ศาล” จะคงความน่าเชื่อถือได้อย่างไร..

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 1 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7179 ครั้ง


ถึงสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ศาลยุติธรรม* ยังคงความศรัทธา น่าเชื่อถือในสายตาประชาชน เป็นที่พึ่งความยุติธรรมได้มากกว่าหน่วยงานใดๆ ของรัฐ การคงคุณค่าและความหมายเช่นนี้ไว้ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้พิพากษาทุกระดับในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยความขัดแย้งและคอร์รัปชัน

3 ปัจจัยที่ทำให้ศาลคงความศรัทธา น่าเชื่อถือในทุกวันนี้..

ปัจจัยแรก “พิธีกรรม” และสถานที่ของศาลถูกทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งแรกที่ประชาชนสัมผัสได้ถึงอำนาจ ความน่ายำเกรง เคร่งครัด เป็นทางการ เริ่มจากอาคารศาลที่สูงเด่นเหมือนเขาพระสุเมรุ เสริมด้วยภาพของบัลลังก์ศาล ตราครุฑ ภาพในหลวง การใส่ชุดครุย แบบแผนปฏิบัติ การใช้คำพูด สรรพนามเรียกขาน ฯลฯ

ปัจจัยที่สอง “วิธีปฏิบัติหน้าที่” หรือวิธีพิจารณาคดีของศาลแพ่งและอาญา มีกระบวนการชัดเจนคือ

1. การพิจารณาคดี ต้องทำต่อหน้าคู่ความพร้อมผู้ชำนาญทางกฎหมาย คือทนายความและอัยการ

2. คู่ความในคดีสามารถต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจนพอใจ ผ่านศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

3. ผู้พิพากษา ต้องยึดแบบแผนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอาญาฯ หรือความแพ่งฯ จะทำตามใจตนมิได้

4. มีกระบวนการสอบทานความสมเหตุสมผลโดยผู้พิพากษาอาวุโส ผู้บังคับบัญชา ที่ประชุมผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี

ปัจจัยที่สาม “วัฒนธรรมองค์กร” สังคมผู้พิพากษามีแบบแผนและแบบอย่างที่ดี มีการจัดระเบียบและการใช้อำนาจของผู้พิพากษาให้มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ ตรวจสอบได้ ใครผิดก็ลงโทษไม่ปล่อยไว้เป็นขยะใต้พรม และสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าโดดเด่นมาก คือ

ผู้พิพากษาแต่ละท่านมีโอกาสเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ เลื่อนชั้นขึ้นเงินเดือนไปตามประสบการณ์และอาวุโสที่จัดไว้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มรับราชการ แต่เพื่อป้องกันพวกอาวุโสเพราะ “นั่งนานแต่งานไม่ทำ” จึงมีระบบให้รางวัลแก่ผู้มีผลงานตามกติกา

ส่วนการวิ่งเต้นเส้นสายเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ แม้มีอยู่ก็ส่งผลกระทบต่อระบบน้อย เพราะนอกจากพิจารณาโดยผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมคอยกำกับอยู่

ในความเป็นมนุษย์ ผู้พิพากษาส่วนใหญ่สามารถ “ครองตน” ได้เหมาะสม ระมัดระวังความประพฤติมิให้เสื่อมเสีย ไม่เป็นที่ครหา ถือเป็นวิถีปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างน่ายกย่อง

วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรที่เข้มแข็งนี้ยังเป็นปราการต้านมิให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงศาลยุติธรรมได้ง่ายๆ ดังที่เกิดขึ้นกับองค์กรอื่น
ศาลกับคอร์รัปชัน..

ที่ผ่านมา “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” ตัดสินคดีได้รวดเร็วน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น หากรับรู้ว่าศาลได้ไต่สวนคดีอย่างเข้มงวดสมกับเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรง แล้วลงโทษคนโกงอย่างรุนแรงโดยไม่รอลงอาญา เว้นแต่คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ที่จำเลยรับสารภาพ

บทสรุป..
วิกฤตศรัทธาเกิดขึ้นแล้วเป็นครั้งคราวกับศาลยุติธรรมด้วยหลายสาเหตุ อุปสรรคที่เพิ่มขึ้นในยุคนี้คือความเห็นของสังคมที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาหรือมองว่าสองมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การเมือง การละเมิดต่อผู้หญิงและเด็ก สิ่งเหล่านี้อาจบั่นทอนตัวตนและภาพลักษณ์ของศาลได้

เพื่อคงความเป็นที่พึ่งของแผ่นดิน ผู้บริหารทุกระดับของศาลยุติธรรมต้องใส่ใจตรวจสอบบุคลากรของตน พัฒนากระบวนให้โปร่งใส สร้างกลไกให้บุคคลภายนอกตรวจสอบได้

ขณะเดียวกันผู้พิพากษาทั้งปวงต้องเปิดกว้างร่วมมือกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม ฟังเสียงสังคม รับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก สื่อสารเชิงรุกให้ประชาชนเข้าใจความยุติธรรมในการตัดสินคดีของศาล และสิทธิของประชาชนภายใต้กฎหมาย

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
29 ก.พ. 2567

หมายเหตุ* ศาลยุติธรรม หมายถึงศาลแพ่งและศาลอาญา ไม่รวมศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง

เผยแพร่ครั้งแรกในเพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: