จับตา: โฆษณาเกินจริงของยาสีฟัน ที่ควรรู้ทันก่อนตกเป็นเหยื่อ

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 20837 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีสื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพช่องปากและฟันจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก เช่น น้ำยาบ้วนปากสลายหินปูน ยาสีฟัน รักษาฟันโยก คลอน ฟันผุ แก้ร้อนใน หรือยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันงอกใหม่ โดยนำเสนอในรูปแบบของการโฆษณา ใช้ดารา หรือเน็ตไอดอล รีวิวสินค้า หรือการแอบอ้างบทสัมภาษณ์นักวิชาการ ซึ่งเนื้อหาของผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาเกินความเป็นจริง ให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรือให้ข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว เพื่อนำเสนอข้อดีของผลิตภัณฑ์ในการแก้ปัญหาในช่องปากได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาทางทันตกรรม หรือเสียเวลาไปพบทันตแพทย์

ยาสีฟันเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับช่องปากที่ผู้บริโภคหาซื้อได้เอง มีส่วนประกอบหลัก  คือ ผงขัดฟัน สารก่อให้เกิดฟอง สารแต่งสี/กลิ่น/กันเสีย สารให้ความชุ่มชื้นเพื่อให้สามารถบีบออกได้ สารเพิ่มความข้นหนืด และฟลูออไรด์หรือสมุนไพรต่าง ๆ ยาสีฟันใช้ เพื่อทำความสะอาดช่องปากเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ฟันงอกขึ้นมาใหม่ หรือสามารถฟื้นฟูและเสริมสร้างผิวฟันได้และยังพบเห็นการโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ โดยการอวดอ้างในเชิงรักษาโรคว่าสามารถแก้ปัญหาร้อนใน รักษาฟันผุ เชื้อราในช่องปาก เลือดออกตามไรฟัน เหงือกอักเสบ ปวดฟัน ฟันโยก จัดการคราบหินปูน ช่วยให้ฟันงอกใหม่ ช่วยให้ขาวใส 4-5 ระดับ ซึ่งเป็นข้อความที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริงและทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง

การแปรงฟันไม่ถูกวิธีเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก ทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ และคราบหินปูน ยาสีฟันจะทำงานร่วมกับการแปรงฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารตามซอกฟันออก ช่วยป้องกันการเกิดฟันผุและคราบหินปูน หากเกิดฟันผุหรือมีหินปูนในช่องปากแล้ว จะต้องพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยการอุดฟัน และขูดหินปูน นอกจากนี้ควรไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งหรือทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาวะที่ดีของช่องปากและฟัน ควรเลือก ซื้อยาสีฟันจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ บรรจุภัณฑ์ปิดสนิทเรียบร้อย มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง 10 หรือ 13 หลัก อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ยาสีฟันตามคำโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงมาใช้ นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่เกิดประโยชน์แล้วยังเสียโอกาสในการรักษา อาจเสี่ยงได้รับอันตราย เช่น ติดเชื้อในช่องปาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคตตามมาได้

 

ข้อมูลอ้างอิง 

https://oryor.com/media/newsUpdate/media_news/2351

https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/1249

https://www.hfocus.org/content/2021/12/24000

https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared Documents/งานโฆษณา/คู่มือแนวทางการโฆษณาเครื่องสำอางPart INDEX.pdf   P17,23

การดูแลช่องปาก และความรู้เรื่องยาสีฟัน | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: