กต.สหรัฐฯ เผยรายงานสิทธิมนุษยชน 2022 มุ่งเป้า 'รัสเซีย-เมียนมา-จีน-อิหร่าน'

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 872 ครั้ง

กต.สหรัฐฯ เผยรายงานสิทธิมนุษยชน 2022 มุ่งเป้า 'รัสเซีย-เมียนมา-จีน-อิหร่าน'

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2022 มุ่งเป้า 'รัสเซีย-เมียนมา-จีน-อิหร่าน'

VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2566 ว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2022 ซึ่งโจมตีรัสเซียว่าก่ออาชญากรรมสงครามและความโหดร้ายหลายรูปแบบในยูเครน นับตั้งแต่ส่งกำลังทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2022

รายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศเผยว่า "มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่ากองทัพรัสเซียได้ก่อเหตุสังหาร ทรมาน ข่มขืน โจมตีแบบไม่เลือก และโจมตีแบบมุ่งเป้าไปที่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนในยูเครน ซึ่งล้วนเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมสงคราม"

รายงานยังระบุถึงการบังคับให้ประชาชนในยูเครนโยกย้ายถิ่นฐานไปยังรัสเซียโดยไม่สมัครใจด้วย

รายงานชิ้นนี้เปิดเผยออกมาในวันจันทร์ หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพิ่งออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และหัวหน้าสำนักงานสิทธิเด็กของรัสเซีย เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2023 ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากการมีส่วนร่วมในข้อกล่าวหาว่าลักพาตัวและโยกย้ายเด็ก ๆ ชาวยูเครนไปยังรัสเซีย

ทางด้านรัฐบาลรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธหมายจับดังกล่าว และบอกปัดโอกาสที่ประธานาธิบดีปูตินจะถูกดำเนินคดี โดยรัสเซียนั้นมิได้เป็นสมาชิกของ ICC และไม่ยอมรับอำนาจทางกฎหมายของศาลแห่งนี้แต่อย่างใด

รายงานฉบับนี้ยังได้เน้นย้ำความกังวลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน จีน เมียนมา อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ ซีเรีย และอีกหลายประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ

การละเมิดสิทธิสตรีในอิหร่าน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวว่า รายงานประจำปี 2022 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ "การปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลอิหร่าน และการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล รวมถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางศาสนา ของประชาชนอิหร่าน"

รายงานชี้ว่า การเสียชีวิตของ มาห์ซา อามีนี สตรีวัย 22 ปี ขณะถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุมคุมขังเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม ได้นำไปสู่การประท้วงอย่างสงบทั่วอิหร่าน ซึ่งทางการอิหร่านตอบโต้ด้วยการปราบปรามผู้ประท้วงโดยไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีการสอบสวนการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเหล่านั้น

การก่ออาชญากรรมต่อชาวอุยกูร์

รัฐมนตรีบลิงเคนกล่าวว่า "การสังหารล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์" ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับบรรดาชาวมุสลิมอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และศาสนาอื่น ๆ ในมณฑลซินเจียงของจีน

อาชญากรรมเหล่านี้รวมถึงการคุมขังโดยไม่มีความผิด และการจำกัดเสรีภาพทางร่างกายอย่างรุนแรงแบบอื่น ๆ ต่อพลเมืองกว่าหนึ่งล้านคน การบังคับให้ทำหมันและทำแท้ง การข่มขืนและการละเมิดทางเพศรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการบังคับใช้แรงงาน การจำกัดเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการเดินทาง

การปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในเมียนมา

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังคงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเพื่อควบรวมอำนาจ สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 2,900 คน และจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างมากกว่า 17,000 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2021

รายงานฉบับนี้ระบุถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานใน 198 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำรายงานประจำปีในด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปีแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: