เปิดแผนบริหารน้ำพื้นที่ EEC รับมือเอลนีโญ

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3348 ครั้ง


กรมชลประทานย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ EEC ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญอย่างเคร่งครัด โดยใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกสูบกลับเพื่อเติมน้ำต้นทุนลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ แล้วใช้เป็นศูนย์กลางกระจายน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาและสำนักงานชลประทานที่ 9 ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ทุกภาคส่วน

เผยช่วง 1 ม.ค. – 16 ก.ค. 2566 ปริมาณฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติ (ปริมาณฝนเฉลี่ย 30 ปี) 25% และต่ำกว่าปี 2565 ถึง 41%

ปัจจุบันพบว่า ปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน โดยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2567 จากปรากฏการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2566 ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย ส่วนปริมาณฝนสะสมตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 16 ก.ค. 2566 ต่ำกว่าค่าปกติ (ปริมาณฝนเฉลี่ย 30 ปี) 25% และต่ำกว่าปี 2565 ถึง 41%

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ในเขต 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่เป็นการบริหารจัดการน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกัน รวมถึงมีการสูบผันน้ำผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำหรือที่เรียกว่า “ระบบอ่างพวง” โดยเริ่มปฏิบัติการระบบสูบกลับน้ำของโครงข่ายน้ำภาคตะวันออกตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายน้ำเลี้ยงพื้นที่ EEC ได้อย่างเพียงพอ

สำหรับการสูบน้ำไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จะสูบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 มีศักยภาพการสูบได้วันละประมาณ 250,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 7.50 ล้าน ลบ.ม. น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์จะผันไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

ส่วนระบบสูบกลับน้ำ นอกจากนี้ยังจะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อรักษาระดับน้ำและคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์สำหรับการผลิตน้ำประปาของจังหวัดชลบุรี ซึ่งปีนี้วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่หากตรวจคุณภาพน้ำแล้วพบค่าความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก่อนแผนที่วางไว้ จะสูบผันน้ำทันที

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC 

นายประพิศกล่าวว่า กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ตามแนวทางที่ประชุมร่วมกับคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวันออก (Keyman Water Warroom) อย่างเคร่งครัด โดยน้ำต้นทุนหลักใช้จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ หนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร บางพระ หนองค้อ และพัทยา จังหวัดชลบุรี รวมถึงผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงและจากคลองพระองค์ไขยานุชิต มายังอ่างก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี โดยแผนการผันน้ำจะปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ภายใต้ข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ดังนี้

– แผนสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อเติมปริมาณน้ำตันทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์

– แผนสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำในคลองสะพาน

– แผนสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต – อ่างเก็บน้ำบางพระ 56.00 ล้าน ลบม.

– แผนสูบผันจากแม่น้ำบางปะกง – อ่างเก็บน้ำบางพระ 24.45 ล้าน ลบ.ม.

– แผนสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ 22.25 ล้าน ลบ.ม.

– แผนสูบผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ – อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 32.95 ล้าน ลบ.ม

– แผนผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ – อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 60.00 ล้าน ลบ.ม.

นายประพิศกล่าวต่อว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จากโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก จะอยู่ที่ประมาณ 1.20 ล้าน ลบ.ม./วัน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบประณีต ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ของแต่ละภาคส่วน พร้อมกับรณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้ประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเก็บกักน้ำไว้ใช้ด้วย โดยเชื่อมั่นว่า ปริมาณน้ำต้นทุนจะมีเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมของพื้นที่ EEC

เร่งขับเคลื่อนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

สำหรับมาตรการระยะยาว กรมชลประทานเร่งขับเคลื่อนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี อ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำคลองกะพง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเพิ่มความจุน้ำได้ประมาณ 162 ล้าน ลบ.ม.

ตลอดจนเร่งรัดโครงการผันน้ำได้แก่ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแส-หนองค้อ-บางพระ โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง-อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และโครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รวมทั้งการร่วมมือและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำให้เป็นไปตามกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีแผนสำรองเพื่อดำเนินการเฉพาะหน้า หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือเช่น จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำหรือรถบรรทุกน้ำที่สามารถนำน้ำไปสนับสนุนได้อย่างทันท่วงที ตรวจสอบการทำงานของอาคารชลประทาน เครื่องมือ เครื่องจักร ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: