คนร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 66 สูงสุด เหตุค่าไฟฟ้าแพง ดันยอดผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 10033 ครั้ง

คนร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 66 สูงสุด เหตุค่าไฟฟ้าแพง ดันยอดผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์

ประชาชนแห่เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2566 สูงสุดนับตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อปี 2562 เหตุค่าไฟฟ้าพุ่งสูงตลอดปี ส่งผลยอดติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสูงถึง 10.18 เมกะวัตต์ จากผู้ร่วมโครงการ 1,878 ราย ชี้แนวโน้มหากปริมาณไฟฟ้าเกินเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ ก่อนกำหนด 10 ปี (2564-2573) ภาครัฐอาจพิจารณาเพิ่มโควตารับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้มากขึ้นได้ | ที่มาภาพ: การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2566 Energy News Center รายงานความคืบหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่าหลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2566 โดยกำหนดการรับซื้อแบบระยะยาว 10 ปี (2564-2573) แทนการรับซื้อปีต่อปี รวมการรับซื้อไฟฟ้า 10 ปี จำนวน 90 เมกะวัตต์ ตามแผนการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ใน “โครงการโซล่าร์ภาคประชาชน” สำหรับปี 2566 พบว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) รวม 1,878 ราย กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 10.18 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 1,664 ราย มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 9.11 เมกะวัตต์ และมาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จำนวน 214 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 1.06 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในปี 2566 นับเป็นการเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีปริมาณผลิตไฟฟ้าเข้าระบบสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งเบื้องต้นเกิดจากค่าไฟฟ้าตลอดปี 2566 ปรับสูงขึ้นเกิน 4 บาทต่อหน่วย ประกอบกับต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เริ่มลดลง ส่งผลให้ประชาชนหันมาสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

ส่วนภาพรวมการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2562-2566 พบว่า มีจำนวนผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์และขายไฟฟ้าเข้าระบบรวม 8,431 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบประมาณ 46.28 เมกะวัตต์

สำหรับในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ปี 2562-2565 ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบปีต่อปี พบว่ามีผู้ร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมายแม้แต่ปีเดียว โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 260 เมกะวัตต์ แต่มีผู้ร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 9 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นดังนี้

ในปี 2562 -2565 เปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่จูงใจมากพอ

ต่อมาในปี 2564 จึงปรับลดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเหลือ 50 เมกะวัตต์ และปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขายไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ เท่านั้น และในปี 2565 ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าลงอีกครั้งเหลือ 10 เมกะวัตต์ ในราคาเดิม 2.20 บาทต่อหน่วย ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1.37 เมกะวัตต์

ท้ายที่สุด กกพ. ได้ปรับหลักเกณฑ์เป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี (2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวก็เริ่มใช้ในปี 2566 นี้ และพบว่าประชาชนให้ความสนใจมากขึ้น มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบรวมกว่า 10 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี และยังมีกลุ่มผู้ร่วมโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (รอ COD) จำนวน 2,795 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 15.501 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กกพ.ระบุว่า หากประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น เกินกว่าโควตา 90 เมกะวัตต์ ก่อนกำหนด 10 ปี ทาง กกพ. จะหารือกับภาครัฐเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มโควตามากขึ้นต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: