กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยเครียดมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม-ซึมเศร้าเพิ่ม 1-2%

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.พ. 2566 | อ่านแล้ว 12575 ครั้ง

กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยเครียดมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม-ซึมเศร้าเพิ่ม 1-2%

กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยเครียดมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่ม-ซึมเศร้าเพิ่ม 1-2% สถิติปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคนสอดคล้องผลการศึกษาของ WHO ชี้ ปี 2572 โรคซึมเศร้าอันดับ 2 ทะยานภาระโรคระดับโลก | ที่มาภาพ: ryan melaugh (CC BY 2.0)

Thai PBS รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.2566 ว่านพ.อภิชาติ จริยาวิลาส โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกมีการประเมินว่ามีจำนวนกว่า 5% ของประชากรปกติ ขณะที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปพบว่าสูงถึง 10% ส่วนอัตราของไทยอยู่ที่ 1-2% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีผู้ที่ทราบว่าตนเองมีอาการป่วยแล้วมาหาแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการป่วยน้อยลง เพราะเข้าถึงการบำบัดรักษาเร็ว

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยทางจิตเวช หรือมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจริงๆ ตัวเลขอาจจะไม่มากเพิ่มจากเดิม เพราะคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย อาย หรืออาจมีความเข้าใจเรื่องโรคยังไม่มากพอ ทำให้เข้าใจผิด จึงไม่ได้มาพบจิตแพทย์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่บีบุ้นทั้งจากปัญหาครอบครัว สังคม เครียด ทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชและคนเป็นซึมเศร้ามากขึ้นด้วย

ทางเลือกบำบัดอาการซึมเศร้า

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตและซึมเศร้า มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ หลักๆ คือการใช้ยา นอกจากนี้อาจใช้วารีบำบัด สัตว์เลี้ยง ตุ๊กตา ศิลปะ กีฬา ดนตรี คือต้องดูว่าผู้ป่วยมีความชอบ หรือสนใจอะไร

"แพทย์จะเป็นผู้เลือกให้กับผู้เข้ารับการรักษาว่าอะไร เหมาะสมกับใคร แพทย์จะใช้หลายๆ วิธีให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนแต่หลักๆคือ การใช้ยา และทำจิตบำบัด"

ข้อมูลจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า และผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก พยากรณ์ไว้ใน Provisional agenda item 6-2 ว่า ตั้งแต่ปี 2554 ในปี 2572 นั้นโรคซึมเศร้า จะขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และการเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังหลักให้กับประเทศชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: