Rocket Media Lab: ปี 2022 คนกรุงเทพฯ มีวันอากาศดีแค่ 49 วัน สูดฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,224 มวน

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 8608 ครั้ง

Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูล พบในปี 2022 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,224.77 มวน ลดลงถึง 37 มวนจากปี 2021 ที่มีจำนวน 1261.05 มวน  อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน | ที่มาภาพ: Vaskar Sam on Unsplash

  • ในปี 2022 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,224.77 มวน ลดลงถึง 37 มวนจากปี 2021 ที่มีจำนวน 1261.05 มวน 
  • อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน 
  • มีข้อสังเกตว่า ในปี 2020 และ 2021 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM2.5 มากที่สุด คือเดือนมกราคม ขณะที่ปี 2022 กลับเป็นเดือนเมษายน
  • มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้กรมควบคุมมลพิษเพียง 22 รายการ (จาก 78 รายการ) เป็นงบฯ 97,130,400 บาท หรือคิดเป็น 0.003% ของงบฯ รายจ่ายประจำปี 2565
  • ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตรง 2 โครงการที่มีการตั้งงบฯ รวม 58,726,956 หรือคิดเป็น 0.74% ของงบฯ ทั้งหมดของ กทม. 

 

แม้ในปี 2022 จะเป็นปีที่กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ถูกกล่าวถึงน้อยลง และมีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5 น่าจะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากถูกฝนชะล้าง 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจภาพรวมสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในปี 2022 ว่า ฝุ่น PM2.5 หายไปจริงไหม

กรุงเทพฯ และ PM2.5 ในปี 2022

จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ

พบว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี ซึ่งมากกว่าปี 2021 ที่มีจำนวน 202 วัน ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2021 ที่มี 61 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี ซึ่งลดลงจากปี 2021 ที่มีถึง 12 วัน

จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดในปี 2022 คือเมษายน โดยมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง 3 วัน และเป็นเพียงเดือนเดียวที่มีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง สูงสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2022 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2020 และ 2021 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM2.5 มากที่สุด คือเดือนมกราคม ขณะที่ปี 2022 กลับเป็นเดือนเมษายน

3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด 

นอกจากเมษายนจะเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงสุด และมีวันที่สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงเพียงเดือนเดียวในปี 2022 แล้ว เมษายนยังเป็นเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดโดยมีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดอีกด้วย โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเพียง 2 วัน สีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน สีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 3 วัน

รองลงมาคือธันวาคม โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 11 วัน 

ถัดมาคือเดือนมกราคม ซึ่งไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย และมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน 

จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 แตกต่างจากในปี 2020 และ 2021 ที่มีสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดคือเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์

3 เดือนที่มีอากาศดีที่สุด 

เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2022 ก็คือกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งเดือนต่ำที่สุด โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 11 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน 

รองลงมาก็คือกันยายน โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 13 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 17 วัน และเดือนสิงหาคม โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 7 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 24 วัน 

จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2022 แตกต่างจากในปี 2020 และ 2021 ที่สามเดือนที่มีอากาศดีที่สุดคือเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน (โดยไม่เรียงลำดับ) ในขณะที่วันที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 คือวันที่ 30 กันยายน 2022 โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต

ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 มคก./ลบ.ม. = บุหรี่ 1 มวน ปี 2022 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2022 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า

ในปี 2022 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,224.77 มวน ลดลงถึง 37 มวนจากปี 2021 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าในภาพรวมปี 2022 อากาศดีกว่าปี 2021 แม้จะมีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งก็ตาม 

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน  127.77 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน โดยลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด ที่คิดเป็นจำนวน 163.68 มวน  

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 อย่างกรกฎาคม คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศดีที่สุดเช่นเดียวกัน ที่คิดเป็นจำนวน 64.86 มวน

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก

งบจิ๋วๆ กับการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 

ในปี 2565 ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี อยู่ที่ 3,100,000,000,000 บาท โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบประมาณ 29,092,330,500 บาท หรือคิดเป็น 0.94% เท่านั้น และในส่วนของการแก้ไขปัญหามลพิษมีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยกรมควบคุมมลพิษได้รับงบประมาณในปี 2565 จำนวน 485,948,300 บาท หรือคิดเป็น 0.016% ของงบประมาณประเทศ 

แต่ในขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่นพิษ PM2.5 เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเราพิจารณาโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ ประจำปี 2565 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 5,484 โครงการ ก็จะพบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้กรมควบคุมมลพิษเพียง 22 รายการ (จาก 78 รายการ) รวมเป็นงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 โดยตรงเพียง 97,130,400 บาท หรือคิดเป็น 0.003% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

และเมื่อพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตรงก็จะพบว่างบประมาณส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อดูแลเครื่องและสถานีตรวจวัดคุณอากาศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่กรมควบคุมมลพิษ เขตพญาไท 14 ล้านบาท และในจังหวัดต่างๆ 10 จังหวัด คือ  กำแพงเพชร สุโขทัย บุรีรัมย์ พิจิตร จันทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี เพชรบูรณ์ มุกดาหาร และประจวบคีรีขันธ์ จุดละ 7.5 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันก็มีโครงการอื่นๆ เช่น โครงการศึกษาเพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี 1.5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1.3 ล้านบาท หรือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะ 1.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามโครงการที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็อาจจะไม่้ได้อยู่ภายใต้การทำงานของกรมควบคุมมลพิษทั้งหมด แต่อาจจะมีการกระจายอยู่ภายใต้หน่วยงานอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น โครงการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนหมู่บ้านป้องกันไฟป่าในแต่ละจังหวัดของกรมป่าไม้ หรือโครงการเงินอุดหนุนสำหรับหมู่บ้านเครือข่ายการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในแต่ละจังหวัดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ก็คือกรุงเทพมหานคร โดยในปี 2565 กทม. มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 78,979,446,500 บาท และสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 นั้น อยู่ภายใต้การทำงานของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565 สำนักสิ่งแวดล้อมได้รับงบประมาณ 6,845,454,756 หรือคิดเป็น 8.67% ของงบประมาณ กทม.

แต่ในขณะเดียวกันสำนักสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่นพิษ PM2.5 เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเราพิจารณาโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ ประจำปี 2022 ของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตรงก็จะพบว่ามีเพียง 2 รายการ รวม 58,726,956 หรือคิดเป็น 0.74% ของงบทั้งหมดของ กทม. ซึ่งก็คือ โครงการจ้างเหมาเอกชนเดินระบบและซ่อมบำรุงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและระบบข้อมูลคุณภาพอากาศ 58,647,556 บาท และค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จากรถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร 79,400 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่างบประมาณส่วนใหญ่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ก็ยังเป็นการใช้งบประมาณในการดูแลซ่อมบำรุงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเช่นเดียวกับการใช้งบประมาณของกรมควบคุมมลพิษ 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังปรากฏโครงการการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อื่นๆ โดยที่ไม่ใช้งบประมาณในการดำเนินการ เช่น โครงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงจากการก่อสร้างโครงการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โครงการตรวจวัดรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครโครงการอากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน โครงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร โครงการศึกษาการจัดการปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โครงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงจากการก่อสร้างโครงการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งเป็นทั้งโครงการที่ทำงานในแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น หรือเป็นโครงการทำงานด้านการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ 

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อนไปถึงไหนแล้ว?

ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นวาระปัญหาระดับชาติ โดยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 

จากข้อมูลของโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยกรมควบตุมมลพิษ ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เกิดจากสาเหตุหลักๆ ก็คือ ภาคการขนส่งทางถนน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร และเมื่อพิจารณามาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อจัดการกับ 3 แหล่งกำเนิดหลัก ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่า

ในภาคการขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 จะพบว่ามาตรการหลักที่เกิดขึ้นคือการออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา และมาตรการการตรวจควันดำ โดยกรมควบคุมมลพิษให้ข้อมูลไว้ว่า ภาพรวมการตั้งจุดสกัดรถยนต์ควันดำ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการตรวจสอบสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 9 มี.ค. 2565 แบ่งเป็น พื้นที่ กทม. ตรวจสอบสะสม 143,752 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 38,349 คัน ห้ามใช้สะสม 648 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 70,522 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 933 คัน ห้ามใช้สะสม 993 คัน จากสถิติในภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานประมาณ 18%

อีกมาตรการคือมีการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 มิลลิลิตรต่อลูกบาศก์เมตร (ppm) (มีกำมะถันน้อยกว่า 5 เท่า) มาใช้ หรือการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยปัจจุบัน ในขณะที่มาตรการยังไม่มีการบังคับใช้ ภาครัฐใช้วิธีขอความร่วมมือกับผู้จำหน่ายน้ำมันให้นำน้ำมันกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 มาจำหน่ายก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลนี้ จะสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้

ด้านภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ที่ให้โรงงานประเภทต่างๆ ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 จากเดิมที่ใช้บังคับเฉพาะโรงงานในวงจำกัด เป็นครอบคลุมโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศ สั่งติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องฯ แบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง

จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะพบว่า กรุงเทพฯ มีโรงงานอุตสาหกรรม 260 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ 154 โรงงาน โรงงานที่ใช้ถ่านหิน 1 โรงงาน โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ 35 โรงงาน โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ 68 และโรงงานแอสฟัลติก 2 โรงงาน และในปริมณฑลพบว่า นครปฐมมี 420 โรงงาน สมุทปราการ 175 โรงงาน นนทบุรี 20 โรงงาน และปทุมธานี 21 โรงงาน

ปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลการตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย (CEMS) เพียง 4 โรงงาน 15 ปล่อง เท่านั้น ขณะที่สมุทรปราการ มี 6 โรงงาน 16 ปล่อง นนทบุรี 3 โรงงาน 5 ปล่อง ปทุมธานี 6 โรงาน 17 ปล่อง ส่วนนครปฐมไม่มีเลย 

และส่วนภาคการเกษตรมีการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกิน 10% ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ เพื่อลดการเผาในที่โล่งแจ้ง อันเป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 และรัฐบาลยังได้ออกมาตราการส่งเสริมการตัดอ้อยสด ผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยไม่ต้องเผาอ้อย สำหรับฤดูการผลิต 2565/2566 มีการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเป็นจำนวน 8,159 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยข้อมูลสถิติการลักลอบเผาอ้อยอันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ว่าในช่วง 3 ปีการผลิตที่ผ่านมา พบว่า ปี 2562/2563 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 37.18 ล้านตัน ปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน และปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน ปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาในฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า 5 จังหวัดที่มีการเผามากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 3.532 ล้านตัน อุดรธานี 2.649 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 2.359 ล้านตัน ขอนแก่น 1.952 ล้านตัน และเพชรบูรณ์ 1.950 ล้านตัน

ส่วนฤดูการผลิตล่าสุด 2565/2566 เพียง 21 วันของปี 2566 มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน  

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งจากภาคการเกษตรไม่ได้มีเพียงไร่อ้อยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนาข้าวและข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์ด้วย โดยประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อย ปีการผลิต 2564/65 รวม 47 จังหวัด อยู่ที่ 11,022,348 ไร่  ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปี ปี 2564  53,119,681ไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2564 จำนวน 3,116,500 ไร่ จะเห็นได้ว่าพื้นที่นาข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมากกว่าพื้นที่ไร่อ้อย แต่กลับยังไม่มีมาตรการลดการเผาออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการลดการเผาอ้อย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการนำเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะ แต่จนถึงปี 2565 แนวนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายควบคุมเรื่องต่างๆ นั้นยังมีความล่าช้าและไม่ครอบคลุม งบประมาณในส่วนที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาที่ถือเป็นวาระของชาตินี้ก็ยังน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับงบของประเทศหรืองบประมาณในส่วนอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการใช้งบประมาณเพื่อการอ่านค่าฝุ่นและรายงานค่าฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือระดับพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่งจะเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยจะเป็นการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จากปี 2565 นำมาปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดมาตรการต่างๆ เป็น 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ ซึ่งทั้ง 7 แนวทางมีดังนี้

  1. เร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน และสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
  2. ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต เป็นต้น
  3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา
  4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับ ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์ม หรือช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
  5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ พัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ
  6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน
  7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

ในวาระที่ฝุ่น PM2.5 กลับมาเยือนอีกครั้ง คงต้องรอดูว่าแนวทางจากภาครัฐในปี 2566 นี้ ซึ่งหลายแนวทางก็ยังคงเป็นแนวทางเดิมจากแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 2562 ว่าจะสามารถจัดการหรือทุเลาปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ 

 

หมายเหตุ: 

  • อ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง https://aqicn.org/city/chiang-mai 
  • ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต 
  • PM2.5 เทียบกับบุหรี่ http://berkeleyearth.org/air-pollution-and-cigarette-equivalence 
  • แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567 กรมควบคุมมลพิษ
  • โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน

ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล กรมควบคุมมลพิษ

  • รายชื่อโรงงานที่เชื่อมต่อข้อมูล CEMS กรมอุตสาหกรรม
  • ข้อมูลงบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเว็บภาษีไปไหน https://govspending.data.go.th/dashboard/3

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-pm-25-2022/ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: