สหรัฐฯ เดินหน้าลงโทษทางเศรษฐกิจเพิ่มต่อ 150 องค์กร-บุคคลที่เกี่ยวกับรัสเซีย

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 17375 ครั้ง

สหรัฐฯ เดินหน้าลงโทษทางเศรษฐกิจเพิ่มต่อ 150 องค์กร-บุคคลที่เกี่ยวกับรัสเซีย

สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อธุรกิจและบุคคลกว่า 150 แห่ง/คนในรัสเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์เจีย ตามแผนงานปราบปรามความพยายามหลบหลีกการควบคุมและจำกัดการค้า ที่มีจุดประสงค์เพื่อปิดกันการระดมทุนสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนโดยรัสเซีย

VOA รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2023 ว่าสหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อธุรกิจและบุคคลกว่า 150 แห่ง/คนในรัสเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และจอร์เจีย ตามแผนงานปราบปรามความพยายามหลบหลีกการควบคุมและจำกัดการค้าต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อปิดกันการระดมทุนสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนโดยรัสเซียที่ดำเนินมากว่า 19 เดือนแล้ว

การประกาศมาตรการชุดใหม่รอบนี้ คือ การลงโทษครั้งใหญ่ที่สุดโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และมุ่งที่จะจัดการกับกลุ่มที่ยังขายเทคโนโลยีตะวันตกให้กับกรุงมอสโก โดยเฉพาะบุคคลหรือธุรกิจที่อยู่ในตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกองค์การนาโต้

มาตรการลงโทษดังกล่าวซึ่งสั่งอายัดสินทรัพย์ที่ธุรกิจหรือบุคคลใด ๆ ถือครองอยู่ในสหรัฐฯ ยังพุ่งเป้าไปยังการสกัดกั้นภาคพลังงานของรัสเซียที่เป็นจักรกลสำคัญในการหาเงินสนับสนุนการทำสงคราม ซึ่งรวมถึงโครงการขุดก๊าซธรรมชาติในทะเลอาร์กติกและบรรดาเหมืองรวมทั้งโรงงานที่รับผิดชอบผลิตและซ่อมแซมอาวุธของกองทัพรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแสดงความต้องการที่จะให้โครงการ LNG2 ในทะเลอาร์กติกของรัฐบาลผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวออกมามากขึ้นเพื่อให้รัสเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดพลังงานโลก

เจมส์ โอไบรอัน หัวหน้าสำนักงานประสานงานมาตรการลงโทษของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า “จุดประสงค์ของการดำเนินแผนงานนี้คือ การจำกัดความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย และเพื่อลดสภาพคล่องในการนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อการทำสงคราม”

นอกจากนั้น มาตรการชุดล่าสุดของสหรัฐฯ ยังพุ่งเป้าไปยังบริษัทสัญชาติตุรกี ฟินแลนด์และรัสเซียที่ช่วยมอสโกจัดหาส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ และยุโรป เช่น ชิปและตัวประมวลผลคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้ทั้งกับอุปกรณ์สำหรับพลเรือนและสำหรับทหาร

รายงานข่าวลงรายละเอียดว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังมุ่งดำเนินการลงโทษไปยังบริษัทจากตุรกีที่ช่วยทำการซ่อมแซมเรือให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ขณะที่ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องการลงโทษสิ่งที่ระบุว่าเป็น “เครือข่ายที่มีที่ตั้งอยู่ในฟินแลนด์” ที่จัดส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย เช่น กล้องสำหรับโดรน และแบตเตอรีลิเธียม ให้กับรัสเซีย

โอไบรอัน เปิดเผยว่า ก่อนสงครามในยูเครนจะเปิดฉากขึ้น รัสเซียนำเข้าราว 90% ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่มจี 7 แต่หลังมีการดำเนินมาตรการลงโทษมา ตัวเลขดังกล่าวก็ตกฮวบจนเหลือราว 30% เท่านั้นแล้ว พร้อมยืนยันว่า มาตรการลงโทษต่าง ๆ นั้น “มีประสิทธิภาพดี” และ “ทำให้ความสามารถด้านการผลิตเพื่อช่วยการทำสงครามของรัสเซียแตะเพดานไปแล้ว”

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า รัสเซียยังคงมีเงินสำรองคงคลังในปริมาณสูงมากอยู่ และมีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจจะนำเข้าเทคโนโลยีที่ต้องการเข้ามาทีละน้อย ๆ เพื่อคงสายการผลิตทางทหารเอาไว้อยู่

ริชาร์ด คอนนอลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและเศรษฐกิจรัสเซียของ Oxford Analytica ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยง บอกกับ เอพี ว่า รัสเซียอาจจะสามารถจัดหาส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์มากพอที่จะใช้สำหรับการผลิตขีปนาวุธร่อนได้ถึง 1 ปี พร้อมกล่าวเสริมว่า รัสเซียก็ได้ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากเบลารุสด้วย ดังนั้น ถึงประเทศตะวันตกจะจัดการกับแหล่งสนับสนุนต่าง ๆ ของมอสโกแล้ว “เบลารุสก็ยังจะจัดหาอุปกรณ์ให้ต่อไป ตราบเท่าที่ (ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์) ลูกาเชนโก ยังอยู่ในอำนาจ”

สำหรับตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น แม้ต่างออกมาประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทั้งสองประเทศยังไม่ได้เข้าร่วมดำเนินมาตรการลงโทษของชาติตะวันตก และยังพยายามรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียไว้อยู่

เดนิส มานตูรอฟ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้ารัสเซีย กล่าวในปีนี้ว่า ตัวเลขการค้าระหว่างรัสเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัว 68% ถึงระดับ 9,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ตามการรายงานข่าวของสื่อ Tass ของรัฐบาลมอสโก

เอพีรายงานว่า ขณะที่ มาตรการลงโทษชุดล่าสุดพุ่งเป้าไปยังบริษัทสัญชาติรัสเซียที่ซ่อม พัฒนา และพัฒนาอาวุธต่าง ๆ นักวิเคราะห์ติงว่า บรรดาบริษัทจากตะวันตกต่างหากที่ควรดำเนินงานดี ๆ และคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะขายเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ให้กับประเทศที่รู้กันอยู่ว่า มีตลาดขายต่อขนาดใหญ่ที่รองรับรัสเซีย

ทอม คีตติง ผู้อำนวยการของ Center for Financial Crime and Security Studies แห่ง Royal United Services Institute ในกรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า “เราต้องทำงานให้หนักขึ้นร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศของเราเอง เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทเหล่านั้นไม่ได้(ทำการ)ป้อน(สินค้า)ให้กับตลาดส่งออกกลับ (re-export)” และว่า “หลายแห่งอาจกำลังฉลองยอดขายที่พุ่งขึ้นในตลาดยูเออีและตุรกี และอาจไม่ได้รู้ หรือเลือกที่จะไม่รับรู้ว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากธุรกิจส่งกลับออกไป แทนที่จะเป็นตัวเลขการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงในยูเออีและตุรกี”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนยันมาตลอดว่า ตนปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการฟอกเงินและการลงโทษทางเศรษฐกิจ แต่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force) ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังระหว่างประเทศยังจัดให้ยูเออีอยู่ใน “กลุ่มรายชื่อสีเทา” เพราะรัฐบาลยังไม่ได้จริงจังต่อการยับยั้งอาชญากรและกลุ่มติดอาวุธไม่ให้นำสินทรัพย์มาหลบซ่อนในประเทศนี้มากพอ

ส่วนรัฐบาลตุรกีก็พยายามย้ำสถานภาพความเป็นกลางของตนในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย โดยรักษาสายสัมพันธ์กับทั้งรัสเซียและยูเครนไว้ตลอดมา

ทั้งนี้ เมื่อคิดรวมมาตรการชุดล่าสุดของสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลกรุงวอชิงตันได้ดำเนินการลงโทษธุรกิจและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมอสโกไปแล้วเกือบ 3,000 แห่ง/คน นับตั้งแต่เมื่อรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: