ประกาศขึ้นทะเบียน GI 'ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย'

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 7355 ครั้ง

ประกาศขึ้นทะเบียน GI 'ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย'

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ 'ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย' ถือเป็นสินค้ารายการที่ 3 ของ จ.หนองคาย ตามหลังกล้วยตากสังคม และสับปะรดศรีเชียงใหม่ มั่นใจช่วยทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น

เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2566 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่ากรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของ จ.หนองคาย ต่อจากกล้วยตากสังคม และสับปะรดศรีเชียงใหม่ โดยมั่นใจว่าการขึ้นทะเบียน จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิล มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ จ.หนองคาย และเกษตรกรในชุมชนกว่า 540 ล้านบาทต่อปี

สำหรับปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย คือ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา มีลักษณะส่วนหัวเล็ก ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน มีลายพาดตามขวาง เมื่อปรุงสุกเนื้อมีสีขาว แน่นเป็นลิ่ม และนุ่ม จำหน่ายในรูปแบบปลานิลสดและปลานิลแดดเดียว ผลิตและแปรรูปตามภูมิปัญญาของชุมชน

โดยการเลี้ยง ครอบคลุมเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ของ จ.หนองคาย ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ อ.สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองหนองคาย โพนพิสัย และรัตนวาปี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ มีคุ้งน้ำกว้าง พื้นท้องน้ำเป็นทราย มีโขดหิน ทำให้การไหลผ่านของน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงจังหวัดหนองคายเป็นการไหลแบบเอื่อย ๆ ตลอดเวลา ช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลานิล ทำให้ปลานิลมีสุขภาพดี จากการว่ายน้ำตลอดเวลา ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงซึ่งมีแร่ธาตุในดิน และเป็นน้ำที่มีความสะอาด ส่งผลให้ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย ที่เลี้ยงในกระชัง จึงไม่มีกลิ่นเหม็นคาว และไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น นุ่ม เนื่องจากมีไขมันแทรก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในจังหวัดหนองคายรวมถึงจังหวัดใกล้เคียง

ทั้งนี้ กรมมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียน GI เพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และพร้อมส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: